"ปานเทพ" เตือนศาลโลกสั่งคุ้มครองชั่วคราวอันตรายกว่าที่คิด มีนัยยะส่อขยายตีความรวบถึงเรื่องเขตแดน ชี้ไม่ว่าศาลตีความอย่างไรไทยมีแต่เสียมากกับเสียน้อย เผย รบ.ปิดปาก เชิญองค์กรณ์ที่สถาบันรับรองแปลคำพิพากษา 266 หน้า เพื่อให้ปชช.ตาสว่างขึ้น เผยผู้พิพากษาฝรั่งเศสหักหลัง ไปยกคำร้องฝ่ายไทยแถมหนุนเขมรขอคุ้มครองชั่วคราวอีกหลายเรื่อง
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "คนเคาะข่าว"
วันที่ 29 ก.ค. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวในรายการ “คนเคาะข่าว” ผ่านทางสถานีเอเอสทีวี ถึงมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก ว่า ตนมีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตีความคำพิพากษา 266 หน้า ซึ่งคนไทยแทบจะไม่มีโอกาสได้เห็น อีกอย่างคำพิพากษานี้เป็นภาษาอังกฤษยากที่จะตีความ หากตีความเป็นภาษาไทยแล้วก็ยังยากต่อการเข้าใจ ด้วยเหตุนี้ทำให้คนไทยรับรู้ข้อมูลแต่ที่ปรากฎตามหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้หลังจากที่ตนอ่านดูแล้ว มีเรื่องน่าห่วงมากกว่าข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ จึงอยากได้องค์กรณ์ที่สถาบันรับรองมาแปลให้เป็นทางการ เพื่อให้คนไทยรับรู้ข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้น
เรื่องน่าเป็นห่วงประการแรก เขมรขอให้ตีความถอนทหารออกจากเขาวิหารและพื้นที่ใกล้เคียงบนอาณาเขตเขมร การขอให้ตีความตรงนี้จะทำให้ครอบคลุมไปถึงแผนที่ 1:200,000 เพื่อให้ไทยถอยออกไปไกลยิ่งขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากคำพิพากษาศาลโลก ผนวกกับเอ็มโอยู43 ที่กัมพูชาตีความหมายให้จัดทำหลักเขตแดนไม่ใช่ปักปันเขตแดน
ขณะที่เราไปสู้ในเนื้อหา ว่า ศาลไม่มีอำนาจตีความคำขอของเขมร โดยอ้างทั้งสองประเทศมีเอ็มโอยู43 ซึ่งไทยและเขมร ตกลงกันไว้แล้ว อีกอย่างเรื่องนี้เป็นคดีเก่าซึ่งจบลงไปแล้ว ตรงนี้มีข้อสังเกตว่า ที่เราอ้างเอ็มโอยู43ต่อสู้ให้ศาลจำหน่ายคดีที่เขมรร้องขอ แต่กลับยกคำร้องของเรา หากเอ็มโอยูมีประโยชน์จริง ศาลจะต้องไม่รับคดีไว้พิจารณา ทำให้เห็นได้ว่าศาลมีแนวโน้มเชื่อกัมพูชามากกว่าไทย
นายปานเทพ กล่าวต่อว่า ประการที่สอง ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล เคยท้วงอย่าใช้ทนายฝรั่งเศสไปสู้บนเวทีศาลโลก เพราะกัมพูชาเคยอยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเขียนแผนที่ 1:200,000 อีกทั้งยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับสัมปทานน้ำมัน ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้เลยในใจเขายืนอยู่ข้างใคร แล้วต่อมากระทรวงการต่างประเทศ ออกมาบอกว่า ทนายฝรั่งเศส และผู้พิพากษาที่ส่งไปเป็นมืออาชีพ มีจุดยืนอยู่ข้างไทย แต่ปรากฎว่าผู้พิพากษาที่ไทยส่งเข้าไป ยกคำร้องขอให้จำหน่ายคดีของฝ่ายไทยทิ้ง แถมยังเห็นด้วยกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่เขมรขอไปอีกหลายประการ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลปิดบังไม่บอกประชาชนทราบ ต้องถามที่รัฐบาลดึงดันตั้งผู้พิพากษาฝรั่งเศสไปจะรับผิดชอบอะไรบ้าง
ประการต่อมา สำคัญมาก กรณีที่ศาลสั่งมาตการคุ้มครองชั่วคราว ได้บอกสิ่งที่จะพิจารณาต่อไปในอนาคต 1.ความหมายของคำว่าบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตกัมพูชาว่าหมายถึงอะไร 2.ลักษณะที่แท้จริงของภาระผูกพันธ์ที่ไทยต้องปฎิบัติเป็นลักษณะความต่อเนื่องอย่างไร และ3. คำตัดสินพ.ศ. 2505 เส้นที่ปรากฎในแผนที่ 1:200,000 เป็นสัญลักษณ์แทนเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาหรือไม่ โดยศาลอ้างว่าปกติศาลจะใช้มาตรา 60 ได้ จะต้องไม่ตีความในเหตุ คือ กฎหมายปิดปากที่ไทยไม่ปฎิเสธแผนที่ 1:200,000 แต่จะตีความเฉพาะผล คือ บทบฎิบัติการ เช่นถอนทหารเท่าไร อย่างไรบ้าง ยกเว้นเหตุของการตัดสินคำพิพากษาแยกกันไม่ออกจากบทปฎิบัติการ ที่ศาลอ้างเช่นนี้เท่ากับตีความเกินขอบเขต รัฐธรรมนูญศาลโลก และส่อตีความครอบคลุมถึงแผนที่ 1:200,000
“เรื่องนี้มีความคลุมเครือตั้งแต่ศาลโลกบอกว่าคดีนี้เป็นคดีใหม่ ซึ่งหมายถึงไทยและเขมรต้องยอมรับอำนาจศาลทั้งคู่ จากสภาพที่เป็นอยู่หากศาลโลกพิพากษาเป็นคุณเราเสียดินแดนเท่าเดิม หากพิพากษาเป็นโทษเราเสียดินแดนมากกว่าเดิม เกมนี้ไทยไม่ได้ประโยชน์ เป็นเกมที่เราไม่ควรจะเล่น ที่สำคัญไทยบอกศาลโลกไม่มีอำนาจ แสดงว่าคำวินิจฉัยอยู่ที่ศาลจะตัดสินว่ามีอำนาจหรือไม่ ท้ายที่สุดศาลบอกว่าศาลมีอำนาจ นี่เป็นสัญญาณที่น่าห่วงอย่างมาก” นายปานเทพ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น