xs
xsm
sm
md
lg

นักลงทุนลังเลไทยแผนสู้น้ำไม่ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ปชป.แฉนักลงทุนครึ่งต่อครึ่งยังลังเลเข้าลงทุนในไทย หลังแผนการบริหารจัดการน้ำไม่ชัดเจน มีแต่เงินที่กู้มา! ชี้เหตุรัฐไม่กล้าฟันธงพื้นที่ทำฟลัดเวย์ เหตุต้องทำเรื่องสวล. หวั่นซ้ำรอยมาบตาพุด

วานนี้(2 ก.พ.55)ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวยอมรับว่า นักลงทุนครึ่งต่อครึ่ง ลังเลที่จะลงทุนในประเทศไทยว่า เป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้สะท้อนปัญหาไปยังรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง เพราะจากการที่ตนได้สัมผัสกับนักลงทุนเขาไม่ได้ไม่มั่นใจในเรื่องเงินงบประมาณ แต่ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะทำอะไร และจะปรับปรุงระบบการบริหารจัดการจากความผิดพลาดในปีที่แล้วได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นคำตอบให้รัฐบาลแล้วว่ารัฐบาลแก้ปัญหาโดยทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลลงไปนั้นไม่ใช่คำตอบ เพราะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด นักลงทุนต้องการความชัดเจนว่ารัฐบาลจะทำอะไรมากกวาเรื่องเงิน เพราะเงินไม่เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาของรัฐบาลอยู่แล้ว ตนจึงอยากให้รัฐบาลตั้งหลักใหม่เร่งแก้ปัญหาอย่าคิดแต่จะหาเงินมากองในมือตัวเองเพียงอย่างเดียว

ส่วนการทำ ฟลัดเวย์ หรือ พื้นที่รับน้ำที่จะกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง จำเป็นต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียดของโครงการและสภาพพื้นที่ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือ การทำความเข้าใจ กับ ประชาชนในพื้นที่ กรณีที่ต้องมีการใช้เป็นพื้นที่รับน้ำจริง ๆจะมีการชดเชยอย่างไรให้สมเหตุสมผลหรือทำเป็นกรณีพิเศษ รัฐบาลไม่ควรปล่อยเวลาผ่านไปโดยไม่เร่งดำเนินการให้แผนงานเป็นรูปธรรม หวังว่าการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13-17 ก.พ.นี้ เพื่อตรวจความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำจะเป็นการแก้ปัญหาและสร้างความชัดเจนจริง ๆ ที่ผ่านมาหลายครั้งที่นายกฯไปลงพื้นที่กลับไม่มีการแก้ปัญหาตามมา

***เชื่อรัฐฯไม่กล้าประกาศเหตุติดสวล.

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า แผนการจัดการน้ำ โดยเฉพาะการสร้างฟลัดเวย์ (ทางน้ำผ่าน)หรือ ที่รองรับน้ำ(แก้มลิง) ที่รัฐบาลยังไม่สามารถระบุได้จะใช้พื้นที่บริเวณใด ขณะที่รัฐบาล และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ไปหารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดจุดให้ชัดเจนมากขึ้นและรอให้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ก่อน

“ เชื่อว่าสาเหตุที่รัฐบาลยังไม่กล้าที่จะเปิดเผยว่า มีพื้นที่ไหนบ้างเข้าข่ายต้องทำตามผลการศึกษาของกยน. เพราะกลัวว่าจะเกิดความขัดแย้งของประชาชน”

แหล่งข่าว เปิดเผยอีกว่า พื้นที่แรกต้นน้ำที่ สภาพัฒน์ศึกษาได้แก่พื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พื้นที่กลางน้ำ ศึกษาที่อ.บางบาล กับ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามหากจัดสร้างเป็นพื้นที่แก้มลิง เมื่อน้ำเข้ามา น้ำก็ต้องออกเองได้ แต่ 2 จุดนี้น้ำออกเองไม่ได้ ขณะเดียวกันเชื่อว่าการทำ ฟลัดเวย์ ที่จะกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างงอาจจะต้อง ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ( EIA/HIA)

****"ปราโมทย์"อัดกยน.มีแต่แผนแต่ไม่ทำ

วานนี้ ( 2 ก.พ. ) ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ในการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 นายปราโมทย์ ไม้กลัด คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวภายหลังการเสวนา “ศาสตร์พระราชากับการกู้วิกฤติชาติ” ว่า จากสถานการณ์น้ำในขณะนี้ซึ่งอยู่ในช่วงต้นเดือนก.พ.นั้น น้ำตามธรรมชาติยังถือว่ามีปริมาณที่น้อยอยู่ ส่วนที่มีความกังวลกันในเรื่องของปริมาณน้ำที่มีการกักเก็บไว้ตามอ่างเก็บน้ำ เขื่อนต่างๆ ที่ยังอยู่ในระดับสูงนั้น ต้องชี้แจงว่าที่น้ำยังมีระดับสูงเพราะตามปกติแล้วในช่วงปลายหน้าฝนของทุกปีจะต้องมีการเก็บน้ำไว้เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง ดังนั้นการที่มีการออกมาระบุว่าน้ำตามเขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล เก็บน้ำไว้ 84% เขื่อนสิริกิติ์ เก็บน้ำไว้ 82% ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะเป็นสภาวะปกติ และจะต้องมีการระบายน้ำไปให้ประชาชนใช้ในพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านไร่ ทั่วประเทศทุกวันๆละมากกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย และพอถึงหน้าฝนน้ำในเขื่อนต่างๆก็จะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ

" ในตอนนี้ไม่มีใครรู้ได้ว่าปีนี้ปริมาณน้ำจะมากหรือน้อย เพราะขึ้นอยู่กับธรรมชาติ การที่จะประเมินสถานการณ์น้ำในปี 2555 ได้ ต้องรอช่วงต้นเดือนมิ.ย.จนถึงปลายเดือนก.ค. ซึ่งจะทำให้รู้ว่าในปีนี้จะมีปริมาณน้ำฝนมากน้อยเพียงใด "

นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่าในการประชุมกยน.ตนพยายามให้เอาศาสตร์ของในหลวง มาขับเคลื่อน ทั้งการทำ “ฟลัดเวย์” เพื่อระบายน้ำลงสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมาศึกษา ต้องมาวิเคราะห์ รัฐบาลผู้บริหารบ้านเมืองต้องนำมาต่อยอด แต่ที่ผ่านมาธรรมชาติของคณะกรรมการ การทำงานระบบกรรมการมันยังไงก็ไม่รู้ แม้ประธานจะเป็นยังไง บอกไม่ถูก การทำงานระบบกรรมการนั้น ผมก็อยู่มาหลายบอร์ด จะเห็นถึงระบบการทำงาน ซึ่งระบบกรรมการก็จะนานๆจะเจอกันซะที ทั้งที่งานแบบนี้ต้องเกาะติดทุกวัน คิดออกมาเป็นระบบ ไม่ใช่พูดๆไป ประชาชนจะไม่รู้ ว่าจะทำยังไง ผมบอกไปแล้วว่าจะต้องมีการทำฟลัดเวย์ตรงไหนบ้าง หากไม่ทำน้ำมาเยอะผมก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน เวลานี้มีแต่แผนแต่กระบวนการทำยังไม่ชัด ปี2555ไม่ต้องตกใจ แม้ฝนจะมาเร็วยังไงขอให้มีสติ ใช้ปัญญา อย่าไปขาดสติหลงเชื่อข่าวพ่อปลาบู่ ต้องมีสติ ปัญญา และจะไม่เดือดร้อน

**ปฏิทิน “กยน.-ผู้ว่าฯ-รมต.” ลงพื้นที่

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวภายหลังจากนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าพบเพื่อวางแผนการลงพื้นที่ตรวจการระบายน้ำ ว่า จะลงพื้นที่ในวันที่ 13-17 ก.พ. โดยจะเริ่มที่ จ.พิษณุโลก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดที่รับผิดชอบต้นน้ำทั้งหมดจะเป็นผู้สรุปให้ นายกรัฐมนตรีฟัง ส่วนความเห็นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กรมชลประทาน และโครงการพระราชดำรินั้นจะต้องไปหาความแน่ชัดเพื่อให้ประชาชนใจ ต่อจากนั้นจะ ไปที่ จ.นครสวรรค์ ส่วนที่เป็นกลางน้ำ ซึ่งจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมเสนอแผน และปลายน้ำจะไปที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ จะเชิญผู้ว่ากรุงเทพฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดรอบปริมณฑล มาพูดคุยและวางแผนว่าจะดำเนินการอย่างไร รวมถึงดูสถานที่แก้มลิง ในเขต อำเภอบางระกำ จ.พิษณุโลกและการทำแก้มลิงที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กยน. จะเข้าไปดูด้วยหรือไหม นายยงยุทธ กล่าวว่า ไปเพราะกยน.ก็มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงกรมชลประทาน และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในช่วงเช้าของวันที่ 13 ก.พ. แล้วจึงลงพื้นที่

เมื่อถามว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าหน่วยงานราชการอืด ทำให้ทุกอย่างไม่มีความคืบหน้า ตรงนี้จะมีการบริหารจัดการอย่างไร นายยงยุทธ กล่าวว่า ไม่อืดหรอก เพราะเป็นความทุกข์ร้อนของประชาชน การบริหารน้ำในเขื่อนเพื่อการเกษตร เรื่องของไฟฟ้า รวมถึงการระบายน้ำหรือเก็บน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย จากที่แต่ก่อนเก็บน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้เขื่อนหลัก ๆ เริ่มมีการระบายน้ำแล้ว

ถามต่อว่า จะสามารถไว้ใจกรมชลประทานได้หรือไม่ นายยงยุทธ กล่าวว่า ก็เป็นหน้าที่ของเขา สำหรับกทม.ก็ร่วมมือกันดีในเรื่องการระบายน้ำ การขุดลอกคูคลอง ทั้งนี้จะขออนุมัติจากนายกรัฐมนตรีในการแบ่งผู้รับผิดชอบ เช่น คลองเปรมจะมีกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ ส่วนเรื่องกระสอบทรายที่ยังขวางทางน้ำอยู่นั้น ขณะนี้ได้มีการเร่งรัดแล้ว ซึ่งตนก็ติดตามการทำงานของ กทม.อยู่ตลอดเวลา

**ญี่ปุ่นมอบเงินกว่า2แสนบาทไทย

นายเซอิจิ โคจิมะ เอกอัคราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมด้วยนายโทระจิโร โอฮาชิ ประธานสมาคมชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย เป็นตัวแทนมอบเงินบริจาค จากโครงการ น้ำใจร่วมใจไทย-ญี่ปุ่น จำนวน 203,860 บาท ผ่านยังนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วม ทั้งนี้เอกอัคราชทูตญี่ปุ่น กล่าวว่า ในช่วงที่ชาวญี่ปุ่นประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ พระบรมวงศานุวง รัฐบาล รวมถึงประชาชนชาวไทย ได้ส่งมอบเงินช่วยเหลือให้ชาวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้มั่นใจว่าประเทศไทยสามารถฟื้นฟูกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ และญี่ปุ่นยินดีช่วยเหลือด้านต่างๆต่อไปด้านปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว่า ในนามของรัฐบาลไทย รู้สึกเสียใจที่มีบริษัทของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากเหตุการร์น้ำท่วม ซึ่งต่อไปรัฐบาลไทยจะมีมาตรการป้องกันและสร้างความมั่นใจให้ได้ และในปีหน้าที่มีการป้องกันที่ดีกว่าเดิม

**ผู้ตรวจฯบุกกปน.ดูมาตรการน้ำประปา

วันเดียวกัน นายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะได้เข้าตรวจเยี่ยมสำนักงานการประปานครหลวง (กปน.) โดยมีนายเจริญ ภัสระ ผู้ว่าการประปานครหลวง ให้การต้อนรับ เพื่อสอบถามถึงกรณีที่มีประชาชนร้องเรียนผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินว่า สำนักงานกปน.ได้เก็บค่าน้ำประปาแพงเกินความเป็นจริงในช่วงที่เกิดอุทกภัยที่ผ่านมา และแสดงความไม่มั่นใจว่าหากเกิดอุทกภัยขึ้นอีกกปน.มีแผนที่จะรับมือปัญหาน้ำด้อยคุณภาพ

นายเจริญ กล่าวว่า ทางกปน.ได้นำบทเรียนจากภัยพิบัติน้ำท่วมในปีที่ผ่านมามากำหนดแผนในการป้องกันและรับมือกับปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 55 นี้ โดยมีแผนป้องกันคลองประปาออกเป็น 3 ระยะเพื่อเสริมความมั่นคงในการผลิตน้ำและจ่ายน้ำประปา ระยะสั้นก็จะมีการเสริมคั้นคลองจากที่เสริมไว้อยู่เดิมในปี 54 สูงขึ้นไปอีก 50 ซ.ม. โดยจะทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย. ระยะกลางก็จะเป็นการเสริมแนวคั้นกั้นใน 6 จุดให้มีความมั่นคงถาวรโดยในบางจุดก็จะทำเป็นลักษณะถนน เพื่อชุมชนตามแนวคั้นคลองก็จะได้ประโยชน์ด้วย ขณะที่บางจุดก็จะใช้เป็นแผ่นคอนกรีตแบบบางกั้นตลอด ซึ่งส่วนนี้จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนก.ย. ภายใต้งบประมาณ 517 ล้านบาทของกปน.

ส่วนระยะยาวจะเป็นการทำคั้นกั้นแบบถาวรเพื่อสร้างเสถียรภาพให้ระบบการผลิตน้ำประชาของกปน.มีความมั่นคงเป็นแผนดำเนินการภายในระยะเวลา 3 ปี ในวงเงินงบประมาณ 3,500 ล้านบาทซึ่งต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อสร้างเสถียรภาพให้ระบบผลิตน้ำประปาของกปน.มีความมั่นคงมากขึ้น นอกจากนี้หากเกิดปัญหาที่อาจทำให้ระบบการผลิตน้ำของกปน.ด้อยคุณภาพ ก็ได้มีการเตรียมในเรื่องของสารเคมีเช่น คลอลีน และอ๊อกซิเจนเหลว เอาไว้แล้ว

**กปน.มี3แผนรับมือ ประเมินพ.ค.น้ำท่วม

ด้านนายสมัย อนุวัตรเกษม รองผู้ว่ากปน. กล่าวว่า สำหรับแผนต่างๆในการป้องกันปัญหาน้ำท่วมมี 2ประเด็นได้แก่ 1.ป้องกันปัญหาน้ำท่วมระบบผลิตเนื่องจากต้องใช้ไฟฟ้าถ้าไฟมีปัญหาก็จะไม่สามารถผลิตน้ำได้ 2.ป้องกันปัญหาน้ำด้อยคุณภาพที่จะต้องมีการปรับปรุงเครื่องจักร และเตรียมในเรื่องของสารเคมีเพิ่ม 2-3 เท่าตัวจากช่วงสภาวะปกติ อย่างไรก็ตามกปน.เตรียมการด้วยความไม่ประมาท โดยมีการประเมินว่าพ.ค.นี้น้ำจะท่วม เพราะด้วยความไม่ประมาท กปน.จึงคิดว่าพ.ค.นี้น้ำจะท่วม ซึ่งไม่ได้มาจากฝนทางภาคเหนืออย่างเดียว แต่เราประเมินไปถึงอาจจะมีฝนพันปี ดังนั้นแผนป้องกันรับมือไม่เกินเม.ย.นี้ต้องแล้วเสร็จทั้งหมด.
กำลังโหลดความคิดเห็น