xs
xsm
sm
md
lg

บรรทัดฐานสังคมในเงื้อมมือเสียงข้างมาก

เผยแพร่:   โดย: ศักดิ์ณรงค์ มงคล

มนุษย์คนหนึ่งๆ มักประสบกับปัญหาการเลือกตัดสินใจโดยอาศัยเกณฑ์ที่เป็นทางสองแพร่งอยู่เสมอคือ เกณฑ์ที่ “ตัวเอง” กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นโดยมีเหตุผลชุดหนึ่งสนับสนุนกับเกณฑ์ซึ่งอาศัยบรรทัดฐานของสังคม (Social Norm) มาสนับสนุน

เกณฑ์ที่ตัวเองกำหนดกลายเป็นบรรทัดฐานของตนเองซึ่งอาจมีที่มาจากเหตุผลที่มีตรรกะเฉพาะตัว ความพึงพอใจหรือผลประโยชน์ส่วนตัว ผลที่เกิดขึ้นคือ ความถูกต้อง ความยุติธรรม ความดีงาม การมีคุณค่า ฯลฯ กลายเป็นสิ่งที่ประเมินด้วยหลักการอันเป็นอัตวิสัย (Subjective) หรือขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้นๆ ซึ่งอาจ (ที่จริงควรเป็น “มัก”) มีลักษณะที่ปฏิเสธ-โต้แย้งต่อบรรทัดฐานสังคมที่เชื่อว่ามีความถูกต้อง ความยุติธรรม ความดีงาม การมีคุณค่า ฯลฯ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงตามมาตรฐานความคิดเห็นของคนที่มีเหตุมีผล มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีตามปกติทั่วไปในสังคม (วิญญูชน) บรรทัดฐานสังคมอย่างหลังนี้จึงประกอบด้วยหลักการอันมีลักษณะเป็นภววิสัย (Objective)

ผู้ที่มีลักษณะยึดบรรทัดฐานของตนเองและปฏิเสธบรรทัดฐานสังคมอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ยึดถือโลกความจริงแบบอัตวิสัย (Subjective World) ส่วนผู้ซึ่งเชื่อว่ามีบรรทัดฐานสากลอยู่นอกเหนือตัวเรา พอจะเรียกได้ว่าเป็นพวกยึดถือโลกความจริงแบบภววิสัย (Objective world)

นอกจากนี้ บรรดาคนที่เชื่อในการมีบรรทัดฐานของตนเองโดยไม่สนใจกับบรรทัดฐานของสังคม มักจะมีอิทธิพลการถืออัตวิสัยเช่นนี้ต่อผู้อื่นที่เชื่อทำนองเดียวกัน จนเกิดการเชื่อมต่อของโลกความจริงแบบอัตวิสัยต่อๆ กันไป (Inter-subjective world)

ผมเขียนถึงเรื่องนี้มายืดยาวก็เพื่อจะเสนอว่า หลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ(หลักการปกครองโดยกฎหมาย) ซึ่งจำเป็นต้องมีในฐานะหลักซึ่งต้อง “ดุล” และ “คาน” กันและกันในรัฐเสรีประชาธิปไตย น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากธรรมชาติข้างต้นของมนุษย์

หลักประชาธิปไตยซึ่งมีหลักการเลือกตั้งและหลักเสียงข้างมาก เป็นหลักการย่อยสำคัญถือบรรทัดฐานความชอบธรรมของการเลือกอยู่ที่ปริมาณเสียงจากการลงคะแนนเลือกตั้งของปัจเจกบุคคล ซึ่งมักจะตัดสินใจเลือกบนพื้นฐานการมีโลกความจริงแบบอัตวิสัย (แต่ก็ย่อมมีปัจเจกบุคคลที่เชื่อในโลกความจริงแบบภววิสัยอยู่ด้วย)

การตัดสินใจเลือกของปัจเจกบุคคลที่ติดยึดอยู่กับโลกความจริงแบบอัตวิสัย โดยไม่นำพาโลกความจริงแบบภววิสัย อาจนำไปสู่สภาพการเฮโลเลือกรวมหมู่ด้วยอิทธิพลการเชื่อมโยงต่อกันของการมีโลกความจริงแบบอัตวิสัยในหมู่พวกเดียวกัน (Inter-subjective) กลายเป็นเสียงข้างมากที่เอาความต้องการของตนเป็นใหญ่ โดยไม่สนใจความถูกผิด คุณค่า ความดีงาม คุณธรรม ความยุติธรรม กฎหมาย ฯลฯ จนในที่สุด อาจส่งผลสั่นคลอนบรรทัดฐานของสังคมจนเกิดสภาวะ “เผด็จการเสียงข้างมาก” (Tyranny of Majority) อันเป็นจุดอ่อนที่ทำลายตัวเองของประชาธิปไตยมาทุกยุคทุกสมัย

หลักประชาธิปไตยจึงต้องการการทัดทาน-ตรวจสอบจากหลักนิติรัฐซึ่งมีหลักความชอบด้วยกฎหมายและหลักการย่อยอื่นๆ ของหลักนี้เสมือนเป็นหลักค้ำยันความถูกต้องชอบธรรมของบรรทัดฐานสังคมว่าจะต้องดำรงอยู่ ไม่ว่าลมพายุร้ายของเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งจะพยายามพัดพาสังคมและรัฐให้ผิดเพี้ยนตามแรงอัตวิสัยรวมหมู่มากเพียงใดก็ตาม

ตัวอย่างง่ายๆ หากเสียงข้างมากของสังคมชี้นิ้วมาว่าไม่ให้เอาผิดติดใจกับอาชญากรคนหนึ่งทำผิดร้ายแรงต่อกฎหมายของรัฐแล้วหลบหนีไม่ยอมรับกฎหมายของรัฐ หลักนิติรัฐก็จะยืนหยัดปฏิเสธอำนาจเสียงข้างมากนั้น และยืนยันอำนาจรัฐที่ต้องนำตัวอาชญากรนั้นมาลงโทษให้ได้

หลักนิติรัฐที่เป็นเสมือนตัวแทนความบรรทัดฐานอันถูกต้องของสังคมจึงควรอยู่เหนือหลักประชาธิปไตย ไม่ปล่อยให้หลักประชาธิปไตยใช้เสียงข้างมากสั่นคลอนบรรทัดฐานของสังคมจนโอนเอน เลื่อนไป เคลื่อนมาตามแต่แรงของเสียงข้างมากจะพัดพาไป (ในขณะที่หลักประชาธิปไตยก็สามารถถ่วงดุลหลักนิติรัฐผ่านการใช้เสียงมากไปปรับเปลี่ยนกฎหมายหรือแม้แต่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนบรรทัดฐานของสังคมได้ในทางกลับกัน)

ความเห็นของนักรัฐศาสตร์อย่างเกษียร เตชะพีระ ที่บอกว่า เสียงข้างมากเป็นหลักประกันค้ำยันสังคมโดยไม่เอ่ยถึงหลักนิติรัฐเลย หรือข้อเสนอของนิติศาสตร์อย่างวรเจตน์ ภาคีรัตน์ และพรรคพวกที่พยายามผลักดันการปรับเปลี่ยนรื้อสร้างรัฐธรรมนูญ โครงสร้างและระบบการเมือง สถาบันตุลาการ สถาบันทหาร ฯลฯ โดยเปิดช่องให้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งมาเป็นจักรกลหมุนเคลื่อนสิ่งเหล่านี้จนเกินความพอดี จึงเป็นก้าวย่างที่สุ่มเสี่ยงต่อการโอนเอน-ไหลเลื่อนของบรรทัดฐานความถูกต้อง เป็นธรรม ความดีงามในสังคมในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น