xs
xsm
sm
md
lg

ดร.โกร่ง...อย่าโกง... (2)

เผยแพร่:   โดย: ดร.ประยูร อัครบวร

การล่มสลายของยุคต้มยำกุ้งปี พ.ศ. 2540 เป็นรอยต่อจากยุค ดร.โกร่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พอดี ผมในฐานะคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์มาบ้าง ผมยังไม่กล่าวโทษเพียงรัฐบาลเดียวเพราะเศรษฐกิจจะพังครืนได้นั้น ไม่สามารถทำได้ในวันเดียว ผมมองไปตั้งแต่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ที่เปิดเสรีทางการเงิน (Bangkok International Banking Facilities -BIBF) รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ดร.โกร่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นยุคปั่นราคาที่ดิน รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา เป็นยุคมหาโครงการ (Mega Project)

พอมายุครัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นยุคฝีแตก แต่บังเอิญมีฝูงเปรตตักตวงผลประโยชน์จากการลดค่าเงินบาท ท่ามกลางความเสียหายเศรษฐกิจของเพื่อนร่วมชาติ เลยไม่รู้ว่ารองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจรู้เรื่องลดค่าเงินกับเขาหรือเปล่า

เมื่ออ่านพาดหัวย่อย “โกร่งยัวะ สับแบงก์ชาติออกทีวี แฉ ธปท.สร้างหนี้ล้านล้านบาท” ของหนังสือพิมพ์ข่าวสดวันที่ 8 มกราคม 2555 ที่ ดร.วีรพงษ์กล่าวว่า “ ธปท.เห็นว่าควรจะสู้ค่าเงินบาทเพราะกลัวไปไม่รอด แต่ก็ขาดทุนจนเงินทุนสำรองหมดหน้าตัก ขาดทุนเกือบ 8 แสนล้านบาท แล้วก็มาขึ้นดอกเบี้ยแทนเพื่อไม่ให้เงินไหลออกปรากฏว่าเศรษฐกิจพัง เพราะขึ้นดอกเบี้ยถึง 20 เปอร์เซ็นต์ สถาบันการเงิน 58 แห่งต้องปิด ลุกลามไปถึงต้องเสียลูกค้าดีๆ ไปหมด และมาขอให้รัฐบาลช่วยโดยการขออำนาจแก้กฎหมายกองทุนฟื้นฟูฯ กลายเป็นขาดทุนซ้ำอีก เพราะเงินที่ช่วยอุดไปก่อนนั้นต้องสูญหายหมด...

หลังจากนั้นก็มีการนำเอาทรัพย์สินมาประมูล บอกด้วยว่าต้องรีบประมูลเพราะอาจโดนเกาหลีใต้ประมูลไปก่อน แถมยังสั่งห้ามลูกหนี้ประมูลกลับไปเอาชาวต่างชาติเข้ามาประมูลและก็มาขายลูกหนี้ตามเดิม จนในที่สุดก็ขาดทุนรวมเป็นล้านล้านบาท แล้วธปท.ก็กลับมาให้รัฐบาลช่วยใหม่อีก เพราะไม่ไหวแล้ว รัฐบาลช่วงนั้นก็ใจดีบอกจะช่วยจ่ายดอกและให้ธปท.จ่ายต้นกับกำไร แต่ทำมาสิบกว่าปี ธปท.ไม่เคยได้กำไรเลย รัฐบาลก็จ่ายไปเรื่อยปีละ 6 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งมาจากเงินภาษีประชาชนทั้งสิ้น”

พออ่านข้อความสัมภาษณ์ของ ดร.โกร่ง เสร็จ ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ดร.โกร่งกล่าวมาทั้งหมด

ดร.โกร่งรู้ แล้วทำไมไม่แก้ปัญหาหรือเสนอแก้ปัญหาตอนนั้น?

เงินเสียหายเป็นล้านล้าน ทำไมไม่มีคนผิด?

ทำไมนักการเมืองที่ร่วมประชุม ไม่มีใครบอกประชาชนหรือมาขอโทษประชาชน?

มีใครบ้างที่ไปเร่งการขายทรัพย์สินและห้ามไม่ให้ลูกหนี้ที่เป็นคนไทยไปซื้อ?

รัฐบาลใจดีมีรัฐบาลอะไรบ้าง มีรัฐมนตรีคลัง รวมทั้งทีมเศรษฐกิจชื่ออะไร? ฯลฯ

ผู้เขียนยังมีอีกหลายคำถาม แต่อดที่จะไปหาสาเหตุไม่ได้ว่า การขาดทุนจากการค้าเงินของ ธปท.เกิดเพียงสาเหตุเดียวอย่างที่ ดร.โกร่งกล่าวมาหรือ??

หรือ ดร.โกร่งตั้งใจลืมเรื่องธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ที่ดร.โกร่งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการธนาคารระหว่างปี พ.ศ. 2535-2538 ซึ่งในระหว่างนั้นในธนาคารมีการทำธุรกรรมที่ฉ้อฉลที่มีการนำไปอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร จนเป็นเหตุให้ธนาคารล่ม

“สนิมเกิดจากเนื้อในเหล็ก” เป็นคำโบราณที่สอนกันมา ให้รู้ว่าความเสียหายที่เกิดจากภายใน ทำให้ตัววัตถุหรือองค์การนั้นพังทลายได้ อย่างเศรษฐกิจทั้งระบบก่อนล่มครืนลงมา ต่างมีเหตุที่บอกให้เรารู้ เหมือนบ้านที่จะพังต้องมีปลวกกิน เศรษฐกิจที่เกิดฟองสบู่ ก็ต้องมีสบู่มาก่อนฉันใด เศรษฐกิจฟองสบู่แตก ก็เกิดจากเศรษฐกิจกลวงในหรือพองลมฉันนั้น

เศรษฐกิจไทยในขณะนั้นได้พัฒนาแต่ในแง่ภาพลักษณ์ได้สร้างภาพว่าจะเป็น “เสือตัวที่ห้าของเอเชีย” เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่หรือ NIC (Newly Industrialized Country) อย่าง ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน แต่ในความเป็นจริง อุตสาหกรรมพื้นฐานที่เรียกว่าเกิดจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยนั้น เรายังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่และเป็นธุรกิจบริการส่วนใหญ่ ทั้งยังขาดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ในขณะเดียวกันความก้าวหน้าของธุรกิจทางการเงินได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยที่สร้างภาพลักษณ์เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ก็ต้องก้าวกระโดดตามไปด้วย ซึ่งการก้าวโดดไปเปิดตลาดเงินทุนเสรีตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เพื่อสนองความต้องการเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคที่ได้บรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) ซึ่งหนังสือที่ ธปท.ว 640/2533 จากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(นายวิจิตร สุพินิจ) ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายประมวล สภาวสุ) ลงวันที่ 18 เมษายน 2533 ที่ ธปท.ระบุไว้ว่าต้องผ่อนคลายระเบียบกฎเกณฑ์และข้อจำกัดต่างๆ ที่สำคัญคือ “การผ่อนคลายการควบคุมปริวรรตเงินตราทั้งด้านธุรกิจเดินสะพัดและด้านเงินทุน เพื่อช่วยให้เงินทุนเข้าออกได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุนจากต่างประเทศ”

การผ่อนคลายนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนจุดหนึ่งที่คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ที่มีนายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นประธาน ได้สรุปว่า “ข้อบกพร่องที่ทำให้ผิดพลาดในการดำเนินนโยบายทางการเงินเกิดจากการเลือกที่เปิดตลาดเงินทุนเสรี ซึ่งการตัดสินใจเปิดครั้งนั้นเป็นผลพวงของแนวนโยบายที่เป็นมาอย่างต่อเนื่อง และสะท้อนความต้องการของฝ่ายการเมืองในขณะนั้นอย่างเต็มที่ เมื่อนายวิจิตร สุพินิจเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็สานต่อนโยบายนั้นอย่างขะมักเขม้นถึงขั้นเปิดวิเทศธนกิจ ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบทุกฝ่าย”

เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง มีการสั่งปิดสถาบันการเงินหลายแห่ง หลายครั้ง ทั้งเกิดการสูญเสียของธนาคารแห่งประเทศไทยในการซื้อขายเงิน เพื่อรักษาค่าเงินบาท รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จึงเป็นรัฐบาลเดียวในโลกในขณะนั้น ที่มีมติคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 อนุมัติหลักเกณฑ์และมาตรฐานการประกันเงินฝาก การประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่มิได้ถูกระงับการดำเนินกิจการก่อนวันที่มีมติ ครม.

การรับรองหนี้ของภาคเอกชนนี่แหละที่นักวิชาการอื่นมองต่างจาก ดร.โกร่งและเป็นปัญหาที่ติดคาใจ ว่า ดร.โกร่งไปอยู่ตรงไหน ไม่รู้หรือว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม รัฐไม่ไปแทรกแซงแบบโง่ๆ อย่างนี้ ซึ่งในรายงานของ ศปร.เขียนไว้ชัดเจนว่า

“วิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยครั้งนี้มีจุดเริ่มมาจากการก่อหนี้ของภาคเอกชน แต่การดำเนินนโยบายทางการเงินของรัฐบาลมีส่วนทำให้ปัญหาการก่อหนี้บานปลายอย่างแทบไม่มีขีดจำกัด”

ความเสียหายทางการเงินทางเศรษฐกิจครั้งนี้ คนที่มีสติไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นความผิดพลาดทางจริยธรรม และไร้ความรับผิดชอบของผู้บริหาร ธปท. แต่คนที่มีสติก็ไม่เคยปิดตาตัวเองว่ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีนักการเมืองมาเป็นรัฐมนตรี และมีบางคนสร้างความร่ำรวยจากการลดค่าเงินบาท หาผลประโยชน์จนนาทีสุดท้าย คนเหล่านี้จะให้เรียกว่าอะไรดีครับ... เรียกว่า “ดร.โกง” ดีไหมครับ...ดร.โกร่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น