xs
xsm
sm
md
lg

แค้นข้ามทศวรรษของ “วิจิตร-วีรพงษ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิจิตร สุพินิจ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
วิกฤติการณ์ค่าเงินบาทและระบบสถาบันการเงินของประเทศไทย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ“ วิกฤติต้มยำกุ้ง” ผ่านไปแล้ว 14 ปี นานพอที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ลืมเลือนไปว่า เกิดอะไรขึ้น ใครทำให้เกิด และเกิดแล้วเป็นอย่างไร

หนี้สิน 1.14 ล้านล้านบาทของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่รัฐบาลพยายามจะโอนไปให้แบงก์ชาติรับผิดชอบ เป็นมรดกบาปที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการณ์ครั้งนั้น ที่ยังไม่ได้รับการชำระสะสางจนตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้

หนี้สินก้อนนี้เกิดขึ้นจากการที่กองทุนฟื้นฟูฯ ให้เงินกู้ช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ จนถูกสั่งปิดกิจการไปรวมทั้งสิ้น 56 แห่ง โดยกระทรวงการคลังออกพันธบัตรระดมเงินให้กองทุนฟื้นฟูฯ นำไปอุ้มผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินเหล่านี้ ซึ่งมีข้อตกลงกันว่ากองทุนฟื้นฟูฯ รับผิดชอบชำระเงินต้น ส่วนกระทรวงการคลังเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ย

แหล่งที่มาของรายได้ที่กองทุนฟื้นฟูฯ จะนำมาชำระเงินต้นมาจากการขายทรัพย์สิน ของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการไป ซึ่งในความเป็นจริง ทรัพย์สินที่ดีๆ ถ้าไม่ถูกเจ้าของ และผู้บริหารบริษัทผ่องถ่ายออกไปหมดแล้ว ก็ถูถคณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส.โละขายทิ้งให้ฝรั่งไปในราคาถูกๆ ประกอบกับการนำทรัพย์สินออกขายนั้นมีขั้นตอนระเบียบต่างๆ มากมาย จึงล่าช้ามาก ด้วยเหตุนี้ หลังจากเวลาผ่านไป 10 กว่าปี หนี้ที่เป็นเงินต้นที่กองทุนฟื้นฟูฯ รับผิดชอบ จึงแทบจะไม่ลดลงเลย ทำให้กระทรวงการคลังมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยถึงปีละ 3-4 หมื่นล้านบาทตลอดมา

การโยกหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ส่วนที่เป็นภาระดอกเบี้ยไปให้ธนาคารแห่งปผระเทศไทยรับผิดชอบนั้น หากเชื่อตามที่นายวีรพงษ์ รามางกูร ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย หรือ กยอ. ซึ่งเป็นต้นคิดเรื่องนี้ และกดปุ่มให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนากรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจไปจัดการ ก็มีเป้าหมายเพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของรัฐบาลลง เพื่อที่จะได้กู้เงินได้มากขึ้น โดยอ้างว่าเพื่อนำมาสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม

แต่ผลจากการโยกหนี้ก้อนนี้ไปให้แบงก์ชาติรับผิดชอบทั้งหมด ในทางปฏิบัติแล้ว คือ การฆ่าแบงก์ชาติทั้งเป็น เพราะแบงก์ชาติจะเอารายได้จากไหนมาชำระหนี้ก้อนนี้ ในร่าง พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไปให้แบงก์ชาติ หรือในชื่อทางการว่า ร่างพระราชกำหนดปรับปรุงบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ...... เขียนล็อกไว้เลยว่า รายได้ที่แบงก์ชาติจะนำมาชำระหนี้มาจาก 1. เงินที่ต้องนำส่งคลังหลวงก็ไม่ต้องส่ง ให้นำชำระหนี้เลย ซึ่งจะทำให้เงินในคลังหลวงไม่เพิ่มขึ่น 2.เก็บค่าต๋งจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะต้องผลักภาระให้ประชาชน ทั้งๆ ที่แบงก์ชาติเพิ่งจะเจรจาให้ธนาคารพาณิชย์ลดหรือยกเลิกค่าธรรมเนียมที่แบงก์พาณิชย์เก็บจากประชาชน และ 3.รัฐบาลบังคับให้แบงก์ชาติโอนทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้แบงก์ชาติอยู้ใต้อาณัติของรัฐบาล วันดีคืนดีรัฐบาลอาจจะบังคับให้โอนวังบางขุนพรหมเพื่อชำระหนี้ก็ได้


ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถอธิบายกับสังคมได้ว่ามติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 มกราคม 2555 ในเรืองนี้มีมติอย่างไรกันแน่ นายกิตติรัตน์ซึ่งมีวิธีคิดแบบวาณิชธนากรทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ตอบโจทย์ที่ได้รับมอบหมายบอกว่า ครม.รับหลักการ นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นลูกหม้อแบงก์ชาติเก่าบอกว่า ครม.ให้ทบทวน

การโยกหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ไปให้แบงก์ชาติดูแล หากมองในมิติของคนที่เกี่ยวข้องจะทำให้ได้ภาพอีกภาพหนึ่งว่าเป็นเรื่องของอคติของบรรดาผู้ชักใยอยู่หลังม่านทีมเศรษฐกิจ คือนายวีรพงษ์ นายวิจิตร สุพินิจ และนายนิพัทธ พุกกะณะสุต มีต่อแบงก์ชาติ เป็นอคติที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างยาวนานนับตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายวีรพงษ์ มีโอกาสเมื่อไรก็จะขย้ำแบงก์ชาติอย่างไม่ไว้หน้า

นายวีรพงษ์และนายกิตติรัตน์อ้างว่าแบงก์ชาติ เป็นผู้สร้างปัญหาที่ทำให้สถาบันการเงิน 56 แห่งถูกปิดจนกองทุนฟื้นฟูฯ ต้องเข้าไปอุ้ม ดังนั้นแบงก์ชาติจึงต้องรับหนี้ก้อนนี้กลับคืนไป

เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวที่บอกว่าแบงก์ชาติเป็นผู้สร้างปัญหา ความจริงอีกครึ่งหนึ่งที่หายไปคือแบงก์ชาติในยุคที่นายวิจิตร เกลอของนายวีรพงษ์เป็นผู้ว่าฯ เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา

รายงานของคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ในเรื่องกองทุนฟื้นฟูฯ ระบุว่า เงินช่วยเหลือจากกองทุนได้ทยอยออกไปสู่สถาบันการเงินเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยที่นายวิจิตร สุพินิจ เป็นผู้ว่าการ โดยนำเงินไปเพิ่มทุนให้กับธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด

กองทุนฟื้นฟูฯ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2529 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่สถาบันการเงินเป็นการชั่วคราว หากสถาบันการเงินใด้มีปัญหารุนแรงจนอาจจะดำเนินกิจการต่อไปไม่ได้ กองทุนฟื้นฟูฯ จะกำหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัติตาม เช่น ให้ลดทุน ให้เปลี่ยนผู้บริหาร ส่งคนเข้าไปเป็นกรรมการ

นายวิจิตรแต่งตั้งนายวีรพงษ์เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด หรือ แบงก์บีบีซี.ตั้งแต่ปี 2535 แต่ก็ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น กลับย่ำแย่ลงด้วยซ้ำ จนต้องมีการเพื่มทุน โดยนายวิจิตรสั่งให้กองทุนฟื้นฟูฯ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบงก์ บีบีซี.และนายนิพัทธสั่งให้ธนาคารออมสินเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน บีบีซี.ด้วย โดยไม่มีการให้แบงก์ บีบีซี.ลดทุนก่อน ทั้งยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารแต่อย่างใด

กองทุนฟื้นฟูฯ ยังให้เงินกู้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด กู้เป็นจำนวน 2 พันล้านบาท หลังจากนั้น จำนวนเงินและจำนวนบริษัทที่มาขอกู้ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2539 จำนวนบริษัทที่มาขอพึ่งเงินกู้เพิ่มขึ้นเป็น 6 บริษัท และยอดเงินที่ให้กู้แก่ทั้งกลุ่มรวมกับธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด รวมแล้ว 3 หมื่นล้านบาท

ในเดือนมิถุนายน 2540 ก่อนที่จะมีการลดค่าเงินบาท กระทรวงการคลังได้สั่งปิดกิจการบริษัทเงินทุน 16 แห่ง ที่กู้เงินจากกองทุนฟื้นฟูฯ เกินกว่าร้อยละ 15 ของเงินกู้รวม

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการลดค่าเงินบาท ปัญหาหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ จึงไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของแบงก์ชาติที่นำเงินทุนสำรองไปต่อสู้ปกป้องค่าเงินบาท เป็นเพราะความล้มเหลวของแบงก์ชาติในยุคที่นายวิจิตรเป็นผู้ว่าฯ และนายธีระชัยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินในการแก้ไขปัญหาแบงก์ บีบีซี. และบริษัทเงินทุนที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่เชื่อมั่นมากกว่า จนเป็นเงื่อนไขให้เกิดการโจมตีค่าเงินบาท

หลังการลดค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม 2540 ต่อมาอีก 1 เดือน มีการสั่งปิดบริษัทเงินทุนอีก 42 แห่ง กองทุนฟื้นฟูฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการอุ้มผู้ฝากเงิน และเจ้าหนี้โดยเฉพาะเจ้าหนี้ต่างชาติตามคำบงการของไอเอ็มเอฟ โดยรัฐบาลในขณะนั้นที่มีพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายทนง พิทยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ให้กองทุนฟื้นฟูฯ ให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงินโดยไม่มีประกันได้ และเป็นครั้งแรกที่ให้การกำหนดหลักการวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนดนั้น ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีและได้เพิ่มว่าหากกองทุนได้รับความเสียหายในการที่ได้ประกัน หรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ ให้รัฐบาลช่วยเหลือทางการเงินที่จำเป็นแก่กองทุน พร้อมทั้งให้กองทุนสละหลักประกันในบริษัทที่ถูกระงับดำเนินกิจการได้ เพื่อให้เจ้าหนี้อื่นได้รับเฉลี่ยหนี้

14 ปีผ่านไป วันนี้คนที่สร้างปัญหาหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ กลับมามีอำนาจพร้อมหน้าพร้อมตากันทุกคน จึงไม่ยากที่จะโยนบาปที่ตัวเองสร้างไว้ไปให้กับแบงก์ชาติในยุคนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น