xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ม.112” กลุ่ม “วรเจี๊ยก” และขบวนการ “ลิงหลอกเจ้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เป็นความรู้สึกที่พูดไม่ออกบอกไม่ถูก “หดหู่” กับกลุ่มคนที่มีแนวคิดล่วงล้ำก้ำเกิน จาบจ้วงล่วงละเมิด “ส่อ” แสดงเจตนาเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักและเคารพสูงสุดของปวงชนชาวไทย เป็นอาการพูดไม่ออกบอกไม่ถูก ไม่รู้จะเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า “คนไทย” หรือว่าตัว “เจี๊ยก” อะไรดี!?

โดยเฉพาะกับกรณีการเคลื่อนไหวของนักวิชาการกลุ่ม “นิติราษฎร์” หรือที่หลายคนตั้งฉายาใหม่ให้ว่า “กลุ่มวรเจี๊ยก” ที่มี นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นแกนนำ เสนอให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในความผิดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยล่าสุดได้ยกระดับการเคลื่อนไหวจากนักวิชาการกลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งขึ้นเป็น “คณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา112” หรือ “ครก.112” ซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากหลายสาขาอาชีพ ทั้งนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ กลุ่มศิลปิน สื่อมวลชน นักคิดนักเขียน โดยเริ่มล่ารายชื่อประชาชนให้ได้กว่า 1 หมื่นชื่อ เพื่อแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยโทษฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

สำหรับรายชื่อคณะผู้ก่อการ “ครก.112” ที่เสนอให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ก็มีอาทิ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายสุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการอาวุโสสำนักพิมพ์ในเครือมติชน, นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์, นายปราบดา หยุ่น นักเขียนรางวัลซีไรต์, นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตคนเดือนตุลา, นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา และอาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นต้น

โดยล่าสุด คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ซึ่งนำโดยนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ได้จัดเวทีวิชาการ-ศิลปวัฒนธรรม “แก้ไขมาตรา 112” ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยภายในงานได้มีการเปิดโต๊ะลงชื่อประชาชนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ครบ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอรัฐสภาพิจารณา ที่สำคัญยังมีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) ซึ่งระบุยกเลิกมาตรา 112 โดยมีบัญญัติโทษเกี่ยวกับการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตลอดจนองค์รัชทายาทขึ้นมาใหม่

การจัดงานครั้งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนที่เข้ามาร่วมงานกันอย่างคึกคัก ประชาชนจำนวนมากแห่จับจองที่นั่งบริเวณจัดงานตั้งแต่งานยังไม่เริ่ม มีบุคคลสำคัญทางวิชาการ อาทิ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นายเบนเนดิก แอนเดอร์สัน นักวิชาการชื่อดัง และนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของ นช.ทักษิณ ชินวัตร เข้าร่วมงานด้วย

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่มาร่วมรับฟังสวมเสื้อ “สีแดง” โดยไม่ได้นัดหมาย

นางกฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะตัวแทน ครก.112 อ่านคำแถลงการณ์ระบุตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่มีการรัฐประหาร พ.ศ.2549 มีสถิติผู้ต้องโทษตามมาตรา 112 หรือที่รู้จักกันดีในนามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2553ซึ่งมีการฟ้องร้องถึง 478 ข้อหา

"นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่มีผู้ถูกดำเนินคดี เช่น กรณีอากง, กรณีนายโจ กอร์ดอน ทำให้ไทยดังกระหึ่มทั่วโลก ทำให้องค์กรระหว่างประเทศไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 ทั้งนี้ จะใช้เวลารวบรวมรายชื่อ 112 วัน และจะนำเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้ลุล่วง" แถลงการณ์ ครก.112 ระบุ

ขณะที่ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ปาฐกถาผ่านวิดีโอตอนหนึ่งว่า กฎหมายดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนถึง 478 คดี แต่เชื่อว่าถ้านับรวมความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวนี้ เป็นจำนวนมากกว่านั้น กฎหมายนี้ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการวินิจฉัยผู้กระทำความผิด ทั้งที่ผู้ที่ไม่มีเจตนา แต่อาจพลั้งเผลอไปก็อาจถูกเหมารวมดำเนินความผิดเช่นเดียวกับผู้ที่เจตนาและทำขบวนการเช่นกัน

"เห็นว่าควรจะมีการยกเลิกและปรับปรุงสาระในกฎหมาย อาทิ การเอาความผิดกับกรณีดังกล่าว ที่ไม่ควรเอาไปไว้ในหมวดความผิดต่อความมั่นคง การระบุอำนาจการฟ้องร้องที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้ใครก็ได้สามารถฟ้องร้อง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แทนที่ควรจะมีบุคคลที่มีวิจารณญาณมาร้องทุกข์กล่าวโทษ ทั้งนี้ หากไม่มีการแก้ไข ก็จะไม่มีการรับประกันได้เลยว่ากฎหมายดังกล่าวจะไม่ถูกใช้อย่างฉ้อฉลหรือมีการเข้าใจผิดอีก" นายนิธิกล่าว

นอกจากนี้นายนิธิยังกล่าวว่า มาตรา 112 ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของผู้พิพากษา ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ไม่มีนิยามว่าเนื้อความดูหมิ่น ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่เราไม่ควรทำให้สถาบันเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย ระบอบกษัตริย์ที่ยังเหลือในโลกล้วน “อนุวัฒน์” ตามประชาธิปไตย หากใครไปทำให้คนรู้สึกว่าสถาบันเป็นปรปักษ์ ก็เป็นการทำร้ายสถาบันโดยตรง

ทางด้าน นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ได้กล่าวในงานว่า แม้วันนี้พรรคการเมืองต่างๆ จะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข 112 แต่เชื่อว่าหากประชาชนจำนวนมากสนับสนุน พรรคการเมืองเหล่านั้นอาจจะเปลี่ยนใจ

"อยากฝากบอกบุคคลที่ขัดขวาง อาทิ ข่มขู่ประชาชนที่เข้าชื่อเสนอรายชื่อแก้ไขกฎหมายนั้น เข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมายปี 42 โดยมีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ...

“มีคนบอกว่าจะเป็นการจุดชนวนความขัดแย้ง ประเทศเราอ่อนไหวเรื่องความขัดแย้ง อยากบอกว่าคนเหล่านี้เสแสร้งเหลือเกิน ความขัดแย้งทางความคิดเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย แต่ขอโอกาสให้คนเห็นต่างได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นบ้าง ไม่ใช่ไล่ไปอยู่ที่อื่น” นายวรเจตน์กล่าว

ทั้งนี้ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์กล่าวว่า ตอนนี้ต้องยกเลิก ม.112 ไปก่อน แล้วเขียนบทบัญญัติเพิ่มเติม โดยมีประเด็นสำคัญประกอบไปด้วย

1.ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร เพราะจะทำให้มีความผิดรุนแรง และศาลจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยอ้างว่ากระทบกับจิตใจกับประชาชน 2.เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 3.แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะแบ่งแยกลักษณะความผิดในการลงโทษ ไม่เหมารวมเช่นที่ผ่านมา

4.เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสามปี สำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกินสองปีสำหรับพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 5.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดกรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต 6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

7.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้นแทนพระองค์ เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการกลั่นแกล้งทางการเมือง ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถกล่าวโทษกับผู้อื่นได้ และเชื่อว่าจะไม่เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นคู่ความกับประชาชน เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ลงมาฟ้องร้องเอง แต่ในสำนักราชเลขาธิการซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฟ้องร้องแทนได้อยู่แล้ว

นายวรเจตตน์ยังกล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่มีคนเข้าใจการดำเนินการที่ผิดๆ อาทิ การมีคนมองว่าอาจขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ที่สถาบันฯ จะต้องเป็นที่เคารพสักการะนั้น ตนยืนยันว่าข้อเสนอของคณะฯ มีการบัญญัติบทคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่...

อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ ดูจากข้อเสนอก็รู้ว่าคณะนิติราษฎร์กำลังคิดอะไรอยู่ หลายคนจึงรู้ทันว่ากลุ่ม “วรเจี๊ยก” พวกนี้มีเจตนาต้องการจุดกระแสให้คนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยใช้กลอุบายแยกประชาชนออกจากสถาบัน เพื่อต้องการโดดเดี่ยวสถาบัน ลดความสำคัญลงจนในที่สุดสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นเพียง “สัญลักษณ์” เท่านั้น

ข้อเสนอดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยผู้จงรักภักดีมิอาจยอมรับได้ เพราะเป็นความพยายามที่จะดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาสู่การเมือง อีกทั้งยังเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพของประมุขแห่งรัฐ และมีความเชื่อมโยงกับแนวคิด "ล้มเจ้า" ของคนบางกลุ่ม

แนวคิดอันบิดเบือนของคณะนิติราษฎร์ดังกล่าวนี้ ทำให้คณาจารย์ นักวิชาการ ปัญญาชนอิสระ นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักพัฒนาสังคมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนิด้า สุโขทัย รังสิต ธรรมศาสตร์ และจุฬาฯ ไม่อาจทนนิ่งดูดาย จึงลุกขึ้นมารวมตัวกันในนาม “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” โดยติดตามตรวจสอบการทำงานของ “กลุ่มนิติราษฎร์” ที่บิดเบือนเผยแพร่วิชาการในนามแห่งเสรีภาพ แต่ซ่อนเร้นการสนับสนุนและแผนการกลับคืนสู่อำนาจของผู้นำเผด็จการทุนนิยมที่คดโกงบั่นทอนเสรีภาพ และทำลายสิทธิมนุษยชนของพี่น้องชาวไทยมาแล้วอย่างแสนสาหัส

นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะแกนนำนักวิชาการ "กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์" ซึ่งเปิดตัวต่อต้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ ได้ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า จากการติดตามประเด็นต่างๆ ที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอออกสู่สาธารณะนั้น ตนยอมรับไม่ได้

ประเด็นแรก กรณีที่นิติราษฎร์เสนอให้แบ่งการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนนั้น ตนเห็นว่าเป็นความคิดหลักการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย และหลักว่าด้วยประมุขแห่งรัฐและการปกป้องคุ้มครองสถาบัน

"มองว่าข้อเสนอนิติราษฎร์เป็นการลดสถานะสถาบัน ต้องเข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ มีหลายส่วนในโครงสร้าง ทั้งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ทั้งหมดคือโครงสร้างที่อยู่ในกลุ่มประมุขแห่งรัฐ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่สามารถแบ่งแยกได้ หากมีการทำตามข้อเสนอนี้ จะเป็นการลดฐานะผู้อยู่ในสถาบัน" นายบรรเจิดกล่าว

ส่วนข้อเสนอที่ให้สำนักราชเลขาธิการ เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นั้น นายบรรเจิดชี้ว่า ประเด็นนี้ยิ่งผิดหลักการอย่างมาก เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ผิดกับ หลักการปกป้องประมุขแห่งรัฐ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่ทรงคุณค่า ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิ์ปกป้องคุ้มครอง ไม่ให้มีผู้ใดมาดูหมิ่น ประชาชนย่อมใช้สิทธิ์ปกป้องสามารถไปแจ้งความได้เลย

"ข้อเสนอให้ราชเลขาธิการเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดียิ่งเป็นการดึงสถาบันพระมหา กษัตริย์ให้มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง เพราะราชเลขาธิการคือผู้ใกล้ชิดสถาบัน และยังเป็นการลดสถานะบทบาทสถาบัน" นายบรรเจิดระบุ(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์)

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มนิติราษฎร์ที่ทำตัวเป็นผู้มีสติปัญญา น่าจะมองออกว่าข้อเสนอนี้จะทำให้เกิดอะไรขึ้นแก่บ้านเมือง แต่ทำไมพวกเขายังกระทำต่อ จึงทำให้คิดไปได้ว่างานนี้มีความเชื่อมโยงไปเรื่องอื่นหรือเปล่า กลุ่ม “วรเจี๊ยก” รับงานใครมาหรือไม่ หรืออย่างกรณีที่นายวรเจตน์ขู่ว่า บุคคลที่ขัดขวางการร่วมลงชื่อแก้กฎหมายนี้ เป็นการผิดพ.ร.บ.การเข้าชื่อ มีโทษจำคุก 5 ปี สิ่งที่นายวรเจตน์พูดนี้ก็ขัดแย้งกันเอง เพราะยกเหตุผลมาเพื่อลดโทษมาตรา 112 แต่ตัวเองกลับไปยกกฎหมายอีกมาตรามาข่มขู่บุคคลอื่นที่ไม่เห็นด้วย แล้วมันจะต่างอะไรตรงไหนกับเหตุผลที่คนกลุ่มนี้กล่าวหาคนอื่น จากสิ่งที่พูดจะเห็นว่าพฤติกรรมของพวกเขาไม่ได้เสนอแก้มาตรา 112 ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ หรือเพื่อเสรีภาพ เพราะพวกเขาก็ไปหยิบกฎหมายที่ปิดกั้นไม่ให้คนอื่นใช้เสรีภาพเช่นกัน ดังนั้น กลุ่ม “วรเจี๊ยก” น่าจะประสงค์อย่างอื่นมากกว่า แล้วเอาคำว่าเสรีภาพมาสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวให้พวกตัวเอง

เหมือนอย่างที่ นายศาสตรา โตอ่อน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งข้อสังเกตอย่างคนรู้ทันและรู้ไส้รู้พุงกันเป็นอย่างดีว่า

“นิติราษฎร์อ้างว่าคนที่ถูกลงโทษตามมาตรา 112 ถูกใส่ร้าย ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง แล้วก็ไปตีขลุมอนุมานว่าคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นการใส่ร้าย ซึ่งเห็นว่าปี 49 เป็นปีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ สู้เพื่อกลับมามีอำนาจ มีการโจมตีสถาบันศาล สถาบันทหาร และโยงสถาบันกษัตริย์เข้ามา คดีเกิดมากขึ้นในปีนี้ ทั้งๆ ที่กฎหมายนี้มีมานานแล้ว คดีมันมากขึ้นจากการถูกใส่ร้าย หรือจากการจาบจ้วงจริงกันแน่”

นายศาสตราบอกว่า ทางวิชาการ ถ้าเรายังไม่สามารถพิสูจน์ได้ เราฟันธงไม่ได้ แต่เราตั้งสมมุติฐานได้ แต่เขาฟันธงว่าเป็นการกลั่นแกล้ง แล้วตนก็ขอตั้งสันนิษฐานต่อไว้ว่า การกลั่นแกล้งทางการเมืองมันเป็นปัญหาการเมือง กับการใช้กฎหมาย ซึ่งทางกฎหมายอาญามันมีทางออกอยู่แล้ว เมื่อศาลตัดสินว่าคุณไม่ได้ทำ ก็ฟ้องกลับ แต่ถ้าตำรวจมีปัญหา มันก็เป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ที่ประเทศเราก็มีปัญหาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะจับแพะ ยัดยาบ้า กรือเซะ ตากใบ ก็ไม่เห็นว่านิติราษฎร์จะไปต่อสู้เรื่องการใส่ร้ายอะไรเลย

“แสดงว่าเขาไม่สนใจปัญหาการใส่ร้ายชนิดอื่น แต่สนใจแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เชื่อมโยงแล้วมีแต่ความพยายามถอดสถาบันฯให้ออกจากความเป็นจิตวิญญาณของคนในชาติ ถอดออกจากความมั่นคงของชาติ เสนอให้ลดโทษลง แต่ความกระสันอยากบางอย่าง ทำให้ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่เป็นนักเรียนกฎหมายเกียรตินิยมขั้นสูงสุดของเยอรมัน ผิดพลาดอย่างมหันต์ เกิดผลประหลาดคือคุณคุ้มครองประมุขรัฐตัวเอง (โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี) น้อยกว่าประมุขของรัฐต่างประเทศ (โทษจำคุก 1-7 ปี)”

นายศาสตราให้ความเห็นว่า เป็นความพยายามทำลายสถาบันกษัตริย์ให้หมดสภาพไปในทางความเป็นจริงก่อน ความมั่นคงของรัฐมีบทบัญญัติเยอะแยะ แต่ทำไมถึงโฟกัสมาเฉพาะที่มาตรา 112 ก็เพราะมาตรานี้มันคือปากที่จะได้พูด ได้เสนอ เป็นด่านแรกให้พวก “โพสต์โมเดิร์น” ทั้งหลาย พยายามจะทำลายสปิริตของประเทศชาติ และพยายามสร้างความคิดขึ้นมาใหม่ บางคนไม่เหนียมอายอย่าง ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็บอกเลยให้ยกเลิก บางคนบอกเป็นแนวปฏิรูป แต่มันมีพวกฮาร์ดคอร์ซ่อนรูปอยู่ข้างหลัง นิติราษฎร์เปิดประตูมาตรา 112 เมื่อไหร่ พวกนี้จะระดมเข้ามารื้อสปิริตของสังคม โดยอกุศลกรรม ไม่ใช่การตักเตือนอย่างดีงาม

“ตอนนี้ที่น่าเป็นห่วง คือ กระแสมวลชนเสื้อแดงที่ปลุกขึ้นมาโดยเผด็จการทุนนิยมพรรคการเมือง มันยังมีพลังอยู่ และมวลชนต้องการอาหารทางอุดมการณ์ ต้องการข่าวร้อน ต้องการเสพนักวิชาการ ในกลุ่มนิติราษฎร์ผมมีความรู้จักเป็นการส่วนตัวเลย รู้หมดใครคิดอะไรอย่างไร พวกนี้มีความคิดอย่างร้ายที่สุดคือไปถึงสาธารณรัฐ มีมุมมองต่อกษัตริย์แบบเชิงลบ เหมือนฝรั่งเศสที่มองพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อองตัวแนต แต่พวกนี้ผมว่าเขาเพี้ยน เพราะกษัตริย์ฝรั่งไม่ได้แสดงบทบาทต่อสังคม อย่างพระนางมารี อองตัวแนต มีคนไปทูลว่าประชาชนยากจนไม่มีข้าวกิน พระนางบอกให้ไปกินขนมปัง มันสะท้อนตอบอะไรไม่ได้ แต่สถาบันกษัตริย์ไทยมีคุณูปการทุกเรื่อง ตลอดเวลาที่ผ่านมา” นายศาสตราระบุ

นอกจากนี้ นายศาสตรายังให้ข้อมูลอีกว่า กลุ่มเหล่านี้มีมาตั้งนานแล้ว 20-30 ปี ฝังตัวอยู่แถวต้นโพธิ์ธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์ทั้งหลาย มีอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นศาสดา ส่วนคณะนิติศาสตร์เพิ่งเกิดช่วงหลังๆ พวกนี้บางคนก็ชอบอ่านงานของ ดร.สมศักดิ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บางคนเรียนอยู่ฝรั่งเศส บางคนเรียนอยู่เยอรมัน ชัดเจนอยู่แล้ว ความประสงค์ของเขา โดยอาศัยฐานมวลชนซึ่งเป็นผลผลิตของเผด็จการทุนนิยมพรรคการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ทิ้งมวลชนตรงนั้นเอาไว้ ฉะนั้นจะเห็นได้เลยว่าตอนนี้แกนนำม็อบเสื้อแดงได้ไปเสพอำนาจเป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี เขาพอใจแล้ว และปล่อยให้นปช.ถูกดูแลโดยนิติราษฏร์ไป

“คนเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ที่ชอบอ่านโน่นอ่านนี่ ก็มีความสุขต่อไปที่ได้เสพงาน แล้วมีศาสดาองค์ใหม่ คือ ดร.วรเจตน์ ผมมองว่าเหมือนระบบนาซีเลย สมัยฮิตเลอร์เรืองอำนาจ ก็มีด็อกเตอร์สติเฟื่องคนหนึ่ง ชื่อ ดร.โจเซฟ เกิบเบิลส์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาการ คอยคิดการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง คนนี้ร้ายแรงยิ่งกว่าพวก ฮิมเลอร์ รอมเมล ที่เป็นพวกนักรบ เข้ามาคอยผลิตวาทกรรม ต่างคนต่างได้ประโยชน์ เสื้อแดงก็ได้เสพข่าวสารเป็นมังสาหาร ฝ่ายนักวิชาการก็ได้เป็นศาสดาขึ้นมา”

ทั้งนี้ นายศาสตรามองว่าตอนนี้เบอร์ 2 ที่กำลังมาแรง คือ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล

“คนนี้เคยนั่งกินข้าวกับผม แล้วดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อหน้าผมเลย ถามนักเรียนไทยในฝรั่งเศสได้เลย ตอนอยู่ฝรั่งเศสคนคนนี้ใช้สรรพนามอะไรเมื่อพูดถึงสถาบันฯ มันชัดเจน หรือสาวิตรี สุขศรี เบอร์ 3 มีนามปากกาว่า เช กูวารา ล่าสุดออกมาบอกว่ามนุษย์ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน แต่นี่มันเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ มันคนละเรื่อง ไม่ต้องแปลกใจนิติราษฎร์ไม่ใช่นักกฎหมาย เป็นนักอะไรก็ไม่รู้ที่ใส่เสื้อคลุมนักกฎหมาย” นายศาสตรากล่าว

นอกจากนี้ ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ ยังทำให้นึกถึงคำพูดของ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่แถลงตอบโต้กลุ่มนิติราษฎร์อย่างดุเดือดว่า

"ขณะนี้กลุ่มนิติราษฎร์กำลังบิดเบือน หลอกลวงสังคมสร้างภาพความเข้าใจผิดในการบังคับใช้มาตรา 112 ว่ามีปัญหา ทั้งที่จริงแล้วกฎหมายฉบับนี้ ไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย จนเมื่อมีพวกคิดล้มเจ้าพลิกแผ่นดินเกิดขึ้นตามสถิติในปี 2553 เกิด 400 กว่า มันไม่ใช่ กฎหมายมีปัญหา แต่จิตใจคนไทยมีปัญหาเพราะโดนปลุกปั่นหลอกลวง และมีพวก นักวิชาการกำมะลอ ให้ข้อมูลบิดเบือนรายวัน และสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน ส่วนรัฐบาลควรออกมาพูดให้ชัด เพราะพรรคเพื่อไทย รัฐบาล และกลุ่มอื่น พยายามตีหลายหน้า เห็นได้จากกลุ่มที่ไปสนับสนุนคณะนิติราษฎร์ คือ กลุ่มเสื้อแดง ที่สนับสนุนรัฐบาลทั้งสิ้น รัฐบาลจะเล่นบทสองหน้า หรือนายกฯ ทำเป็นหนูไม่รู้ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้กระทบความรู้สึกคนไทย ยกเว้นพวกนักวิชาการกำมะลอเศษสวะเหล่านี้” นายชวนนท์กล่าว

และยังทำให้นึกถึงสิ่งที่ “คำนูณ สิทธิสมาน” เขียนไว้ในบทความเมื่อไม่นานนี้ว่า...

“คณะนิติราษฎร์กำลังสานต่อการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ให้สำเร็จ !

คณะนิติราษฎร์กำลังจะเสนอให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลับไปสู่สถานะหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 พูดง่าย ๆ ว่าคณะนิติราษฎร์ต้องการใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 มีอายุบังคับใช้อยู่เพียง 5 เดือนเศษมาเป็นหลักในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย

...ย้อนไปดูความในแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ประเด็นที่ 4 ข้อ 2 กันทุกตัวอักษรนะ

“...เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง”

...ในรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ไม่มีคำว่า “พระมหากษัตริย์” เหมือนรัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อๆ มา โดยใช้คำว่า “กษัตริย์” เฉย ๆ

หลักการสำคัญอันเป็นเสมือนการแสดงเจตนารมณ์ปฏิบัติประชาธิปไตย-เปลี่ยนระบอบบรรจุอยู่ในมาตรา 1 ด้วยข้อความที่สั้น กระชับ เมื่อพูดถึงอำนาจสูงสุดของประเทศก็มีแต่คำว่า “ราษฎร” เท่านั้น ไม่มีข้อความต่อมาที่ระบุถึง “พระมหากษัตริย์” ไว้ในมาตราเดียวกันเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา

“อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

ไม่ใช่แต่เพียงภาษาเท่านั้นแต่ฐานภาพของ “กษัตริย์” ตามรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ไม่เหมือน “พระมหากษัตริย์” ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาทุกฉบับต่อจากนั้น

...ที่สำคัญและเชื่อมโยงไปถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ยกเลิกด้วยก็คือ รัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ไม่มีหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อมาบัญญัติคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์และองค์พระมหากษัตริย์ไว้เด็ดขาด ดังเช่นความในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งก็เหมือนฉบับ 2540 และฉบับอื่นๆ ก่อนหน้า...

“องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ / ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

หลักการนี้มีที่มาที่ไปที่แสดงลักษณะเฉพาะเป็นพิเศษของประเทศไทย และเพราะมีหลักการนี้บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเหตุให้มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าหลักการนี้ไม่คงอยู่ในรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ไม่มีฐานรองรับ แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ก็ยังคุ้มครองฐานภาพของ “กษัตริย์” แต่ไม่ได้คุ้มครองไว้เด็ดขาดเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาทุกฉบับจนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ว่า...

“กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย”

และไม่ใช่แค่ยกเลิกมาตรา 112 หรือแก้ไขแบบปรับเปลี่ยนโครงสร้างทั้งหมดเท่านั้น ขณะนี้คนบางกลุ่มยังต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้กลับไปสู่สถานะก่อนปี 2500 และก่อนปี 2490”

นั่นคือบางส่วนจากบทความของ “คำนูณ สิทธิสมาน”

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็มาสู่คำถามที่หลายคนข้องใจก็คือ “คณะนิติราษฎร์” กำลังคิดการใหญ่มากกว่าการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ใช่หรือไม่ พวกเขาต้องการอะไร ทำไมถึงมุ่งมั่นเอาเป็นเอาตาย ที่จะแก้กฎหมายมาตรา 112 ให้ได้ ทั้งๆ ที่ในประเทศไทยมีเรื่องอื่นที่สำคัญและเร่งด่วนอีกมากมายให้ทำ และทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นเรื่องอ่อนไหว อันตรายที่จะนำไปสู่ความแตกแยกของคนในชาติอย่างรุนแรง แต่ทำไมกลุ่ม “วรเจี๊ยก” พวกนี้จึงดูเหมือนไม่สนใจไยดี และยังดื้อด้านที่จะทำ!

 
 
118 รายชื่อคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.)

1. นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ
2. นายสุจิตต์ วงษ์เทศ
3. นายอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
4. นายอานันท์ กาญจนพันธุ์
5. นายเอกกมล สายจันทร์
6. นายเกษียร เตชะพีระ
7. น.ส.ขวัญระวี วังอุดม
8. นายวัฒนา สุกัณศีล
9. นายธีระ สุธีวรางกูร
10. นายปูนเทพ ศิรินุพงษ์
11. น.ส.วันรัก สุวรรณวัฒนา
12. นายอนุสรณ์ รุณโณ
13. วาด รวี (นามปากกา) หรือนายรวี สิริอิสสระนันท์
14. น.ส.มุกหอม วงษ์เทศ
15. นายวิจักขณ์ พานิช
16. นายวัฒน์ วรรลยางกูร
17. พิเชษฐ์ แตงทอง
18. นายอุทิศ เหมะมูล
19. ประกาย ปรัชญา (นามปากกา)
20. นายอติภพ ภัทรเดชไพศาล
21. น.ส.นิธินันท์ ยอแสงรัตน์
22. น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร
23. น.ส.เยาวลักษ์ อนุพันธุ์
24. นายวินัย ผลเจริญ
25. น.ส.กานดา นาคน้อย
26. นายไชยันต์ รัชชกูล
27. นายชาญณรงค์ บุญหนุน
28. นายพิพัฒน์ สุยะ
29. นายนิติ ภวัครพันธุ์
30. นางสุวิมล รุ่งเจริญ
31. นายนิธิ เอี่ยวศรีวงศ์
32. นายพนัส ทัศนียานนท์
33. นายชัยศิริ จิวะรังสรรค์
34. นายยศ ตันตสมบัติ
35. นางโกสุมภ์ สายจันทร์
36. นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
37. นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล
38. นายชัชวาลย์ บุญปัน
39. นายปิยบุตร แสงกนกกุล
40. นายชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
41. นางสาวนลินี ตันธุวนิตย์
42. นายปราบดา หยุ่น
43. นายสุรพศ ทวีศักดิ์
44. นางสฤณี อาชวานันทกุล
45. นายวชิระ บัวสนธ์
46. นายอนุสรณ์ ติปยานนท์
47. นายซะการีย์ยา อมตยา
48. นายกฤช เหลือสมัย
49. น.ส.ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง

50. นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
51. นางจิตรา คชเดช
52. น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า
53. นายประเวศ ประภานุกูล
54. นายเก่งกิจ กิติเรียงลาภ
55. นายคมลักษณ์ ไชยยะ
56. นายเชษฐา พวงหัตถ์
57. เอมอร หิรัญราช
58. น.ส.นฤมล ทับจุมพล
59. นายธนาพล ลิ่มอภิชาต
60. นางผาสุก พงษ์ไพจิตร
61. นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล
62. นายธงชัย วินิจจะกูล
63. นายฉลาดชาย รมิตานนท์
64. นายวัฒนา สุกัณศีล
65. นางกฤตยา อาชวนิจกุล
66. นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์
67. น.ส.สาวตรี สุขศรี
68. นายประจักษ์ ก้องกีรติ
69. นายเชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์
70. นางมรกต ไมยเลอร์ (เจวจินดา)
71. นายวรพจน์ พันธุ์พงศ์
72. น.ส.ไอดา อรุณวงศ์
73. นายคำสิงห์ ศรีนอก
74. นายอธิคม คุณาวุฒิ
75. นายทองธัช เทพารักษ์
76. นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
77. นายวินัย ปราบริปู
78. นายธิติ มีแต้ม
79. น.พ.ริติภูมิ จุฑาสมิต
80. นายสมบัติ บุญงามอนงค์
81. น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ
82. นายอนุสรณ์ ธรรมใจ
83. นายพฤกษ์ เถาถวิล
84. นายชัชวาลย์ ศรีพาณิชย์
85. นายโกวิท แก้วสุวรรณ
86. นางพวงทอง ภวัครพันธุ์
87. นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี
88. นายเกษม เพ็ญภินันท์
89. นายรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
90. นายทักษ์ เฉลิมเตียรณ
91. นายธเนศวร์ เจริญเมือง
92. นางปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
93. นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
94. น.ส.ศรีประภา เพชรมีศรี
95. นายเกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช
96. น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
97. นายฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
98. นายอภิชาต สถิตนิรามัย
99. นายยุกติ มุกดาวิจิตร
100. นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ
101. น.ส.ภัควดี วีระภาสพงษ์
102. นายพิภพ อุดมอิทธิพงศ์
103. นางดวงมน จิตร์จำนงค์
104. นายวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
105. นายเรืองรอง รุ่งรัศมี
106. เดือนวาด พิมวนา หรือ น.ส.พิมใจ จูกลิ่น
107. บินหลา สันกาลาคีรี หรือนายวุฒิชาติ ชุ่มสนิท
108. นายศุภชัย เกตุการุณกุล
109. นางอุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์
110. นายแดนทอง บรีน
111. น.ส.ภาวิณี ชุมศรี
112. น.ส.อันธิฌา ทัศคร
113. นายพงศาล มีคุณสมบัติ
114. นายชาตรี ประกิตนนทการ
115. นายบุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์
116. นายเวียงรัฐ เนติโพธิ์
117. นายฉลอง สุนทราวาณิชย์
118. นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น