ศิลปกรรมล้ำค่าในพุทธศาสนสถาน นอกจากพระพุทธปฏิมากรหรือพระพุทธรูป รวมถึงอุโบสถและวิหารอันงดงามตระการตาแล้ว “จิตรกรรมฝาผนัง” เป็นอีกหนึ่งสิ่งทรงคุณค่าซึ่งแสดงถึงฝีมือและภูมิปัญญาของช่างเขียน ที่ถ่ายทอดเรื่องราวพุทธชาดก คำสอนต่างๆ รวมไปถึงภาพวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้นๆ ที่ช่างเขียนได้สอดแทรกเข้าไป โดยฝีมือของช่างเขียนในแต่ละวัด แต่ละภูมิภาค ก็จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปด้วย
จิตรกรรมฝาผนังของวัดทางล้านนา หรือภาคเหนือของประเทศ ที่เรียกกันว่า “ฮูปแต้ม” ซึ่งมีความงดงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และได้รับการกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง คือฮูปแต้มภายใน “วัดภูมินทร์” จังหวัดน่าน โดยงานจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นสุดยอดงานศิลปกรรมล้านนาชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว
วัดภูมินทร์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2139 โดยเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ สร้างขึ้นหลังจากพระองค์ขึ้นครองนครน่านได้ 6 ปี ปรากฏชื่อในคัมภีร์เมืองเหนือว่าเดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” แต่ภายหลังได้เรียกเพี้ยนจากเดิมเป็นวัดภูมินทร์ และสำหรับฮูปแต้มอันโด่งดังของวัดภูมินทร์นั้น วินัย ปราบริปู ศิลปินเมืองน่าน และผู้ก่อตั้งหอศิลป์ริมน่าน ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “วัดภูมินทร์ สิริศิลปกรรมมหาสมบัติเมืองน่าน” ว่า ฮูปแต้มในวัดภูมินทร์ได้เขียนขึ้นภายหลังการปฏิสังขรณ์พระวิหารขึ้นใหม่ในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ โดยระยะเวลาการบูรณะอยู่ในระหว่าง พ.ศ. 2410-2417
ส่วนศิลปินผู้วาดภาพในวัดภูมินทร์สันนิษฐานว่าเป็น “หนานบัวผัน” ศิลปินพื้นเมืองชาวไทลื้อ ท่านเดียวกับที่ฝากผลงานภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้ที่วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เพราะเมื่อเปรียบเทียบแล้วพบว่าภาพจิตรกรรมทั้งสองแห่งมีความเหมือนกันทั้งลายเส้นและการให้สีสัน ทั้งยังมีภาพที่คล้ายคลึงกันทั้งใบหน้าและท่าทางของคนและสัตว์รวมถึงการแต่งกายและสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ประกอบอยู่ภายในภาพรวมแล้วกว่า 40 จุด
ฮูปแต้มที่วัดภูมินทร์จะมีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยลักษณะการออกแบบภาพที่เรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ ประกอบด้วยการใช้เส้นโค้งสัมพันธ์กันดีกับแนวเนินดินเนินเขาที่เป็นเส้นลูกคลื่นเลื่อนไหลไปมา สอดคล้องกับการเขียนภาพคนที่ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวอย่างอิสระ
ส่วนภาพคนในจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ก็เป็นภาพสะท้อนชีวิตชาวน่านในยุคนั้น ศิลปินวาดคนในภาพให้มีใบหน้ากลมแป้น คิ้วรูปวงพระจันทร์ นัยน์ตาที่แฝงความรู้สึกเจ้าชู้กรุ้มกริ่ม ริมฝีปากเล็กรูปกระจับ และนิยมแสดงอาการดีใจด้วยการเขียนมุมปากเชิดขึ้นทั้งสองข้าง และเขียนมุมปากหุบตกลงถ้าต้องการแสดงความเศร้าเสียใจ ซึ่งแตกต่างกับการเขียนภาพตามแบบอย่างกรุงเทพฯ อย่างสิ้นเชิงที่นิยมบอกผ่านความรู้สึกด้วยท่าทางอากัปกิริยาแบบนาฏลักษณ์ และไม่แสดงอารมณ์ผ่านทางใบหน้า จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างสูง เป็นเสน่ห์อันประทับใจผู้ที่มีโอกาสได้ชม
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์นั้นสามารถถ่ายทอดวิถีชีวิตชาวเมืองน่านออกมาได้อย่างน่าชม โดยเรื่องราวส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของคันทนกุมารชาดกและเนมิราชชาดก แต่ศิลปินผู้วาดภาพได้สอดแทรกและบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตชาวเมืองน่านเข้าไปในภาพได้อย่างกลมกลืน เช่น การแต่งกายของหญิงสาวที่นิยมนุ่งผ้าซิ่นตีนจกซึ่งเป็นซิ่นลายน้ำไหล อันเป็นผ้าทอเอกลักษณ์ของเมืองน่าน การสักลายตามตัวของหนุ่มๆ ชาวล้านนา กิจกรรมในวิถีชีวิตประจำวันเช่นการทอผ้าด้วยหูก การเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว การมาพบปะกันระหว่างหนุ่มสาวที่ชานบ้านในเวลาค่ำขณะที่หญิงสาวกำลังปั่นฝ้าย สภาพบ้านเรือนของชาวล้านนาสมัยก่อน รวมไปถึงชาวพื้นเมืองและฝรั่งต่างชาติที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายในเมืองน่านสมัยนั้น เป็นต้น
สำหรับภาพเขียนรูปคนที่โดดเด่นเป็นพิเศษและเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดในวัดภูมินทร์ ต้องยกให้ภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ซึ่งอยู่ใกล้กับประตูทิศตะวันตก เป็นภาพขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับขนาดคนจริงของชายหนุ่มและหญิงสาวในชุดแต่งกายแบบพม่าหรือแบบไทยใหญ่ ในอิริยาบถยืนเคียงกัน ฝ่ายชายจับบ่าหญิงสาวและใช้มือป้องปากเหมือนกำลังกระซิบกระซาบถ้อยคำบางอย่างข้างๆ หู ซึ่งไม่มีใครทราบว่ากระซิบว่าอย่างไร แต่ด้วยสายตาของทั้งคู่นั้นมีแววกรุ้มกริ่มแฝงนัยบางอย่างที่น่าคาดเดาไปในทางโรแมนติก จนอาจารย์ สมเจตน์ วิมลเกษม ปราญช์เมืองน่าน ได้แต่งคำกลอนอันสุดแสนโรแมนติกเป็นภาษาเหนือเพื่อบรรยายถ้อยคำกระซิบของปู่ม่านย่าม่านนี้ว่า
“คำฮักน้องกูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาขะลุ้ม จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป ก็เลยเอาไว้ในอกในใจ๋ตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้ ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา...” แปลได้ว่า “ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะเอาความรักของพี่ไป เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น”
เมื่อภาพอันแสนคลาสสิคมาเจอกับคำบรรยายสุดโรแมนติกนี้แล้ว จึงไม่น่าแปลกที่ภาพปู่ม่านย่าม่านนี้ได้ชื่อว่าเป็นภาพ “กระซิบรักบันลือโลก”
ส่วนภาพที่อยู่ด้านข้างประตูทางทิศใต้ เป็นภาพของหญิงสูงศักดิ์และชายสูงศักดิ์อยู่คนละฝั่งประตู ภาพหญิงสูงศักดิ์นี้เป็นหญิงสาวเกล้าผมมวย เปลือยอกมีผ้าพาดคอปล่อยชายไปด้านหลัง ซึ่งเป็นลักษณะการแต่งกายขณะอยู่บ้าน หญิงผู้นี้เจาะหูและใส่ม้วนทองซึ่งเป็นแผ่นทองตีบางๆ แกะสลักชื่อและวันเดือนปีเกิดและม้วนใส่ไว้ในติ่งหูที่เจาะไว้ กำลังนั่งเท้าแขนอ่อนอยู่บนเก้าอี้ อีกมือหนึ่งคีบบุหรี่ขี้โยด้วยท่วงท่าเก๋ไก๋
ส่วนภาพชายสูงศักดิ์นั้นเป็นชายหนุ่มใส่เสื้อแขนยาวมีผ้าพาดบ่า เหน็บมีดไว้ที่เอว มีบุหรี่ขี้โยเสียบอยู่ในติ่งหูที่เจาะไว้ ที่ต้นขาเห็นเป็นสีดำนั้นไม่ใช่กางเกง แต่เป็นการสักขาลาย ซึ่งเป็นความนิยมของชายล้านนา โดยการสักนั้นมักจะสักตั้งแต่ท้องไปจนถึงขาอ่อน เราจึงมักเรียกผู้ที่สักแบบนี้ว่าลาวพุงดำ การสักนั้นแสดงถึงความเป็นลูกผู้ชาย เพราะต้องอดทนต่อความเจ็บปวด บางคนจึงต้องดื่มเหล้าขาวหรือสูบฝิ่นระหว่างการสักเพื่อลดความเจ็บปวด เมื่อสักขาเสร็จข้างหนึ่งก็จะจับไข้ไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ แล้วจึงค่อยมาสักอีกข้างหนึ่ง บางคนทนความเจ็บปวดไม่ไหว ยอมสักขาแค่ข้างเดียวก็มี แต่หากชายคนใดไม่มีรอยสักก็จะไม่มีผู้หญิงยอมแต่งงานด้วยเพราะเชื่อว่าไม่มีความอดทน
อีกหนึ่งภาพจิตรกรรมที่ไม่ควรพลาดชมคือภาพ “โมนาลิซ่าเมืองน่าน” หรือสาวงามแห่งเมืองน่านที่อยู่ใกล้กับประตูทางด้านทิศตะวันออก หญิงงามนางนี้มีชื่อว่านางสีไว อยู่ในอิริยาบถที่กำลังเกล้าผมขึ้นเหนือศีรษะและตกแต่งมวยผมด้วยดอกไม้สีสวย ที่ใบหูใส่ม้วนทอง เปลือยอกไม่ใส่เสื้อ มีเพียงผ้าคล้องคอไพล่ชายไปด้านหลัง อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ได้นำคำกลอนจากวรรณพราหมณ์ชาดกมาบรรยายความงามของนางสีไวว่า “คิ้วโก่งค้อม แวดอ้อมตาขำ เหมือนจันทร์เดือนแรม สิบสองค่ำใต้ ริมปากออนแดง เหมือนแสงก๊อไต้ หยังมางามวิไล เลิศล้ำ”
ไม่เพียงจิตรกรรมฝาผนังอันงดงามเท่านั้นที่ดึงดูดให้ผู้คนมาเยี่ยมเยือน ทว่าวัดภูมินทร์ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก นับตั้งแต่อาคารทรงจตุรมุขก่ออิฐถือปูน ซึ่งเป็นทั้งพระวิหารและพระอุโบสถในหลังเดียวกัน หลังคาลดระดับ 3 ชั้น มีมุขยื่นไปตามทิศทั้งสี่และมีประตูทางเข้าทั้งสี่ด้าน ส่วนที่เป็นพระอุโบสถวางตัวไปตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ส่วนพระวิหารวางตัวตามแนวตะวันออก-ตะวันตก โดยมีพญานาค 2 ตัว พาดตัวตามแนวบันไดจากทิศเหนือไปทิศใต้ ทำให้ดูเสมือนว่าพระวิหารหลังนี้ประดิษฐานอยู่บนหลังพญานาค ซึ่งภาพความงดงามของวัดภูมินทร์นี้ได้เคยปรากฏอยู่ในธนบัตรใบละ 1 บาท ที่พิมพ์ใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย
นอกจากนั้นภายในวิหารยังประดิษฐานพระพุทธมหาพรหมอุดมศักยมุนี พระพุทธรูปปางมารวิชัย 4 องค์ ประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ชนกัน โดยมีพระเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสองอยู่ตรงกลาง เบื้องหน้าพระพักตร์ของพระพุทธรูปแต่ละองค์หันออกสู่ทิศทั้งสี่ตรงตามช่องประตู นับเป็นอีกหนึ่งวัดงามซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองน่านเสมอมา
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วัดภูมินทร์ ตั้งอยู่บนถนนสุริยพงษ์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ตรงข้ามกับศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เทศบาลเมืองน่านและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน สอบถามโทร. 0 5471 0935