เอนก นาวิกมูล
เจนภพ จบกระบวนวรรณ
และ วินัย ปราบริปู
พวกเขาอาจจะเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ที่ไม่ได้มีความแตกต่างกับประชาชนจำนวนมากของประเทศ ที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่หนักหน่วงที่สุดในชีวิตอย่าง มหาอุทกภัย ในช่วงปลายปี 2554
หากแต่ในอีกมุมหนึ่ง เอนก คือเจ้าของบ้านพิพิธภัณฑ์ซึ่งรวบรวมข้าวเครื่องใช้ หนังสือหนังหา ซึ่งมีอายุรวมกันหลายร้อยปี และบางอย่างก็ไม่มีทางที่จะหาได้ในปัจจุบันอีกแล้ว
ขณะที่เจนภพ นอกจากจะมีบทบาทของผู้จัดรายการวิทยุเพลงลูกทุ่งแล้ว บ้านของเขาก็ยังเป็นพิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่ง ซึ่งรวบรวมเพลงลูกทุ่งนับไม่ถ้วน ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเทป ซีดี แผ่นเสียง
เช่นเดียวกับวินัยก็มีหอศิลป์เมืองน่าน ซึ่งรวบรวมศิลปะร่วมสมัยจากทั้งล้านนาและภูมิภาคอื่นๆ เอาไว้ไม่ยิ่งหย่อนเลย แต่ (เกือบ) ทั้งหมดนี้แต่ต้องมลายไปพร้อมกับสายน้ำที่พวกเขาไม่ทันได้ตั้งตัวแม้แต่นิดเดียว
แน่นอนสิ่งที่หายไปนั้นไม่ใช่เพียงแค่ความหลงใหลคลั่งไคล้ส่วนตัวของพวกเขาเท่านั้น แต่มันยังเปรียบได้กับการสูญเสียมรดกสำคัญของชาติ ซึ่งไม่ว่าต้องใช้เวลาอีกสักเท่าใดถึงจะทดแทนกันได้
และเพื่อเป็นการสรุปบทเรียนและรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกสักครั้ง ทางเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูปจึงได้เชิญเจ้าของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ทั้งสามมาร่วมพูดคุย รวมไปถึงแผนการในอนาคตที่พวกเขาได้วางเอาไว้ ท่ามกลางความคิดว่า หมดช่วงแห่งการไว้อาลัยให้แก่สิ่งที่ฟื้นคืนไม่ได้ เพราะตอนนี้คือเวลาของการก้าวไปข้างหน้าต่างหาก
ภาคที่ 1 ‘หอศิลป์ริมน่าน’
แม้นี่จะไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับปรากฏการณ์เปียกปอนของหอศิลป์ริมน่าน แหล่งเผยแพร่งานศิลปะร่วมสมัยและแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะแห่งหนึ่งที่สำคัญของประเทศไทย แต่ก็ยอมรับว่า อุทกภัยครั้งนี้ก็เลยเอา วินัย ปราบริปู ในฐานะของผู้ดูแลเหนื่อยไม่ใช่เล่น
“น้ำมาครั้งแรกเมื่อปี 2549 หลังเราเปิด 2 ปี แล้วทางเดียวคือ อำเภอน่านกับท่าวังผา ผมอยู่ตรงกลางพอถึง โดนหนักเลย เพราะมันไม่เคยท่วมนานแล้ว แถมเราเองก็ไม่มีประสบการณ์ ก็เลยยกของ ยกหนังสือรวมภาพของเรา 19 ปี ไปเก็บภาพเขียน ไว้บนโต๊ะ ปรากฏผิดคาด น้ำไม่มา แต่พอถึงเดือนสิงหาคม ทั้งๆ ที่ตอนบ่ายกลางวันแดดจ้าเลย ปรากฏคืนนั้นน้ำมา ตอนเช้าก็เรียกไปช่วยยกของ เอาภาพขึ้นก่อน เพราะมันเบา แล้วในที่สุดต้องลุยน้ำเก็บของ น้ำก็ขึ้นมาจนถึงชั้นสอง ห้องที่เก็บข้าวของ ภาพเขียน หนังสือ ของฝากขาย เป็นขี้โคลนหมด เละตุ้มเป๊ะเลย พอมาปี 2554 เราโดนจังหวัดแรกเลย เดือนมิถุนายน วันที่ 26 มันยังไม่ทันเข้าพรรษาเลย และด้วยความที่มีประสบการณ์มาก่อนก็ต้องเตรียมไว้หมด อย่างภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังเมืองน่าน ผมก็เก็บหมด ซึ่งน้ำก็เข้ามาถึง 190 เซนติเมตร หรือตรงที่แสดงนิทรรศการ ภาพกับคำอธิบายก็เก็บขึ้นหมด ย้ายออกไปเลย เพราะเรารู้ว่ายังไงแน่ ส่วนที่ย้ายออกไปไม่ได้ เช่น ตู้เย็น ถังแก๊ส 2 ใบ หรือถ้วยชามที่เอาไว้รองรอบ ก็ลอยไปหมด”
อย่างไรก็ดี หากถามถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว วินัยไม่ได้ระบุออกมาชัดเจน เพียงแต่บอกว่าไม่มากเท่าใดนัก โดยเฉพาะเมื่อไปเทียบกับเหตุการณ์เมื่อ 6 ปีก่อนที่ต้องเสียทั้งภาพ ทั้งหนังสือ แล้วยังเครื่องใช้ข้าวของ ตีมูลค่ารวมๆ ก็เกือบครึ่งล้านบาท แต่ที่น่าเสียดายสุดๆ ก็คงจะเป็น ธรรมชาติรอบๆ ข้างหอศิลป์ที่เคยเป็นจุดเด่นและจุดพักผ่อนชั้นยอดที่ผู้รักศิลปะนิยมมาอย่างต่อเนื่อง ได้กลายเป็นอดีตไปเรียบร้อยแล้ว แถมเงินช่วยเหลือจากกระทรวงวัฒนธรรมก็ยังไม่ได้ เพราะทางหอฯ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นทางการเหมือนพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์อื่นๆ
“เราได้เงินชดเชย 5,000 บาท สำหรับค่าเสียหายของสระน้ำ ซึ่งมีปลาอยู่ ส่วนต้นไม้รอบๆ ได้ 8,000 บาท แต่ถ้าเราลงชื่อเป็นเกษตรกรก็คงต้องอีก 10,000 บาท เพราะสภาพของบ้านหลังน้ำท่วมก็ทรุดไปด้วยเหมือนกัน” วินัยอธิบาย
ภาคที่ 2 ‘บ้านพิพิธภัณฑ์’
เหตุการณ์ ณ พิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของ เอนก นาวิกมูล ทุกคนคงคาดเดาได้ว่า นับเป็นความสูญเสียแค่นั้นต่อมรดกของชาติ เพราะไม่เพียงภาพของเอนกเองก็ชัดแล้วว่า เขาคือสารานุกรมที่ชีวิตเพียงไม่กี่คนในสังคมไทยมีอยู่เท่านั้น แต่ข้าวของที่รวบรวมเอาไว้ที่นี่ ต่างเป็นหลักฐานของภูมิปัญญาและสมัยนิยมชิ้นสำคัญที่บ่งบอกประวัติความเป็นมาของรัฐไทยอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหายาก เสื้อผ้าจากยุคต่างๆ ตั้งแต่เสื้อลายดอก จนถึงเสื้อสายเดี่ยว เรื่อยไปถึงของสะสมเล็กๆ น้อยๆ อย่างของเล่น กระป๋องน้ำอัดลม อุปกรณ์เครื่องเขียน ฯลฯ
“น้ำทะลักจากคลองมหาสวัสดิ์ 27 ตุลาคม ตรงวัดปุรณาวาส ผมไปสำรวจดูการป้องกันน้ำ แล้วก็ตอนนั้นปล่อยน้ำจากประตูน้ำ คือกั้นไม่ไหวแล้ว หลังจากนั้น ก็ท่วมขึ้นมาเรื่อยๆ ผมก็พยายามเก็บมาแล้ว 1 อาทิตย์ ยกของขึ้น ประมาณหัวเข่า แต่น้ำมาประมาณเอว ก็ท่วมหมด ไม่ได้มาร้องขอความเห็นใจนะ คือมันยกกันไม่ไหว ข้าวของก็ระเนระนาด ล้มคว่ำ ผมเองไปเปิดดูเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน จากห้องนี้เก็บของที่บริจาคจัดวางเป็นกล่องอยู่ดี และของที่พิมพ์ไว้ขายมาเป็นทุนทำงาน ต้องถีบประตูเข้าไป ประตูมันบวมมาก ต้องพังประตูเข้าไป เข้าไปก็ของลอยฟ่อง เหมือนทุกห้อง คือมันจำลองเป็นร้านขายของเล่น ร้านทำฟัน ร้านกาแฟ หลังจากนั้นก็พยายามเก็บกวาดมาเรื่อยๆ เพราะมันเน่าเหม็นมาก น้ำขังเป็นดำมาก” เอนกเล่าภาพที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด
จากความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้เอง น้ำได้ทำลายพื้นที่ชั้น 1 ของอาคารจนเกลี้ยง ของหลายอย่างที่อพยพไม่ทัน หรือคิดว่าวางไว้สูงแล้ว แต่ในความจริงกลับต่ำกว่าน้ำที่ทะลัก กระเจิดกระเจิงกระจายอยู่เกลื่อนห้องเต็มไปหมด และยากที่จะเยียวยาให้กลับมาเหมือนเดิม
แต่ทว่า ภายใต้โชคร้ายก็มักจะมีโชคดีอยู่เสมอ เพราะหลังจากข่าวของบ้านพิพิธภัณฑ์กระจายไปไม่นาน ผู้คนต่างสารทิศต่างเข้ามาช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล และน้องๆ จากถนนเจริญกรุงและพลับพลาไชย ที่มาร่วมไม้ร่วมมือกันเก็บกวาดและรื้อพื้นบ้าน ซึ่งขึ้นราหมด ล้างน้ำยา และปรับพื้นใหม่ เช่นเดียวกับกลุ่มเพื่อนฝูงจากสำนักพิมพ์พิมพ์คำ สำนักพิมพ์สายธาร ที่มาช่วยบริจาคอย่างเต็มที่เพื่อให้กิจการนี้ดำเนินต่อไปได้
ที่สำคัญยังมีข้อเสนอจากรุ่นพี่นับถือกันอย่าง จำนง วัฒนเกส ให้ย้ายไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยจากอุทกภัยมากกว่าอย่างซอยปุณณวิถี ถนนสุขุมวิท 101 แทนอีกต่างหาก
“โซนที่ถนนสุขุมวิทยังไมได้พูดคุยรายละเอียดว่าจะทำยังไง แต่ในส่วนของทางสมาคมเอง เรามีโครงการที่จะขยับขยายอยู่แล้ว จากเดิมที่อยู่ 58 ตารางวา ตอนนี้พยายามหยิบยืมเงินของเพื่อนสำนักพิมพ์ไปซื้อที่ดิน 2 ไร่ครึ่ง แถวตำบลงิ้วราย จังหวัดนครปฐม ก็ห่างจากที่เดิมไป 23 กิโลเมตร แล้วก็ไปขอให้สถาบันอาศรมศิลป์ ช่วยออกแบบให้เรียบร้อยหมดแล้ว เหลือแต่หาทุนซัก 10-15 ล้านบาทก็สร้างได้เลย”
และนี่คือทางออกที่เอนกสรุปทางตัวเอง ภายใต้วิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่ไม่เคยคาดคิด
ภาคที่ 3 ‘พิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่ง’
เสียงของเจนภพ จบกระบวนวรรณ ยังคงดังชัดเจนอยู่ในวิทยุเอฟเอ็มและเอเอ็มที่เขาจัดอยู่เสมอ แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าช่วงที่ผ่านมา นักแต่งเพลงชื่อก้อง เจ้าของบทเพลง ‘รักจริงให้ติงนัง’ นั้นได้ผ่านศึกนักที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต และเป็นศึกที่ทำลายสิ่งที่เข้าทุ่มเทมามากกว่า 30 ปีเลยทีเดียว
เพราะภายในบ้านของเจนภพที่ถูกปรุงแต่งเป็นพิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่งนั้น ได้รวบรวมเพลงที่ตอนนี้อาจจะหาฟังที่ไหนไม่ได้อีกแล้วเต็มไปหมด หลายแผ่นเป็นของสะสมส่วนตัวของเจนภพมาตั้งแต่วัยเยาว์ บางชิ้นเป็นเสียงสัมภาษณ์ของนักร้องลูกทุ่งที่วันนี้ลาลับไปแล้ว เช่น ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย, ทูล ทองใจ, ยอดรัก สลักใจ หรือแม้แต่ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ บางอย่างเป็นของลายมือจริงๆ ของศิลปินเหล่านี้
แต่วันนี้ทุกอย่างได้ถูกพัดพาไปกับสายน้ำ แน่นอนแม้ของบางชิ้นจะยังเหลือซากอยู่ แต่คงนำไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ หากมันได้เปียกปอนจนชุ่มไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ เทป หรือแผ่นเสียงก็ตาม
“ตอนที่ผมอพยพเหมือนหนีสงคราม เพราะผมมีทหารมาหิ้วขึ้นรถไปเพชรบุรี เพราะไม่ยอมออก แล้วตอนนั้นผมนุ่งกางเกงฟุตบอลอยู่หนึ่งตัว เสื้อไม่ใส่ จำได้ว่าเสื้อลายดอกทั้งหมดจมน้ำ ก็หิ้วเสื้อยืด เสื้อบอลได้อีก 2 ตัว ทั้งชีวิตเหลืออยู่แค่นั้นครับ ในนาทีนั้นคือ คำถามที่ผมไม่อยากตอบเลย คือแล้วเก็บของไม่ทันเหรอ ประทานโทษ ได้โปรดเข้าใจ หัวใจใครมันจะทนนั่งให้น้ำมันท่วมในสิ่งที่เราเก็บมาทั้งชีวิต เราทำแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่คิดว่ามันดูแลตัวเองได้ ตั้งกำแพงเป็นเมตรก็ตั้ง เงินค่าก่อกำแพงแพงกว่าที่รัฐบาลให้อีก ก็ก่ออีก บ้านผมก็ยกพื้นเหนือจากถนนขึ้นไปอีกไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร เป็นเมตรสามสิบ แต่น้ำมันท่วมเลยศีรษะภรรยาผมที่สูง 150 เซนติเมตรเลย”
เจนภพถ่ายทอดความรู้สึก โดยเขายอมรับอย่างไม่อายว่า งานนี้ถึงขั้นหลั่งน้ำตากันเลย เพราะ ความทรงจำแห่งเสียงเพลงที่เก็บมาทั้งชีวิตแทบไม่มีอะไรเหลือเลย อย่างเนื้อเทปหรือกระดาษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลายเซ็นหรือปกเทป ปกซีดี ปกแผ่นเสียงต่างก็ขึ้นราหมด ที่รอดก็มีแต่บางส่วนที่ถูกแยกไปไว้ชั้น 2 ของบ้าน
“ข้างล่างไม่รอดเลย ที่สะเทือนใจสุดก็คงเป็นหนังสือที่ทูล ทองใจเขียนประวัติตัวเอง สมุดโทรศัพท์ของยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย แล้วก็มีสมุดติดต่องานของครูสมยศ ทัศนพันธ์ แล้วก็มีไวโอลินของครูคำรณ สัมปุณณานนท์ ที่เหลือซากแค่นี้ก็บุญแล้ว และตอนที่มีคนมาช่วยก็มีคนเจอซองบุหรี่กรุงทองซองสั้น น้ำเข้าเหม็นหึ่งเลย ซึ่งตอนนั้นเขากำลังจะขยำแล้ว โชคดีเห็นทัน ก็เลยรีบบอกว่าอย่าขย้ำ เพราะมันคือซองบุหรี่ของสุรพล สมบัติเจริญ”
แน่นอนความสูญเสียครั้งนี้เกินกว่าจะเยียวยาได้ เพราะทางออกมีอยู่ทางเดียวก็คือ การเริ่มต้นใหม่หมดทุกอย่าง เริ่มจากศูนย์ ซึ่งงานนี้ก็ยังโชคดีที่ใจของเจนภพยังไม่ท้อและละความพยายาม
เพราะเขายังอยากจะก้าวนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง แม้จะยากขนาดไหนก็ตาม โดยเฉพาะเปิดรับแผ่นเสียงจากผู้ใจบุญและต้องการอนุรักษ์พิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่ง ซึ่งแม้จะไม่สามารถเติมเต็มได้เท่ากับก่อนเหตุการณ์ แต่มันก็เป็นสัญลักษณ์ว่า ทุกคนยังอยากให้ประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่งยังดำเนินต่อไปได้อีกยาวนาน
.........
แม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะหนักหนาและรุนแรงขนาดไหน แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้จากบุรุษทั้ง 3 คนก็คือความไม่แพ้ต่อโชคชะตา และอุปสรรคทั้งหลายที่ถาโถมเข้ามา เพราะสิ่งหนึ่งที่ทั้งสามต่างมีก็คือ อุดมการณ์และความตั้งใจจริงที่จะสร้างสรรค์และเก็บรวมรวมงานศิลปะในแขนงที่ตัวเองเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะออกมาในรูปไหนก็ตามให้คงอยู่สืบไป ต่อให้การเริ่มต้นจะเริ่มนับจากเลยเท่าใดก็ตาม
เพราะคงไม่ประโยชน์อีกแล้ว หากเราจะมั่วย่ำเตือนแต่ความหลัง โดยไม่ยอมลุกขึ้นยืนเพื่อเดินต่อไปครั้งหน้า และนั่นแหละที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ต่อให้สายน้ำจะรุนแรงแค่ไหน และส่งผลกระทบต่อวัตถุพยานแห่งศิลปะสักแค่ไหน ก็ไม่มีทางจะพัดพาเอารากแห่งวัฒนธรรมของชาติให้สูญสิ้นไปได้แม้แต่นิดเดียว
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : สุภิญญา นาคมงคล / สุทธิโชค จรรยาอังกูร
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต