xs
xsm
sm
md
lg

วิพากษ์การบริหารของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในระยะ 6 เดือน (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

คุณธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมาและความยุติธรรมเป็นเสาหลักในการค้ำยันความชอบธรรมในการรักษาอำนาจของผู้ปกครอง และเป็นปราการสำคัญในการปกป้องมิให้ผู้ปกครองถูกโค่นล้มได้โดยง่าย แต่หากผู้ปกครองประเทศใดไร้ซึ่งคุณธรรมทั้งสองประการนี้ อำนาจของพวกเขาเสมือนหนึ่งแขวนอยู่กับเส้นด้ายเล็กๆบางๆ ที่พร้อมจะขาดลงตลอดเวลาเมื่อมีพลังใดๆเข้ามากระทบ รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้

การบริหารประเทศโดยใช้ การทุจริตฉ้อฉล เล่ห์เหลี่ยมทางการเมือง และความอยุติธรรม เป็นการเพาะบ่มเมล็ดพืชพันธุ์แห่งความชั่วร้ายแก่ประชาชนและสังคม เพราะเยาวชนผู้ยังไม่เข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างลึกซึ้งรอบด้าน และประชาชนผู้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจำกัด อาจหลงผิดติดอยู่กับมายาภาพลวงตาที่พวกเขารับรู้ และหลงเชื่อว่าปรากฎการณ์ที่พวกเขาเห็นเป็นสิ่งถูกต้องและเป็นสิ่งที่พึงเลียนแบบ

หลักฐานจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนยืนยันถึงความถูกต้องของข้อสรุปดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากผลการวิจัยเชิงสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ระบุว่า ประชาชนร้อยละ 64.6 ยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ทำให้ตนเองได้รับประโยชน์ และเมื่อจำแนกเป็นกลุ่มอายุปรากฏว่า ร้อยละ 73.7 ของผู้ที่มีช่วงอายุ 20-29 ปี ยอมรับการทุจริตของรัฐบาลได้ในสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ ซึ่งแสดงว่าเยาวชนผู้อ่อนต่อโลกย่อมอ่อนไหวได้ง่ายกับสิ่งยั่วยุที่พวกเขาคิดว่าจะสร้างความสะดวกสะบายทางวัตถุแก่พวกเขา

ทำไมคนหนุ่มสาวถึงสามในสี่ยอมรับการทุจริต ก็เพราะพวกเขาเห็นแบบอย่างจากนักการเมืองหรือข้าราชการที่ทุจริต มีความมั่งคั่งร่ำรวย มีอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญ ได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คนจำนวนมาก และมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต และที่สำคัญคือบรรดานักการเมืองและข้าราชการที่ทุจริตคอร์รัปชั่นมีจำนวนน้อยมากที่จะถูกจับดำเนินคดีและถูกพิพากษาลงโทษ บางรายแม้ถูกพิพากษาลงโทษแล้วก็ยังอาศัยอิทธิพลและเครือข่ายหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ใช้ชีวิตอย่างมีเสรีภาพสุขสบาย ยิ่งกว่านั้นบางรายก็ยังดำรงฐานะเป็นเจ้าของพรรคการเมืองซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอีกด้วย

สำหรับการกระทำที่แสดงถึงไร้ความสัตย์ซื่อ ไม่ตรงไปตรงมาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นการเข้าข่ายหลอกลวงประชาชนมีหลายประการ แต่ในที่นี้ขอหยิบยกมาเป็นตัวอย่าง 3 ประการ

ประการแรกคือ การหลอกลวงประชาชนว่ายกเลิกกองทุนน้ำมัน แต่กลับไม่ได้ยกเลิกตามที่พูด เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ปราศรัยหาเสียงในนามพรรคเพื่อไทยที่สนามราชมังคลากีฬาสถานประกาศว่า จะยกเลิกกองทุนน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 7.50 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 ลดลง 6.70 บาทต่อลิตร และ ดีเซล ลดลง 2.20 บาทต่อลิตร แต่ต่อมาในวันที่ 6 ก.ค. 2554 ภายหลังพรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมากที่สุดและได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ กลับกล่าวว่า ไม่ได้ยกเลิกกองทุนน้ำมัน แต่เป็นการยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน จากนั้นเมื่อจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็กำหนดมาตรการยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันชั่วคราวเพียง 6 เดือนเท่านั้น ขณะปราศรัยหาเสียงเงื่อนไขนี้มิได้ประกาศให้ประชาชนทราบ แต่เป็นเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นภายหลังเป็นรัฐบาลแล้ว

ประการที่สอง หลอกลวงประชาชนว่าจะขึ้นเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีเป็น 15,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อแถลงนโยบายในรัฐสภากลับพลิกลิ้นว่า ให้ปริญญาตรีมีรายได้ไม่น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน คำว่าเงินเดือนกับรายได้มีความแตกต่างกันมาก เพราะเงินเดือนหมายถึงเงินที่ได้ประจำเป็นรายเดือนจากการทำงาน และใช้เป็นฐานในการพิจารณาขึ้นเงินเดือนในปีต่อไป ส่วนรายได้นั้นเป็นเงินเดือนรวมกับเงินพิเศษอื่นๆซึ่งไม่ได้ใช้เป็นฐานในการอ้างอิงสำหรับการขึ้นเงินเดือนปีถัดไปแต่อย่างใด

นโยบายบายนี้นอกจากเป็นการที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อประชาชนแล้วยังสร้างความไม่ยุติธรรมให้เกิดขึ้นอีกด้วย เพราะรัฐบาลสนับสนุนเฉพาะเงินให้แก่ผู้จบปริญญาตรีเท่านั้น แต่ผู้จบปริญญาโทกลับไม่สนับสนุน จึงกลายเป็นว่าในหน่วยงานเดียวกันผู้จบปริญญาโทมีรายได้น้อยกว่าผู้จบปริญญาตรี อันเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลในการบริหารงานภายในองค์การของรัฐ

ประการที่สาม การหลอกลวงประชาชนว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ครั้นเมื่อเป็นรัฐบาลกลับแถลงว่า ให้แรงงานมีรายได้ไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นการเล่นคำใช้ภาษาบิดเบือนอย่างไร้ความละอายเช่นเดียวกับการเล่นคำระหว่าง เงินเดือน กับรายได้ ในกรณีผู้จบปริญญาตรี รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงหลอกลวงทั้งกลุ่มผู้มีการศึกษาสูงและกลุ่มผู้ใช้แรงงานไปพร้อมๆกัน และแม้กระทั่งเวลาผ่านไป 6 เดือนจนมีการปรับคณะรัฐมนตรีไปแล้ว นโยบายขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน ก็ไม่มีท่าทีว่ารัฐบาลสามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้

อันที่จริงพรรคเพื่อไทยก็ทราบดีอยู่แล้วว่า การขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวันเป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก เพราะจะกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมหาศาล แต่ก็มีเจตนาไม่สัตย์ซื่อจึงใช้ประเด็นนี้หาเสียงเพื่อหลอกลวงผู้ใช้แรงงานให้เลือกพรรคตนเองในการเลือกตั้ง

นอกจากการบริหารงานอย่างไร้ความสัตย์ซื่อแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังแสดงพฤติกรรมการบริหารที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรมหลายเรื่องหลายประเด็นด้วยกัน ตัวอย่างเด่นชัดที่สุดคือ การให้เงินเยียวยาจำนวนมหาศาลอย่างไม่เคยพบพานมาก่อนในสังคมไทยแก่มวลชนลัทธิแดงผู้เสียชีวิตในการชุมนุมประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ในปี 2552 และ 2553 โดยให้ถึงประมาณ 7 ล้านบาทเศษต่อคน

เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเยียวยาที่รัฐบาลนี้ให้แก่ข้าราชการที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่จะเห็นภาพความแตกต่างอย่างชัดเจน ข้าราชพลเรือนและครูที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เงินชดเชยเพียงประมาณ 5-6 แสนบาทต่อคน ส่วนตำรวจและทหารที่เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องประเทศ รัฐบาลให้เงินชดเชยเพียงล้านกว่าบาทต่อคนเท่านั้น ทหารสัญญาบัตรที่เสียชีวิตอาจได้รับเงินประมาณ 3 ล้านบาทเศษ แต่นั่นเป็นเงินที่รวมจากแหล่งอื่นทุกแหล่งที่นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดินด้วย ซี่งต่างจากมวลชนลัทธิแดงที่รัฐบาลปรนเปรอโดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดินล้วนๆจ่ายให้

คำถามหลักไม่ใช่ว่า ชีวิตคนมีราคาเท่าไร แต่เป็น ชีวิตของกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดินเฉกเช่นทหาร ชีวิตผู้ที่ทำงานเพื่อรักษาความสงบเช่นตำรวจ และชีวิตของครูอาจารย์ผู้ทำงานเพื่อสั่งสอนถ่ายทอดความรู้และคุณธรรมแก่เด็ก มีค่าของชีวิตน้อยกว่ามวลชนลัทธิแดง ผู้ก่อความไม่สงบในสังคมและเผาบ้านเผาเมือง การกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลจึงเป็นการบดขยี้ทำลายล้างหลักความยุติธรรมของสังคมให้แหลกละเอียดเป็นผุยผง

ความอยุติธรรมอีกประการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์สร้างขึ้นมาคือ การแจกถุงยังชีพและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆแก่ผู้ประสบอุทกภัยระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2554 มีการเลือกปฏิบัติจนปรากฎเห็นได้ชัด ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือก่อนและได้เป็นประจำคือมวลชนลัทธิแดงอันเป็นฐานเสียงของรัฐบาล ส่วนประชาชนกลุ่มอื่นจะได้รับการช่วยเหลือภายหลัง และได้รับบ้างไม่ได้รับบ้าง

ไม่เพียงแต่ไร้ความยุติธรรมแก่กลุ่มคนที่ไม่ใช่พวกเดียวกับตนเองเท่านั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรยังมิได้มีความยุติธรรมต่อพวกเดียวกันเองอีกด้วย โดยมีการบริหารแบบ “คนทำงานดีกลับถูกลงโทษ ส่วนคนประจบสอพลอกลับได้ดี” ดังจะเห็นได้จากการปรับคณะรัฐมนตรีในเดือนมกราคม 2555 บุคคลที่ปฏิบัติงานได้ดีจนทำให้หน่วยงานได้รับความชื่นชมจากประชาชนมากที่สุดดังเช่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกลับถูกปรับออกจากตำแหน่งในกระทรวงที่ตนเองรับผิดชอบ และถูกส่งไปดำรงตำแหน่งลอยๆที่ไร้อำนาจสั่งการในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และย้ายเพื่อนพี่ชายตนเองไปนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้แทน ส่วนคนที่ไร้ผลงาน ไร้ความสามารถและมีผู้คนวิพากษ์วิจารณ์มากอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กลับยังให้ทำงานต่อไป เพียงเพราะรัฐมนตรีผู้นี้ชอบเดินตามหลังตนเองต้อยๆและสั่งได้ตามใจปรารถนาเท่านั้น

การบริหารงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการหลอกลวงและไร้ความยุติธรรมเป็นการทำลายคุณธรรมอันทรงคุณค่าของสังคม และย่อมเป็นปัจจัยผลักดันให้สังคมเดินไปสู่ความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต

เส้นด้ายที่ผูกโยงอำนาจของรัฐบาลกำลังถูกกัดกร่อนจากการกระทำของพวกเขาเอง และพร้อมที่จะขาดลงในอีกไม่ช้า ไม่นาน
กำลังโหลดความคิดเห็น