xs
xsm
sm
md
lg

“ประชา” เล่นแง่ จี้ฝ่ายค้านหยุดแฉ พ.ร.ฎ.อ้างเป็นเรื่องลับหวั่นระคายเคืองเบื้องสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
รมว.ยุติธรรม อ้าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษเป็นเรื่องลับ ขอฝ่ายค้านหยุดอภิปราย หวั่นระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท “อภิสิทธิ์” ยันไม่ก้าวล่วงพระราชทาน แต่รัฐบาลจะต้องทูลเกล้าฯ แต่เรื่องที่ดีๆ ขณะ ส.ส.ฟากรัฐตีรวนต่อเนื่อง อ้างฝ่ายค้านยื่นซักฟอก “ประชา” ไม่ถูกต้อง จี้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ



ความคืบหน้าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เมื่อเวลาประมาณ 11.15 น. วันที่ 27 พ.ย. พล.ต.อ.ประชาได้ลุกขึ้นชี้แจงคำอภิปรายของนายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในประเด็นการบริหารงานในศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ โดย พล.ต.อ.ประชาชี้แจงว่า การที่สภาจะนำเรื่อง พ.ร.ฏ.อภัยโทษมาอภิปรายจะเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ จะเอามาพูดในวันนี้ ตนเคยพูดหลายหนว่าไม่มีอะไรแอบแฝง หรือเอื้อให้กับคนใดคนหนึ่ง และดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ตนให้เกียรติอดีต รมว.ยุติธรรมคนเดิม (นายพีระพันธุ์ สารีรัฐวิภาค) ที่เคยลงความเห็นไว้ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 54 ทั้งที่ไม่มีอำนาจลงความเห็นชอบในตัวร่าง ในข้อสงสัยของพวกท่านคิดไปเองหรือเปล่า คิดว่าคนอื่นจะกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ ยังติดยึดกับบุคคลหนึ่งเพราะมีอคติหรือไม่ ทั้งที่คนๆ นั้น ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแล้ว แต่พุ่งเป้าเหลือเกินเลยเคลือบแคลงสงสัยว่าตนจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ตนมีหลักฐานอยู่ในมือ แต่สิ่งนี้สมควรหรือไม่ที่จะเปิดเผย เพราะอยู่ระหว่างการขอทูลเกล้าเพื่อรอลงพระปรามาภิไทย ตนถามประธานว่าเราจะเดินอภิปรายต่อไปหรือไม่ เพราะอาจจะทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ตนพร้อมที่จะให้ดูเอกสารเพียงคนคือนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม สามารถมาดูกับตนได้ แต่เรื่องนี้ยืนยันว่าเป็นเรื่องลับ ไม่มีอะไรต้องกังวลเหมือนที่สื่อเสนอข่าวออกไป

“ผมเคยเป็นอธิบดีกรมตำรวจ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชติ ได้รับเครื่องราชมาเกือบทุกประเภท แม้แต่จุลจอมเกล้าพิเศษ อยู่ในฐานะที่มีสติดี ไม่มีหรอกที่จะมาใช้คำว่าลักหลับ ผมไม่เลยนึกเลยว่าอดีต รมว.ศึกษาจะใช้ศัพท์แสลงคำนี้ ในสภา อาจจะไม่เหมาะสม ถ้าจะอภิปรายเรื่องนี้จริงๆ ขอยืนยันจากที่ประชุมสภาว่าเราจะรับผิดชอบกันหรือไม่ ต้องมาทำความเข้าใจตกลงกัน ถ้าจะไม่พูดถือว่าไม่พูด ผมจะให้ดูท่านสองคนดูแล้วไปอธิบายให้ลูกพรรคฟัง จะเห็นว่ามาตรา 4 ก็ยังอยู่ บัญชีแนบท้ายก็ยังมีครบตามปี 53 จะมีส่วนเพิ่มคือมีการนำในส่วนปี 47 ช่วงเฉลิมฉลอง 6 รอบมหาราชินี มาใส่ในช่วงการลดโทษเท่านั้น ที่ผมไม่พูดตั้งแต่ต้นเพราะไม่ใช่คนชอบพูด แต่ถ้ามีสาระแล้วจะพูด แต่ถ้าไม่มีคิดขึ้นมาเอง ผมไม่พูด ผมเป็นคนอย่างนี้ ปกครองตำรวจมา 2.6 แสนคนไม่มีถูกสอบสวนแม้แต่ครั้งเดียว 40 ปีในชีวิตตำรวจไม่เคยต้องโทษวินัย หรืออาญา และถวายความจงรักตลอดมา และวันนี้ผมยังเป็นราชองค์รักษ์พิเศษซึ่งเป็นมาตั้งแต่ปี 36 ฉะนั้นรู้ดีว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ ครอบครัวผมไปดูได้ ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น อาจจะไม่เหมือนบางครอบครัวด้วย เวลานี้เรากำลังจะทำในสิ่งที่ไม่บังควรหรือไม่”

รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า ฝ่ายค้านเขียนคำถอนถอนหนักเกินไป กล่าวหาว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่น แม้แต่ถุงยังชีพ ยืนยันว่ามีการจัดซื้อกันก่อนมีการตั้ง ศปภ. หน่วยไหนซื้อทราบหมดแล้วไปเอาข้อมูลได้จาก 5 กรรมาธิการติดตามงบประมาณ ข้าราชการที่ไปทำงาน ศปภ. ต้องมาอยู่ให้ตอบคำถามที่นี่เกือบทุกกระทรวง ทบวง กรม เตรียมหลักฐานมาให้ กรรมาธิการทำ 3 วันไม่ต้องทำงานทำการกันเลย มัวแต่เอาเอกสารมาชี้แจง ชาวบ้านเดือดร้อนจะเป็นจะตายก็ไม่สนใจ ประตูระบายน้ำเปิดไม่ได้ ต้องเดือดร้อนกันแสนสาหัส แม้ข้าราชการต้องมาออกันอยู่ที่กรรมาธิการฯ พูดกันแต่ถุงยังชีพ ตนจะเปิดหลักฐาน สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีการซื้อแพงกว่ารัฐบาลนี้ด้วยซ้ำ ข้าวสาร เรือสเปกเดียวกัน แต่ราคาแพงกว่ากันมาก แม้แต่ส้วม ตนจะเปิดเอกสารให้ดู วันนี้ต้องแจงในสภา เพราะประชาชนอยากฟังว่าตนทุจริตตรงไหน ส่วน ส.ส.น้องรักทั้ง 4 คน ที่ไปช่วยจะตนถูกทอดถอนด้วยก็คอยฟังอยู่ แต่ขออย่าได้วิตกกังวล เราช่วยเหลือประชาชนช่วยคนตกทุกข์ได้ยากพวกท่านเป็นผู้แทนราษฏร ก็มาช่วยในฐานะ ส.ส. จะทิ้งประชาชนได้อย่างไร พวกท่านมาช่วยเหลือไม่ได้มาแทรกแซง แต่ฝ่ายค้านมีอคติคิดเอาเอง ประชาชนเขารู้ว่าทำอะไรไม่ต้องเสียใจ เราได้รับเกียรติประชาชนให้มาทำหน้าที่ก็ต้องทำหน้าที่ของเรา ไม่ต้องไปเสียใจ ถ้าถูกถอดถอนเพราะช่วยเหลือประชาชนแต่เรื่องทุจริตตนรับไม่ได้เพราะตระกูลตนไม่เคยมี

ในตอนท้าย พล.ต.อ.ประชาได้ย้ำอีกครั้งว่า ให้ประธานวินิจฉัยว่าจะนำเรื่อง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษมาพูดหรือไม่ สมควรหรือไม่ ต้องหารือกัน เพราะจะทำให้ระคายเครืองหรือไม่ ถ้ายืนยันจะพูดต้องยืนยันออกมาแล้วใครจะรับผืดชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดเวลาการชี้แจงของ พล.ต.อ.ประชา ปรากฏมีเสียงบอกบทจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่นั่งอยู่ข้างๆ เล็ดลอดผ่านไมโครโฟนเป็นระยะๆ

ด้านนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภา ประธานที่ประชุม กล่าวว่า เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงเรื่องพระราชกฤษฏีกาถวายคำแนะนำเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ส่วนการวินิจฉัยตามรัฐบาลหรือไม่เป็นพระราชอำนาจของพระองค์ ขอหารือผู้นำฝ่ายค้านว่าจะเอาแค่ไหนเพียงใด รัฐบาลเพิ่งเสนอให้พระองค์วินิจฉัย ถ้าเราไปมากกว่านี้มีผลกระทบต่อพระราชอำนาจหรือไม่

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า อยากให้รัฐมนตรีสบายใจ พวกตนไม่ไปกล่าวล่วงละมิดพระราชอำนาจ หรือทำระคายเคือง อยากให้ทำความเข้าใจถึงอำนาจหน้าที่แต่ละฝ่ายถูกกำหนไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง การตรา พ.ร.ฏ.เป็นไปตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ รมว.ยุติธรรมเป็นผู้ถวายคำแนะนำ จึงต้องมีความรับผิดชอบ ต่อสภาตามรัฐธรรมนูญ พวกตนไม่ไปก้าวล่วงในส่วนที่มีการดำเนินการนำขึ้นทูลเกล้า เอกสารที่ พล.ต.อ.ประชาถือในมือว่าเป็นร่าง พ.ร.ฎ.ก็คงจะเป็นฉบับที่เหมือนที่เคยทำมาในอดีต หลังจากถูกจับได้ว่ามีความคิดเป็นอย่างอื่น สิ่งที่ตนจะอภิปราย คือรัฐบาลพึงนำแต่สิ่งดีๆ ถวายในหลวง และถวายคำแนะนำด้วย เหตุผลตรงนี้ที่สมาชิกจะอภิปราย จึงเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงที่รัฐมนตรีตอบไม่หมด ข้อเท็จจริงมีคำสัมภาษณ์ตั้งแต่เดือนกันยายนว่าคิดอะไร และต่อมาชี้แจงเดือนพฤศจิกายนว่าจะทำอะไร ขอให้รอฟังตรงนี้ ยืนยันว่าเราไม่ก้าวล่วงแต่เป็นการตรวจสอบรัฐบาล เพื่อให้รักษาไว้ซึ่งระบบนิติรัฐ และระบบนิติธรรม

ขณะที่นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.ยุติธรรม ใช้สิทธิ์ถูกพาดพิงว่า พล.ต.อ. ประชาเข้าใจผิดหลายเรื่อง พยายามพูดเหมือนว่าตนให้ความเห็นชอบตัวร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษไปแล้ว ขอยืนยันว่าตนยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ เพียงแต่ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ เมื่อ เดือนมีนาคม 2554 ซึ่งก็ยังไม่เคยมีการประชุมคณะกรรมการ แม้แต่วันที่ พล.ต.อ.ประชาเกษียณคำสั่งว่าเห็นชอบตามแนวทางเดิมก็ยังไม่มีการประชุม ที่ พล.ต.อ.ประชาพูดว่าตนได้เกษียณคำสั่งไปในขณะที่ไม่มีอำนาจ พล.ต.อ.ประชาเห็นเอกสารจริงจะรู้ว่ากรมราชทัณฑ์ได้ทำหนังสือเสนอมายังตนเมื่อวันที่ 3 ส.ค. นั้น เป็นแค่การรายงานว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และเสนอมาให้ตนเห็นชอบเพื่อที่จะได้ประชุมกรรมการต่อไป

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการทำงานต่อเนื่องจากที่เคยมอบแนวทางให้ราชทัณฑ์ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี ในที่ประชุม ครม.ได้สอบถามกฤษฏีกาตลอดว่า ระหว่างนั้นเราสามารถลงนามอะไรได้ ไม่ได้บ้าง กฤษฏีกายืนยันที่ประชุมว่า ถ้าเป็นเรื่องที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ก็สามารถทำต่อไปได้ และถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องที่ข้าราชการเสนอมา ก็สามารถเกษียณหนังสือได้ ซึ่งตนได้เห็นชอบตามแนวทางที่รายงานมาเท่านั้น จากนั้นก็มีการนำเสนอเรื่องต่อ พล.ต.อ.ประชา โดยในหนังสือเขียนชัดว่า สอบถามรัฐมนตรีอีกครั้งว่าสิ่งที่ดำเนินการตามแนวนโยบายคำสั่งแรกจะมีความเห็นอย่างไร โดย พล.ต.อ.ประชาได้เรียกปลัด ก.ยุติธรรมมาหารือสอบถาม และเกษียณคำสั่งให้ดำเนินการตามนโยบายเดิม ในหนังสือเขียนชัดเจนหากเห็นชอบต่อไป เขาจะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการต่อไป ดังนั้น พล.ต.อ.ประชาก็ทราบแล้วว่ายังไม่เคยมีประชุม แล้วมาให้สัมภาษณ์ให้ตนเสียหาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดเวลาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้พยายามเดินเกมประท้วงทำลายเวลาอภิปรายของฝ่ายค้านอยู่ตลอดเวลา โดยนายขจิต ชัยนิคม ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วงว่าฝ่ายค้านเสนอญัตติเข้าสู่สภาไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการยื่นถอดถอน พล.ต.อ.ประชา ในฐานะผู้อำนวยการ ศปภ. ซึ่ง ศปภ.ไม่ใช่หน่วยราชการ เพราะฉะนั้นฝ่ายค้านจะอภิปราย พล.ต.อ.ประชาได้หรือไม่ นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทยได้เสนอว่า ควรจะนำเรื่องนี้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน โดยมีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวสนับสนุน ซึ่งนายเจริญ จรรย์โกมล ประธานในที่ประชุมได้วินิจฉัยว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้นต้องเป็นเรื่องที่มีข้อขัดแย้งระหว่างองค์กร แต่กรณีนี้เป็นเรื่องภายใน เป็นเพียงความคิดเห็นที่แตกต่างกันของสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น จึงให้อภิปรายเรื่องนี้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.ประชาได้ลุกขึ้นย้ำต่อประธานในที่ประชุมอีกครั้งว่า จะยังอภิปรายในเรื่อง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษต่อหรือไม่ เพราะจะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระบุคลบาท และต้องมีคนรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย ขณที่นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เสนอว่า เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา หากเป็นการอภิปรายเรื่อง พ.ร.ฎ.ฯ ก็ควรให้เป็นการประชุมลับ แต่ถ้าอภิปรายเรื่องน้ำท่วมก็ให้อภิปรายไปตามปกติ อย่างไรก็ตาม นายเจริญในขณะทำหน้าที่ประธานได้ตัดสินให้เดินหน้าการอภิปรายต่อ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนตัวประธานเป็นนายวิสุทธิ์ ไชยรุณ รองประธานสภาคนที่สอง ทาง ส.ส.เพื่อไทยพยายามหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้ง

ในที่สุด นายอภิสิทธิ์ได้ลุกขึ้นเสนอว่า ฝ่ายค้านยืนยันว่าจะไม่ก้าวล่วงพระราชอำนาจ แต่เพื่อให้การอภิปรายดำเนินต่อไปได้ ฝ่ายค้านจะอภิปรายเฉพาะเรื่องน้ำท่วมไปก่อน ส่วนเรื่อง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ตนจะขอหารือกับ รมว.ยุติธรรมในรายละเอียดอีกครั้ง หลังจากนั้นการอภิปรายจึงดำเนินต่อไปได้ หลังจากหยุดชะงักไป 1 ชั่วโมงเศษ โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำของ ศปภ.


กำลังโหลดความคิดเห็น