นอกจากจะโง่แล้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดยังเป็นคนพูดโกหกได้หน้าตาเฉย สมแล้วที่มีผู้ตั้งฉายาให้ว่า “แปตอหลู”
พฤติกรรมล่าสุด หนีประชุมคณะรัฐมนตรี หลบไปค้างคืนอยู่ที่จังหวัดสิงห์บุรี โดยอ้างว่า เฮลิคอปเตอร์รัสเซียที่นั่งไปตอนกลางวันไม่มีเรดาร์ บินกลางคืนไม่ได้ เด็กอมมือก็รู้ว่าเป็นเรื่องจัดฉากเพื่อหลีกเลี่ยงไม่เข้าประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่มีวาระเสนอกฎหมายอภัยโทษให้พี่ชาย นช. ทักษิณ ชินวัตร พ้นผิด
เป็นเรื่องโกหกที่ไม่แนบเนียนเพราะสิงห์บุรีกับกรุงเทพฯ ใกล้กันนิดเดียว หากมีสำนึกว่าการประชุม ครม.เป็นหน้าที่รับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี ก็สามารถสั่งให้ กองทัพบกจัดเฮลิคอปเตอร์ลำใหม่ไปรับได้ หรือจะบินกลับเช้าวันรุ่งขึ้นก็ยังทัน
ในข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรกลับถึงกรุงเทพ 5 โมงเช้าวันที่ 15 พฤศจิกายน การประชุม ครม. เพิ่งเริ่มได้ชั่วโมงเดียว วาระช่วยคนโกงให้พ้นคุกยังไม่ได้พิจารณา แต่ยิ่งลักษณ์เลือกที่จะไปประชุมร่วมรัฐสภา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ การประชุมสภาเป็นงานที่เธอขยาด หลีกเลี่ยงมาโดยตลอด
แต่ไม่ว่ายิ่งลักษณ์จะโกหกว่าไม่รู้ไม่เห็น ในเรื่องที่ ครม.ผลักดันกฎหมายอภัยโทษ เพื่อช่วย นช.ทักษณ ชินวัตรอย่างไร ในที่สุดแล้วก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงประเด็นความมีส่วนได้ส่วนเสีย ในการฟอกพี่ชายให้พ้นผิด เพราะในฐานะนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ต้องเป็นผู้นำพระราชกฤษฎีกานี้ ขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งจะอ้างว่ายังไม่รู้ในรายละเอียดไม่ได้แล้ว
การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปเนื่องในโอกาสสำคัญมีอยู่เสมอ ในสมัยที่ นช.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 เนื่องในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ มีการออก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 ปี วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550 และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มี พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกปีที่ 60 วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษทุกฉบับกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษไว้ในมาตรา 4 ว่า
“ ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่ หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไป จนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อย หรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา”
นอกจากนั้น หากนักโทษใดทำความผิดตามลักษณะความผิดที่ระบุในบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.จะไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่ได้รับการลดหย่อนโทษตามหลักเกณฑ์
ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นหนึ่งในลักษณะความผิดนี้
นช.ทักษิณไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษ เพราะหนีคดี ไม่เคยมารับโทษติดคุกเลย และถึงแม้ว่าจะใช้เล่ห์กลเพทุบายยอมมาติดคุกสักวันสองวัน ที่เรือนจำโรงเรียนพลตำรวจบางเขน ซึ่งมีการตกแต่งภายในติดแอร์รอไว้แล้วเพื่อให้เข้าข่ายคุณสมบัตินักโทษที่มีอายุเกิน 60 ปี และเหลือโทษไม่เกิน 3 ปี นช.ทักษิณก็จะไม่ได้รับการปล่อยตัว เพราะถูกพิพากษาจำคุก 2 ปีตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะได้ลดหย่อนโทษเท่านั้น
หากมีการออก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษด้วยหลักเกณฑ์เดียวกับ พ.ร.ฎ.ที่เคยออกกันมา อย่างตรงไปตรงมา นช.ทักษิณซึ่งเป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี หรือ 24 เดือน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จัดเป็นนักโทษชั้นกลางตามกฎกระทรวงมหาดไทยจะได้รับการลดโทษ 1 ใน 8 หรือ 3 เดือน ต้องติดคุกต่อไปอีก 21 เดือน
การประชุม ครม.แบบเป็นความลับ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมาจึงเป็นการตัดต่อ พ.ร.ฎ.พระรราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 ให้เป็น พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษแก่ นช.ทักษิณ ชินวัตร เพราะมีการตัดมาตรา 4 ออกไป และมีการตัดความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและการทุจริตคอร์รัปชั่นออกไปจากบัญชีแนบท้าย พ.ร.ฎ.
การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในการปาฐกถาหัวข้อ“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ” เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554 นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเคร่งครัดเสมอ ไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ถ้าทำไปตามใจชอบ บ้านเมืองคงล่มจมไปนานแล้ว
หากยิ่งลักษณ์นำร่าง พ.ร.ฏ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2554 ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อช่วยพี่ชาย ขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ถือว่านำกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อความสงบสุขของบ้านเมือง ให้ในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ เพราะร่าง พ.ร.ฎ.นี้ ถือว่าเป็นการลบล้างคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารล้มล้างอำนาจฝ่ายตุลาการ และเป็นการส่งสัญญาณต่อสังคมว่า การค้ายาเสพติดและการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นความผิดที่ให้อภัยได้
นช.ทักษิณ ใช้นักโทษ 26,000 คน ที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษนี้ เป็นตัวประกัน หากสภาองคมนตรีถวายความเห็นว่าร่าง พ.ร.ฏ.พระราชทานอภัยโทษนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะตกเป็นแพะรับบาปทันที
เป็นหน้าที่ของคนไทยที่ประกาศตนว่า จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จะต้องผนึกกำลังปกป้องสถาบันจากแรงกดดันที่ นช.ทักษิณสร้างขึ้นมา โดยใช้ร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 เป็นเครื่องมือ
อย่าให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องต่อสู้กับแนวร่วมของระบอบทักษิณอย่างโดดเดี่ยว