อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
บ้านเมืองทุกข์ร้อน เพราะ “มหาอุทกภัย” ไม่พอ รัฐบาลยังสร้างวิกฤตใหม่ขึ้นมาอีก ด้วยการแอบออกกฎหมายเพื่อช่วย “ทักษิณ ชินวัตร” นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี คดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดา ...งานนี้ รัฐบาลไม่เพียงถูกครหา ว่า ใช้วิชามารตัดตอนแปลงร่าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษเพื่อเอื้อประโยชน์คนคนเดียว แต่ยังกระทำการบ่อนทำลายระบบ “นิติรัฐ-หลักกฎหมาย” และจุดไฟขึ้นในบ้านเมืองด้วยการยืมมือ “สถาบัน” ด้วย
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
“ครม.ปู เหิมเกริมหนัก เดินแผนชั่ว บังคับในหลวง ลักไก่ผ่านร่างพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ตัดต่อคุณสมบัติครบสูตร อายุเกิน 60 - ต้องโทษไม่เกิน 3 ปี คอร์รัปชันก็ให้ ล็อกสเปกอุ้มคนโกงพา “ทักษิณ” กลับบ้าน 5 ธ.ค.” (โปรยข่าว-ไทยโพสต์)
กลายเป็นข่าวใหญ่หน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ทันที หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประชุมลับ แต่มีข่าวรั่วในเวลาต่อมาว่า ครม.ได้พิจารณาและลงมติผ่านร่าง พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ โดยกำหนดคุณสมบัติของนักโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ เข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธ.ค.2554 ด้วย เช่น ต้องเป็นผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี นอกจากนั้น ยังมีการตัดข้อความบางส่วนของ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พ.ศ.2553 ออก เพื่อให้นักโทษในคดียาเสพติดและคดีคอร์รัปชั่นเข้าข่ายได้รับอภัยโทษด้วย ไม่เท่านั้น พ.ร.ฎ.ดังกล่าวยังไม่ระบุระยะเวลาการเข้ารับโทษ นั่นหมายความว่า ผู้ที่หนีคดีหรือผู้ที่ไม่ได้อยู่ระหว่างถูกคุมขังอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณก็เข้าข่ายได้รับอภัยโทษได้
หลังเรื่องแดงขึ้นมา รัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุม ครม.ดังกล่าว ต่างออกอาการใบ้กิน ไม่มีใครกล้าเผยรายละเอียดว่าที่ประชุมพิจารณาผ่านร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวจริงหรือไม่ ขนาด ร.ต.อ.เฉลิม ที่นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่อ้างว่า ติดภารกิจเยี่ยมประชาชนที่ จ.สิงห์บุรี ก็ยังไม่ยอมปริปาก โดยอ้างแต่ว่าเรื่องลับ เขาห้ามพูด ไม่เพียง ร.ต.อ.เฉลิม จะไม่ยอมพูดถึง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว แต่ยังพยายามเบี่ยงประเด็นไปเล่นงานคนที่นำเรื่องลับดังกล่าวมาบอกสื่อมวลชนด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกพรรคประชาธิปัตย์จี้ให้ชี้แจงเรื่องนี้ในสภาเมื่อวานนี้ (17 พ.ย.) ร.ต.อ.เฉลิม ก็พยายามโบ้ยว่า รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ยกร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว แต่มีคณะกรรมการที่กระทรวงยุติธรรมตั้งขึ้นมาเป็นผู้พิจารณา ก่อนมาเสนอ ครม.ซึ่ง ครม.มีหน้าที่พิจารณา ร.ต.อ.เฉลิม ยังอ้างด้วยว่า “ที่ต้องประชุมลับ เพราะยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเผยแพร่ไม่ได้ เรื่องนี้ยังต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา จะเห็นด้วยหรือไม่ ยังไม่รู้ แล้วจะให้ผมตอบรายละเอียดได้อย่างไร แต่หากกฤษฎีกาเห็นด้วย ก็ส่งให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้นำเข้า ครม. เมื่อเห็นตรงกันก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ถือเป็นพระราชอำนาจโดยแท้...” ร.ต.อ.เฉลิม ยังเชื่อด้วยว่า การออก พ.ร.ฎ.ดังกล่าวจะไม่กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามมา
อย่างไรก็ตาม กระแสสังคมขณะนี้เริ่มไม่เป็นไปตามที่ ร.ต.อ.เฉลิม เชื่อ เพราะหลายภาคส่วนในสังคมเริ่มออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวแล้ว เช่น คณาจารย์กว่า 80 คนจาก 7 สถาบัน ได้เข้าชื่อออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน พ.ร.ฎ.อภัยโทษฉบับดังกล่าว เพราะส่อเจตนาช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งยังจะนำไปสู่ความแตกแยกขัดแย้ง ซ้ำเติมวิกฤตประเทศให้รุนแรงยิ่งขึ้น, กลุ่มเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ได้ยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวานนี้ (17 พ.ย.) และเตรียมรวบรวมรายชื่อประชาชนที่คัดค้านร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวกว่า 1 หมื่นชื่อ เพื่อยื่นต่อ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในวันที่ 22 พ.ย.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล
ขณะที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ประกาศนัดชุมนุมเพื่อคัดค้าน “ร่างกฎหมายเพื่อทักษิณ หยุดทำลายหลักนิติรัฐ” ในวันที่ 21 พ.ย.นี้ ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ ได้ออกมาตำหนิรัฐบาล ว่า การออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษของรัฐบาลครั้งนี้ เป็นเรื่องที่เลวทรามต่ำช้ามาก เพราะเห็นได้ชัดว่ามุ่งเอื้อประโยชนให้คนคนเดียว ทั้งยังเป็นการกดดันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างชัดเจน “การทำเช่นนี้ถือว่าระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เพราะในหลวงท่านยึดมั่นในหลักนิติรัฐ ว่า ความมั่นคง ความเที่ยงธรรม สามารถจะนำพาประเทศไทยให้พ้นวิกฤต และจะแก้ไขข้อขัดแย้งได้ แต่การกระทำครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทยเป็นการจงใจจะทำลายหลักนิติรัฐ โดยอ้างเรื่องนี้บังหน้า ทั้งยังเป็นการกดดันในหลวงอย่างชัดเจน”
ด้านเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวเช่นกัน ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการเปิดให้ประชาชนลงชื่อเพื่อถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา นายบวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน เผยว่า ได้นำรายชื่อประชาชนประมาณ 3,000 คน ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวถวายฎีกาผ่านสำนักราชเลขาธิการเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้พระองค์ทรงทราบถึงความคิดเห็นของประชาชนที่ร่วมลงชื่อคัดค้าน
“หลักการสำคัญของการอภัยโทษนั้น ก็คือ คน (ที่จะได้รับการอภัยโทษ) ต้องมีความรู้สึกผิดสำนึกผิด และควรจะต้องได้รับการลงโทษอย่างน้อยระยะเวลาที่เหมาะสม ข่าวออกมาในลักษณะที่ว่าจะยกหลักเกณฑ์นี้ออกไปเลย เราก็อยากสงวนว่า การจะยกหลักเกณฑ์อันนี้ออกไป เป็นเรื่องที่ผิด ที่คนที่หนีคดี คือ ไม่เคยได้รับโทษ อยู่ๆ ก็ไปยก คือ การอภัยโทษนั้น เป็นการกระทำที่ทำให้เป็นบรรทัดฐานที่ผิดต่อไป และเราก็สงวนอีกในส่วนที่ว่าถ้าเกิดเป็นการให้รับโทษ ซึ่งไม่กำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น ประกาศ พ.ร.ฎ.ออกมาแล้ว มารับโทษไม่กี่วัน และให้มีผลในทางปฏิบัติ เราก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือบุคคลที่เรียกว่าใช้ประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.อย่างไม่ตรงไปตรงมา เป็นการสร้างกติกาใหม่ขึ้นมา ซึ่งในอนาคตเราก็ไม่อาจจะกลับมาใหม่ เพราะเหมือนกับว่าเราผ่อนผันหรือผ่อนปรนลักษณะนี้ไปแล้ว ก็จะเกิดความเสียหายต่อไประยะยาว นี่เป็นประเด็นที่เรายื่น และอยากให้พระองค์ได้รับทราบ แล้วแต่พระราชวินิจฉัยของพระองค์”
เมื่อถามว่า เชื่อหรือไม่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่รู้เรื่องการออก พ.ร.ฎ.ดังกล่าว นายบวร บอกว่า ไม่มีทางไม่รู้ และถึงไม่รู้ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะการออก พ.ร.ฎ.นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส่วนกรณีที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อ้างว่า ร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวไม่ได้ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะมีนักโทษกว่า 2 หมื่นคนได้รับอานิสงส์ด้วยนั้น นายบวร ถามกลับว่า แล้วนักโทษ 2 หมื่นกว่าคนนั้น เป็นนักโทษหนีคดีเหมือน พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ ยืนยันว่า ทางเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน ไม่ได้ปฏิเสธการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษนักโทษที่มีความประพฤติดีและเข้าหลักเกณฑ์ ซึ่งหากนำ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พ.ศ.2553 มาใช้ นักโทษกว่า 2 หมื่นคนที่นายสุรพงษ์พูดถึง ก็ยังคงได้รับประโยชน์เช่นเดิม จะมีก็แต่เพียงคนบางคนเท่านั้นที่ไม่ได้รับประโยชน์
ขณะที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรฯ ย้ำกับ Manager Radio FM 97.75 ว่า การออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษของรัฐบาลครั้งนี้ ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อหลักทัณฑวิทยา ที่ระบุว่า คนที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษต้องเป็นผู้ที่รับโทษแล้ว เมื่อศาลตัดสินว่าผิด ต้องมีตัวอยู่ในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ และยอมรับว่าตัวเองได้กระทำผิดไป แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ นอกจากไม่เคยยอมรับว่าตัวเองได้กระทำผิดแล้ว ยังวิจารณ์ศาลยุติธรรมว่าเป็นกระบวนการยุติความเป็นธรรมอีกด้วย นอกจากนี้ การออก พ.ร.ฎ.ดังกล่าวยังขัดต่อหลักการออกกฎหมาย ที่ต้องออกเพื่อใช้บังคับกับบุคคลทั่วไป จะออกเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ แต่การออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษของรัฐบาลครั้งนี้ชัดเจนว่ามุ่งช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ คือ อายุเกิน 60 ,โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และโทษคดีคอร์รัปชันให้เข้าหลักเกณฑ์อภัยโทษได้
นายสุวัตร ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า วิธีการออกกฎหมายของรัฐบาลก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนอกจากจะประชุม ครม.ลับ ซึ่งสะท้อนว่าไม่โปร่งใสและขัดหลักธรรมาภิบาลแล้ว ยังนำวาระจรมาพิจารณาเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการออก พ.ร.ฎ.ทำให้ ครม.คนอื่นเหมือนถูกมัดมือ เพราะไม่มีโอกาสได้ศึกษาวาระดังกล่าวมาก่อน ทั้งนี้ นายสุวัตร ย้ำว่า เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและโดยทุจริตเช่นนี้ ตนจะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ครม.มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และหากรัฐบาลยังดึงดันจะทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.อภัยโทษฉบับนี้ ตนก็จะยื่นเรื่องต่อองคมนตรีต่อไป
“ครม.ออก พ.ร.ฎ.ฉบับนี้โดยเอื้อประโยชน์ให้กับคุณทักษิณ เข้าองค์ประกอบแล้วคำว่าทุจริต ดังนั้น ครม.ชุดนี้มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรืองดเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดังนั้น เรื่องนี้ผมจะไม่ปล่อย ผมจะดำเนินการร้องไปที่ ป.ป.ช.เพื่อให้ดำเนินคดีกับคณะรัฐมนตรีหรือที่ได้ร่วมพิจารณา พ.ร.ฎ.ฉบับนี้”
“พอผมยื่น ป.ป.ช.ไปแล้ว ต่อมาเกิด พ.ร.ฎ.ฉบับนี้มีการมัดมือชก จะถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ผมก็จะทำเรื่องแจ้งไปที่คณะองคมนตรีว่าเรื่องนี้ยังไม่ถึงที่สุดนะ เพราะกฎหมาย กระบวนการได้มาซึ่ง พ.ร.ฎ.ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรื่องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช.ดังนั้น จะนำเสนอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลงพระปรมาภิไธยไม่ได้ เพราะผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการบีบคั้น คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะลงพระปรมาภิไธย หรือไม่ลงในกฎหมายฉบับนี้ ท่านมีแต่เสียกับเสีย ถ้าไม่ลงให้ พวกเสื้อแดงก็จะโกรธท่าน ถ้าลงพระปรมาภิไธยให้ไป ก็เหมือนกับว่าท่านไปยอมรับเอากระบวนการออกกฎหมายที่ไม่ชอบ ผิดต่อหลักกฎหมาย ผิดต่อจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นของประเทศไทย ก็เสียอีกเหมือนกัน และเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ การบีบบังคับตามที่หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ลงนั่นน่ะ ตรงใจเลยแหละว่าเป็นการบีบบังคับในหลวง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ เราจะปล่อยให้จบไม่ได้”
ด้าน ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช บอกว่า รู้สึกแย่มากๆ ที่รัฐบาลประชุม ครม.ลับ เพื่อออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งส่วนตัวแล้วเชื่อว่าจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะซ้ำเติมความรู้สึกของประชาชนที่รู้สึกแย่กับรัฐบาลที่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเกี่ยวกับวิกฤตอุทกภัย แต่กลับเอาเวลามาแก้ปัญหาให้พี่ชายนายกฯ แล้ว ยังทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟขึ้นมาอีก โดยรัฐบาลกำลังยืมมือสถาบันในการจุดไฟครั้งนี้
“ผมอยากจะวิจารณ์แรงๆ ว่า เป็นการโยนไฟ หรือทำให้ไฟเข้าไปอยู่ในมือผู้มีอำนาจอนุมัติ คุณเฉลิม พูดชัดเจนบอกว่า เรื่องนี้เป็นพระราชอำนาจ ตรงนี้แหละน่าเป็นห่วง เป็นการยื่นไฟไปถึงสถาบันหรือไม่ และยืมมือของสถาบันในการจุดไฟนั้น อันนี้ผมอาจจะพูดแรงไป แต่ผมมีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ว่า มันจะกระทบกระเทือนไปทั่วทั้งสังคม และคนก็จะไม่เข้าใจ ตรงนี้เป็นเพราะอะไร เพราะหลักการอันนี้เป็นเรื่องหลักการของกฎหมายนิติรัฐ โดยทั่วไปการอภัยโทษตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เราไม่อภัยโทษให้กับผู้ค้ายาเสพติด และคนที่คอร์รัปชัน แต่ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกในการที่ละเว้นข้อกำหนดตรงนั้น ซึ่งมันก็ถือว่าเป็นนิติประเพณีที่สำคัญด้วยในการที่เราจะไม่อภัยโทษให้กับผู้ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับบ้านเมือง คือพวกยาเสพติด กับคอร์รัปชัน คุณเฉลิม เอง มือปราบยาเสพติดนะถ้าจำได้ และรู้สึกจะต่อสู้กับเรื่องนี้มาอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นครั้งนี้ดูเหมือนว่าคุณเฉลิมก็ยอมแม้กระทั่งทำลายชื่อเสียงของตัวเองที่เคยมีหลักการต่อสู้กับยาเสพติดมา ก็มาอภัยโทษให้กับยาเสพติดอีกด้วย ซึ่งผมคิดว่าแสดงถึงความเหลวแหลกของระบบนิติรัฐในประเทศไทยที่ผู้มีอำนาจเหิมเกริม และฉวยโอกาสทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งไม่สมควรที่จะกระทำ”
เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถลอยตัว ไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษที่เอื้อประโยชน์ให้พี่ชายได้หรือไม่? ผศ.ทวี ชี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ แสดงความไม่เอาไหนของผู้นำด้วยการเล่นละครน้ำเน่าตบตาเรื่องเฮลิคอปเตอร์กลับไม่ได้ ทั้งที่แม้จะค้างคืนที่สิงห์บุรี ก็สามารถกลับ กทม.ได้ทันในวันต่อมา กลับประวิงเวลา เพื่อสร้างภาพว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับการออก พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ดังนั้น นอกจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้แล้ว หากเกิดปัญหาอะไรตามมา ทั้งพรรคเพื่อไทย ทั้งรัฐบาลชุดนี้ และตระกูลชินวัตร จะต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น!!