xs
xsm
sm
md
lg

คณาจารย์7ม.ดังค้านอภัยโทษ ชนวนแตกแยก ปธ.ส.อ.ท.หางโผล่หนุนกลับบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน- คณาจารย์ 7 มหาวิทยาลัย ลงชื่อคัดค้านพ.ร.ฎ.อภัยโทษ ระบุปชช.กำลังทุกข์ยากจากอุทกภัย แต่รัฐบาลกลับประชุมลับออกพ.ร.ฎ.แบบปิดบังซ่อนเร้น ชี้รัฐบาลใช้อำนาจไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม ด้าน“เหลิม”แจงแทน“ปู” ท่องคาถาห้ามเผยความลับ อ้างไม่ช่วยคนๆ เดียว ปัดรัฐบาลยกร่างเอง โบ้ย!ขรก.ยุติธรรม “ปุระชัย”แนะ “แม้ว”รอบที่ล้าน!จบ รร.นายร้อย ควรเดินตามแบบสุภาพบุรุษ

วานนี้( 17 พ.ย.) คณาจารย์จากมหาวิทยาลัย 7 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงการณ์ จำนวน 87 คน ได้ลงนามในแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)พระราชทานอภัยโทษ ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ประชุมลับเพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา โดย เรียกร้องรัฐบาลให้ยุติการสร้างเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่ความแตกแยกในสังคม ให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินการใดๆที่เกี่ยวกับการออกพ.ร.ฎ.อภัยโทษที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายหรือไม่สอดคล้องกับ“นิติประเพณี” ที่ได้กระทำมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขหลักเกณฑ์เพื่อให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับอภัยโทษตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายหรือ “นิติประเพณี” ที่ได้กระทำกันมา

การเสนอเรื่องร่างอภัยโทษในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 15พ.ย.54 เป็นไปตามพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมครม. พ.ศ.2548 หรือไม่

เพื่อให้กระบวนการตรากฎหมายที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนเป็นไปโดยเปิดเผยและโปร่งใส ให้รัฐบาลนำร่างพ.ร.ฎ.อภัยโทษเปิดเผยต่อสาธารณชนโดยเร็ว เพื่อให้สาธารณชนได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างดังกล่าวว่าสอดคล้องกับกฎหมายหรือ “นิติประเพณี” หรือไม่เพียงใด

ขอให้รัฐบาลชี้แจงเหตุผลในการตัดหลักเกณฑ์ของผู้อยู่ในข่ายที่จะได้รับการอภัยโทษตามร่างพ.ร.ฎ. โดยเฉพาะในประเด็น ดังต่อไปนี้ ผู้ที่จะได้รับการอภัยโทษไม่จะต้องเป็นผู้ที่ถูกกักขังหรือมีตัวอยู่ในการควบคุมของทางราชการหรือไม่ การอภัยโทษครอบคลุมคดีเกี่ยวกับยาเสพติดหรือคดีทุจริตหรือไม่ และหลักเกณฑ์ของผู้ที่จะได้รับการอภัยโทษจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี และจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขอื่นอีกหรือไม่เพียงใด

ทั้งนี้ คณาจารย์ทั้ง 87 คน ขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้อำนาจรัฐให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรม หากรัฐบาลยังมีพฤติการณ์ใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม ไม่เปิดเผย ไม่โปร่งใส กระทำการเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ รัฐบาลจะต้องพร้อมรับกับสถานการณ์ที่อาจจะนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมท่ามกลางวิกฤตมหาอุทกภัยที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

** ชี้“เฉลิม”พริ้วเอื้อ “แม้ว” จริง

นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า การที่ร.ต.อ.เฉลิม ตอบกระทู้ในสภาเป็นการยืนยันสิ่งที่ทุกฝ่ายกำลังตั้งข้อสงสัยว่า หากไม่มีความพยายามแก้ไขหลักเกณฑ์ คำตอบของร.ต.อ.เฉลิมก็คงไม่เป็นอย่างนี้ ถึงแม้จะบอกว่ายังไม่มีข้อสรุปสุดท้ายก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงเพียงแค่ออกพ.ร.ฏ.ถวายคำแนะนำอย่างไรก็ได้ โดยไม่คำนึงว่าคนที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ควรเป็นนักโทษชั้นดี สำนึกในความผิดที่เกิดขึ้นเหมือนคนใดคนอื่นๆ การคิดจะตัดตรงนี้ออกไปเท่ากับว่านโยบายที่รัฐบาลเคยพูดว่าต้องการปราบปรามการทุจริตเป็นแค่นโยบายที่เขียนไว้เฉยๆ ดังนั้นคำตอบของร.ต.อ.เฉลิมน่าจะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าสิ่งที่ได้มีรายงานข่าวออกมาน่าจะเป็นจริง

“สิ่งที่อาจจะตามมาก่อนที่เราจะทราบว่าผลจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่คือความแตกแยกและการเพิ่มความขัดแย้งใหม่ ด้านหนึ่งรัฐบาลบอกว่าอยากจะปรองดอง แต่กลับสร้างความแตกแยกใหม่ขึ้นมา”

นอกจากนี้เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯเดินทางกลับมาแล้วก็ควรแสดงจุดยืนว่าจะหยุดเรื่องนี้หรือไม่ เพราะหากเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปก็จะเป็นการทำลายหลักการที่ดีของการบริหารบ้านเมือง

ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลทำในกรอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลควรจะตัดไฟเสียแต่ต้นลม เพราะเริ่มจะมีเค้าความขัดแย้งขึ้นมา บวกกับวิกฤตน้ำท่วมในขณะนี้ ดังนั้นอยากให้รัฐบาลเลิกทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ

**"ปุ" เตือนแม้วจบรร.นายร้อยสุภาพบุรุษ

ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์สันติ กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นบุคคลที่จบจากโรงเรียนนายร้อย ก็ควรที่จะเดินตามแบบของสุภาพบุรุษ ส่วนต่อจากนี้สังคมจะมีความขัดแย้งหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ แต่ส่วนตัวตนยึดหลักการว่า ผู้นำต้องเป็นแบบอย่างที่ดี

พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า รัฐบาลรู้ดี ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ และเชื่อว่าความเห็นของประชาชนเสียงส่วนใหญ่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

พล.อ.เสถียร เพิ่ม ทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ไม่ทราบ และไม่ได้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม น่าจะปล่อยให้เป็นเรื่องของการเมืองดำเนินการดีกว่า

**ซัดเหลิม เล่นลิ้น รับจ๊อบ พริ้ว

ส่วนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณากระทู้ถามสดเรื่อง การพิจารณาร่างพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษของรัฐบาลของนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ถามน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มอบหมายให้ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ตอบชี้แจงแทน

นายสาทิตย์ กล่าวว่า การถวายคำแนะนำเพื่อพระราชทานอภัยโทษถือว่าเป็นนิติราชประเพณีที่ปฎิบัติกันอย่างเป็นเวลานาน และในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 261 ทวิ กำหนดเอาไว้ว่า ในกรณีที่ครม. เห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมาหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้อง โทษได้โดยการพระราชทานอภัยโทษให้ตราเป็นพ.ร.ฎ. แต่ขณะนี้ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ การปิดเรื่องนี้เป็นความลับ

สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลชี้แจง คือ รัฐบาลถวายคำแนะนำหลักเกณฑ์แตกต่างจากการดำเนินการที่ผ่านมา2-3ปีหรือไม่ โดยเฉพาะบัญชีลักษณะความผิดแนบท้ายของพ.ร.ฎ เพราะในยุค รัฐบาลตั้งแต่พ.ศ.2547-2553 ครอบคลุมรัฐบาลสมัยพ.ต.ทักษิณ ชินวัตร พล.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เคยมีการตัดความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติดและคดีทุจริตออกจากบัญชีท้าย หมายความว่า บุคคลที่มีความผิดตามคดีดังกล่าวจะสามารถเข้ารับการขอพระราชทานอภัยโทษไม่ได้ เช่นเดียวกับการแก้ไขเปิดให้ผู้หลบหนีคดีสามารถมารับพระราชทานอภัยโทษได้

ร.ต.อ.เฉลิม ชี้แจงว่า ครม.แต่ละคณะย่อมมีสิทธิในการตัดสินใจโดยไม่ต้องลอกเลียนแบบครม.ชุดที่ผ่านมา แต่ครม.ชุดนี้ยืนยันว่าเราทำตามกฏหมาย ไม่ได้เฉพาะเจาะจงผู้หนึ่งผู้ใด และในการออกพ.ร.ฎ ที่ผ่านมามีมาแล้ว 36 ฉบับโดยกระทำในช่วงปีมหามงคลเพื่อจะได้พระมหากรุณาธิคุณ และการออกพ.ร.ฎอย่างไรเป็นเรื่องของรัฐบาลทำผิดอย่างไรก็ติดคุก อยากถามว่ามีบทบัญญัติใดที่บังคับให้ต้องลอกเลียนแบบรัฐบาลที่ผ่านมา

"กระทรวงยุติธรรมตั้งคณะกรรมการ 20 คนไปดูหลักเกณฑ์มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักปราชญ์ ราชบัณฑิต รัฐบาลไม่ได้เป็นคนยกร่างพ.ร.ฎ แต่มีข้าราชการจากหน่วยงานนำเสนอมาให้ครม.พิจารณา และต้องประชุมลับเป็นเรื่องลับเผยแพร่ไม่ได้เพราะยังไม่มีบทสรุป และต้องไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งกฤษฎีกาอาจไม่เห็นด้วยก็ได้ ถ้าเห็นด้วยส่งมาที่เลขาธิการครม.เพื่อทูลเกล้าต่อไปจากนั้นเป็นเรื่องพระราชอำนาจ"ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

**เฉลิมปัดรบ.ยกร่างพ.ร.ฎ.เอง ย้ำยึดกม.

ก่อนการอภิปรายตอบกระทู้สด ร.ต.อ.เฉลิม ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย และไม่ทำอะไรเพื่อคนๆเดียวโดยเด็ดขาด และไม่ขอไม่พูดรายละเอียด ขอให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ ส่วนการที่มีการวิจารณ์รัฐบาลกระทำระคายเบื้องพระยุคลบาทนั้น ตนขอไม่แสดงความเห็นเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องไม่บังควร

นอกจากนี้ตนไม่เคยจัดทำเอกสารใดๆ คงเป็นความเข้าใจผิด อย่างไรก็ตามเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงการรวบรวม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯของปี 50 และปี 53 มาบอกนักข่าว ไม่ใช่เป็นเอกสารของตน

สำหรับรัฐบาลชุดนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการมากว่า 20 คน ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่รัฐบาลทำเอง เป็นเรื่องที่กระทรวงยุติธรรมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการต่อ ซึ่งหาก ครม.อนุมัติแล้วจะส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาความถูกต้องอีกครั้ง หากกฤษฎีกาเห็นว่าไม่ผิดกฎหมายก็จะส่งเรื่องเพื่อนำทูลเกล้า ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาขององคมนตรีอีกด้วย

อย่างไรก็ตามที่ถือเป็นเรื่องลับเพราะยังไม่แล้วเสร็จ การจะเป็นความลับหรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี ไม่มีอะไรพิเศษ บางคนสงสัยว่าเหตุใดตนต้องรับผิดชอบในเรื่องการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ ก็เป็นเพราะตนจบดอกเตอร์ทางกฎหมาย ส่วนนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย ก็ชำนาญด้านรัฐศาสตร์ สำหรับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ ก็เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งครั้งนี้อาจจะไม่ใช่กรณีพิเศษเพียงครั้งเดียว

**ขู่นักข่าวสาวระวังติดคุก

เมื่อถามต่อว่า หากมีความมั่นใจว่าเป็นเรื่องที่ทำถูกกฎหมายแล้วเหตุใดจึงไม่สามารถเปิดเผยได้ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า “ยังไม่ถึงเวลาแม่คุณทูนหัว”

เมื่อถามว่า หากทำเช่นนี้มองหรือไม่ว่าจะเป็นการกดดันองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯว่าจะต้องทำตามในสิ่งที่มีการถวายคำแนะนำ รองนายกฯกล่าวตอบว่า “ผมไม่ตอบ เพราะหากยืนสัมภาษณ์ต่อไป คุณสมจิตร (น.ส.สมจิตร นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสถานที่โทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ซึ่งเป็นผู้ถาม) อาจจะเป็นผู้ที่ติดคุก”

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมันเกิดความขัดแย้งขึ้นในช่วงวันมหามงคล คณะรัฐมนตรีจะแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวตอบว่า “คุณสมจิตรเป็นนักข่าวมานาน ผมไม่อยากต่อว่า อะไรที่มันเปิดไม่ได้ ผมก็ยังไม่เปิด คุณถามผมไม่จนหรอก คำถามนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าถาม รู้สึกว่าคุณกล้าจริงๆเลย”

ส่วนพ.ต.ท.ทักษิณจะได้กลับมาภายในปีนี้ตามที่พรรคเพื่อไทยได้เคยหาเสียงไว้หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ตนปราศรัยในช่วงเลือกตั้ง ที่เมื่อไปในพื้นที่ที่มีคนรัก พ.ต.ท.ทักษิณ หากไม่พูดถึงจะเป็นไปได้อย่างไร ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้กลับมาหรือไม่ ตนไม่ทราบ เพราะว่า พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯยังไม่ออก
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะได้มีโอกาสเข้าร่วมงานฉลองมงคลสมรสของ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรสาวหรือไม่ ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “แล้วคุณจะไปพาดพิงอะไรเรื่องครอบครัวคนอื่น ซึ่งผมคงตอบคำถามแทนไม่ได้ มีเคเบิลทีวีช่องไหนขอให้นำคำพูดของคุณสมจิตรไปออกทุกคำพูดหน่อย” เมื่อกล่าวจบ ร.ต.อ.เฉลิมได้เดินออกจากวงล้อมสื่อมวลชน โดยกล่าวทิ้งท้ายว่า ตนไม่เคยหนีนักข่าว เพราะเป็นคนชอบพูด แต่ที่ต้องไปวันนี้ เพราะกลัวมีคนติดคุก

ผู้สื่อข่าวรายงานในระหว่างการให้สัมภาษณ์นั้น บรรยากาศเป็นไปอย่างตรึงเครียด และมีการตอบโต้กันไปมาระหว่าง ร.ต.อ.เฉลิม กับผู้สื่อข่าวอยู่ตลอดเวลา บางคำถามมีความไม่เหมาะสม และขอให้ทีวีดาวเทียมบางช่องนำถ้อยคำของผู้สื่อข่าวไปออกอากาศทั้งหมดอีกด้วย.

**ปธ.ส.อ.ท.หางโผล่หนุนกลับบ้าน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่าไม่ต้องการเห็นประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องความขัดแย้งเพราะกรณีนี้มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายค้านแต่ไทยได้ผ่านจุดการเลือกตั้งมาแล้วคงจะต้องเคารพฟังเสียงคนส่วนใหญ่

“มันมีทั้งการคัดค้านและสนับสนุนแต่ขณะนี้เรามีการเลือกตั้งแล้วก็ต้องเคารพเสียงคนส่วนใหญ่ที่เลือกมา 15 ล้านเสียง เอกชนเป็นห่วงหากขัดแย้งเพราะไม่เกิดประโยชน์ปัญหาการเมืองเรามันฝังรากลึกมายาวนานแล้วจะต้องหาทางแก้ไข ควรเดินไปข้างหน้าได้แล้ว “นายพยุงศักดิกล่าว และว่าเราเองไม่อยากพูดประเด็นการเมือง แต่รัฐบาลเองสามารถที่จะทำเรื่องต่างๆ ได้เหมือนที่เราต้องทานข้าวแล้วหยุดทานได้หรือไม่ เหมือนกับที่รัฐบาลเองก็สามารถที่จะพิจารณาเรื่องต่างๆที่ต้องดูแลภาพรวมทั้งสังคม เศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่เนื้อหาพ.ร.ฎ.เป็นการส่งสัญญาณว่าการคอร์รัปชั่นจะเป็นเรื่องปกตินั้นมองเรื่องนี้อย่างไร นายพยุงศักดิ์ระบุว่า ไม่รู้รายละเอียดของเนื้อหา ส่วนประเด็นที่ส.อ.ท.ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชั่นจะมีการพิจารณาปัญหาการทุจริตของรัฐบาลหรือไม่นั้นเห็นว่ามีการตรวจสอบจากหน่วยงานอื่นๆ อยู่แล้ว

**เปิดสถิติการพระราชทานอภัยโทษ

รายงานข่าวแจ้งว่า เว็บไซต์ กรมราชทัณฑ์ ได้เปิดเผยจำนวนผู้ต้องขังที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในแต่ละปี โดยมีสถิติดังนี้

ปี พ.ศ.2547 เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2547 ปล่อย 35,282 คน ลดโทษ 101,881 คน เฉพาะราย ปล่อย 13 คน ลดโทษ 27 คน

ปี พ.ศ.2548 ปล่อย เฉพาะราย คน 27 ลดโทษ 42

ปี พ.ศ.พ.ศ.2549 เนื่องในฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ปล่อย 32,427 คน ลดโทษ 75,834 คน ปล่อยเฉพาะราย 6 คน ลดโทษ 13 คน

ปี พ.ศ.2550 เนื่องใน พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 80 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ปล่อย 31,149 คน ลดโทษ 101,607 คน

** จับตา“ชลอ เกิดเทศ”คุณสมบัติครบ

รายงานข่าวจากจากกระทรวงยุติธรรม แจ้งว่า การยกร่าง ร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 ปกติจะกระทำในรูปแบบคณะกรรมการไม่ต่ำกว่า 20 คน แต่ในครั้งนี้ภายหลังครม.แต่งตั้งพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย จากผู้ตรวจราชการกระทรวงไอซีที มาเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก็เริ่มมีการดำเนินการยกร่างกฎหมาย โดยกำหนดตัวบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด แม้แต่นายชาติชาย สุทธิกลม รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ ก็ไม่เห็นร่างกฎหมายดังกล่าวที่รายงานตรงถึงพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม

มีแนวคิดที่จะปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทั่วไป โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี รวมถึงนักโทษชราและนักโทษที่ป่วยเรื้อรัง หรือป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งการปล่อยตัวนักโทษครั้งนี้จะจัดอย่างยิ่งใหญ่คล้ายกับสมัยที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ โดยคาดว่าจะมีนักโทษได้รับการปล่อยตัวเกือบ 30,000 คน และผู้ที่อาจอยู่ในข่ายได้รับการพระราชทานอภัยโทษ คือ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ จำเลยคดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขันฑ์ และคดีอมเพชรซาอุ เนื่องจากเป็นนักโทษชราอายุเกิน 70 ปีขึ้นไป ส่วนของนักการเมืองที่ต้องโทษคดีทุจริตแล้วหลบหนีไม่รับโทษตามคำพิพากษา อาทิ นายสมชาย คุณปลื้ม นายวัฒนา อัศวเหม ไม่อยู่ในข่ายได้รับการพระราชทานอภัยโทษ

***สสปน.ชี้พรฎ.อภัยโทษชนวนไทยแตกแยก

นายอรรคพล  สรสุชาติ  ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. เปิดเผยว่า   ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมไมซ์เห็นตรงกันว่า รัฐบาลอย่าสร้างประเด็นอื่นๆเข้ามาทำลายความมั่นใจของชาวต่างชาติไปมากกว่านี้  โดยเฉพาะประเด็นที่คณะรัฐมนตรีมีมติแก้ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เพราะมองว่าจะเป็นประเด็นที่สร้างความแตกแยกของคนภายในประเทศให้เกิดขึ้นอีก หากรัฐบาลคิดที่จะทำอะไรอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมแก่เวลาและสถานการณ์ ก็ขอให้หยุดเสีย แล้วหันมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือเรื่องอุทกภัยให้เสร็จสิ้นก่อน  หากรัฐคิดจะแก้พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เพื่ออะไรก็แล้วแต่ หากหยุดได้ก็ควรหยุดเถอะ เพราะจะเข้าข่ายว่า ความวัวยังไม่ทันหาย ความควาย เข้ามาแทรก น้ำยังไม่ลดต่อก็จะมาผุดขึ้นอีก  อย่าหาประเด็นการเมืองมาทำให้เกิดวิกฤตใหม่ขึ้นมาอีก วันนี้ต่างชาติไม่มั่นใจเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมก็พออยู่แล้ว ยังต้องมากังวลว่า การเมืองไทย จะมีการเผชิญหน้ากันอีกหรือไม่  วันนี้ กระบวนการแก้ พ.ร.ฎ.เพิ่งเริ่มต้น ก็ควรตัดไฟแต่ต้นลม
กำลังโหลดความคิดเห็น