ASTVผู้จัดการออนไลน์ - “ยิ่งลักษณ์ - ดร.เหลิม” มุ่งมั่นเดินหน้ารีบพา “ทักษิณ” กลับบ้าน สะท้อนถึงการใกล้อวสวนของรัฐบาลนอมินีเฉพาะกิจ ท่ามกลางกระแสความนิยมตกต่ำสุดขีดจากการบริหารจัดการวิกฤตน้ำท่วมที่ผิดพลาดจนเกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชน
ในที่สุด ประชาชนชาวไทยก็ได้รู้อย่างสิ้นสงสัยในตัวตนและสมองของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า เธอสามารถโกหกหลอกลวงปวงชนชาวไทยได้โดยไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปแม้แต่น้อย เพราะหากยังจำถ้อยคำที่เธอพร่ำเพ้อเสมอมาว่า จะไม่มีการขอพระราชทานอภัยโทษหรือนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นพี่ชาย จะไม่ทำการใดๆ เพื่อคนๆ เดียว และให้คำมั่นสัญญาว่าจะมุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชนเท่านั้น
มาบัดนี้การกระทำของ ยิ่งลักษณ์และคณะ ได้เผยธาตุแท้ให้เห็นอย่างล้อนจ้อนแล้วว่า เป้าหมายที่แท้จริงในการเข้ามาทำงานการเมืองของนายกฯนอมินี คือการล้างมลทินให้กับพี่ชายผู้เป็นนายกฯตัวจริง เพราะการประชุมลับของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา เพื่อผ่านร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ...... มีการแก้ไขหลักเกณฑ์ของกฎหมายเอื้อประโยชน์ต่อทักษิณ เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้มีวาระจร “ลับ” ในการพิจารณาและลงมติผ่านร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.... ซึ่งจะเป็นการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักโทษที่จะเข้าข่ายในการเข้ารับพระราชทานอภัยโทษ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะทำเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผยความจริงต่อสาธารณชน อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเป็นประจำทุก ๆ ปี สำหรับการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักโทษที่เข้าข่ายในการขอรับพระราชทานอภัยโทษ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมของทุกปี ดังนั้นผู้คนในสังคมจึงพากันตั้งข้อกังขาต่อการกระทำของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่เอาแต่อ้ำอึ้งไม่กล้าบอกความจริงต่อสังคม
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2554 ที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในครั้งนี้ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นเมือง มีอยู่ 3 ประเด็นหลัก คือ
1) การกำหนดคุณสมบัติของผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยระบุหลักเกณฑ์ของนักโทษที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ คือ เป็นผู้มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
2)การไม่ระบุระยะเวลาการเข้ารับโทษ
3)การตัดบัญชีลักษณะความผิดแนบท้ายว่าด้วยการทุจริตคอร์รัปชันและยาเสพติดทิ้งไป
ทั้งนี้ แต่เดิมตามมาตรา 4 ในพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฉบับที่ผ่านๆ มาบัญญัติไว้ว่า นักโทษต้องอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนมาตรา 6 บัญญัติว่า หากอายุ 60 ปีขึ้นไป และรับโทษ 1 ใน 3 มาแล้ว จะได้รับการพิจารณาอภัยโทษ นอกจากนั้น คำแนบท้ายตาม พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ยังกำหนดว่าผู้ที่เข้าข่ายได้รับอภัยโทษจะต้องเป็นโทษที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติและไม่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น
ด้วยการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์ของนักโทษที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษใหม่ของครม.ยิ่งลักษณ์ จึงเท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะไม่มีการระบุระยะเวลาการเข้ารับโทษเหมือนที่ผ่านมาที่กำหนดว่าต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 สำหรับผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป
นอกจากนั้น การตัดทิ้งความผิดว่าด้วยทุจริตคอร์รัปชั่นออกไปด้วย ยังทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปี ฐานกระทำฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (กรณีการซื้อที่ดินบริเวณถนนรัชดาภิเษก จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน) กลายเป็นบุคคลที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษโดยไม่มีปัญหา
ว่ากันว่า ในหลักเกณฑ์ที่มีการแก้ไขใหม่นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นคัดค้านการตัดบัญชีลักษณะความผิดแนบท้ายว่าด้วยการทุจริตคอร์รัปชันและยาเสพติดออกไป แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีว่าจะยืนยันแก้ไขหลักเกณฑ์นั้นหรือไม่
เวลานี้ การกระทำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้จุดชนวนความขัดแย้ง ก่อให้เกิดกระแสการคัดค้านดังกระหึ่ม บางกลุ่มนัดเคลื่อนไหวต่อต้าน บางกลุ่มรณรงค์ล่าชื่อถวายฎีกาเพื่อแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษของรัฐบาล บางกลุ่มเตรียมการยื่นถอดถอนคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ฯลฯ
เนื่องจากการตัดบัญชีลักษณะความผิดแนบท้ายว่าด้วยทุจริตคอร์รัปชั่นออกไปถือเป็นการขัดต่ออำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ เพราะคดีที่ดินรัชดาฯ เป็นการกระทำความผิดต่อพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
ในสภาวะที่รัฐบาลกำลังมีคะแนนนิยมดิ่งเหวเพราะไม่มีฝีมือในการบริหารจัดการวิกฤตน้ำท่วม กลับดันทุรังลักไก่ออกพ.ร.ฎ.เพื่อช่วยเหลือพี่ชาย ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทที่เสนอตรากฎหมายซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคม ขัดรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 187 ที่บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตรา พ.ร.ฎ.โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงเสมือนเดินเข้าสู่กับดักแห่งหายนะ
สะท้อนความจริงที่ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ใกล้ถึงกาลอวสาน