แกนนำพันธมิตรฯ อ่านแถลงการณ์ประกาศยุติการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดิน 158 วัน ย้ำประสบผลสำเร็จการชุมนุม จี้รัฐถอนตัวภาคีมรดกโลกได้ตามเงื่อนไข 1 ใน 3 ข้อเรียกร้อง ทั้งเกิดผลกดดันรายทาง ช่วยไทยปกป้องศักดิ์ศรีอธิปไตยของไทย เผยขอเวลา 5 วัน รื้อถอนอุปกรณ์ชุมนุม พร้อมชวนพี่น้องร่วมกิจกรรมส่งท้ายพรุ่งนี้ 6 โมงเย็น ก่อนแยกย้ายเลือกตั้ง ชูโนโหวตตบหน้านักการเมือง
วันนี้(1 ก.ค.) เมื่อเวลา 20.30 น. ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้อ่านแถลงการณ์ร่วมครั้งที่ 2/2554 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ว่า ตามที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้จัดการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554 ต่อมาได้มีการตั้งคณะกรรมการปกป้องแผ่นดิน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ซึ่งในเริ่มต้นนั้นได้เรียกร้องต่อรัฐบาลทั้งสิ้น 3 ประการคือ
1. เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 (MOU 2543)
2. เรียกร้องให้รัฐบาลถอนตัวจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก
3. เรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันให้ทหารและชุมชนชาวกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย
นอกเหนือจากการชุมนุมที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้วหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณี ที่มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ปกป้องแผ่นดินไทย การใช้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกหรือ MOU 2543 โดยที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และกรณีการปล่อยให้คนไทย รวมถึงการยื่นหนังสือเตือนไปยังรัฐบาลไทย รัฐสภาไทย สถานทูตอินโดนีเซีย และ องค์การยูเนสโก และดำเนินการส่งตัวแทนไปในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อหยุดยั้งการกระทำที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบหรือต้องสูญเสียอธิปไตยในเกมการเมืองระหว่างประเทศ
ต่อมาพบว่ารัฐบาลไม่ได้ตอบสนองต่อการเรียกร้อง อีกทั้งยังมีพฤติกรรมหลายอย่างที่ไม่มีความไม่น่าไว้วางใจหลายประการ เช่น การที่รัฐบาลไทยปล่อยให้คนไทยถูกจับโดยกองกำลังทหารกัมพูชาในแผ่นดินไทยและยังถูกพิพากษาจำคุกโดยศาลกัมพูชา การทุจริตคอร์รัปชั่น และการทำให้ข้าวยากหมากแพง จนผู้ชุมนุมได้มีฉันทานุมัติเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 ให้ยกระดับการชุมนุมโดยการให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะ เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถและมีความกล้าหาญในการปกป้องอธิปไตยของชาติและยุติความล้มเหลวทางการเมืองให้มาทำหน้าที่แทน
ต่อมาพบว่ารัฐบาลยังคงไม่สามารถที่จะปกป้องอธิปไตยของประเทศชาติได้ และไม่แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่กลับใช้วิธีประกาศล่วงหน้าว่าจะยุบสภาหนีปัญหา ซึ่งผู้ชุมนุมที่ออกมาปกป้องอธิปไตยของชาติ มีความเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบในการแก้ไขปัญหาอธิปไตยของชาติเพราะนักการเมืองไม่ว่าฝ่ายไหนต่างก็ไม่สนใจที่จะทวงคืนแผ่นดินไทยกลับคืนมา และการเลือกตั้งไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเพราะนักการเมืองทุกฝ่ายเมื่อมาเป็นรัฐบาลต่างก็ทุจริตคอร์รัปชั่นกันทั้งสิ้น จึงกำหนดว่าหากมีการเลือกตั้งก็จะไปรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแต่กากบาทลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน เพื่อแสดงการสงวนสิทธิ์ในคะแนนของตัวเองที่ไม่ยอมจำนนต่อระบบการเมืองที่ล้มเหลวและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง อันจะเป็นหนทางที่ทำให้ชาติบ้านเมืองได้นักการเมืองที่ดี มีความสามารถ ซึ่งจะนำไปสู่การปกป้องอธิปไตยของชาติ และแก้ไขปัญหาการเมืองได้อย่างแท้จริงในที่สุด
ด้วยยุทธวิธีการชุมนุมของพี่น้องประชาชน การยื่นหนังสือ การดำเนินคดี และการเปิดเผยข้อเท็จจริงของประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้วกากบาทลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน ก่อให้เกิดพลังอำนาจต่อรองของประชาชนขึ้นในทันทีก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกระแสกดดันและทำให้เกิดผลสำเร็จเป็นชัยชนะหลายประการดังนี้
1. เกิดชัยชนะรายทางที่ทำให้ต้องมีการทำลายแผ่นหินของรัฐบาลกัมพูชาที่สลักข้อความอ้างว่าบริเวณตรงนั้นเป็นแผ่นดินกับพูชา แล้วยังใส่ร้ายประเทศไทยด้วยข้อความว่าไทยเป็นฝ่ายรุกรานกัมพูชาและประจานว่าทหารไทยถอยออกไปแล้ว ทั้งๆที่แผ่นหินดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณวัดแก้วสิขะคีรีสะวารา ซึ่งอยู่บนผืนแผ่นดินไทย แม้ในช่วงแรกกองทัพบกและรัฐบาลไทยจะปฏิเสธและบ่ายเบี่ยง แต่ต่อมาภายหลังจากการเปิดเผยข้อมูลของภาคประชาชน ทำให้รัฐบาลไทยต้องกดดันทำให้ต้องมีการทุบทำลายแผ่นหินดังกล่าวเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของประเทศได้สำเร็จ
2. เกิดชัยชนะรายทางทำให้บันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ซึ่งเป็นเอกสารที่ให้ร้ายประเทศไทยและจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในเกมการเมืองระหว่างประเทศไทยต้องยุติลง เพราะการประชุมสภาล่มหลายครั้ง และคณะรัฐมนตรีต้องยอมถอนวาระดังกล่าวออกจากที่ประชุมในที่สุด
3. เกิดชัยชนะรายทางทำให้กองทัพบกต้องออกมาแสดงจุดยืนไม่ยอมรับผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียในนามอาเซียนเข้ามาในแผ่นดินไทย เพราะเป็นเสมือนการเข้ามาเพื่อเป็นกันชนห้ามทหารไทยผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย เป็นผลต่อมาทำให้กระทรวงกลาโหมไทยและรัฐบาลไทยต้องยุติเรื่องดังกล่าวในที่สุด หลังจากก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศไทยได้ไปตกลงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียนให้เชิญผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียเข้ามาในประเทศไทย
4. เกิดชัยชนะหลัก 1 ใน 3 ตามข้อเรียกร้อง คือประเทศไทยได้ยื่นหนังสือลาออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2554 หลังจากทีประชาชนได้กดดันให้ลาออกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ชัยชนะที่ผ่านมาทั้งหมดนั้นถือเป็นชัยชนะของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ และเป็นผลโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ของพี่น้องประชาชนทั้งสิ้น แม้ว่าภารกิจการต่อสู้เรื่องเขตแดนทั้งหมดและการปฏิรูปการเมืองยังไม่แล้วเสร็จ แต่เมื่อเราในฐานะประชาชนที่ปราศจากอำนาจรัฐได้ทำหน้าที่จนสุดความสามารถจนเกิดผลการเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 ประการข้างต้นแล้ว ตลอดจนได้ทำอย่างเต็มที่ในการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์กากาบาทลงในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนเพื่อการปฏิรูปการเมืองแล้ว ถือได้ว่าทุกคนได้ทำหน้าที่สมบูรณ์ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแล้ว
เราขอกราบขอบพระคุณพี่น้องประชาชน และพี่น้องสื่อมวลชน ที่มีส่วนสำคัญในการทำให้การชุมนุมในครั้งนี้สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีจนเกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศในเรื่องที่มีความสำคัญ เราได้ชุมนุมต่อเนื่องผ่านช่วงเวลาร้อน หนาว และพายุฝนมาถึง 158 วัน 158 คืน ถือว่าได้พิสูจน์ความเพียรของพี่น้องประชาชนแล้วในการมาทำหน้าที่ใช้หนี้แผ่นดิน และมาทำบุญ ได้อย่างเต็มที่สุดกำลัง
ณ บัดนี้เราจึงขอประกาศยุติการชุมนุมในคืนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 โดยจะใช้เวลาจัดการเก็บของและรื้อถอนอุปกรณ์การชุมนุมประมาณ 5 วัน ในระหว่างนั้นจะจัดให้มีการเฉลิมฉลองปิดการชุมนุมครั้งนี้โดยการกิจกรรมแสดงดนตรีและบันเทิงบนเวทีตลอดวันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 จนถึงเวลา 18.00 น. ทั้งนี้ขอให้พี่น้องประชาชนชาวไทยได้กลับไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เพื่อไปกากบาทลงในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนเพื่อการปฏิรูปการเมืองอย่างพร้อมเพรียง
ด้วยจิตคารวะ
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย