มติคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เพื่อจะพิจารณาว่ามติ ครม.ดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำต้องพิจารณาถึงหลักการ เหตุผล และข้อกฎหมาย กับระเบียบการปฏิบัติราชการที่คณะรัฐมนตรีนำมาเป็นหลักการพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงเสียก่อน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเอกสารบันทึกข้อความของสำนักงานนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร.0305.07/156 ลงวันที่ 10 มกราคม 2555 เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมให้การเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อ และผู้เสียหาย
ตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หรือความขัดแย้งทางการเมืองที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอแนะของ ปคอป. ซึ่งได้ประชุมกันเพียงครั้งแรกและครั้งเดียว
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2555 อันเป็นการประชุมครั้งที่ 1/2555 และเสนอเรื่องต่อ ครม.ทันทีในคราวประชุมวันที่ 10 มกราคม 2555 และเมื่อพิจารณาหลักการและเหตุผลที่คณะกรรรมการ ปคอป. เสนอต่อ ครม.ปรากฏเหตุผลเพียงว่า ที่ประชุม ปคอป. “เห็นชอบในหลักการให้เสนอแนะมาตรการ กลไก และวิธีการส่งเสริมการเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อ และผู้เสียหาย ตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่าย ซึ่งเป็นการชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูที่ไม่อยู่ในกรอบกฎหมายและแนวทางปฏิบัติเดิม ทั้งทางการเงินและรูปแบบอื่นๆ”
จากหลักการและเหตุผลที่คณะกรรมการ ปคอป. เสนอต่อ ครม.และที่ ครม.ให้ความเห็นชอบนั้น จึงเป็นหลักการและเหตุผลที่นำเสนอต่อ ครม.โดยปราศจากความถูกต้องและเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเนื้อหาสาระของข้อเสนอก็ระบุชัดอยู่แล้วว่า ไม่ต้องการอยู่ในกรอบกฎหมายหรือไม่ยึดถือแนวทางการปฏิบัติตามระเบียบราชการที่เคยปฏิบัติมาแต่อย่างใดทั้งสิ้น จึงเป็นมติ ครม.ที่ไม่มีหลักกฎหมายรองรับให้ปฏิบัติเช่นนั้นได้
เมื่อพิจารณาประกอบกับเนื้อหาสาระของมติ ครม.ทั้งหมด ที่ให้หน่วยงานของรัฐนำเงินภาษีอากรของประชาชนที่นำมาจัดสรรเป็นงบประมาณแผ่นดิน นำมาใช้จ่ายเป็นค่าชดเชยความเสียหายแก่บุคคลที่อ้างว่าได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ถือเป็นความเสียหายอันเกิดจากกระทำละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะรับฟังได้เป็นยุติว่า รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานตามคำสั่งของรัฐบาลในขณะนั้น ได้เป็นผู้กระทำความผิดอันเป็นการละเมิดโดยผิดกฎหมายต่อประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองเหล่านั้นหรือไม่ ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลอันเป็นที่สุดว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำความผิด กรณีจึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่รัฐจะเป็นผู้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่เกิดเหตุถึงขั้นจลาจลเผาบ้านเผาเมือง นั้น ก็เห็นได้ชัดว่าผู้ชุมนุมและแกนนำที่มีหน้าที่จัดการชุมนุม เป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย เป็นฝ่ายกระทำการละเมิดต่อประชาชนผู้สุจริตเผาทำลายทรัพย์สินของเอกชน และทางราชการให้ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ผิดต่อกฎหมายและเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ทำลายความสงบสุขของสังคม อันเป็นภัยคุกคามต่อสาธารณะอย่างเห็นได้ชัด และในกรณีที่ครอบครัวคนเสื้อแดงหลายคนที่เสียชีวิต โดยอ้างว่าเป็นการกระทำละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
พวกเขาบางคนจำนวนหนึ่งก็ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายต่อศาลแพ่งให้กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม และกองทัพบก เป็นจำเลย โดยคำฟ้องของบุคคลเหล่านั้น ได้เรียกร้องค่าเสียหายสูงสุดจากการเสียชีวิตเพียง 2.7 ล้านบาทเท่านั้น และคดีก็อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ฝ่ายอัยการที่เป็นทนายของแผ่นดินก็ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดี ปฏิเสธความรับผิดชอบโดยให้เหตุผลว่า ผู้ตายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำที่เป็นการก่อให้เกิดความเสียหาย โดยฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายเพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น การฝ่าฝืนเช่นนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่า ผู้ตายเป็นผู้กระทำความผิด
และทางการได้ประกาศออกคำสั่งข้อกำหนด คำเตือน ให้ผู้ชุมนุม กลับบ้านและเลิกการชุมนุม เพราะผู้ชุมนุมได้ใช้อาวุธสงครามร้ายแรงยิงทำร้ายเจ้าหน้าที่ และกำลังก่อเหตุจลาจลความรุนแรง ก่อความไม่สงบ อันเป็นภยันอันตรายต่อสาธารณะ แต่ผู้ตาย ผู้เสียหายก็ประสงค์จะเข้าร่วมการชุมนุมและสมัครใจที่จะเข้าเสี่ยงภัยรับภัยพิบัตินั้นเอง ผู้ตายจึงเป็นผู้มีส่วนร่วมในการก่อเหตุ และร่วมกันก่อให้เกิดความเสียหาย จึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายใดๆ จากผู้หนึ่งผู้ใด
กล่าวโดยสรุป มติ ครม.ดังกล่าว จึงเป็นมติ ครม.ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีหลักการและเหตุผลทางกฎหมายรองรับแต่อย่างใด ขัดต่อระเบียบ และแนวทางปฏิบัติราชการโดยสิ้นเชิง ผู้ใดปฏิบัติตามมติ ครม.ดังกล่าว หรือมีส่วนร่วมในที่ประชุมเพื่อมีมติ ครม.ดังกล่าวก็ดี ต้องร่วมรับผิดตามกฎหมาย
เมื่อมติ ครม.ไม่ชอบด้วยกฎหมายเสียแล้วย่อมไม่มีผลบังคับ ดังนั้นประเด็นที่ 2 และที่ 3 ที่จะพิจารณาว่า ผู้ได้รับความเสียหายและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง ตามมติ ครม.มีสิทธิได้รับชดเชยหรือเยียวยาความเสียหายดังกล่าวหรือไม่? จำนวนเงินและค่าเสียหายที่รัฐกำหนดเป็นการชดเชย โดยนำเงินจากภาษีอากรอันเป็นงบประมาณของแผ่นดินมาชำระให้ สมควรแก่เหตุและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? จึงไม่จำต้องพิจารณาและแม้จะพิจารณาในรายละเอียดก็ยิ่งไม่ชอบอยู่ดี เพราะจำนวนเงินที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดให้จ่ายชดเชยนั้น ก็ปราศจากหลักเกณฑ์ในการคำนวณความเสียหายอยู่แล้ว เป็นการพิจารณาตามอำเภอใจ
เพราะหากจะพิจารณาตามกฎหมายต้องเป็นไปตาม ปพพ. มาตรา 438 คือ ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด เมื่อกรณีนี้ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาล รัฐบาลก็ไม่มีอำนาจหรือหน้าที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายแต่อย่างใด ยิ่งเมื่อพิจารณาตามคำฟ้องของคนเสื้อแดงที่บาดเจ็บล้มตาย ก็ไม่มีผู้ใดเรียกร้องค่าเสียหายมากถึง 7.5 ล้าน
ส่วนประเด็นที่ 4 และที่ 5 ผลกระทบจากมติ ครม.ดังกล่าว จะเกิดผลดีหรือเสียหายต่อการบริหารบ้านเมือง สังคม และประเทศชาติโดยส่วนรวมอย่างไรหรือไม่? หากมติ ครม.นี้มิชอบด้วยกฎหมายและส่งเสียต่อผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติโดยส่วนรวม จะสามารถยับยั้งหรือเพิกถอนได้หรือไม่? เห็นได้ว่า มติ ครม.นี้มีผลกระทบต่อสังคมและการบริหารบ้านเมืองอย่างยิ่ง เป็นการทำลายหลักนิติธรรม นิติรัฐ ขื่อแปรของบ้านเมืองหมดสิ้น หากปฏิบัติตามมติ ครม.นี้ ย่อมสร้างปัญหาและความขัดแย้งแตกแยกอย่างหนักหน่วงและรุนแรงในสังคม กระทบถึงการปฏิบัติหน้าที่ ของตำรวจ ทหาร ราชการผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างยิ่ง บั่นทอนขวัญกำลังใจทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนและสุจริตชนทั้งหลาย
นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมตอบแทนรางวัลแก่ผู้กระทำความผิด เป็นการสร้างวีรบุรุษบนซากศพและซากปรักหักพังของประเทศ สนับสนุนการเมืองแบบพ่อค้าความตายให้รางวัลทักษิณกับพวกเผาบ้านเผาเมือง ทำลายขื่อแปรของสังคม จึงชอบที่ประชาชนไทยเจ้าของประเทศทุกคนต้องลุกขึ้นมาหยุดมติ ครม.อัปยศนี้เสีย