xs
xsm
sm
md
lg

“นิติเรด” สุมหัวตั้ง ครก.แก้ กม.หมิ่นฯ 112 อ้างเป็นปรปักษ์ต่อ ปชต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“แก๊งนิติราษฎร์” รุกคืบประกาศตั้ง ครก.112 ล่าหมื่นชื่อแก้ กม.อาญาหมิ่นฯใน 112 วัน พร้อมเปิดชื่อ อาทิ “ชาญวิทย์-เกษียร-ปราบดา-เสกสรรค์-บก.ลายจุด-บินหลา” เหิมอ้างคดีหมิ่นสถาบัน เพิ่มสูง จนกลายเป็นการคุกคามละเมิดสิทธิพลเมือง พร้อมเปิดเทป “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ปาฐกถาหนุนแก้ อ้างไม่อยากให้สถาบันเป็นปรปักษ์กับ ปชต.ด้าน “วรเจตน์” ชูธง 7 ประเด็นชำเรา ม.112 ขู่ใครขวางล่าชื่อระวังผิด พ.ร.บ.

วันนี้ (15 ม.ค.) ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเวทีวิชาการ-ศิลปวัฒนธรรม “แก้ไขมาตรา 112” โดยกลุ่มนักวิชาการในนามคณะนิติราษฎร์ และในโอกาสนี้ยังได้เปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 (ครก.112) เพื่อผลักดันร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ท่ามกลางความสนใจของประชาชนที่เข้ามาร่วมงานกันอย่างคึกคัก รวมถึงมีบุคคลสำคัญทางวิชาการ อาทิ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเบนเนดิก แอนเดอร์สัน นักวิชาการชื่อดัง เข้าร่วมงานด้วย ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่มาร่วมรับฟังสวมเสื้อสีแดง โดยไม่ได้นัดหมาย ขณะที่บรรยากาศโดยรอบนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังเป็นปกติ ไม่มีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมใดๆ

โดย นางกฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะตัวแทน ครก.112 ได้อ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่มีการรัฐประหาร พ.ศ.2549 มีสถิติผู้ต้องโทษตามมาตรา 112 หรือที่รู้จักกันดีในนามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2553 ซึ่งมีการฟ้องร้องถึง 478 ข้อหา ซึ่งเปรียบเสมือนว่า ความจงรักภักดีนี้ได้เป็นอาวุธสำหรับการข่มขู่ คุกคาม และในความอ่อนไหวของข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ มักทำให้ผู้ถูกกล่าวหาประสบกับการบังคับใช้กฎหมายไม่คำนึงถึงสิทธิพลเมือง เช่น ไม่ให้มีการประกันตน มีการไต่สวนด้วยวิธีปิดลับ อีกทั้งยังมีการกดดันจากสังคม อย่างเช่น กรณีการล่าแม่มด ทั้งนี้ รายงานปี 2554 ขององค์กรฟรีดอมเฮาส์ ได้เปลี่ยนสถานะเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยจากกึ่งเสรีเป็นไม่เสรี ส่งผลให้ไทยถูกจัดอับอยู่ในกลุ่มเดียวกับเกาหลีเหนือ พม่า จีน คิวบา อัฟกานิสถาน อิหร่าน นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่มีผู้ถูกดำเนินคดี เช่น กรณีอากง กรณีนายโจ กอร์ดอน ทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยดังกระหึ่มทั่วโลก ซึ่งทำให้องค์กรระหว่างประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112

“คณะนิติราษฎร์ จะร่วมกับกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคม นักเขียน และนักวิชาการ ได้มีมติผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ด้วยการทำในนามของ ครก.112 และรวบรวมรายชื่อประชาชนอย่างน้อย 10,000 คน ภายในเวลา 112 วัน และจะนำเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้ลุล่วง” นางกฤตยา ระบุ

จากนั้นได้มีการเปิดเทปบันทึกภาพการปาฐกถาในหัวข้อ “ทำไมจึงต้องแก้ไขมาตรา 112” โดย นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งได้กล่าวตอนหนึ่งว่า กฎหมายดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนถึง 478 คดี แต่เชื่อว่า ถ้านับรวมความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นจำนวนมากกว่านั้น มีคนบอกว่า หากเราไม่ทำผิดก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าวิเคราะห์ในรายละเอียดจะพบว่า กฎหมายนี้ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการวินิจฉัยผู้กระทำความผิด ทั้งที่ผู้ที่ไม่มีเจตนา แต่อาจพลั้งเผลอไปก็อาจถูกเหมารวมดำเนินความผิดเช่นเดียวกับผู้ที่เจตนา และทำขบวนการเช่นกัน เพราะเราไม่สามารถนิยาม หรือหาหลักเกณฑ์ได้อย่างชัดเจนว่าการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายนั้นเป็นอย่างไร แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้พิพากษาของศาล ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ไม่มีนิยามว่าเนื้อความ ดูหมิ่น ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่เราไม่ควรทำให้สถาบันเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย ระบอบกษัตริย์ที่ยังเหลือในโลกล้วนอนุวัฒน์ ตามประชาธิปไตย หากใครไปทำให้คนรู้สึกว่าสถาบันเป็นปรปักษ์ ก็เป็นการทำร้ายสถาบันโดยตรง

นายนิธิ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ประเด็นของเรื่องสัดส่วนของผู้ถูกลงโทษตามมาตรานี้ที่กำหนดให้ต้องถูกจำคุกไม่ต่ำกว่า 3 ปี หรือไม่เกิน 15 ปีนั้น ไม่สอดคล้องกับความผิดที่เกิดขึ้น มีโทษแรงเกินกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก เพราะเป็นข้อบังคับตายตัว อย่างน้อย 3 ปี แล้วลองไปเทียบหมิ่นประมาทคนธรรมดา จะต่างกันมาก โทษที่ได้รับแรงเกินจำเป็น ทั้งหมดเพราะมาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ ทำให้ความผิดไปเชื่อมโยงความมั่นคงแห่งรัฐ เป็นปัญหาค่อนข้างมาก เมื่อมาตรานี้อยู่ในหมวดความมั่นคง เพราะถ้าผู้ที่ทำความผิดโดยไม่ได้มีเจตนาที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เช่น เป็นคนปากพล่อย เขาก็ควรได้รับโทษที่ลดลง

“ที่สำคัญ การปล่อยให้ทุกคนมีสิทธิ์ฟ้องร้องใครก็ได้ในความผิดตามมาตรานี้ ทำให้ถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อ หรือฉ้อฉล และมีการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือทางส่วนตัวไปใช้ฟ้องร้องกล่าวโทษคนที่เราไม่ชอบ ซึ่งส่งผลร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย จึงควรแก้ไขโดยกำหนดให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้นมีอำนาจฟ้องร้องกล่าวโทษได้ นี่จึงเป็นการแก้ไขตัวบทกฎหมายเพื่อไม่ให้มีใครสามารถนำไปใช้อย่างฉ้อฉลได้” นายนิธิ กล่าว

ด้าน นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า เป้าหมายของ ครก.112 คือ การรวบรวมรายชื่อให้ได้ 10,000 รายชื่อ ภายใน 112 วัน เพื่อเสนอต่อประธานสภาให้กฎหมายที่ร่างใหม่นี้ เข้าสู่การพิจารณา และแม้วันนี้พรรคการเมืองต่างๆ จะไม่เห็นด้วย แต่เชื่อว่า หากมีประชาชนจำนวนมากสนับสนุนพรรคการเมืองเหล่านั้นอาจจะเปลี่ยนใจ เพื่อมาสนับสนุนแนวทางของ ครก.112 แต่หากไม่มีใครเห็นด้วยเราก็ต้องทำใจ เพราะไม่มีอำนาจไปบังคับสมาชิกรัฐสภาให้พิจารณากฎหมายได้ และตนอยากฝากบอกบุคคลที่ขัดขวาง อาทิ การข่มขู่ประชาชนที่เข้าชื่อเสนอรายชื่อแก้ไขกฎหมายนั้น เข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมายปี 42 โดยมีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ แต่หากมีการรวบรวมรายชื่อไม่เห็นด้วยโดยการล่ารายชื่อก็ถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ และเป้นความต่างทางความเห็นตามระบอบประชาธิปไตย

“มีคนบอกว่า จะเป็นการจุดชนวนความขัดแย้ง ประเทศเราอ่อนไหวเรื่องความขัดแย้งเหลือเกิน ผมอยากบอกว่าคนเหล่านี้เสแสร้างเหลือเกิน เพราะความขัดแย้งทางความคิดเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย แต่ขอโอกาสให้คนเห็นต่างได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นบ้าง ไม่ใช่ไล่ไปอยู่ที่อื่นหรือไปถือสัญชาติอื่น เพราะทุกคนในที่นี้ดำเนินตามขั้นตอนตามกฎหมาย โดยมีพวกท่านเป็นผู้บังคับใช้อยู่” นายวรเจตน์ กล่าว

นายวรเจตน์ กล่าวว่า จากการหารือกับกลุ่มนักวิชาการ พบว่ายังมีข้อสรุปที่ต้องปรับปรุงในสาระของประมวลกฎหมายอาญา ม.112 คือ การยกเลิก ม.112 ไปก่อน และมีการเขียนบทบัญญัติเพิ่มเติม โดยมีประเด็นสำคัญ ประกอบไปด้วย 1.ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร เพราะจะทำให้มีความผิดรุนแรง และศาลจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยอ้างว่ากระทบกับจิตใจกับประชาชน 2.เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 3.แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะแบ่งแยกลักษณะความผิดในการลงโทษ ไม่เหมารวมเช่นที่ผ่านมา

นายวรเจตน์ กล่าวว่า 4.เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 ปี สำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกินสองปีสำหรับ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 5.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต 6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 7.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้นแทนพระองค์ เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการกลั่นแกล้งทางการเมือง ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถกล่าวโทษกับผู้อื่นได้ และเชื่อว่า จะไม่เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นคู่ความกับประชาชน เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ลงมาฟ้องร้องเอง แต่ในสำนักราชเลขาธิการซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฟ้องร้องแทนได้อยู่แล้ว

นายวรเจตน์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่มีคนเข้าใจการดำเนินการที่ผิดๆ อาทิ การมีคนมองว่า อาจขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ที่สถาบันฯ จะต้องเป็นที่เคารพสักการะนั้น ตนยืนยันว่าข้อเสนอของคณะมีการบัญญัติบทคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ ส่วนประเด็นการเข้าชื่อเพียง 10,000 ชื่อ แทน 50,000 ชื่อ เป็นเพราะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 163 ระบุชัดว่า ให้ประชาชนเพียง 10,000 ชื่อ สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้เลย และประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพโดยตรง เพราะกฎหมายดังกล่าวเชื่อมโยงกับการแสดงความคิดเห็น มีบทลงโทษที่กระทบกับเสรีภาพประชาชน ดังนั้นการเคลื่อนไหวของ ครก.112 จึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการ

ส่วนที่มีการมองกันว่าหากมีการแก้ไขเกี่ยวกับกับกฎหมาย ม.112 จะส่งผลให้กฎหมายคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ของไทย มีความเข้มข้นน้อยกว่าประมุขของประเทศอื่นๆนั้น นายวรเจตน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่รัฐสภาต้องทราบอยู่แล้ว พร้อมกับให้มีการดำเนินการแก้ไขในคราวเดียวกัน แต่หากไม่มีใครทำ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์จะดำเนินการเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อคณะ ครก.11 ที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 นั้น ประกอบไปด้วย นักวิชาการ สื่อมวลชน นักเขียน โดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียง ประกอบไปด้วย นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุจิตต์ วงศ์เทศ นักเขียนอาวุโส นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ นายปราบดา หยุ่น นักเขียนรางวัลซีไรต์ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียน และ คณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

รายชื่อ ครก.112

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ
ผาสุก พงษ์ไพจิตร เศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการ นักเขียน
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ วุฒิสมาชิกและอัยการ
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล
อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์/ศิลปิน
ชัยศิริ จิวะรังสรรค์ ศิลปิน
ธงชัย วินิจจะกูล มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน
ธเนศวร์ เจริญเมือง รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อานันท์ กาญจนพันธุ์ สังคมและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ยศ สันตสมบัติ สังคมและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เกษียร เตชะพีระ รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สิงคโปร์
กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ศรีประภา เพชรมีศรี โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
ขวัญระวี วังอุดม โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
เอกกมล สายจันทร์ รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โกสุมภ์ สายจันทร์ รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สมชาย ปรีชาศิลปะกุล นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ฉลาดชาย รมิตานนท์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วัฒนา สุกัณศีล สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชัชวาล ปุญปัน อดีตอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ ม.เชียงใหม่

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธีระ สุธีวรางกูร นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปิยะบุตร แสงกนกกุล นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สาวตรี สุขศรี นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปูนเทพ ศิรินุพงษ์ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประจักษ์ ก้องกีรติ รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อภิชาต สถิตนิรมัย เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันรัก สุวรรณวัฒนา ศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อนุสรณ์ อุณโน สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นลินี ตันธุวนิตย์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มรกต ไมยเออร์ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อัครพงษ์ ค้ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วาด รวี นักเขียน
ปราบดา หยุ่น นักเขียน
วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียน นักแปล
มุกหอม วงษ์เทศ นักเขียน
สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการ
ไอดา อรุณวงศ์ วารสาร “อ่าน”
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระ
วิจักขณ์ พานิช นักเขียน นักแปล

สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน-นักวิชาการอิสระ
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สื่อมวลชน
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี สื่อมวลชน
นพ. กิตติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการรพ. ภูสิงห์ จ.ศรีษะเกษ
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน
จีรานุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการ สำนักข่าวประชาไท
จิตรา คชเดช ผู้นำแรงงาน, กลุ่ม Try Arm
สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมสังคม

แดนทอง บรีน ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ทนายความ
รัตนมณี พลกล้า ทนายความ
พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ
ภาวิณี ชุมศรี ทนายความ
อานนท์ นำภา ทนายความ
ประเวศ ประภานุกูล ทนายความ

อนุสรณ์ ธรรมใจ เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
อันธิฌา ทัศคร ปรัชญาและศาสนา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
กานดา นาคน้อย เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู (Purdue) สหรัฐอเมริกา
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พฤกษ์ เถาถวิล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ดร.พงศาล มีคุณสมบัติ นักวิชาการอิสระด้านพลังงานนิวเคลียร์
ไชยันต์ รัชชกูล มหาวิทยาลัยพายัพ

คมลักษณ์ ไชยยะ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
ชัชวาลย์ ศรีพาณิชย์ อดีตนายกสมาคมธรรมศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย
ชาตรี ประกิตนนทการ สถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ชาญณรงค์ บุญหนุน คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เชษฐา พวงหัตถ์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
โกวิท แก้วสุวรรณ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
พิพัฒน์ สุยะ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เอมอร นิรัญราช คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

พวงทอง ภวัครพันธุ์ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เวียงรัฐ เนติโพธิ์ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นิติ ภวัครพันธุ์ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นฤมล ทับจุมพล รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ฉลอง สุนทรวาณิชย์ อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุวิมล รุ่งเจริญ อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ธนาพล ลิ่มอภิชาต อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เกษม เพ็ญภินันท์ อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำสิงห์ ศรีนอก ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
วัฒน์ วรรยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา
อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหาร นิตยสารเวย์
เวียง-วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์สามัญชน
ดวงมน จิตร์จำนงค์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
พิเชญ แสงทอง มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์
อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียน
อุทิศ เหมะมูล นักเขียนรางวัลซีไรต์
เรืองรอง รุงรัศมี นักเขียน นักแปล
ทองธัช เทพารักษ์ นักเขียน การ์ตูนนิสต์ ศิลปิน
เดือนวาด พิมวนา นักเขียนรางวัลซีไรต์
ประกาย ปรัชญา กวี
ซะการีย์ยา อมตยา กวีรางวัลซีไรต์
วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเขียน
กฤช เหลือละมัย กวี
วินัย ปราบบริปู นักเขียน ศิลปิน

รายชื่อในเบื้องต้น จำนวน 112 คนแรก นอกจากนี้ ยังมีผู้สนใจร่วมลื่อเพิ่มเติม อาทิ

อติภพ ภัทรเดชไพศาล นักเขียน
บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนรางวัลซีไรต์
ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง บรรณาธิการสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด
ธิติ มีแต้ม บรรณาธิการนิตยสารปาจารยสาร
ศุภชัย เกศการุณกุล นักเขียน – ช่างภาพ





กำลังโหลดความคิดเห็น