xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยโดยการหนุนเคลื่อนนโยบาย

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

เรื่องแสนเศร้าแต่จริงสุดสำหรับสังคมไทยคือคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยที่เป็นฐานการผลิตอาหารสำคัญของประเทศกำลังล่มสลายจากการรุกคืบของทุนที่ผนวกอำนาจการเมืองกำหนดนโยบายสาธารณะ แผนงาน และมาตรการต่างๆ ทางด้านเกษตรและอาหารที่เอื้อประโยชน์บรรษัทแต่เบียดขับกีดกันเกษตรกรรายย่อยไม่ให้มีที่ยืนหยัดต่อสู้ จนปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลเหนือความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ (climate change) และความผันผวนของราคาตลาดที่ถึงแม้ราคาอาหารโลกจะสูงแต่เกษตรกรก็คงได้รับผลตอบแทนต่ำ ซ้ำเสี่ยงสูงขึ้นจากการค้าเสรี (FTA) ที่ถูกกำหนดโดยรัฐซึ่งขาดความรับผิดชอบต่อกลุ่มคนปลายอ้อปลายแขมหรือเรียกในสำนวนสมัยใหม่คือกลุ่มเปราะบางทางสังคม (vulnerable groups)

เกษตรกรรายย่อยที่ถูกจัดเป็นกลุ่มด้อยโอกาสของสังคมไทยในห้วงยามรัฐนาวาบ่ายหน้าพัฒนาแต่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม จึงกลายเป็นประชากรลำดับรองที่เกือบจะรั้งท้ายในสายตากลุ่มกุมอำนาจรัฐยกเว้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ดังรูปธรรมการจัดลำดับความสำคัญ (priority) ของการเยียวยาช่วยเหลือช่วงพิบัติภัยที่ถึงที่สุดแล้วทั้งไม่เป็นธรรมและทั่วถึง ซึ่งแตกต่างจากภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และเมือง

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการปฏิรูปโครงสร้างและกลไกการตลาดให้เป็นธรรมที่ต้องปฏิบัติการควบคู่กับการจัดการหนี้สินและทุนของเกษตรกรทั้งระบบเพื่อฟื้นคืน ‘อิสรภาพ’ แก่เกษตรกรรายย่อยจากการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวภายใต้โครงสร้างสังคมเหลื่อมล้ำแล้ว การสร้างระบบหลักประกันความเสี่ยง รายได้ และคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางสร้างความมั่นคงของคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยและความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชนจนถึงประเทศชาติ

การสร้างระบบหลักประกันความเสี่ยงหรือประกันภัยผลผลิตการเกษตรหลากหลายรูปแบบเพื่อครอบคลุมผลผลิตการเกษตรที่สำคัญบนหลักการว่าผู้ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากภาคเกษตรทั้งภาคธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมเกษตร สถาบันการเงิน เกษตรกร และรัฐบาล จะต้องร่วมกันลงทุนพัฒนาระบบหลักประกันความเสี่ยงผลผลิตเกษตรของเกษตรกรรายย่อยเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง และประโยชน์จากการผลิตไปยังทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเบื้องต้นภาครัฐต้องสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบดังกล่าวก่อน ซึ่งรวมถึงการช่วยจ่ายค่ากรมธรรม์ประกันภัยให้แก่เกษตรกรรายย่อยด้วย

อีกทั้งการสร้างหลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิตขั้นต่ำที่เพียงพอจะค้ำจุนครอบครัวเกษตรกรให้อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยต้องมุ่งป้องกันไม่ให้ภาคธุรกิจรวมหัวกันกดราคาผลผลิตของเกษตรกรรายย่อยได้ แต่ทว่าก็ต้องไม่เข้าไปบิดเบือนหรือทำลายกลไกตลาด ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างหลักประกันรายได้ขั้นต่ำโดยการคำนวณต้นทุนการผลิตที่คำนึงถึงรายจ่ายที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตขณะที่รอเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไร่นาด้วย ซึ่งถึงที่สุดแล้วต้องหลีกเลี่ยงการประกันราคาหรือการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรเพราะนอกจากจะบั่นทอนกลไกตลาดแล้ว ยังเสี่ยงสูงต่อการเกิดคอร์รัปชันด้วย

ข้อเสนอเชิงนโยบายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้หลักการร่วมสำคัญเดียวกันคือ ‘การปฏิรูประบบเกษตรกรรมเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่เกษตรกรรายย่อย และสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับประเทศ’ ที่นอกจากจะต้องการกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากภาคประชาสังคมในการหนุนเคลื่อนนโยบาย (policy advocacy) ในลักษณะของการเรียนรู้ร่วมกันเพราะต้องต่อกรกับกระแสคัดค้านของกลุ่มกุมอำนาจรัฐและทุนแล้ว ยังเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกเป็นสำคัญด้วย

โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยเองที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตแบบพึ่งพิงมาสู่พึ่งตนเองยิ่งขึ้นตามแนวเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรลดต้นทุน และกลุ่มผู้บริโภคซึ่งเป็นพลังหลักของการกำหนดทิศทางการตลาดอันจะเป็นพลังที่ไปกำกับหรือควบคุมทิศทางนโยบายสาธารณะได้อีกต่อหนึ่ง ดังกรณีต่อต้านผลผลิตการเกษตร GMOs

ภายใต้วิกฤตถาวรความมั่นคงทางอาหารระดับโลก และภาวะหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยจากการที่วิถีเกษตรกรรมตกใต้อาณัติทุนที่ครอบงำทิศทางนโยบายสาธารณะจนผลักภาระความเสี่ยงทั้งหมดมาสู่ผู้ผลิตรายย่อย โดยปรากฏชัดในรูปแบบของเกษตรพันธสัญญา (contract farming) ที่กำลังขยายตัวทั้งในด้านจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมและชนิดของพืชผักและสัตว์เลี้ยง เพราะหลายฝ่ายมองว่าเป็นทางออกของสังคมไทยนั้นได้เข้ามาเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ตัวเลขเกษตกรรายย่อยเป็นหนี้สินสูงขึ้นมากถึง 6.3 ล้านราย รวมเม็ดเงินกว่า 8 แสนล้านบาท และอีกมากมหาศาลที่เลือดปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในระดับที่ไม่ปลอดภัยจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างเข้มข้นตามขนบเกษตรเคมี

มิพักจะเอ่ยอุตสาหกรรมเกษตรก็ได้เบียดขับเกษตรกรรายย่อยจำนวนมหาศาลให้ไร้ที่ดินทำกิน เข้าไม่ถึงปัจจัยการผลิตตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ยันระบบตลาดที่ปัจจุบันถูกผูกขาดโดยระบบการกระจายอาหารแบบการค้าสมัยใหม่ (modern trade) ที่ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิเกษตรกรรายย่อย หรือแม้กระทั่งสิทธิของผู้บริโภคในการจะเลือกบริโภคอาหารปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีความหลากหลายแต่อย่างใด

นัยสำคัญของกระบวนการปฏิรูปคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยโดยสอดรับกับความเป็นจริงของสังคมไทยที่กำหนดนโยบายสาธารณะตามผลประโยชน์ที่จะได้รับในรูปของเม็ดเงินกำไร และคะแนนเสียงทางการเมืองดังเช่นนโยบายประชานิยมรับจำนำจึงต้องการการวิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างลุ่มลึกกว้างขวาง

โดยเฉพาะผลกระทบเชิงโครงสร้างสังคม โดยอาศัยช่วงหน้าต่างแห่งโอกาสวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมในการหนุนเคลื่อนนโยบาย ที่จะร่วมกันผลักดันจนนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านขนานใหญ่ในสังคมไทยให้กลับมาตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยในฐานะผู้หล่อเลี้ยงความมั่นคงทางอาหารของตนเองและประเทศ ซึ่งหนึ่งเวทีผลักดันนโยบายสาธาณะที่ดีเหล่านี้คือ ‘สมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 2’ ที่กำลังมาถึง
กำลังโหลดความคิดเห็น