xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญมั่นใจเขื่อนภูมิพลปลอดภัย โอกาสแผ่นดินไหวใหญ่ในไทยมีน้อยมาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์
หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ ปฐพีและฐานราก มั่นใจเขื่อนภูมิพลปลอดภัย ไม่แตกง่ายตามคำทำนาย ระบุโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในไทยมีน้อยมาก โดยปกติจะอยู่ที่ 2 ริกเตอร์เท่านั้น ด้าน ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล จี้รัฐเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับภัยธรรมชาติต่อประชาชน ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน ชี้ความรุนแรงของภัยพิบัติทุกวันนี้เกิดจากการขาดจิตสาธารณะของคนมากกว่าการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ


วันที่ 26 ธ.ค. รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดร.วัฒนา กันบัว ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล ได้ร่วมรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

จากกรณีคำทำนายของเด็กชายปลาบู่ที่ว่าวันปีใหม่จะเกิดแผ่นดินไหวทำให้เขื่อนภูมิพลแตก รศ.ดร.สุทธิศักดิ์กล่าวว่า เราไม่ควรประมาทเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติอยู่แล้ว เมื่อมีคนมาเตือนก็ต้องเอาวิทยาศาสตร์เข้าไปตอบ เพื่อไม่ให้สังคมแตกตื่น

จังหวัดตาก ที่ตั้งของเขื่อนภูมิพล อยู่ในโซน 2 ข. ถือเป็นโซนที่มีความรุนแรงของแผ่นดินไหวมากสุดในประเทศไทย ซึ่งทั้งโลกมี 5 โซน เริ่ม 0-4 โซน 3-4 รุนแรงมากจะอยู่ที่ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ซึ่งเขายังอยู่ได้สบายไม่ได้เดือดร้อนอะไร ประเด็นคือเราต้องมองว่าเทคโนโลยีทำให้คนอยู่กับธรรมชาติได้ ส่วนจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในไทย จนกระทั่งเกินระดับโซน 2  ในยุคของเราเกิดได้ยาก ซึ่งคำนวณจากการอุบัติซ้ำอาจเป็นร้อยๆ ปี

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์กล่าวอีกว่า เขื่อนภูมิพลรองรับแผ่นดินไหวได้ 7.5 ริกเตอร์ ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับระยะทางของการเกิดแผ่นดินไหวด้วย ว่าเกิดที่ฐานเขื่อน หรือหากเกิดห่างออกไปความรุนแรงที่มาถึงเขื่อนก็ลดลงจนอาจไม่รู้สึก ไม่เกิดความเสียหาย

จากสถิติทั่วโลกเกิดแผ่นดินไหวที่ 2 ริกเตอร์ ประมาณล้านครั้งต่อปี 3 ริกเตอร์ ประมาณแสนครั้ง ซึ่งกระจายไปทั่วโลกเกิดในไทยไม่บ่อย และในไทยจะอยู่ที่ประมาณ 2 ริกเตอร์ 3 ริกเตอร์ไม่บ่อย หากมากกว่านี้ก็จะเกิดน้อยมาก

ที่เป็นห่วงกันอีก คือ รอยเลื่อนในกาญจนบุรี ซึ่งรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย กรมธรณีวิทยาศึกษาไว้หมดแล้ว แต่ที่ยังไม่ศึกษาก็มีอีกเยอะ ไม่ได้บอกว่าปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ การสร้างเขื่อนจะคำนวณจากรอยเลื่อนที่เกิดขึ้นแล้วนำมาออกแบบสิ่งก่อสร้าง แต่สิ่งที่กังวลมากกว่าคือการพบรอยเลื่อนใหม่ๆ แต่ไม่ได้เอารอยเลื่อนนั้นมาใช้ออกแบบ อันนี้อาจเป็นปัญหาได้ ต้องเอารอยเลื่อนใหม่ไปวิเคราะห์ว่าจะอยู่ได้หรือไม่ ตนเคยวิเคราะห์เขื่อนศรีนครินทร์ซึ่งก็อยู่ในระดับปลอดภัย

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์กล่าวถึงข้อมูลที่ไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศมีความเสี่ยงจากภัยพิบัติอันดับที่ 85 จาก 173 ทั่วโลกว่า จริงๆ แล้วต้องลงรายละเอียดว่าจัดอันดับจากอะไรบ้าง ประเทศเราควรให้ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์มากกว่านี้ อย่างทำไมเราถึงเชื่อเด็กชายปลาบู่มากกว่าวิทยาศาสตร์ เพราะเราไม่ได้ให้การศึกษาแบบใช้วิทยาศาสตร์นำ

นักวิชาการด้านภัยพิบัติของไทยมีน้อยมาก อย่างเรื่องแผ่นดินไหวคนจบมาก็ไม่มีอะไรให้ทำ หากินยาก คนเลยไม่สนใจจะศึกษา แนะนำว่าวิทยาศาสตร์พื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ แล้วค่อยแทรกเรื่องภัยพิบัติลงไป

ด้าน ดร.วัฒนากล่าวว่า ทุกวันนี้ที่เกิดภัยพิบัติรุนแรงมาจาก local change สำคัญกว่า climate change เช่นปัญหาน้ำท่วม ก็เพราะไม่มีที่ให้น้ำอยู่ คนไปทำสิ่งก่อสร้างกั้นไว้ ประเทศเราการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มแข็ง อย่างภาวะโลกร้อน เราอยู่ได้ ถ้าตั้งถิ่นฐานให้เหมาะสมกับวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างที่บอกว่าต่อให้กรมอุตุฯพยากรณ์แม่นเพียงไร คนก็ตาย เพราะเขาไม่มีที่ไป กรณีพายุเข้าฟิลิปปินส์เป็นแค่โซนร้อน แต่คนตายเยอะก็เพราะเข้าไปในเมืองที่ไม่ค่อยเกิดภัยธรรมชาติ ไม่มีการเตรียมพร้อม และคนตายก็เป็นคนจน อยู่บ้านที่เป็นกระต๊อบ หลังคามุงสังกะสี แต่คนอยู่ตึกไม่ตาย ซึ่งที่ถูกแล้วควรมีอาคารหลบภัยให้ในแต่ละท้องถิ่น วันนี้ถ้าเกิดภัยธรรมชาติในเมืองใหญ่ๆของไทยก็แย่  ฉะนั้นต้องรีบสอนคน

ที่เจ็บปวดคือ ภัยหนาวในไทย ตนรู้สึกว่าความหนาวมันไม่ใช่ภัย ไม่เข้าใจทำไมสื่อไปกระพือข่าวว่ามันเป็นภัย แต่มันคือความขาดแคลนในท้องถิ่น เห็นแจกผ้าห่มกันทุกปี คนในท้องที่ก็อยู่มานานเจออากาศหนาวทุกปี พอหายหนาวก็ซักเก็บ พอหนาวก็เอามาใช้ไม่ได้หรือ แต่ทำไมพอถึงฤดูหนาว ผ้าห่ม เสื้อกันหนาวหายหรืออย่างไร

ดร.วัฒนายังกล่าวอีกว่า บางครั้งโทษประชาชนไม่มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้ ภาครัฐต้องริเริ่ม ควรเอาเรื่องวิทยาศาสตร์มาสอดแทรกให้ชาวบ้าน ต้องเอาอาจารย์-คนสอนหนังสือมาอัพเกรด ไม่ได้เพราะโง่แต่ต้องปรับความรู้ตามข้อมูลที่มันเปลี่ยนไป จากนั้นก็เปลี่ยนแปลงตำราด้วย เห็นด้วยต้องทำวิจัยเรื่องภัยพิบัติให้มากขึ้น แต่วันนี้ก็มักวิจัยกันเป็นธุรกิจ บ้านเมืองนี้ไม่ค่อยโปร่งใส นักวิชาการไม่ได้ทำเพื่อประเทศชาติแต่ทำเพื่อตัวเอง เรียนสูงๆ เพื่อเป็นนายคน ไม่ได้เพื่อช่วยเหลือคน



ดร.วัฒนา กันบัว
กำลังโหลดความคิดเห็น