xs
xsm
sm
md
lg

อภิวัฒน์ประเทศไทย สิทธิชุมชนกับความมั่นคงทางอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งถือเป็นวิกฤตโลก เนื่องจากภัยธรรมชาติต่างๆ ทำให้ขาดแคลนอาหาร จนเป็นเหตุให้เกิดจลาจลหรือสงครามขึ้นได้ หากมองลึกลงไปการขาดแคลนอาหารเกิดจากคนไม่มีรายได้ ไม่มีงานทำ ประเทศไทยยังมีจุดแข็งคือสามารถผลิตอาหารได้ แม้บางคนคิดว่าเกษตรไม่สำคัญ อุตสาหกรรมสำคัญกว่า แต่วันนี้คงต้องหันกลับมามองเรื่องอาหาร หากไม่สร้างรากฐานที่เข้มแข็งในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ประเทศไทยก็อาจเป็นประเทศหนึ่งที่ขาดแคลนอาหาร”

คำกล่าวของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ ในเวทีชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทยครั้งที่ 5 เรื่อง ‘บทบาทขององค์กรชุมชนท้องถิ่นกับการมีส่วนร่วมในการจัดการความมั่นคงทางอาหารของชุมชน’ ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มีประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับวิกฤตการณ์อาหารในโลกยุคอนาคตอันใกล้นี้กำลังจะคืบคลานมากลายเป็นความจริง


[1]

หากมองจากภาพรวมมหภาคสู่จุลภาค ความมั่นคงทางอาหารเป็นปัญหาใหญ่ของโลกและของประเทศไทยที่ต้องตระหนัก อย่างจะเห็นได้จากหลายประเทศที่ผลิตน้ำมันได้กว้านเช่าที่ดินประเทศอื่นเพื่อผลิตอาหาร ความขาดแคลนอาหารมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดการณ์ว่าอีก 10 ปี ข้างหน้าจะเกิดปรากฏการณ์อาหารแพง ซึ่งเป็นปัญหาในแต่ละประเทศพยายามที่จะแก้ไขกัน รศ.สมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าว

สาเหตุที่ทำให้อาหารมีความขาดแคลนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพืชน้ำมันต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น สิ่งที่มนุษย์พยายามทำอยู่ คือการปลูกพืชอาหารส่วนหนึ่งมาเป็นพลังงานที่ทำจากข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี อ้อย เพื่อเปลี่ยนเป็นน้ำมันทำให้ส่วนที่ใช้ปลูกเพื่อบริโภคถูกแบ่งไป อีกประเด็นคือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก ซึ่งจะมีความเสี่ยงในภาคเกษตร กระทบกับการผลิตอาหาร และอีกอย่างคือประชากรของโลกเพิ่มมากขึ้น ความต้องการทางด้านอาหารก็จะสูงตามไปด้วย ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพราะมีผลกระทบกับเด็กที่เกิดและประชากรของประเทศไม่ว่าด้านค่าครองชีพหรือชีวิตความเป็นอยู่

รศ.สมพร กล่าวต่อว่า ฉะนั้นเรื่องความอดอยากไม่ว่าจะมองในมิติไหน เรื่องความมั่นคงของอาหารต้องมองลึกถึงประเด็น การเข้าถึงได้มีเพียงพอและมีความปลอดภัยยั่งยืน

“แม้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออก 1 ใน 10 เรื่องของการผลิตอาหารที่โชคดีกว่าประเทศอื่น เพราะอาหารบางส่วนมีเพียงพอ เช่น ข้าว แต่เรื่องความพอเพียง หากลงไปในชนบทยังขาดแคลนอยู่ ส่วนการเข้าถึงอาหาร แม้แต่ครัวเรือนที่ปลูกข้าวก็ขาดแคลน เพราะมีพื้นที่ดินแปลงเล็กๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสิบ แต่การผลการวิจัยมาจับไม่มั่นคงในอนาคต เราไปใช้เรื่องการจำนำ ประกัน มันเหมือนกับละลายน้ำ มันเป็นเรื่องความไม่มั่นคง และเรื่องของการตลาด เราจำนำที่สูงกว่าราคาตลาดและภาคเกษตรมันด้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม เช่น เวลาผ่านไปแล้วก็จะสู้ไม่ไหว

“อย่างประเทศเกาหลี ประเทศฝรั่งเศสมีงานวิจัยภาคเกษตรเยอะมาก การทำการวิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งในระบบ เพราะใช้ระบบสหกรณ์มาเป็นตัวตั้ง คือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของเกษตรกร แต่การวิจัยภาคเกษตรของไทยไม่เข้มแข็ง เนื่องจากพบว่าข้าว มีทุนการวิจัยน้อยลง ศักยภาพในการวิจัยโดยส่งคนไปเรียนวิจัย แต่ก็ทำให้เขาต้องออกไปทำงานต่างประเทศหมด เพราะเขาไม่มีงานทำ”

ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร เป็นอีกปัจจัยที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ที่ประเทศเวียดนามลดต้นทุนเพิ่มกำไร ลดค่าปุ๋ยค่ายา ค่าต่างๆ แต่ประเทศไทยเพิ่มราคา ไทยไม่ลดต้นทุน รัฐขาดมุมตรงนี้ ถ้าลดต้นทุนชาวบ้านก็อยู่ได้ รัฐบาลชอบอะไรในระยะสั้นๆ นโยบายที่เกิดขึ้นมาเรื่องราคามันถูกขับเคลื่อนออกมา รศ.สมพร ชี้ว่า

“การเปิดการค้าเสรี การเป็นฐานการผลิตเดียวในภาครวมมันอาจจะเอื้อประโยชน์ โอกาสมันกลายเป็นวิกฤตกันหมด แต่ภาคเกษตรมันก็ถูกเอาเปรียบเรื่องกลไกทางการตลาด เกษตรกรไม่มีทางแข่งขันได้ เพราะชนบทจะทำอย่างไรแม้ได้โอกาสที่จะผลิตแต่เกษตรกรเล็กๆ ก็จะเกิดปัญหาขึ้นเพราะเขาผลิตไม่เยอะ มันเป็นวิกฤตเขายังไม่ได้เข้าใจถึงการผลิต การจะเกิดขึ้นได้ต้องรวมกลุ่มกัน ภายใต้ระบบเราต้องมีระบบสหกรณ์ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดขึ้น เมืองไทยขาดคือความเท่าเทียมกันในระบบ”

[2]

ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก แต่ประเทศไทยมีคนอดอยาก 10-19 เปอร์เซ็นต์ ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาที่จริงคือ ‘การขาดอธิปไตยของอาหาร’ เกษตรกรผลิตได้แต่ไม่สามารถเก็บอาหารได้ ไม่สามารถนำเอามาบริโภคได้ มีการกระจุกตัวมาก เพราะมันย้ายไปที่บรรษัทเกษตรทั้งหมด ดังนั้นต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิร่วม ดังนั้นจึงต้องพูดเรื่องสิทธิชุมชน

“ด้านความมั่นคงทางชีวิตของเกษตรกร ความมั่นคงอันเนื่องมาจากการรับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เลี้ยงหมู ปลูกข้าวได้ราคาดีพออย่างเป็นธรรมอย่างเพียงพอ ต้องเข้าถึงอาหารได้ในราคาที่ไม่แพงมากนัก นอกจากนี้เกษตรกรจำเป็นต้องสามารถอยู่ในระบบเกษตรได้ โดยรักษาวิถีชีวิตเกษตรกรได้ แต่สิ่งที่พบเจอคือ เกษตรระบบพันธสัญญาที่เกษตรกรไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการผลิตเพราะอยู่ในบ่วงหนี้ จากระบบพันธสัญญาในบรรษัท

“เกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเกษตรได้ เนื่องจากภาวะหนี้สิน เป็นบ่วงที่ทำให้เรื่องเกษตรยั่งยืนเปลี่ยนไปเป็นบ่วงบาศพิฆาตเกษตรกรรม เพราะจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อรัฐไปดันจีดีพี เรื่องประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกษตรกรหวังปลดหนี้ ผู้บริโภคต้องการอาหารดีราคาถูก ผู้บริโภคผลิตอาหารเองไม่ได้ต้องซื้ออาหาร ไปหาเกษตรกรมีที่ดินแต่ไม่มีพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ทำให้บรรษัทผู้ผลิตมาก เกษตรกรก็โดดลงในเรื่องนี้ คือการเข้าสู่สัญญาผูกมัดที่ให้กู้เรื่องพืชพันธุ์ จึงเป็นเหตุให้เข้าสู่สัญญาผูกมัด บรรษัทเปลี่ยนเป็นเจ้าหนี้ เกษตรกรจำนนต่อระบบเป็นเกษตรกรเชิงเดี่ยว เช่น กรณีข้าวโพดที่เห็นชัดมากที่สุด”

ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวเสริมว่า นี่เป็นเหตุเกษตรกรจนดักดาน การแก้ไขนี้มีเครื่องมือที่ประเทศไทยใช้คำว่า ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’

“การมองจุดสำคัญที่ภาคการเมืองพยายามลุก ที่ทำการต่างๆ อย่างที่เห็น นักวิชาการต้องทำการวิจัยอย่างอิสระ เชื่อว่าพลังสังคมสามารถขับเคลื่อนสังคม ยุติความชั่วร้าย ชีวิตเขาถึงจะดีขึ้น เป็นพลังทางปัญญา ต้องผนึกกัน ระวังอย่าให้ไปถึงจุดพลิกผันแล้วฆ่ากันตายยับเลย”

[3]

การจัดการเรื่องความมั่นคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ควรให้ความสำคัญ ด้านการจัดการชุมชนที่เห็นได้ชัดของตำบลแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สามารถอยู่อย่างไม่อดยากและพึ่งพิงธรรมชาติอย่างยั่งยืน กนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา เล่าว่า พื้นที่ของตำบลที่มีอยู่ทั้งหมด 15,000 ไร่ หากเอากฎหมายมาจับ แล้วชาวบ้านจะมีพื้นที่ที่เป็นของตัวเองเพียง 1,500 ไร่ ปัจจุบันชาวบ้านอยู่ในโซนสีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่ป่า จึงมีการคบคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่นั้นได้ ด้วยการผสมผสานและเรื่องเชิงเดียวให้อยู่ด้วยกันได้ คือการรวมกลุ่มให้มีข้าวบริโภค

“เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านอยู่อย่างมั่นคงได้ จึงคิดว่าถ้าจะแก้ปัญหาได้ต้องรวมกลุ่มขึ้นมาทำในกลุ่มเล็กๆ เป็นคาถาในการจะแก้ปัญหาคือ การรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาการเอาเปรียบเรื่องข้าว เช่น รวมกลุ่มกันไปซื้อ เป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องก่อน การรวมตัวที่เราจะยกระบบที่เข้ามาทำคือ ระบบสหกรณ์ และไปขยับเรื่องต่างๆ ในสังคม พอคนเยอะขึ้นกลายเป็นคณะกรรมการระหว่างเครือข่ายขึ้นสู่ระบบสหกรณ์ที่แม่ทา ซึ่งเป็นสหกรณ์จริงๆ และขยับเรื่องต่างๆ ในชุมชน ขยับโครงสร้างต่างๆ ทั้งตำบล

“ระบบท้องถิ่นแม่ทาเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เราไม่ได้ท้าทายอำนาจรัฐ แต่อยากจะจัดการตัวเองดู มีป่าอนุรักษ์ห้ามชาวบ้านเข้าไปใช้ การจะเข้าไปใช้ป่าจะต้องขออนุญาต พยายามรักษาไว้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร แบ่งสันปันส่วนโดยมีระบบเกษตรที่สมดุล องค์ความรู้ ทำอย่างไรที่ 6 ไร่ต่อครอบครัวจะพอเพียง เมื่อจัดการตรงนี้ได้จะไม่มีการปลูกข้าวโพดซึ่งสำเร็จ ป้องกันข้าวโพดอาหารสัตว์ที่ต้องใช้พื้นที่ 50 ไร่ เพราะเรามีเพียง 6 ไร่เท่านั้นวางระบบเอาตัวพื้นที่ตั้ง ให้ชาวบ้านจัดโซนในการจัดการ เขาควรจะจัดการตัวเองอย่างไร จัดระบบตัวเองอย่างไร แบ่งเรื่องป่า กันพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย ไร่ และสวน มีการแบ่งสันปันส่วนเพื่อให้มีอาหารพอเพียง”

กนกศักดิ์ บอกเล่าประสบการณ์ตรงที่เห็นด้วยตาและสามารถกินได้ด้วยปากว่า เมื่อทำอย่างนี้แล้ว ก็จะมีปูในนา หน่อไม้ ตัวหนอนหายากกลายเป็นสินค้าที่หาได้ มันได้มาจากการไม่มีสารเคมีมีพื้นที่ป่าสมบูรณ์

“ถ้าเรายังรักษาระบบดีจะทำให้ชุมชนอยู่ได้ มันมีประโยชน์ ที่อื่นเกิดปัญหาเราก็ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ วันนี้มีความมั่นคงทางด้านอาหาร นอกจากนี้แล้วที่แม่ทายังได้มีการส่งเสริมให้เด็กเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในด้านการตลาด ซึ่งถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านครอบครัว ให้เด็กๆ ในตำบลได้กลับมาทำงานที่บ้าน เรียกว่า ‘ทายาทเทวดา’ คือการดึงเด็กทายาทเทวดา กลับสู่บ้านเกิด เพื่อมาทำงานเชื่อมต่อกับผู้บริโภคโดยตรง เข้ามาเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร อาชีพ และยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านครอบครัวอีกด้วย”

..........


จากการจัดการตัวเองของชุมชนแม่ทานั้น ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เราอยากเห็นชุมชนจัดการตัวเอง ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับสิทธิก็จะไปด้วยกัน สิทธิท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องการต่อสู้เพื่อรักษาอาหารท้องถิ่น ความมั่นคงทางอาหารถ้าประเทศไทยไม่สามารถขยายพื้นที่ได้จะทำอย่างไร จะต้องคิดระบบการผลิตที่ไม่สามารถขยายพื้นที่ได้ ถ้าดูตัวอย่างแม่ทา ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหาร เรื่องการจัดการจึงสามารถทำเองได้ทุกอย่าง

>>>>>>>>>>>

……….

เรื่อง : ศูนย์สื่อสารเพื่อสังคม
ภาพ : ทีมภาพ CLICK


กำลังโหลดความคิดเห็น