โฆษกรัฐบาล เผย ผู้นำพม่าแย้มให้สัมปทานปิโตรเลียม เอ็ม3 แถวย่างกุ้ง ระบุ “ยิ่งลักษณ์” ขอบคุณ “เต็งเส่ง” เปิดชายแดน ปล่อยนักโทษไทย ยันพร้อมผลักดันท่าเรือทวาย พร้อมเป็นกำลังใจให้ “ซูจี” ชนะเลือกตั้ง เจ้าตัวหวังให้สร้างสัมพันธ์ทุกชาติ ชมไทยมีผู้หญิงเล่นการเมืองถึง 40 คน
วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศ ลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 4 ว่า ที่ประชุมได้กรอบข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับผู้นำประเทศถึงการพัฒนาในภูมิภาคระยะ 10 ปีข้างหน้า (2012-2022) โดยหยิบยกประเด็นอุปสรรคและความเสี่ยงในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย 1.การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 2.ความพอเพียงทางพลังงาน 3.ความมั่นคงทางอาหาร 4. ความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติ 5.ระบบโลจิสติกส์ 6.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ ได้มีการหารือระดับทวิภาคีกับผู้นำเมียนมาร์ โดยมีความเป็นไปได้สูง ที่จะให้ไทยได้รับสัมปทานปิโตรเลียมที่แหล่ง M3 ทางตอนใต้ของเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน
นางฐิติมา กล่าวว่า สำหรับการหารือระหว่าง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายเต็งเส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวขอบคุณที่ทางเมียนมาร์ได้เปิดด่านแม่สอด ความร่วมมือการค้าชายแดน และปล่อยนักโทษคนไทย จำนวน 8 คน ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 84 พรรษา นอกจากนี้ ทางเมียนมาร์ยังขอให้ไทยซ่อมแซมตอม่อสะพานไทย-เมียวดี ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ส่วนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศไทยจะผลักดันให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และหวังว่า ทางเมียนมาร์จะเปิดด่านชายแดนที่พุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี และทั้งสองฝ่ายยังตกลงช่วยดูแลป้องกันไม่ให้มีการขนส่งสินค้าเถื่อนตามแนวชายแดนด้วย
โฆษกรัฐบาลยังได้เปิดเผยถึงการเข้าพบ นางออง ซาน ซูจี ว่า นางออง ซาน ซูจี ได้บอกต่อนายกรัฐมนตรีไทย ว่า อยากเข้าไปบริหารประเทศ หวังว่า จะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ขึ้นกับการตัดสินของประชาชน ซึ่งนายกฯ ได้กล่าวว่า ขอเป็นกำลังใจให้ชนะการเลือกตั้ง โดย นางออง ซาน ซูจี ได้เปิดเผยมุมทางการเมืองในฐานะผู้นำพรรค NLD ว่า ตนขอเอาความเห็นของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทำประโยชน์ให้ประชาชน ร่วมมือกับประชาชน ทำความสุขของประชาชนมาให้เกิดความชัดเจน และมีนโยบายที่จะสร้างความปรองดองภายในประเทศ โดยตนก็เอาคนหลายเผ่าพันธุ์มาร่วมอุดมการณ์ด้วย และยังมีมุมมองต่อประเทศเพื่อนบ้าน ว่า ขอให้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ โดยเน้นย้ำคำพูดที่ว่า “ความมั่งคั่งของเมียนมาร์ก็เป็นความมั่งคั่งของไทยเช่นเดียวกัน ต้องการให้กลุ่มภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีความเจริญทั้งทางด้านจริยธรรม สังคม การศึกษา และการเป็นผู้นำในด้านนี้ของเอเชีย” และนาง ออง ซาน ซูจี กล่าวทิ้งท้าย ว่า รู้สึกดีใจที่ประเทศไทยมีผู้นำเป็นผู้หญิง มีโฆษกรัฐบาลเป็นผู้หญิง และมีผู้หญิงที่มีบทบาททางการเมืองมากถึง 40 คน ขณะที่ประเทศเมียนมาร์ มีแค่ 15 คน