xs
xsm
sm
md
lg

“ฮิลลารี” มุ่งสู่พม่า ดันหม่องเปิดประตูคุกปล่อยนักโทษการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ขณะเดินทางออกจากฐานทัพอากาศแอนดรูว์ ในแมรีแลนด์ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. โดยนางคลินตันเดินทางเยือนพม่าในวันนี้ (30 พ.ย.) เพื่อผลักดันการปฏิรูปทางการเมืองในพม่า. --AFP Photo/Saul Loeb. </font></b>

เอเอฟพี - นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางมุ่งหน้ามายังพม่าในวันนี้ (30 พ.ย.) นับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของสหรัฐฯที่เยือนพม่าในรอบกว่าครึ่งศตวรรษ เพื่อผลักดันการปฏิรูปในประเทศที่ปิดตัวเองมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

หลังจากเข้าร่วมการประชุมในเกาหลีใต้ คลินตัน จะเดินทางมุ่งหน้ามายังกรุงเนปิดอ เมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่า ในวันนี้ (30 พ.ย.) พม่าได้สร้างความแปลกใจให้กับบรรดาผู้สังเกตการณ์ด้วยการปฏิรูปหลายประการในช่วงปีที่ผ่านมา รวมทั้งการปล่อยตัวผู้นำฝ่ายค้าน นางอองซาน ซูจี จากการควบคุมตัวในบ้านพัก และสิ้นสุดการปกครองระบอบเผด็จการทหารด้วย

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ประกาศการเดินทางเยือนของคลินตันในระหว่างการเดินทางเยือนประเทศในเอเชีย เมื่อช่วงต้นเดือน และคลินตัน ระบุว่า เธอกำลังมุ่งหน้ามายังพม่า เพราะต้องการประเมินด้วยตนเองว่าพม่าดำเนินการปฏิรูปอย่างจริงจังและจริงใจหรือไม่อย่างไร และเธอยังจะเรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด และให้ยุติความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อย ที่ทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องอพยพจากที่อยู่อาศัย

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯรายหนึ่ง ระบุว่า คลินตันจะไม่ประกาศยุติมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่าในการเดินทางเยือนครั้งนี้ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวต้องได้รับการอนุมัติรับรองจากสภาคองเกรส

ส่วนในวันพฤหัสบดี (1 ธ.ค.) คลินตันจะพบหารือข้อราชการกับประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ก่อนเดินทางไปยังกรุงย่างกุ้งในวันเดียวกันเพื่อพบกับนางอองซานซูจี

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า พม่ากำลังมองหาความหลากหลายในนโยบายต่างประเทศของตัวเอง ขณะที่จีนยังคงเป็นผู้สนับสนุนหลักของรัฐบาลทหารพม่ามาจนถึงรัฐบาลพลเรือนที่มีทหารหนุนหลัง แต่ประชาชนทั่วไปจำนวนมากไม่พอใจกับการปรากฎตัวพร้อมเศรษฐกิจขนาดใหญ่ยักษ์ของจีน

ก่อนที่คลินตันจะเดินทางมาพม่า ผู้บัญชาการกองทัพทหารพม่า เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อยืนยันความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างกัน แม้ว่าประธานาธิบดี เต็งเส่ง จะสร้างความตื่นตะลึงให้กับบรรดาผู้สังเกตการณ์เมื่อเขาน้อมรับกับเสียงฝ่ายค้านและระงับโครงการสร้างเขื่อนที่เป็นผลประโยชน์ของจีน

นางซูซานน์ ดิมัจจิโอ จากสถาบันเอเชียโซไซตี้ ในนิวยอร์ค ระบุว่า การเดินทางเยือนของคลินตันเป็นความพยายามครั้งล่าสุดของสหรัฐที่จะตรวจสอบอิทธิพลของจีน

“ฝ่ายบริหารของรัฐบาลโอบามาตระหนักดีว่าช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นโอกาสดีที่สหรัฐจะช่วยพม่าหลุดพ้นออกจากอำนาจเผด็จการและเข้าสู่ประชาคมโลก” นางดิมัจจิโอ กล่าว

ครั้งหนึ่งพม่าเคยเป็นประเทศที่จัดส่งอาหารไปทั่วภูมิภาคเอเชียและจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 พม่าถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีมาตรฐานด้านการรู้หนังสือ และสุขภาพอนามัยสูงที่สุดในภูมิภาค แต่เวลานี้พม่ากลับถูกจัดไปอยู่ในอันดับเกือบล่างสุดของการจัดอันดับการพัฒนามนุษย์

แม้ว่าพม่าจะส่งออกก๊าซและผลผลิตที่สร้างรายได้อื่นๆ ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ประเทศก็ยังคงอยู่ภายใต้มาตรการการคว่ำบาตรที่เข้มงวดจากสหรัฐและสหภาพยุโรปเช่นกัน

ทางด้านองค์กรนิรโทษกรรมสากลระบุว่า การเดินทางเยือนของคลินตันจะเป็นการวัดความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนเช่นกัน และกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มระบุว่ามีนักโทษการเมืองถูกควบคุมตัวในเรือนจำมากกว่า 1,600 คน แต่พรรค NLD ของนางอองซานซูจี ระบุว่ามีอยู่ราว 500-600 คน

พม่าปล่อยนักโทษเมื่อเดือน ต.ค.ทั้งหมด 6,359 คน แต่กลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในไทยระบุว่ามีนักโทษที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นนักโทษการเมืองได้รับการปล่อยตัวออกมาในคราวเดียวกันนั้นเพียง 241 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น