xs
xsm
sm
md
lg

สันนิบาตอาหรับลงมติ “คว่ำบาตร” ซีเรียครั้งใหญ่บีบ “อัสซาด” หยุดฆ่าพลเรือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สนับสนุนรัฐบาลซีเรียชูแบนเนอร์รูปอดีตประธานาธิบดี ฮาเฟซ อัล-อัสซาด ซึ่งเป็นบิดาของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ระหว่างประท้วงสันนิบาตอาหรับที่สั่งระงับสมาชิกภาพของซีเรีย เมื่อวันศุกร์(25)
เอเอฟพี - รัฐมนตรีต่างประเทศอาหรับ มีมติคว่ำบาตรซีเรียครั้งใหญ่ วานนี้ (27) เพื่อเป็นการลงโทษประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ที่ไม่ยุติการปราบปรามผู้ประท้วง ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่มีรายงานผู้เสียชีวิตในซีเรียเพิ่มอีก 23 ราย วานนี้ (27) สันนิบาตอาหรับซึ่งประกอบด้วย สมาชิก 22 ชาติก็ประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลและธนาคารกลางซีเรีย และสั่งอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลซีเรียในประเทศอาหรับทั้งหมด

มาตรการคว่ำบาตรล่าสุดยังรวมถึงการห้ามเจ้าหน้าที่ซีเรียเดินทางเข้าประเทศอาหรับ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันเวลา ซึ่งจะกำหนดแน่นอนระหว่างการประชุมในสัปดาห์หน้า

สถานีโทรทัศน์ซีเรียเผยแพร่แถลงการณ์ตอบโต้อย่างรุนแรง โดยระบุว่า สิ่งที่สันนิบาตอาหรับกระทำต่อซีเรียซึ่งเป็นชาติสมาชิกนั้น “ไม่เคยมีมาก่อน” ขณะที่ชาวซีเรียหลายร้อยคนก็ชุมนุมในกรุงดามัสกัสเพื่อประท้วงบทลงโทษดังกล่าว

วาลิด มูอัลเล็ม รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศซีเรีย ซึ่งยื่นจดหมายกล่าวโทษสันนิบาตอาหรับว่าจงใจปั่นวิกฤตการเมืองในซีเรียให้เป็น “ปัญหาระหว่างประเทศ” ก็เตรียมจะแถลงข่าวในวันนี้ (28) ด้วย

คำสั่งคว่ำบาตรซึ่งประกาศ ณ กรุงไคโร โดย ชัยค์ ฮามาด บิน ญัสซิม อัล-ทานี นายกรัฐมนตรีกาตาร์ นับเป็นครั้งแรกที่สันนิบาตอาหรับออกบทลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงต่อประเทศในภูมิภาคอาหรับด้วยกัน

“เราหวังว่า (รัฐบาลซีเรีย) จะหยุดสังหารหมู่ประชาชน เพื่อให้บทลงโทษนี้ไม่ถูกบังคับใช้” ชัยค์ ฮามาด กล่าว พร้อมระบุด้วยว่า ซีเรียยังคงส่ง “สัญญาณที่ไม่ดีนัก”

คณะกรรมการความร่วมมือท้องถิ่น (LCC) ซึ่งเป็นเครือข่ายนักเคลื่อนไหวในซีเรีย แสดงความชื่นชมการตัดสินใจของสันนิบาตอาหรับ แต่ก็เตือนว่า กรุงดามัสกัสอาจหาหนทางหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรจนได้

“การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะไม่สร้างความเดือดร้อนต่อรัฐบาลซีเรียเลย หากปราศจากกลยุทธ์ในการตรวจสอบเพื่อให้การคว่ำบาตรถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวด และไม่เปิดช่องให้พวกเขาหลบเลี่ยงได้”

แถลงการณ์จาก แอลซีซี เผยด้วยว่า อิรัก และ เลบานอน ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกับซีเรีย ยังไม่ยอมร่วมหัวจมท้ายกับมาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้

ขณะที่สมาชิกสันนิบาตอาหรับ 19 ชาติโหวตสนับสนุนให้คว่ำบาตรซีเรีย อิรักกลับงดออกเสียงและปฏิเสธที่จะทำตามมติดังกล่าว ส่วนเลบานอนก็ประกาศชัดเจน “ไม่ขอยุ่งเกี่ยว”

ฮอชยาร์ เซบารี รัฐมนตรีต่างประเทศอิรัก แถลงก่อนจะเริ่มการโหวต วานนี้ (27) ว่า “เป็นไปไม่ได้” ที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัฐบาลอัสซาด

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติซีเรียเมื่อปี 2009 ระบุว่า สินค้าจากซีเรียถูกส่งไปขายในภูมิภาคอาหรับถึง 52.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากชาติอาหรับมีเพียง 16.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

อิรัก เป็นชาติที่พึ่งพาสินค้านำเข้าจากซีเรียมากที่สุดถึง 31.4 เปอร์เซ็นต์

นัสเซอร์ จูเดห์ รัฐมนตรีต่างประเทศจอร์แดน ก็อดแสดงความกังวลไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากจอร์แดนจำเป็นต้องขนส่งสินค้าทางบกผ่านซีเรีย

“ผลกระทบจากบทลงโทษที่จะมีต่อโลกอาหรับเอง โดยเฉพาะเพื่อนบ้านของซีเรีย ควรถูกนำมาพิจารณาร่วมด้วย” เขากล่าว

แต่แม้ว่าอิรักและเลบานอน จะไม่ยอมรับ บทลงโทษของสันนิบาตอาหรับก็น่าจะสร้างความสั่นสะเทือนไม่น้อยต่อซีเรีย ซึ่งต้องเผชิญแรงกดดันจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯด้วยอีกทางหนึ่ง

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า มาตรการคว่ำบาตรจะไม่เพียงบั่นทอนความแข็งแกร่งของกรุงดามัสกัส แต่จะทำให้นักธุรกิจรายใหญ่ๆเริ่มเอาใจออกห่างรัฐบาลอัสซาดด้วย

“การคว่ำบาตรจะส่งผลให้ผู้นำซีเรียถูกโดดเดี่ยว” อังกัส แบลร์ นักวิเคราะห์จากธนาคาร เบลโทน ไฟแนนเชียล วาณิชธนกิจในอียิปต์ ระบุ

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ ประเมินว่า เหตุจลาจลในซีเรียซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 3,500 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น