xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: จับตาอนาคตซีเรียหลัง “สันนิบาตอาหรับ-ตะวันตก” รุมคว่ำบาตร บีบ “อัสซาด” สละอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรียซึ่งเป็นผลพวงจากกระแสปฏิวัติในโลกอาหรับยังคงส่อเค้ายืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ เมื่อยอดผู้เสียชีวิตจากการประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มหาอำนาจตะวันตกรวมถึ่งกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างสันนิบาตอาหรับต่างทยอยออกมาตรการคว่ำบาตร เพื่อกดดันให้ประธานาธิบดี อัสซาด ยอมสละอำนาจปกครองกว่า 1 ทศวรรษ และยุติเหตุนองเลือดที่ดำเนินมานานกว่า 8 เดือน
ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาดแห่งซีเรีย
นับตั้งแต่การประท้วงรัฐบาลปะทุขึ้นเมื่อกลางเดือนมีนาคม ประธานาธิบดี อัสซาด ส่งทหารและหน่วยความมั่นคงเข้าประจำการในเมืองต่างๆเพื่อปราบปรามผู้ต่อต้านซึ่งได้แรงบันดาลใจจากกระแส “อาหรับสปริง” ในประเทศอื่นๆ ขณะที่ผู้นำซีเรียยังกล่าวถึงผู้ประท้วงอยู่เสมอว่า เป็นเพียงมุสลิมหัวรุนแรงและกลุ่มติดอาวุธเท่านั้น

ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติประณามการปราบผู้ประท้วงในซีเรีย และ บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ต่อโทรศัพท์สายตรงถึง อัสซาด เพื่อเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงกับพลเรือน ซึ่งแม้ อัสซาด จะตกปากรับคำเป็นอย่างดี แต่เหตุนองเลือดก็ไม่ได้สิ้นสุดลงแต่อย่างใด อีกทั้งสัญญาของผู้นำซีเรียที่ว่าจะปฏิรูปการเมืองในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็ยังเป็นเพียงลมปาก

ล่าสุดมีประชาชนเสียชีวิตด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงซีเรียแล้วไม่ต่ำกว่า 3,500 ราย ตามการประเมินขององค์การสหประชาชาติ

สหรัฐฯและพันธมิตรตะวันตกประกาศคว่ำบาตรกรุงดามัสกัสทั้งในด้านการทูตและการเงิน พร้อมเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติร่วมกดดันด้วยอีกทางหนึ่ง ขณะที่ผู้นำอาหรับบางประเทศเคยเสนอจะให้ที่พักพิงแก่ อัสซาด เพื่อโน้มน้าวให้เขายอมสละอำนาจโดยเร็ว แต่ก็ไม่เป็นผล

สันนิบาตอาหรับยื่นข้อเสนอให้อัสซาดถอนทหารออกจากเมืองที่มีการชุมนุมประท้วง ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และตั้งโต๊ะเจรจากับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เพื่อให้ความขัดแย้งยุติลงอย่างสันติ ซึ่งรัฐบาลซีเรียก็ระบุจะทำตามข้อตกลงนั้น ทว่าสภาฝ่ายต่อต้านรัฐบาลปฏิเสธที่จะเจรจาด้วย โดยระบุว่า อัสซาดเพียงต้องการซื้อเวลา และข้อเสนอเจรจารวมถึงคำสัญญาต่างๆก็เป็นเพียงการเสแสร้งเท่านั้น

วันที่ 12 พฤศจิกายน สันนิบาตอาหรับประกาศระงับสมาชิกภาพของซีเรีย เพื่อลงโทษที่กรุงดามัสกัสไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพ โดยแถลงการณ์ซึ่งอ่านโดย ชัยค์ ฮามาด บิน ญัสเซ็ม อัล-ตานี นายกรัฐมนตรีกาตาร์ ระบุว่า สันนิบาตอาหรับจะระงับหน้าที่ของผู้แทนซีเรียในการประชุมต่างๆ และให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งคำสั่งดังกล่าวจะมีผลต่อเนื่องจนกว่าแผนคลี่คลายวิกฤตของสันนิบาตอาหรับซึ่งซีเรียยอมรับเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน จะถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

หลังมีประกาศระงับสมาชิกภาพของซีเรีย ประธานาธิบดี อัสซาด ก็ให้สัมภาษณ์ตอบโต้ผ่านหนังสือพิมพ์ ซันเดย์ ไทม์ส ของอังกฤษ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนว่า จะไม่ยอมก้มหัวให้ต่างชาติ และขอสู้จนตัวตายหากตะวันตกใช้ทหารเข้าแทรกแซง นอกจากนี้ยังกล่าวหาสันนิบาตอาหรับว่า จงใจสร้างบริบทให้ต่างชาตินำทหารเข้าแทรกแซงกิจการภายในของซีเรีย ซึ่งจะทำให้ “แผ่นดินสะเทือน” ไปทั่วทั้งตะวันออกกลาง

เมื่อ อัสซาด ยังยืนกรานเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของนานาชาติ รัฐมนตรีต่างประเทศอาหรับจึงประกาศมติคว่ำบาตรซีเรียครั้งใหญ่ในวันที่ 27 พฤศจิกายน โดยสั่งอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลซีเรียในประเทศอาหรับทั้งหมด และห้ามเจ้าหน้าที่ซีเรียเดินทางเข้าประเทศอาหรับด้วย ซึ่งสถานีโทรทัศน์ซีเรียได้เผยแพร่แถลงการณ์ตอบโต้อย่างรุนแรง โดยระบุว่า สิ่งที่สันนิบาตอาหรับกระทำต่อซีเรียซึ่งเป็นชาติสมาชิกนั้น “ไม่เคยมีมาก่อน” ขณะที่ วาลิด มูอัลเล็ม รัฐมนตรีต่างประเทศซีเรีย ก็ยื่นจดหมายกล่าวโทษสันนิบาตอาหรับว่าจงใจปั่นวิกฤตการเมืองในซีเรียให้เป็น “ปัญหาระหว่างประเทศ”

คณะกรรมการความร่วมมือท้องถิ่น (LCC) ซึ่งเป็นเครือข่ายนักเคลื่อนไหวในซีเรีย กล่าวยกย่องมาตรการขั้นเด็ดขาดของสันนิบาตอาหรับ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่องค์กรดังกล่าวออกบทลงโทษทางเศรษฐกิจขั้นรุนแรงต่อประเทศสมาชิก อย่างไรก็ดี แอลซีซี เตือนว่า กรุงดามัสกัสอาจหาหนทางหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรจนได้ เนื่องจากอิรักและเลบานอนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกับซีเรีย ไม่เห็นด้วยและงดออกเสียงสนับสนุนมติคว่ำบาตรครั้งนี้

“การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะไม่สร้างความเดือดร้อนต่อรัฐบาลซีเรียเลย หากปราศจากกลยุทธ์ในการตรวจสอบเพื่อให้มติดังกล่าวถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวด และไม่เปิดช่องให้พวกเขาหลบเลี่ยงได้” แอลซีซี ระบุ

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติซีเรียเมื่อปี 2009 ระบุว่า ซีเรียส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในภูมิภาคอาหรับถึง 52.5 เปอร์เซ็นต์ โดยอิรักเป็นชาติที่พึ่งพาสินค้านำเข้าจากซีเรียมากที่สุดถึง 31.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ดามัสกัสนำเข้าสินค้าจากชาติอาหรับอื่นๆเพียง 16.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จากสัดส่วนการค้าที่ไม่สมดุลดังกล่าวทำให้ผู้นำอาหรับบางคนยังกังวลถึงผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรที่จะมีต่อกลุ่มประเทศอาหรับเอง

กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนยังมองว่า บทลงโทษของสันนิบาตอาหรับน่าจะสั่นสะเทือนซีเรียได้ไม่น้อย แม้จะปราศจากความร่วมมือจากอิรักและเลบานอนก็ตาม เนื่องจากดามัสกัสยังต้องเผชิญแรงกดดันจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯด้วยอีกทางหนึ่ง ขณะที่นักธุรกิจรายใหญ่ๆซึ่งต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงก็จะทยอยเอาใจออกห่างรัฐบาลอัสซาดไปโดยปริยาย

“การคว่ำบาตรจะส่งผลให้ผู้นำซีเรียถูกโดดเดี่ยว” อังกัส แบลร์ นักวิเคราะห์จาก เบลโทน ไฟแนนเชียล วาณิชธนกิจในอียิปต์ ระบุ

อีกหนึ่งตัวละครสำคัญก็คือ รัสเซีย มหามิตรของดามัสกัสซึ่งเคยใช้สิทธิ์วีโตมติประณามซีเรียโดยคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นมาแล้ว ทั้งยังกล่าวหาตะวันตกว่าพยายามยั่วยุให้การเมืองซีเรียกลายเป็นปัญหาระดับนานาชาติ แต่กลับเพิกเฉยต่อการใช้ความรุนแรงโดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

มอสโกยังประกาศชัดว่าจะคัดค้านมติคว่ำบาตรซีเรียโดยองค์การสหประชาชาติ และจะค้าอาวุธกับดามัสกัสต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีมตินานาชาติสั่งห้าม ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า การที่รัสเซียเลือกถือหางซีเรียอย่างออกหน้าออกตาในภาวะเช่นนี้ ส่อแสดงถึงการปรับนโยบายไปสู่ความแข็งกร้าวมากขึ้น ก่อนที่นายกรัฐมนตรี วลาดิเมียร์ ปูติน จะกลับมาครองบัลลังก์ประธานาธิบดีอีกครั้งในปีหน้าตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์

ที่สุดแล้วความดื้อดึงของรัฐบาลอัสซาดจะต้านทานแรงกดดันจากประเทศเพื่อนบ้านและมหาอำนาจตะวันตกได้นานแค่ไหน และความขัดแย้งภายในซีเรียซึ่งกลายเป็นฉากแห่งการเผชิญหน้าระหว่าง 2 ขั้วอำนาจอย่างสหรัฐฯและรัสเซียจะปิดฉากลงอย่างไร คือประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกจะต้องจับตามองต่อจากนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น