เนื่องในโอกาสมหามงคล 5 ธันวาฯมหาราช ที่ผ่านมา พม่า หรือสหภาพเมียนมาร์ ได้ทำพิธีเปิดด่านฯเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเคยประกาศปิดมานานกว่า 1 ปี ตั้งแต่ 18 ก.ค.53 เป็นต้นมาอีกครั้ง พร้อม ๆ กับปล่อยนักโทษไทยที่ต้องโทษในพม่า เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว-พ่อของแผ่นดิน ด้วย
ทั้งนี้การเปิด-ปิดด่านการค้าของทางการพม่า อาจจะไม่ได้มีนัยมากมายนัก ด้วยตลอดหลายปีที่ผ่านมา พม่า เปิด-ปิดด่านการค้าที่ติดกับชายแดนไทยอยู่บ่อยครั้ง จนดูเหมือนกลายเป็นเรื่องปกติของการค้าชายแดนไทย-พม่า
แต่แท้จริงแล้ว การเปิดด่านฯเมียวดี ที่เคยมีมูลค่าถึงปีละ 29,723.59 ล้านบาท ครานี้อาจมีความหมายมากกว่าคำสั่งเปิด-ปิดด่านฯพม่า หลายครั้งที่ผ่านมา
เพราะนอกจากทางการพม่า จะมอบหมายให้ประธาน คณะกรรมการประสานงานชายแดนไทย-พม่า ระดับท้องถิ่น หรือ TBC เมียวดี-แม่สอด ฝ่ายพม่า ร่วมกับประธาน TBC ฝ่ายไทย ร่วมกันทำพิธีเปิดด่านฯ กลางสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามแม่น้ำเมย ที่เชื่อมระหว่างแม่สอด-เมียวดี เข้าด้วยกันท่ามกลางแขกเหรื่อทั้งฝั่งไทย และพม่า แน่นสะพานฯแล้ว
อูวิ่นมิ้น รัฐมนตรีเศรษฐกิจและการค้าชายแดนพม่า ,อูซอมิ้น ประธานรัฐกะเหรี่ยง ยังได้เดินทางมาร่วมเปิดเขตเศรษฐกิจที่ก่อสร้างมาร่วม 3 ปี ณ บ้านปางกาน จังหวัดเมียวดี ซึ่งฝ่ายพม่าทำไว้รองรับสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 ที่จะสร้างขึ้นอีกแห่งหนึ่ง รองรับการค้า การลงทุน และระบบขนส่งระหว่างประเทศในอนาคต
โดย อูวิ่นมิ้น ยังบอกว่า ในฐานะที่เขาดูแลเรื่องเขตเศรษฐกิจ การค้าชายแดน จึงพิจารณาให้เปิดด่านพรมแดนไทย-พม่า ระหว่างเมียวดี-แม่สอด เพื่อความสัมพันธ์ของสองประเทศ และการค้าชายแดนระหว่างกัน โดยการเปิดด่านพรมแดนครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และมีคุณค่า ระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า และจากนี้ไปอีกไม่นานฝ่ายพม่า จะดำเนินการเส้นทางเชื่อมโยงตะวันออก-ตะวันตก (East - West Economic Corridor ;EWEC) ต่อไป
เป็น EWEC ที่เชื่อมโยงเวียดนาม ลาว ไทย พม่า เข้าด้วยกัน ส่วนหนึ่งของ GMS และสามารถเชื่อมต่อเข้ากับอินเดีย บังกลาเทศ ตามกรอบความร่วมมือ BIMSTEC ตลอดจน สป.จีน (อาเซียน + จีน) ต่อเนื่องไปถึงยุโรปได้ด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากพม่ามีการเลือกตั้งใหญ่ ครบ 1 ปี จาก 7 พ.ย.53 ก็มีความเคลื่อนไหวทั้งภายใน และภายนอก ที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมในพม่าอย่างรวดเร็ว และน่าจับตายิ่ง
โดยเฉพาะท่าทีของสหรัฐอเมริกา ที่ก่อนหน้านี้เคยจับ “พม่า” ขึงพืดต่อเนื่องด้วยข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน และเผด็จการ แต่ล่าสุด ฮิลลารี คลินตัน รมต.ต่างประเทศ ของอเมริกา กลับเดินทางเยือนพม่า เป็นครั้งแรกในรอบครึ่งศตวรรษ
แน่นอน นี่เป็นเกมการเมืองระหว่างมหาอำนาจอเมริกา กับ จีน แต่ก็ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพม่าเช่นกัน
ด้วยพม่า ก็เปิดทางให้ อองซาน ซูจี ตั้งพรรค NLD ขึ้นมาใหม่ เพื่อลงเลือกตั้งซ่อมในอนาคตอันใกล้ รวมถึงการเปิดเจรจา-ลงนามหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยที่เป็นปฏิปักษ์กับทางการพม่ามาก่อนหน้านี้ เช่น กลุ่ม SSA ที่มี พล.ท.เจ้ายอดศึก เป็นผู้นำ และถือเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่ที่สุดในรัฐฉาน รวมไปถึงกลุ่มกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) ที่มีอิทธิพลอยู่แถบชายแดนเมียวดี ไปจนเกือบถึงพรมแดนตรงข้ามกาญจนบุรี เป็นต้น
บรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก มองว่า การที่พม่ากลับมาเปิดด่านถาวรเมียวดี บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า อีกครั้งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เฉพาะหน้ามั่นใจว่าภายใน 3 ปีนับจากนี้มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรแม่สอดจะเพิ่มสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท
แต่อีกนัยหนึ่ง บรรพต มองว่า นี่เป็นสัญญาณการเปิดประเทศมากขึ้น รับกับการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเริ่มขึ้นในปี 2558 รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ในอีก 2 ปีข้างหน้า และการเป็นประธานอาเซียนของพม่า ในปี 2557
“เห็นได้ชัดว่าพม่ากำลังเปิดกว้างเรื่องการ ค้าและการลงทุน หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางไปเยือนเนปิดอว์ พบปะผู้นำรัฐบาลพลเรือนของพม่าอย่างเป็นทางการ ในรอบ 50ปี ก่อนที่จะเดินทางไปหารือร่วมกับอองซาน ซูจี ที่กรุงย่างกุ้ง”นายบรรพต กล่าว
และนี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่จะทำให้จิ๊กซอว์สำคัญเชื่อมต่อตลาดอาเซียน ที่มีผู้บริโภค 584 ล้านคน เข้ากับจีน - อินเดีย - บังกลาเทศ จนกลายเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีประชากรเกือบครึ่งโลกได้ รวมไปถึงจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมโยงไปถึงยุโรปในอนาคต
นั่นหมายถึง อนาคต “แม่สอด” จะไม่ได้เป็นแค่ช่องทางการค้าชายแดนไทย-พม่าเท่านั้น
เพราะที่จริงแล้วด้วยภูมิรัฐศาสตร์ แม่สอด จะเป็นประตูสำคัญระหว่างอันดามัน กับอินโดจีน เป็นศูนย์กลาง เชื่อมอาเซียน - ยุโรป และอาจกลายเป็นเส้นทางสินค้าระหว่างโลกตะวันตก-โลกตะวันออกด้วย
ซึ่งที่ผ่านมา มีความพยายามผลักดันให้มีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 จน ครม.มีมติรับหลักการแล้ว เมื่อ 6 ต.ค.52 ก่อนที่จะวางจุดก่อสร้างกันเมื่อ 24 ก.พ.53 ณ ท้ายบ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอด เนื้อที่กว่า 5 พันไร่ต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคเอกชนไทย กังวลในเวลานี้ คือ ความก้าวหน้าเรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด เพราะพม่าก้าวหน้ากว่ามาก มีการพัฒนาพื้นที่ และเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษก่อนไทยไปแล้ว
ขณะที่เขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอด แม้รัฐบาลชุดที่ผ่านมา จะอนุมัติให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาแล้วก็ตาม
แต่รัฐบาลชุดใหม่ ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ออกมาเท่าใดนัก
และไม่ชัดเจนด้วยว่า ท่ามกลางเกมการเมืองระหว่างมหาอำนาจอเมริกา -จีน ที่กำลังเกิดขึ้นในพม่านั้น ไทย ภายใต้การนำของรัฐบาล ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะวางบทบาทประเทศอย่างไร
“ไทย” จะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่ !?