xs
xsm
sm
md
lg

โจทย์ใหญ่“สยามประชาภิวัฒน์” ต้องให้สังคมเชื่อไม่มีเบื้องหลัง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**การเคลื่อนไหวเรียกร้องบนความเห็นต่างในเรื่องการเมืองไม่เป็นไร เป็นสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญปกครองประเทศรับรอง ทำได้ไม่มีใครว่า เพียงแต่ความคิดนั้นควรตั้งอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง ทั้งในเชิงรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
ที่สำคัญต้องไม่ลืมคำนึงถึงสภาพสังคมแต่ละสังคม ในสังคมต่างๆ ย่อมมีความแตกต่างกัน สังคมไทยก็ย่อมแตกต่างจากสังคมอื่นๆ แม้แต่ในอาเซียนด้วยกันเอง ไม่ต้องไปมองถึงพวกตะวันตก ดังนั้นการจะทำอะไร ก็ต้องดูสิ่งที่เป็นรากเหง้าของสังคมไทยด้วย
ซึ่งเชื่อว่า “กลุ่มนิติราษฏร์” และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) คงเคลื่อนไหวกันอีกหลายยก เพื่อเลี้ยงกระแสเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีใครรู้ว่า เจตนารมณ์และเบื้องหลังที่แท้จริงของพวกนี้ต้องการอะไรกันแน่ ?
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ไม่เห็นด้วยกับคนกลุ่มนี้ แล้วกำลังคิดว่า ทำไมถึงไม่มีใครออกมาให้ความเห็นในทางข้อกฎหมาย –ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อถ่วงดุลและคอยกระตุก “กลุ่มนิติราษฏร์” ไม่ให้เหิมเกริมมากไปกว่านี้ ภายใต้การเสนอความคิดเห็นอย่างเป็นระบบและจริงจัง เพื่อให้เป็นข้อมูล-ข้อคิดเห็นอีกด้านที่แตกต่างจากนิติราษฏร์
เพื่อให้สังคมพอมีความหวังขึ้นมาได้บ้างว่า จะมีใครขึ้นมาเป็น “ผู้นำความคิด”ที่ให้ความรู้และปัญญากับประชาชนว่าสิ่งที่ถูกที่ควรในเรื่องสถาบันและการแก้ไขมาตรา 112 ควรเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ซีกสภาสูงก็มี “กลุ่มสยามสามัคคี” ที่มีตัวหลักเช่น พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา แต่ในฝ่ายนักวิชาการ ดูจะไม่ค่อยตื่นตัวกันเท่าที่ควร ล่าสุดมีการเปิดตัวการรวมกลุ่มกันของนักวิชาการ-คณาจารย์ในชื่อ
**“กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์”
พิจารณาแล้ว การก่อตั้งขึ้นมา รวมถึงการเปิดตัวเสนอความคิดเห็นทางข้อกฎหมาย –วิชาการ-และชุดความคิดทางการเมือง มาคนละทางกับนิติราษฏร์ อย่างเห็นได้ชัด คงพูดไม่ผิดว่า อาจเป็นมวยถูกคู่ ก็ว่าได้ในการเจอกันของ “สยามประชาภิวัฒน์ กับนิติราษฏร์”
**แม้ “สยามประชาภิวัฒน์” จะมีกลุ่มคณาจารย์มาเป็นแนวร่วมมากกว่า “นิติราษฏร์” แต่ก็ยังเพิ่งตั้งขึ้น แนวร่วมมวลชนยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับ “นิติราษฎร์” ที่เป็นขวัญใจคนเสื้อแดง และเป็นที่ชื่นชมของนักการเมืองในพรรคเพื่อไทย
แม้แกนนำผู้ก่อตั้ง “สยามประชาภิวัฒน์” จะยืนกรานว่าไม่ได้รวมตัวกันเพื่อปะทะความคิดกับ “นิติราษฏร์” ก็ตาม แต่เมื่อดูช่วงจังหวะเวลาการเปิดตัว ที่เลือกเอา ศุกร์ที่ 13 มกราคม เป็นวันเปิดตัว โดยใช้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ที่มี ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีนิด้า เป็นผู้บริหาร เป็นสถานที่เปิดตัว
และเลือกวันก่อนหน้าที่ “นิติราษฎร์” จะจัดงานใหญ่รณรงค์ล้ม มาตรา 112 เพียงสองวัน ในวันที่ 15 ม.ค.ซึ่ง “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” แสดงจุดยืนชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับเรื่องการแก้ไข มาตรา 112 และเห็นว่าควรดำรงเอาไว้เฉกเช่นปัจจุบัน ที่ก็มีการบังคับใช้มาหลายสิบปีแล้ว
รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันแตกต่างไปจาก “กลุ่มนิติราษฏร์” ที่มีจุดยืนชัดเจนคือ ให้ล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมถึงล้มล้างผลพวงจากการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
**เมื่อ “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” ออกตัวปาดหน้า “กลุ่มนักกฎหมายสีแดง”กระทันหันเช่นนี้ จึงน่าจะแสดงให้เห็นแล้วว่า “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” ต้องการเสนอชุดความคิดทางข้อกฎหมาย และจุดยืนด้านต่างๆ ซึ่งแตกต่างกับ “นิติราษฏร์” แน่นอน แต่ประชาชนจะเลือกเชื่อ หรือสนับสนุนความคิดของฝั่งไหน ก็เป็นเรื่องของประชาชนจะตัดสินกันเอาเอง
ทั้งนี้ “สยามประชาภิวัฒน์” ประกอบด้วยนักวิชาการ-คณะอาจารย์รวม 26 คน จาก 8 สถาบันอุดมศึกษาเช่น นิด้า--จุฬาฯ-มหาวิทยาลัยรังสิต-มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช-ธรรมศาสตร์ เป็นต้น ตกลงมารวมตัวกันภายใต้จุดยืนหลัก 5 ประการ ที่ทำให้เกิด “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” รวมถึงการบอกว่าต้องการเห็นอะไรในสังคมดังนี้
1. การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีคุณค่ายิ่งต่อสังคมและระบบการเมืองไทย 2. การสนับสนุนการปฏิรูประบอบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย เพื่อขจัดอิทธิพลของเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน 3. การขจัดวิกฤติเสรีภาพที่มีการใช้สิทธิและเสรีภาพเกินขอบเขต จนนำไปสู่สังคมแบบอนาธิปไตย
4. การขจัดวิกฤติความคิด และความเชื่อที่ว่า สูตรสำเร็จของประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งเท่านั้น และ 5. การขจัดวิกฤติในด้านศีลธรรมและจริยธรรม ที่ก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจ และการทุจริตคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง
แกนนำหลักก็เช่น บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และอดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส.- จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 , คมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 50
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคน เช่น นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน-รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ- ผศ.ทวี สุรฤทธิ์กุล- รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คงสม- ผศ.ปรัชญ์ ปราบปรปักษ์-รศ.ดร.วิจิตรา ฟุ้งลัดดา วิเชียรชม- ผศ.ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์- ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร- ผศ.ดร.วีรวัฒน์ จันทโชติ- รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย- อ.นิดาวรรณ เพราะสุนทร- อ.ศาสตรา โตอ่อน- ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล-รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ
ซึ่งวันแถลงเปิดตัว สยามประชาภิวัฒน์ ได้ย้ำไว้ชัดเจนในเรื่องมาตรา 112 ผ่านการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “สยามประชาภิวัฒน์”ว่า สมควรต้องคงหลักการดังกล่าวไว้อยู่ เพราะสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ปัญหาของประชาธิปไตย หรือเป็นเรื่องล้าหลัง ที่ผ่านมาสถาบันฯเองก็ปรับตัวโดยการลดบทบาทสถาบันฯ อยู่แล้ว
สิ่งสำคัญต่อจากนี้ก็คือ การเคลื่อนไหว –เสนอพื้นที่ความคิด และข้อกฎหมายต่างๆของ “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” จะทำอย่างไรให้สังคมรับรู้และวิพากษ์วิจารณ์ ภายใต้สิ่งที่แกนนำของกลุ่มบอกว่า ต้องการเสนอความคิดที่ว่าการปฏิรูปประเทศ และการทำให้สังคมดีขึ้น ต้องเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในลักษณะประชาภิวัฒน์ ไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งคิด และทำเพียงไม่กี่คน ซึ่งก็คือพวกนักการเมือง
“สยามประชาภิวัฒน์”จะทำอย่างไรให้สังคมเข้าใจและสนับสนุน เป็นการบ้านข้อใหญ่
สำคัญกว่านั้นก็คือ “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” เองก็คงต้องทำให้สังคมเชื่อให้ได้ว่า นักวิชาการที่มารวมกลุ่มกันทุกคนเคลื่อนไหวด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีการเมือง พรรคการเมือง สีเสื้ออยู่เบื้องหลัง ไม่ได้มีเป้าหมายก่อตัวขึ้นมาเพื่อผล “การเมือง” อย่างใดอย่างหนึ่ง
แม้บางคนอาจจะเคยทำงานมีตำแหน่งหลัง 19 ก.ย. 49 อย่างเช่น ตัวนายบรรเจิด ที่เป็นอดีตคตส. หรือ นายจรัส-คมสัน ที่เป็นอดีตผู้มีส่วนร่วมในการยกร่างรธน.ปี 50 ในฐานะอดีต ส.ส.ร. และอดีตกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
**แต่มาวันนี้ทั้งหมดมาเคลื่อนไหวจัดตั้ง “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” คนในกลุ่มก็ต้องทำให้สังคมเห็นว่า “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” เคลื่อนไหวอะไรบนหลักวิชาการ และความถูกต้องทางการเมือง ไม่ได้เอนเอียงเข้าข้างการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
การเสนอความคิดเห็นอะไรออกไป ต้องมีหลักการเหตุผลรองรับทางข้อกฎหมายข้อเท็จจริง ไม่ใช่ตะแบงไปเรื่อย และสุดขั้วแดงจัด แบบ “นิติราษฏร์” และต้องทำงานอย่างเป็นระบบ จริงจัง มีการให้ความรู้ข้อคิดเห็นกับประชาชนผ่านพื้นที่ต่างๆ เช่นการจัดสัมมนาวิชาการ ไม่ใช่เฉพาะกิจตั้งกลุ่มกันสนุกๆ
ถ้าทำได้ “สยามประชาภิวัฒน์” ก็จะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มนักวิชาการ ที่รวมตัวกันแล้ว พอจะเป็นที่พึ่งพาของสังคมได้ ส่วนหากจะต้องปะทะกับ “นิติราษฏร์” ก็เป็นการชนกันด้วย ข้อกฎหมาย-ข้อมูลวิชาการล้วนๆ
**แล้วผลออกมาจะเป็นอย่างไร ประชาชนจะตัดสินเองว่า จะเชื่อฝ่ายไหน “สยามประชาภิวัฒน์”หรือ “นิติราษฎร์”
กำลังโหลดความคิดเห็น