xs
xsm
sm
md
lg

โจทย์ใหญ่ “สยามประชาภิวัฒน์” ต้องให้สังคมเชื่อไม่มีเบื้องหลัง!

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด


การเคลื่อนไหวเรียกร้องบนความเห็นต่างในเรื่องการเมืองไม่เป็นไร เป็นสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญปกครองประเทศรับรอง ทำได้ไม่มีใครว่า เพียงแต่ความคิดนั้นควรตั้งอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง ทั้งในเชิงรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์

ที่สำคัญต้องไม่ลืมคำนึงถึงสภาพสังคมแต่ละสังคม ในสังคมต่างๆ ย่อมมีความแตกต่างกัน สังคมไทยก็ย่อมแตกต่างจากสังคมอื่นๆ แม้แต่ในอาเซียนด้วยกันเอง ไม่ต้องไปมองถึงพวกตะวันตก ดังนั้นการจะทำอะไร ก็ต้องดูสิ่งที่เป็นรากเหง้าของสังคมไทยด้วย

ซึ่งเชื่อว่า “กลุ่มนิติราษฎร์” และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) คงเคลื่อนไหวกันอีกหลายยก เพื่อเลี้ยงกระแสเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีใครรู้ว่า เจตนารมณ์และเบื้องหลังที่แท้จริงของพวกนี้ต้องการอะไรกันแน่?

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ไม่เห็นด้วยกับคนกลุ่มนี้ แล้วกำลังคิดว่าทำไมถึงไม่มีใครออกมาให้ความเห็นในทางข้อกฎหมาย-ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อถ่วงดุลและคอยกระตุก “กลุ่มนิติราษฎร์” ไม่ให้เหิมเกริมมากไปกว่านี้ ภายใต้การเสนอความคิดเห็นอย่างเป็นระบบและจริงจัง เพื่อให้เป็นข้อมูล-ข้อคิดเห็นอีกด้านที่แตกต่างจากนิติราษฎร์

เพื่อให้สังคมพอมีความหวังขึ้นมาได้บ้างว่าจะมีใครขึ้นมาเป็น “ผู้นำความคิด” ที่ให้ความรู้และปัญญากับประชาชนว่าสิ่งที่ถูกที่ควรในเรื่องสถาบันและการแก้ไขมาตรา 112 ควรเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ซีกสภาสูงก็มี “กลุ่มสยามสามัคคี” ที่มีตัวหลักเช่น พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา แต่ในฝ่ายนักวิชาการดูจะไม่ค่อยตื่นตัวกันเท่าที่ควร ล่าสุดมีการเปิดตัวการรวมกลุ่มกันของนักวิชาการ-คณาจารย์ในชื่อ

“กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์”

พิจารณาแล้ว การก่อตั้งขึ้นมารวมถึงการเปิดตัวเสนอความคิดเห็นทางข้อกฎหมาย-วิชาการ-และชุดความคิดทางการเมือง มาคนละทางกับนิติราษฎร์อย่างเห็นได้ชัด คงพูดไม่ผิดว่า อาจเป็นมวยถูกคู่ก็ว่าได้ในการเจอกันของ “สยามประชาภิวัฒน์ กับนิติราษฎร์”

แม้ “สยามประชาภิวัฒน์” จะมีกลุ่มคณาจารย์มาเป็นแนวร่วมมากกว่า “นิติราษฎร์” แต่ก็ยังเพิ่งตั้งขึ้น แนวร่วมมวลชนยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับ “นิติราษฎร์” ที่เป็นขวัญใจคนเสื้อแดงและเป็นที่ชื่นชมของนักการเมืองในพรรคเพื่อไทย

แม้แกนนำผู้ก่อตั้ง “สยามประชาภิวัฒน์” จะยืนกรานว่าไม่ได้รวมตัวกันเพื่อปะทะความคิดกับ “นิติราษฎร์” ก็ตาม แต่เมื่อดูช่วงจังหวะเวลาการเปิดตัว ที่เลือกเอาศุกร์ที่ 13 มกราคม เป็นวันเปิดตัวโดยใช้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ที่มี ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีนิด้า เป็นผู้บริหาร เป็นสถานที่เปิดตัว

และเลือกวันก่อนหน้าที่ “นิติราษฎร์” จะจัดงานใหญ่รณรงค์ล้มมาตรา 112 เพียงสองวันในวันที่ 15 ม.ค. ซึ่ง “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 และเห็นว่าควรดำรงเอาไว้เฉกเช่นปัจจุบันที่ก็มีการบังคับใช้มาหลายสิบปีแล้ว

รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันแตกต่างไปจาก “กลุ่มนิติราษฎร์” ที่มีจุดยืนชัดเจนคือให้ล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมถึงล้มล้างผลพวงจากการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

เมื่อ “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” ออกตัวปาดหน้า “กลุ่มนักกฎหมายสีแดง” กะทันหันเช่นนี้ จึงน่าจะแสดงให้เห็นแล้วว่า “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” ต้องการเสนอชุดความคิดทางข้อกฎหมายและจุดยืนด้านต่างๆ ซึ่งแตกต่างกับ “นิติราษฎร์” แน่นอน แต่ประชาชนจะเลือกเชื่อหรือสนับสนุนความคิดของฝั่งไหน ก็เป็นเรื่องของประชาชนจะตัดสินกันเอาเอง

ทั้งนี้ “สยามประชาภิวัฒน์” ประกอบด้วยนักวิชาการ-คณะอาจารย์รวม 26 คนจาก 8 สถาบันอุดมศึกษา เช่น นิด้า-จุฬาฯ-มหาวิทยาลัยรังสิต-มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช-ธรรมศาสตร์ เป็นต้น ตกลงมารวมตัวกันภายใต้จุดยืนหลัก 5 ประการที่ทำให้เกิด “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” รวมถึงการบอกว่าต้องการเห็นอะไรในสังคมดังนี้

1.การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีคุณค่ายิ่งต่อสังคมและระบบการเมืองไทย 2.การสนับสนุนการปฏิรูประบอบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย เพื่อขจัดอิทธิพลของเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน 3.การขจัดวิกฤตเสรีภาพที่มีการใช้สิทธิและเสรีภาพเกินขอบเขตจนนำไปสู่สังคมแบบอนาธิปไตย

4.การขจัดวิกฤตความคิด และความเชื่อที่ว่า สูตรสำเร็จของประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งเท่านั้น และ5.การขจัดวิกฤตในด้านศีลธรรมและจริยธรรม ที่ก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจและการทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวาง

แกนนำหลักก็เช่น บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และอดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550, คมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 50

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคน เช่น นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน-รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ-ผศ.ทวี สุรฤทธิ์กุล- รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คงสม- ผศ.ปรัชญ์ ปราบปรปักษ์-รศ.ดร.วิจิตรา ฟุ้งลัดดา วิเชียรชม-ผศ.ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์-ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร-ผศ.ดร.วีรวัฒน์ จันทโชติ- รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย- อ.นิดาวรรณ เพราะสุนทร- อ.ศาสตรา โตอ่อน-ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล-รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ

ซึ่งวันแถลงเปิดตัว สยามประชาภิวัฒน์ได้ย้ำไว้ชัดเจนในเรื่องมาตรา 112 ผ่านการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “สยามประชาภิวัฒน์” ว่าสมควรต้องคงหลักการดังกล่าวไว้อยู่ เพราะสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ปัญหาของประชาธิปไตยหรือเป็นเรื่องล้าหลัง ที่ผ่านมาสถาบันเองก็ปรับตัวโดยการลดบทบาทสถาบันอยู่แล้ว

สิ่งสำคัญต่อจากนี้ก็คือ การเคลื่อนไหว-เสนอพื้นที่ความคิดและข้อกฎหมายต่างๆ ของ “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” จะทำอย่างไรให้สังคมรับรู้และวิพากษ์วิจารณ์ ภายใต้สิ่งที่แกนนำของกลุ่มบอกว่าต้องการเสนอความคิดที่ว่าการปฏิรูปประเทศและการทำให้สังคมดีขึ้น ต้องเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในลักษณะประชาภิวัฒน์ ไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งคิดและทำเพียงไม่กี่คน ซึ่งก็คือพวกนักการเมือง

“สยามประชาภิวัฒน์” จะทำอย่างไรให้สังคมเข้าใจและสนับสนุน เป็นการบ้านข้อใหญ่

สำคัญกว่านั้นก็คือ “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” เองก็คงต้องทำให้สังคมเชื่อให้ได้ว่า นักวิชาการที่มารวมกลุ่มกันทุกคนเคลื่อนไหวด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีการเมือง พรรคการเมือง สีเสื้ออยู่เบื้องหลัง ไม่ได้มีเป้าหมายก่อตัวขึ้นมาเพื่อผล “การเมือง”อย่างใดอย่างหนึ่ง

แม้บางคนอาจจะเคยทำงานมีตำแหน่งหลัง 19 ก.ย.49 อย่างเช่น ตัวนายบรรเจิดที่เป็นอดีตคตส.หรือนายจรัส-คมสันที่เป็นอดีตผู้มีส่วนร่วมในการยกร่าง รธน.ปี 50 ในฐานะอดีต ส.ส.ร.และอดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ

แต่มาวันนี้ทั้งหมดมาเคลื่อนไหวจัดตั้ง “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” คนในกลุ่มก็ต้องทำให้สังคมเห็นว่า “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” เคลื่อนไหวอะไรบนหลักวิชาการและความถูกต้องทางการเมือง ไม่ได้เอนเอียงเข้าข้างการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

การเสนอความคิดเห็นอะไรออกไปต้องมีหลักการเหตุผลรองรับทางข้อกฎหมายข้อเท็จจริง ไม่ใช่ตะแบงไปเรื่อยและสุดขั้วแดงจัดแบบ “นิติราษฎร์” และต้องทำงานอย่างเป็นระบบ จริงจัง มีการให้ความรู้ข้อคิดเห็นกับประชาชนผ่านพื้นที่ต่างๆ เช่นการจัดสัมมนาวิชาการ ไม่ใช่เฉพาะกิจตั้งกลุ่มกันสนุกๆ

ถ้าทำได้ “สยามประชาภิวัฒน์” ก็จะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มนักวิชาการที่รวมตัวกันแล้ว พอจะเป็นที่พึ่งพาของสังคมได้ ส่วนหากจะต้องปะทะกับ “นิติราษฎร์” ก็เป็นการชนกันด้วยข้อกฎหมาย-ข้อมูลวิชาการล้วนๆ

แล้วผลออกมาจะเป็นอย่างไร ประชาชนจะตัดสินเองว่าจะเชื่อฝ่ายไหน “สยามประชาภิวัฒน์” หรือ “นิติราษฎร์”
กำลังโหลดความคิดเห็น