xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เส้นแบ่ง”5,000 ศพ กับ 91 ศพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การตบรางวัลแก่แกนนำนปช.ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่สร้างไฟลุกท่วมเมืองกรุงเทพฯ ถูกจัดเป็น “เส้นทางอาชีพใหม่” (เยาวชนไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง) หลายคนเป็น ส.ส. อีกส่วนหนึ่งก็เป็นหน้าห้องรัฐมนตรี เช่น อารี  ไกรนรา หัวหน้าการ์ดนปช. ได้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก  เขยิบฐานะจากตลกคาเฟ่ บนเวทีราชประสงค์ ได้แสดงอำนาจ “ถุงยังชีพ” เป็นผู้ช่วยเลขานุการ รมช.ว่าการกระทรวงมหาดไทย ( นายฐานิสร์  เทียนทอง ) 

เพชรวรรต  วัฒนพงษ์ศิริกุล แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51  เป็นที่ปรึกษา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ชินวัฒน์ หาบุญพาด เคยเป็นนายกสมาคมพิทักษ์ผลประโยชน์ผู้ขับรถแท็กซี่ เป็นที่ปรึกษา รมว.คมนาคม รับเงินเดือนตอบแทนการทำงานเกือบครึ่งแสน

วิเชียรชนินทร์  สินธุไพร แกนนำแดงร้อยเอ็ด น้องชาย ”นิสิต สินธุไพร” เป็นที่ปรึกษา รมช.แรงงาน ( พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก )

นิสิต สินธุไพร  แกนนำคนเสื้อแดง เป็นที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) จนเข้ายึดกิจการตลาดนัดสวนจตุจักร จาก กทม.มาได้

สมหวัง อัสราษี  หรือ “เฮียหวัง” เจ้าของธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้ามิตซูชิตา เครื่องดื่มบำรุงกำลังหมีคอมมานโด เป็นที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ( นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง )

พสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการ นายชัช ชลวร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ลาออกไปแล้ว โดยเป็นที่ทราบกันว่า นายพสิษฐ์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำคลิปลับ ในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งการแอบถ่ายคลิปในห้องประชุมศาลรัฐธรรมนูญ ในช่วงก่อนการตัดสินคดี หลังจากนั้นจึงเดินทางออกไปอยู่ที่ประเทศฮ่องกง ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข

คุณสมบัติเด่นคนของเหล่านี้ก็คือ ต้องมีความภักดีต่อทักษิณ และปากกินของเน่าไว้ด้วย

นี่คือ ลักษณะงานที่ทำเงินในเมืองไทย แต่สำหรับในต่างประเทศแล้ว งาน (บริสุทธื์) ที่เนื้อตัวไม่สะอาด แต่ทำเงิน ได้แก่
1. พนง.ทำความสะอาดสถานที่เกิดเหตุ ทำรายได้ปีละ ประมาณ 75,000 ดอลลาร์ หรือ 2,325,000 บาท
2. ช่างประปา ระหว่าง 35,000 -40,000 ดอลลาร์ ต่อปี หรือประมาณ 1,085,000-1,240,000 บาท
3. เจ้าหน้าที่แต่งศพ มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 41,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 1,271,000 บาท
4. คนงานเหมือง มีรายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 64,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,984,000 บาท
5. คนงานลอกท่อ มีรายได้ต่อปีกว่า 60,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,860,000 บาท
6.ชาวประมงจับปู มีรายได้ประมาณ 60,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,860,000 บาท
7. พนักงานทำความสะอาดสุขาเคลื่อนที่ สร้างรายได้ปีละ 50,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,550,000 บาท
8. คนงานขุดเจาะน้ำมัน มีรายได้ต่อปีกว่า 40,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,240,000 บาท
9.หมอสวนทวาร มีรายได้เฉลี่ยต่อปี ระหว่าง 250,000-400,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 7,750,000-12,400,000 บาท
10. คนเก็บขยะ มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 43,000 ดอลลาร์หรือประมาณ 1,333,000 บาทต่อปี

นี่คือ 10 อาชีพบริสุทธิ์ ที่ช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันให้คนอเมริกัน

แต่อาชีพที่ไม่บริสุทธิ์ และสร้างปัญหาให้กับสังคม จนกระทั่งมีคนตาย ในเมืองไทย ก็คือ อาชีพแกนนำนปช.

แม้กระทั่งคนเสียชีวิต ยังได้รับเงินถึง 4.75 ล้านบาท หากเข้าร่วมกับ นปช.

แต่หากทำหน้าที่สอนหนังสือในภาคใต้ แล้วเสียชีวิตจากการก่อการร้าย เช่น ครูจูหลิง ไม่อยู่ในข่าย

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรียิ่ง(อัป)ลักษณ์ เห็นชอบในหลักการพิจารณาข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมให้การเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อ และผู้เสียหาย ตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หรือความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบ ได้รับความเสียหายจากความขัดแย้งทางการเมืองให้เหมาะสม เป็นธรรม เป็นไปตามหลักนิติธรรม เสมอภาค นำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ตามที่คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) เสนอ

“ การชดเชย เยียวยา จะครอบคลุมทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงตั้งแต่ช่วงก่อนการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 เป็นต้นมา จนกระทั่งเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค. 53 โดยครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชน และภาคเอกชน ตลอดจนครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบ”

ปัญหาคือ ผู้เสียชีวิตทั้ง ทหาร ตำรวจ ครู พลเรือน ในภาคใต้ รวมทั้งผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 และพฤษภาฯทมิฬ 35 การฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ เหตุการณ์เสียชีวิตที่มัสยิดกรือเซะ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นต้น...ไม่อยู่ข่ายความรับผิดชอบ

กำหนดกรอบอัตราเงินช่วยเหลือ เยียวยาความเสียหายของรัฐบาลยิ่ง(อัป)ลักษณ์ ได้แก่
1.เงินชดเชยกรณีการเสียชีวิต 4.5 ล้านบาท
2.เงินช่วยเหลือสำหรับค่าปลงศพ 2.5 แสนบาท/ราย
3.เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ อัตราเท่ากับเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (4.5 ล้านบาท/ราย)
4.เงินชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ แบ่งเป็น 4.1 สูญเสียอวัยวะสำคัญ อัตราร้อยละ 80 ของเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (3.6 ล้านบาท/ราย) 4.2 สูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ อัตราร้อยละ 40 ของเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (1.8 ล้านบาท/ราย)

5.เงินชดเชยกรณีได้รับบาดเจ็บไม่สูญเสียอวัยวะ แบ่งเป็น 5.1 ได้รับบาดเจ็บสาหัส อัตราร้อยละ 25 ของเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (1,125,000 บาท/ราย) 5.2 ได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส อัตราร้อยละ 15 ของเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (675,000 บาท/ราย) 5.3 ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย อัตราร้อยละ 5 ของเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (225,000 บาท/ราย)

6.เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล แบ่งเป็น 6.1 กรณีเสียชีวิต โดยได้เข้ารับการรักษาก่อนเสียชีวิต อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท/ราย 6.2 กรณีทุพพลภาพและสูญเสียอวัยวะสำคัญ อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท/ราย และเมื่อจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องจาก อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท/ราย/ปี 6.3 กรณีสูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000บาท/ราย และเมื่อจำเป็นต้องเข้ารับการรักษ่ต่อเนื่อง อัตราเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย/ปี 6.4 กรณีได้รับบาดเจ็บสาหัส อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย/ปี 6.5 กรณีได้รับบาดเจ็บ ไม่สาหัส อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท/ราย/ปี 6.6 กรณีได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท/ราย/ปี

7. เงินชดเชยเยียวยาผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง แบ่งเป็น 7.1กรณีศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ให้ได้รับเงินชดเชยในอัตราเท่ากับจำนวนระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัว โดยคำนวนตามฐานข้อมูลรายได้เฉลี่ยต่อคน ต่อเดือน ตามสถิติรายได้ประชาชาติของประเทศไทยปี พ.ศ. 2553 (150,177 บาท/ปี) 7.2 กรณีศาลมีคำสั่ง/พิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แต่ถูกควบคุมหรือคุมขังเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก ให้ได้รับเงินชดเชยเท่ากับจำนวนระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก โดยคำนวนตามฐานข้อมูลรายได้เฉลี่ยต่อคน ต่อเดือน ตามสถิติรายได้ประชาชาติของประเทศไทยปี พ.ศ. 2553 (150,177 บาท/ปี)

8.เงินชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจ แบ่งเป็น 8.1 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ อัตรา 3 ล้านบาท/ราย 8.2 กรณีศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง และได้ถูกควบคุมหรือคุมขังก่อนศาลมีคำสั่ง/พิพากษาเป็นระยะเวลาเกินกว่า180 วัน อัตรา 1.5 ล้านบาท/ราย และเกินกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 180 วัน อัตรา 750,000 บาท/ราย 8.3 กรณีศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แต่ถูกควบคุมหรือคุมขังเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก เป็นระยะเวลาเกินกว่า 180 วัน อัตรา 1 ล้านบาท/ราย และเกินกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 180 วัน อัตรา 500,000 บาท/ราย

ในเบื้องต้นมีการประมาณการวงเงินงบประมาณไว้จำนวน 2,000 ล้านบาท

ข้อวิจารณ์ที่ตรงประเด็น กินใจมากที่สุดคือ คำวิจารณ์ของนักวิชาการภาคใต้

“อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง” นักวิชาการอิสระภาคใต้ กล่าวว่า “ความรู้สึกของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ็บปวดไม่เว้นวัน มันไม่เกี่ยวกับเรื่องเงิน แต่มันเป็นเรื่องความเท่าเทียม ความเสมอภาค คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกกระทำมาตลอด”

"พวกเขาเจ็บปวดกันมานานแล้ว คดีความต่างๆ เป็นหมื่นๆ คดี จำนวนคนตายกว่า 5,000 ศพ มันเทียบกันได้หรือไม่กับ 91 ศพ ซึ่งรัฐไม่ได้คิดถึง ถามว่ารัฐเยียวยาให้ความเป็นธรรมกับพวกเขาแค่ไหน แต่มันกลายเป็นเงื่อนไข ที่ทำให้คนในพื้นที่ถอยห่างจากรัฐมากขึ้นเสียอีก" นักวิชาการผู้นี้กล่าว

“สมบัติ โยธาทิพย์” คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อธิบายอย่างเจ็บปวดว่า รัฐบาลกำลังเลือกปฏิบัติสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง และสร้างมาตรฐานที่แตกต่างกับประชาชน ที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาชนในพื้นที่มีประเด็นพูดคุยกันในเรื่องนี้ค่อนข้างที่จะหนาหู

“ เป็นระยะเวลาถึง 8 ปีมาแล้วที่ประชาชนในพื้นที่ต้องทนทุกข์ทรมาน จะต้องเสี่ยงเป็น และเสี่ยงตาย แต่ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติของรัฐบาลมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างคนที่อยู่ในส่วนกลางที่ใกล้กับศูนย์กลางของอำนาจรัฐ กับคนที่อยู่ห่างออกมาจากอำนาจรัฐ หรือ เป็นเพราะว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่คนไทย”

"วันนี้มีหญิงหม้าย จากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 4 คันรถบัส กำลังเดินทางขึ้นไปยังกรุงเทพฯ เพื่อไปร้องถามรัฐบาล และยังมีอีกหลายภาคส่วน และภาคประชาสังคมต่างๆ ในพื้นที่ ที่เห็นถึงความไม่เป็นธรรม เห็นการเลือกปฏิบัติในสองมาตรฐาน”

โดยสรุปนี่คือ การแบ่งแยกประเทศไทยชัดเจน



กำลังโหลดความคิดเห็น