ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-อุบัติการณ์ของ “ม็อบ 2 ม็อบ” ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งม็อบผู้ประกอบการขนส่งและม็อบแท็กซี่ในการชุมนุมคัดค้านการขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV)นั้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคมไทยและคนไทยทั้งชาติจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องย้อนกลับไปแสวงหาต้นตอแห่งปัญหาทั้งหลายทั้งมวลว่าแท้ที่จริงแล้ว มีเหตุผลที่เพียงพอในการขึ้นราคาหรือไม่
รวมทั้งประเด็นที่สำคัญยิ่ง นั่นก็คือตรวจสอบองค์กรที่ “ผูกขาด” การขายก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยคือ “บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)” ว่า ได้เคยทำหน้าที่สมกับคำโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กรว่า “ปตท.พลังที่ยั่งยืนเพื่อไทย” และแสวงหากำไรจากความเดือดร้อนของประชาชนอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้นหรือไม่
เพราะในขณะที่ ปตท.ร้องโอดโอยว่า หากไม่ปรับราคาจะทำให้ขาดทุนมหาศาลนั้น กลับปรากฏว่าผลประกอบการในแต่ละปี ปตท.มีกำไรเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท
เฉกเช่นเดียวกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตอบคำถามให้กระจ่างแจ้งว่า มีส่วนได้ส่วนเสียกับการปรับราคาของ ปตท.ในครั้งนี้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัว “นายพิชัย นริพทะพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ได้ชื่อว่าทำงานรับใช้ “นายใหญ่” อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูคนหนึ่งว่า การเห็นชอบกับการปรับขึ้นราคา NGV ครั้งนี้ มี “คำสั่ง” จาก “นายใหญ่” หรือไม่ เนื่องจากเป็นการปรับราคาที่ถ้าจะว่าไปแล้วกระทบกับฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยโดยตรง
ทำไมรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มีนโยบายประชานิยมนำหน้าถึงกล้ากระทำกับฐานเสียงของตนเองเช่นนี้
ใช่เป็นเพราะนี่คือผลประโยชน์ที่จะเข้าสู่กระเป๋าของนายใหญ่ที่ยืนทะมึนอยู่เบื้องหลังหรือไม่
**ปตท.รัฐวิสาหกิจนี้ เพื่อไทยหรือเพื่อใคร
ทุกครั้งที่ ปตท.จะมีการขึ้นราคา ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ สิ่งที่ผู้คนในสังคมมักจะได้ยินได้ฟังเหตุผลเสมอมาก็คือ มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นตามราคาของตลาดโลก หรือไม่ก็เป็นเพราะ ปตท.ไม่สามารถแบกรับภาระการขาดทุนได้อีกต่อไป
ทว่า สิ่งที่สังคมก็มักจะได้ยินได้ฟังจนเจนหูเช่นกันก็คือ ในแต่ละปี ปตท.มีผลกำไรเกิดขึ้นจำนวนมหาศาล ในแต่ละปี ปตท.จ่ายโบนัสให้กับพนักงานกันอย่างอู้ฟู่ และในแต่ละปีบรรดาบอร์ดของ ปตท.ที่มาจากกระทรวงพลังงาน องค์กรที่ต้องกำกับดูแลและตรวจสอบปตท.ฟาดผลตอบแทนที่ ปตท.หยิบยื่นให้กันชนิดหลังแทบหัก
กรณีของก๊าซ NGV หากย้อนหลังกลับไปดูเหตุการณ์ในอดีตจะเห็นว่า นโยบายนี้ทั้งรัฐบาลและปตท.ต่างร่วมรณรงค์ให้รถขนส่ง แท็กซี่ หันมาใช้ก๊าซ NGV จนสำเร็จ กล่าวเฉพาะกรณีแท็กซี่นั้น ปตท.ผลักดันให้รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน ออกมาตรการสนับสนุนด้วยการควักเงินกองทุนน้ำมันรวมกับงบอื่นๆ ประมาณ 1,200 ล้านบาท มาสนับสนุนแท็กซี่ที่ติดก๊าซ LPG ให้เปลี่ยนมาใช้ NGV เพราะราคาก๊าซ ถูกกว่าและปลอดภัยกว่า โดยตั้งเป้าหมาย 30,000 คัน
ทั้งที่ความจริงแล้วทั่วโลกต่างใช้ก๊าซ LPGในภาคขนส่งกันทั้งนั้น และก๊าซ LPGก็ไม่ได้ขาดแคลนอย่างที่ปตท.กล่าวอ้าง แต่เป็นการสร้างเรื่องกดดันเพื่อให้รัฐบาลประกาศลอยตัวราคาก๊าซ LPG ในราคาตลาดโลก หรือไม่เช่นนั้นรัฐก็ต้องชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาก๊าซในประเทศและต่าง ประเทศ ซึ่งเป็นกลวิธีที่ปตท.ทำแล้วได้ผล เพราะจนถึงเวลานี้รัฐบาลยังต้องควักเงินกองทุนน้ำมัน เงินที่เก็บจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันเบนซินมาชดเชยราคาก๊าซ LPG และ NGV ให้กับปตท.เป็นเงินรวมแล้วหลายหมื่นล้านบาท
แต่แล้ววันดีคืนดี ปตท.ก็ป่าวประกาศว่า “เอาไม่อยู่” พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการปรับราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นลำดับทั้งความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโนบายพลังงานแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี
ปตท.ให้เหตุผลที่ต้องขึ้นราคาว่า เป็นเพราะมีภาระขาดทุนสะสมจากการตรึงราคาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาถึง 38,000 ล้านบาท
“ต้นทุนเนื้อก๊าซธรรมชาติปตท.ยังไม่รวมค่าขนส่งและบริหารจัดการอยู่ที่ เฉลี่ย 9.90-10 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นราคาก๊าซ NGV ตามกรอบที่รัฐกำหนดคือทยอยขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ต่อกก.จนครบ 6 บาทในสิ้นปี 2555เพื่อลดภาระขาดทุนในการนำไปปรับปรุงการบริการที่ดีขึ้น” พีระพงษ์ อัจฉรียชีวิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลต่อสื่อ
เช่นเดียวกับ เติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.ระบุว่า ต้นทุนการขายของ ปตท.หน้าปั๊มในขณะนี้ เท่ากับ 15.50 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นการจำหน่ายในอัตรา 8.50 บาท จึงเป็นอัตราที่ขาดทุน และ ปตท.พร้อมให้พิสูจน์ต้นทุนการขนส่งและบริหารจัดการจากสถานีแม่ไปสถานีลูกที่ มีต้นทุนประมาณ 5 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ ถ้าหากดูแต่ตัวเลข จะรู้สึกว่าสูงจริงดังที่ ปตท.กล่าวอ้าง แต่ถ้าย้อนกลับไปแสวงหาตัวเลขผลกำไรของ ปตท.จะเห็นว่า เป็นตัวเลขที่ขี้ปะติ๋วยิ่งนักสำหรับบริษัทที่แสวงหากำไรจากการผูกขาดการบริหารจัดการทรัพย์สินของแผ่นดินตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
นอกจากนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า นับตั้งแต่ ปี 2547 ถึง 9 เดือนแรกของ ปี 2554 หรือ 8 ปีที่ผ่านมา ปตท. มีกำไรสุทธิรวมกันถึง 7 แสนล้านบาท
พระเจ้าช่วยกล้วยทอด นี่ขนาดปตท.ขาดทุนสะสมจากการตรึงราคาก๊าซถึง 38,000 ล้านบาท ปตท.ยังมีตัวเลขกำไรมากมายมหาศาลถึงเพียงนี้
ที่สำคัญคือการขาดทุนที่ ปตท . อ้างว่า เกิดจากการตรึงราคาก๊าซเอ็นจีวี นั้น มีสัดส่วนไม่ถึง 5% หรือไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ต่อปีด้วยซ้ำไป ยิ่งเมื่อเทียบกับผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่ต่ำกว่า 10 % ต่อปี โดยปี 2553 สูงถึง 18.06 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
แน่นอน การขึ้นราคาแบบขั้นบันไดเดือนละ 50 สตางค์ ต่อเดือน อาจจะดูน้อย แต่เมื่อรวมการปรับทั้งหมด 12 ครั้ง รวม 6 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งปัจจุบันกิโลกรัม 8.50 บาท เมื่อถึงสิ้นปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 14.50 บาท ซึ่งคิดเป็นอัตรา 70 % ซึ่งเป็นการปรับราคาในอัตราที่สูงมาก
ดังนั้น การตรึงราคาก๊าซเอ็นจีวีจึงถือเป็นภาระอันน้อยนิด และมิได้กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของบริษัทแต่ประการใด ถ้าหาก ปตท.สะกดคำว่า “พอเพียง” เป็น มิได้มุ่งหวังผลกำไรสูงสุดตามลัทธิทุนนิยมสามานย์
ตัวเลขที่เกิดขึ้น ทำให้สังคมคลางแคลงใจต่อธรรมาภิบาลของ ปตท.ขึ้นมาในฉับพลันทันทีว่า เป็นตัวเลขที่แท้จริงหรือไม่ เพราะตัวเลขทั้งหลายทั้งปวงล้วนแล้วแต่ทาง ปตท.เป็นผู้เผยแพร่ออกมา
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.และประธานคณะกรรมการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีขึ้นราคาก๊าซ NGV ว่า ปัญหาอยู่ที่นักวิชาการก็ตาม ปตท.ก็ตาม ชอบพูดว่าราคาก๊าซ-พลังงานต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่ต้นทุนที่แท้จริงเคยเอามาเปิดเผยหรือไม่ ราคาจากเอกสารโฆษณาของ ปตท.เอง ระบุว่าราคา NGV อยู่ที่ 8.39 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งไม่ใช่ต้นทุนจริง หากแต่เป็นราคาที่ขายให้กับ กฟผ. ซึ่งรวมค่าบริหารจัดการ รวมค่าผ่านท่อ รวมกำไร และยังบวกค่าขนส่งอีก 5.56 บาท ซึ่งก็เป็นเม็ดเงินค่าขนส่งที่สูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีกิจการใดในโลกที่มีค่าขนส่งมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์
ส่วนราคาก๊าซในตลาดโลกเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2554 อยู่ที่ 2 เหรียญ 79 เซ็นต์ต่อ 1 ล้านบีทียู 1 ล้านบีทียู เป็นค่าความร้อน ถ้าแปลงให้เป็นกิโลกรัมก็คือเท่ากับ 27.82 กก. พอเป็นเงินไทยเฉลี่ยตกที่กิโลกรัมละ 3.37 บาท
“นี่คือต้นทุนตลาดโลก มันสะท้อนต้นทุนตรงไหน อีกทั้งราคาก๊าซธรรมชาติปี 2007-2011 ขึ้นสูงสุดเมื่อปี 2008 หลังจากนั้นต่ำลงเรื่อยๆ ทิศทางในตลาดโลกเป็นขาลง แต่คุณกลับสวนขึ้นและขึ้นในยามที่คนกำลังลำบากจากปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งความจริงแล้วราคาผ่านแนวท่อก๊าซมันถูกมาก เมื่อปี 2552 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอนุญาตให้ปตท.ขึ้นค่าผ่านท่อได้ 2 บาท ต่อ1 ล้านบีทียู ก็คือรวมแล้ว 22 บาท กับอีกเศษนิดหน่อย ต่อ 27.82 กก. เฉลี่ยแล้วไม่ถึง 1 บาทต่อกก. สมมุติเอาราคาตลาดโลก 3.37 บาท บวก 1 บาท อยู่ที่ 4 บาท แต่คุณบวกค่าขนส่งมหาโหดอย่างนี้ได้อย่างไร”
“ก๊าซถ้าส่งตามแนวท่อจะถูกที่สุด ตามธรรมชาติของก๊าซเหมาะกับรถที่ใช้วิ่งเป็นทางประจำเช่นรถเมล์ สามารถทำปั๊มเฉพาะที่เป็นจุดจอดรถ แต่นี่รัฐบาลมาสนับสนุนให้รถเล็กมาใช้ ใช้อำนาจรัฐทุกอย่างบังคับให้มาใช้ NGV”น.ส.รสนาอธิบายความเป็นจริงที่ ปตท.ปกปิดและสะท้อนให้เห็นความจริงว่า การที่ปตท.อ้างว่าการจำหน่าย NGV ให้กับรถบรรทุก แท็กซี่ รถตู้ รถเมล์และรถยนต์ทั่วไปขาดนั้น เป็นการขายขาดทุนที่ปตท.ได้บริหารจัดการด้วยการโอนกำไรไปซ่อนอยู่ในธุรกิจจัดหาและขนส่งก๊าซ ดังที่ สว.รสนาให้ข้อมูลว่า ปตท.คิดค่าขนส่งที่สูงลิบลิ่วถึงราว 40 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์)
ส่วนตรรกะที่ผิดเพี้ยนอีกประการหนึ่งก็คือ เวลาที่ ปตท.จะขึ้นราคา LPG ก็อ้างว่า ราคาตลาดโลกสูง แต่เวลาที่จะขึ้น NGV กลับไม่อ้างอิงราคาตลาดโลกเลยแม้แต่น้อย เพราะในความเป็นจริงที่ปตท.ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ ราคาตลาดโลกของ NGV ถูกกว่าราคาต้นทุนที่ ปตท.อ้างถึง 1 เท่าตัว คือราคาเพียง 4 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้นและราคาก๊าซในอ่าวไทยก็อยู่ที่ 2 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้นเช่นกัน
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยสามารถพึ่งพาแหล่งพลังงานเองได้ ซึ่งหลักฐานที่ชัดเจนคือการ น.ส.ยิ่งลักษณ์เองเคยแถลงต่อสภาว่าต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ 55 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ถึง 45 เปอร์เซ็นต์ แต่ทำไมราคาที่คนไทยใช้ถึงเป็นราคาตลาดโลก 100 เปอร์เซ็นต์ นี่เฉพาะราคาน้ำมัน ส่วน LPG ก็พยายามเกาะตลาดโลก แต่ NGV กลับไม่ยึดราคาตลาดโลก แสดงว่าจะใช้ราคาอะไรก็ได้ใช่หรือไม่
“คำถามง่ายๆ ทรัพยากรเป็นของแผ่นดินไทย ส่วนใหญ่ก็มาจากอ่าวไทย สัมปทานที่รัฐได้น้อยมาก การเข้าถึงทรัพยากรมันไม่เป็นธรรม เราเจอคนโลภที่ตัวใหญ่มาก คุมตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ที่สำคัญคนที่เป็นข้าราชการระดับสูง เป็นปลัดกระทรวงพลังงาน อีกตำแหน่งก็เป็นประธานบอร์ดของบริษัทเอกชน (ปตท.) แล้วคนๆนี้ก็มีหน้าที่ตั้งราคา จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน”
นายอิฐบูรณ์กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบพบกรณีไม่เป็นธรรมของก๊าซ LPG เป็นอย่างมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ปตท.มักกล่าวหาว่า รถยนต์ที่ใช้ LPG เป็นตัวการให้ก๊าซไม่พอใช้ แต่ความจริงตัวการที่ทำให้ก๊าซไม่พอใจก็คืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งก็เป็นบริษัทในเครือปตท. โดยมีตัวเลขการใช้สูบถึง 76 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ถูกผลิตขายทั่วไปเพียง 24 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
“พอกลุ่มนี้ใช้ไม่เคยแจ้ง แต่เวลาแถลงข่าวว่าต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ปรากฏว่าไม่ใช่นำเข้า LPG แต่นำเข้าเป็นก๊าซองค์ประกอบ ซึ่งรถยนต์ใช้ไม่ได้ ปรากฏว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่สามารถใช้ได้ แล้วเวลาสั่งจ่ายเงินชดเชย มติล่าสุดสั่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจ่ายแค่ 1 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆโดนกัน 5-10 กว่าบาท นี่คือหลายมาตรฐานถ้าเราจ่ายแพงแล้วเกิดกระจายรายได้ไม่ว่า แต่นี่ไปอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เปรียบเหมือนเราเสียดินแดนโดยถูกกำลังผูกขาดทางเศรษฐกิจครอบงำ กรณีเกิดโรงแยกก๊าซเพิ่มขึ้นเป็นหน่วยที่ 6 มีคำถามว่า เกี่ยวหรือไม่กับการพยายามทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติลอยตัวขยับเพิ่มทันที ความจริงแล้วไม่สนใจว่าต้นทุนที่แท้จริงเป็นอย่างไร ขอแค่ขึ้นมาก่อน แล้วรัฐบาลก็ยอม ประชาชนเหมือนถูกมัดมือชก”นายอิฐบูรณ์แจกแจงความจริง
นายอิฐบูรณ์ให้ข้อมูลด้วยว่า ราคา NGV 14.50 บาท เป็นราคาที่ปตท.ต้องการขอขึ้นมานานแล้ว นี่คือต้นทุนที่เขาต้องการ โดยไม่ได้อิงกับราคาตลาดโลกและเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมาโดยตลอด แต่มาได้ในจังหวะรัฐบาลนี้ ซึ่งนายกฯเป็นประธานโดยตำแหน่ง ในกลุ่มของพวกเขาเองก็คุยกันว่าเทคนิคการขึ้นราคา คือค่อยๆกินทีละ 50 สตางค์ จนสิ้นปี 2555 จะจ่ายเพิ่มขึ้นทั้งหมด 6 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งหมดเพิ่มขึ้น 70 เปอร์เซ็นต์ จากราคาฐานเดิม ถ้าเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างแท้จริงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่สามารถทำได้ แต่ธุรกิจนี้สามารถทำได้
เช่นเดียวกับนายไชยนิรันต์ พะยอมแย้ม ประธานเครือข่ายพลังงานภาคประชาชนที่กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือให้วุฒิสภาตรวจสอบข้อเท็จจริงและระงับการขึ้นราคาในวันที่ 16 มกราคมนี้ว่า ต้นทุนของก๊าซ NGVและLPG ที่ ปตท.กล่าวอ้างนั้นสูงเกินความจริง เพราะจากการตรวจสอบบัญชีงบดุลพบว่า ปตท.มีผลกำไรจากการจำหน่ายก๊าซดังกล่าวปีละหลายหมื่นล้านบาท อีกทั้งต้นทุนที่นำมากล่าวอ้างก็เป็นต้นทุนและค่าบริหารจัดการเทียมที่บวกขึ้นมาลอยๆ เพื่อให้ได้ราคาครึ่งหนึ่งของราคาดีเซล โดย ปตท.ต้องการจะปรับราคา NGV เป็น 14-15 บาทต่อกิโลกรัมในขณะที่ราคาตลาดโลกที่สหรัฐฯ ต้นทุนเนื้อก๊าซราคาเพียง 3-4 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น
นี่คือข้อเท็จจริงทั้งหมดที่ ปตท.ไม่เคยอธิบาย และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รวมถึงเสี่ยแดง-พิชัยในฐานะผู้รับผิดชอบก็ไม่เคยตอบคำถามสังคม แถมยังทำหน้าที่เสมือนหนึ่งทำงานและรับเงินเดือนจาก ปตท.อีกต่างหาก
ไม่มีใครรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับ ปตท. แต่ ณ ปตท.ใหญ่เกินไป กระทั่งมีอำนาจเหนือตลาดหลักทรัพย์ เหนือรัฐบาล และสื่อ โดยที่ไม่เคยปรากฏว่ามีประเทศไหนที่ปล่อยให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีขนาดเงินหมุนเวียนใหญ่กว่ากระทรวงการคลังเกิน 3 เท่า
มิหนำซ้ำรัฐบาลยังปล่อยให้ปตท.อยู่ในสภาพที่เป็นทั้งรัฐและเอกชน โดยให้รัฐถือหุ้น 51.5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อคงความเป็นรัฐอยู่ จะได้ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งปล่อยให้ควบรวมกิจการทั้งแนวดิ่ง คือครอบงำกิจการปิโตรเคมีทั้งหมด และควบรวมแนวนอน ซึ่งเป็นการยึดฐานลูกค้า จนมีอำนาจใหญ่มากในบ้านนี้เมืองนี้
**จับตา 2 พี่น้องโคลนนิ่ง กับวาระซ่อนเร้นขึ้นราคาก๊าซ
ประเด็นที่น่าสนใจถัดมา เห็นจะหนีไม่พ้นวาระซ่อนเร้นที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ปฏิบัติการอันแสนโหดร้ายทารุณในครั้งนี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่คณะรัฐมนตรีซึ่งมี “นายกฯ นกแก้ว-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีมติเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2554 อนุมัติให้ปรับราคาก๊าซ LPG และ NGV ในภาคขนส่งโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 นั้น เป็นมติคณะรัฐมนตรีที่เลือดเย็นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแห่งชาติไทยเลยทีเดียว เนื่องเพราะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนไทยทุกหย่อมหญ้า
เพราะเมื่อก๊าซขึ้นราคา สุดท้ายบรรดาผู้ประกอบการก็จะผลักภาระมาให้ผู้บริโภค
ยิ่งเป็นการขึ้นราคาหลังจากคนไทยครึ่งค่อนประเทศต้องเผชิญกับมหาอุทกภัยด้วยแล้ว ก็ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตให้เลวร้ายหนักเข้าไปอีก ดังนั้น จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยของนายกฯ นกแก้ว ซึ่งอวดอ้างนักหนาว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากมหาประชาชน ทำไมถึงได้ทำกับประชาชนเยี่ยงนี้ แถมยังกระทำกับประชาชนที่เป็นฐานเสียงของตนเองอีกต่างหาก
ดังจะเห็นได้จากในการชุมนุมของกลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่ที่มีการปราศรัยโจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า เนรคุณ เพราะกลุ่มแท็กซี่ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง พร้อมกันนี้ยังมีผู้ขับแท็กซี่บางคนนำบัตร นปช.มาเผาทิ้งอีกด้วย
“ในช่วงที่ คณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติปรับขึ้นราคาก๊าซเมื่อ 4 ต.ค. 2554 และหลังจากนั้น ครม. มีมติเห็นชอบ ทางกลุ่มแท็กซี่ไม่ทราบเลยว่า รัฐบาลมีมติดังกล่าว เพราะช่วงนั้นกลุ่มแท็กซี่เร่งจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม มาทราบอีกครั้งช่วงที่ ปตท. เชิญหารือบัตรเครดิตพลังงาน ก็รู้สึกตกใจว่า ทำไมรัฐบาลถึงทำร้ายกลุ่มแท็กซี่ด้วยการปรับราคา โดยปัจจุบันต้นทุนทุกอย่างสูงมาก ทั้งค่าเช่า ค่าครองชีพ หากค่าก๊าซสูงขึ้น ทุกอย่างก็จะขึ้นหมด ทางกลุ่มไม่ต้องการเห็นการปรับค่าโดยสาร”นายวิทูรย์ แนวพาณิชย์ ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขต กทม. กล่าว
ปมประเด็นที่จะต้องขบคิดกันต่อไปก็คือ ทำไมรัฐบาลนี้จึงกล้าที่จะทำ
อย่างไรก็ตาม หากย้อนหลังกลับไปตรวจสอบข้อมูลก็อาจจะพอเห็นร่องรอยของเส้นทางแห่งผลประโยชน์ที่ซุกซ่อนเอาไว้อย่างแนบแน่น
เงื่อนปมแรกก็คือ คนไทยต้องไม่ลืมว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยถูกแปรรูปสำเร็จในยุคที่ นช.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจนกระทั่งบัดนี้คนไทยก็ยังไม่รู้ว่า ในบรรดาผู้ถือหุ้นของ ปตท.ที่กระทำผ่านบริษัทนายหน้าค้าหุ้นนอมินีนั้น มีนักการเมืองไทยรายไหนถือหุ้นอยู่บ้าง และมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน
และเงื่อนปมประการสำคัญยิ่งถัดมาก็คือ ความเคลื่อนไหวส่งท้ายปี 2554 ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่เดินทางไปเยือนพม่า โดยเข้าพบนายพลตานฉ่วย และประธานาธิบดีเต็งเส่ง เพื่อปูทางให้กับการเยือนพม่าของน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมๆ กับการสวมบทบาทล็อบบี้ยิสต์กิตติมศักดิ์ นำคณะผู้บริหาร เครือปตท. เข้าพบผู้นำสหภาพพม่า เพื่อเจรจาผลประโยชน์ด้านพลังงาน ซึ่งในที่สุด ทำให้ปตท.สผ. สามารถปิดดีลคว้าสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมได้นั้น สร้างความกังขาให้สังคมอีกครั้งว่า การเปิดเกมรุกลงทุนในธุรกิจพลังงานในพม่าของเครือปตท.โดยอาศัยบารมีทักษิณ และอำนาจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซ่อนเร้นเคลือบแฝงด้วยผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งและกัน
ดีลหลังสุดที่พม่า ถือเป็น “บิ๊กดีล” ที่มีอนาคตดีมากสำหรับเครือปตท. เพราะไม่เพียงแต่แปลงสัมปทานใหม่ที่จะเซ็นสัญญากันในต้นปี 2555 ตามที่ พิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.กระทรวงพลังงาน และ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับแจ้งจาก ปตท.สผ. ที่ชนะประมูล โดยวันที่ 5 - 6 มกราคม 2555 ได้มีการลงนามในสัมปทานแปลง M3 ซึ่งเป็นแปลงที่ 2 ต่อเนื่องจากแปลง M9 เท่านั้น ก๊าซที่ค้นพบในแปลง M3 ยังเป็นwet gas สามารถนำมาเข้าสู่โรงแยกก๊าซ และใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งปตท.ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าไปสร้างโรงแยกก๊าซ และปิโตรเคมีต่อเนื่อง โดยมีการเชิญรัฐมนตรีพลังงานของพม่าเข้ามาดูงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มาบตา พุดในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
เครือปตท.มองว่า พม่าเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญ เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริษัทการเงิน บริษัท ปตท. ระบุว่าตามแผนการลงทุน 5 ปี (2555-2559) ปตท.จะเพิ่มงบลงทุนเป็น 4 แสนล้าน เพื่อรองรับการลงทุนในโครงการใหม่ๆ โดยยังไม่นับรวมโครงการลงทุนในพม่า ซึ่งปตท.สนใจลงทุนโรงแยกก๊าซ หลังจาก ปตท.สผ.มีแปลงสำรวจปิโตรเลียมในพม่า 10 แปลง
ไม่น่าเชื่อก็ต้อง และเป็นเรื่องที่ต้องใช้คำว่า “บังเอิญอย่างร้ายกาจ” ก็คือ ปตท.ถูกแปรรูปเป็นบริษัทมหาชนสำเร็จในยุคที่ นช.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และปตท.ก็สามารถขึ้นราคา NGV และสามารถคว้าสัมปทานแหล่งปิโตรเลียม-ก๊าซธรรมชาติในพม่าได้สำเร็จในยุคที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
ไม่มีใครรู้ว่า เจตนาและวาระซ่อนเร้นในการแปรรูปปตท.ในยุค นช.ทักษิณ ชินวัตรถูกออกแบบและวางแผนให้เป็นเช่นนี้หรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ณ เวลานี้ ปตท.กำลังเดินไปตามเส้นทางสายนั้นอย่างแน่วแน่โดยที่ไม่มีใครคิดจะแก้ไข
ที่สำคัญคือ การขึ้นราคาครั้งนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า พม่าย่อมต้องได้รับประโยชน์ตามไปด้วย ส่วนจะได้ในรูปแบบไหนนั้น ไม่อาจทราบได้ เพราะพม่าก็ย่อมต้องรับรู้ถึงการปรับราคาก๊าซในประเทศไทยในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
ยิ่งเมื่อพิจารณาจากการที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่ายอมให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์พบกับนางอองซาน ซูจีง่ายดาย ก็ยิ่งชวนให้เกิดคำถามและข้อสงสัยมากมายสารพัด
เฉกเช่นเดียวกับนายใหญ่ของคนเสื้อแดงที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่า ยึนทะมึนอยู่เบื้องหลังผลตอบแทนก้อนมหึมหาจาก ปตท.ไม่เช่นนั้นแล้ว ไหนเลยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายพิชัย รวมทั้งขุนพลเศรษฐกิจอย่างนายกิตติรัตน์ ณ ระนองถึงได้ดาหน้าออกมาแก้ต่างแทน ปตท.ราวกับทำงานกินเงินเดือน ปตท.ยังไงยังงั้น
ผู้คนกำลังสงสัยว่า พวกเขาทำเพื่อประโยชน์นายใช่หรือไม่
**แท็กซี่-รถร่วมฯ-ขนส่ง ถูกตุ๋นถ้วนหน้า
กล่าวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมขนส่งนั้น ภายหลังจากอดรนทนไม่ไหวลุกขึ้นมาปฏิบัติการเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ในที่สุดพวกเขาก็ถูกเกลี้ยกล่อมให้ยอมรับชะตากรรมที่ ปตท.ขีดเส้นทางเอาไว้ โดยในวันที่ 16 มกราคมนี้เป็นที่แน่ชัดจากปากคำของนายพิชัย นริพทะพันธุ์แล้วว่า จะมีการปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์คือ NGV 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม และก๊าซหุงต้มคือ LPG 75 สตางค์ต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ กลุ่มที่ทำท่าว่า จะได้รับประโยชน์เห็นจะเป็นผู้ประกอบการขนส่งในกลุ่มแท็กซี่ รถตู้และรถเมล์ที่ใช้ NGV เพราะรัฐบาลประกาศมอบบัตรส่วนลดราคาให้เดือนละ 50 สตางค์ ซึ่งนั่นต้องบอกว่าเป็นการตกหลุมพรางจังเบ้อเร้อ เพราะสิทธิพิเศษที่เขาได้รับเทียบไม่ได้เลยกับราคาที่จะทยอยปรับจนครบ 6 บาทตามมติคณะรัฐมนตรี แม้ในเบื้องแรก ปตท.และรัฐบาลจะยินยอมที่จะปรับราคาเดือนละ 50 สตางค์ในระยะเวลา 4 เดือน รวม 2 บาทต่อกิโลกรัมก็ตาม
ดังนั้น จงอย่าแปลกใจว่า ทำไม ปตท.ถึงยินยอมพร้อมใจที่จะมอบส่วนลดนี้ให้ เพราะนั่นเสมือนกับการเอากุ้งฝอยไปแลกปลาวาฬอย่างไรอย่างนั้น ที่สำคัญคือยังไม่มีหลักรับประกันใดๆ เลยที่เมื่อย่างเข้าสู่เดือนที่ 5 แล้ว ปตท.จะไม่ปรับราคาขึ้นอีก
“วันนี้กลุ่มอุตสาหกรรมขนส่งทั้งหลายที่ออกไปต่อต้านการขึ้นราคา NGV เสียท่ารัฐบาลไปแล้ว สิ่งที่ทำวันนี้ไม่มีความหมายเลย เมื่อยอมเปิดบริสุทธิ์ให้ขึ้น 50 สตางค์แล้ว ไม่มีทางลด การค่อยๆ ปรับเพิ่มทีละ 50 สตางค์ จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนแบบไม่รู้ตัว เหมือนกับการต้มกบ เมื่อต้มโดยปรับอุณหภูมิขึ้นทีละน้อยๆ กบจะไม่รู้ตัวเพราะมันปรับตัวตามอุณหภูมิ แต่ถ้าใส่ไปตอนร้อนๆ กบจะกระโดดหนี กรณีขึ้นราคาก๊าซก็เช่นกันประชาชนก็จะปรับตัวอยู่กับการขึ้น 50 สตางค์ไปเรื่อยๆ ซึ่งเราจะยอมถูกต้มหรือเปล่า เลือกว่าจะเป็นกบตัวแรกที่ถูกต้มหรือกบตัวสองที่กระโดดหนี”น.ส.รสนาสรุปทิ้งท้ายเอาไว้อย่างเห็นภาพ
ทั้งนี้ จำนวนเงินที่ผู้ประกอบการขนส่งต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เมื่อคำนวณแบบทั้งปีพบว่า ถึงสิ้นปี 2555 เงินที่ต้องจ่ายเพิ่มส่วนของ NGV เพื่อให้ได้ก๊าซ 40 กก. จะเพิ่มอีก 140 บาท จากเดิมแท็กซี่จ่าย 340 บาท ต้องจ่าย 480 บาท ส่วน LPG จากเดิมที่ 45 ลิตร 500 บาท จะเพิ่มมา 220 บาท ต่อไป 45 ลิตรจะต้องจ่าย 720 บาท
และสุดท้ายต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ก็จะถูกผลักลงไปสู่ผู้บริโภคอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้