xs
xsm
sm
md
lg

“ล็อกซเล่ย์” เผยรอดูท่าทีภาครัฐ ก่อนใส่เกียร์รุกพลังงานทดแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ล็อกซเล่ย์ สยายปีกรุกธุรกิจพลังงานทดแทน จ่อลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มอีก 24 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 2.4 พันล้านบาท หลังเปิดโรงไฟฟ้าแอล โซลาร์ 1 ขนาด 8.67 เมกะวัตต์ที่ปราจีนบุรีแล้ว เผยอยู่ระหว่างรอความชัดเจนอัตราการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนของภาครัฐอยู่ก่อนตัดสินใจ แย้มสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าจากลมและขยะเปียก ส่วนการลงทุนในต่างประเทศ ล่าสุดส่งทีมงานชุดใหญ่บุกพม่า เพื่อดูลู่ทางการลงทุนทั้งเทเลคอม เทรดดิ้ง พลังงานและเคมี คาดสรุปความชัดเจนได้ภายในปีนี้

วานนี้ (11 ม.ค.) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บริษัท แอล โซลาร์ 1 จำกัด ที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี บนพื้นที่ 215 ไร่ ขนาดกำลังการผลิต 8.67 เมกะวัตต์ เงินลงทุนรวม 800 ล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มาตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.54

พล.อ.นิพนธ์ ศิริพร ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล โซลาร์ 1 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ บมจ.ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เฟสแรกที่มีกำลังการผลิต 8.67 เมกะวัตต์นี้ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 3.5-4 หมื่นหน่วย/วัน หรือคิดเป็น 13-14 ล้านหน่วย/ปี นับเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่มีขนาดใหญ่ของไทย สร้างรายได้ปีนี้ละ 135-140 ล้านบาท และบริษัทยังตั้งเป้าเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจร (Solution Provider) ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม แหล่งเงินทุน รวมถึงการเป็นผู้รับเหมาออกแบบ และติดตั้งระบบด้านพลังงานทดแทนให้กับลูกค้าอีกด้วย

นายพิบูล พิบูลธรรม กรรมการ บริษัท แอล โซลาร์ 1 จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแผนลงทุนลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มอีก 24 เมกะวัตต์ โดยจะแบ่งออกเป็น 4 เฟสๆละ 6 เมกะวัตต์ ในพื้นที่บริเวณจ.ปราจีนบุรี และ จ.สระแก้ว โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2.4 พันล้านบาท โดยเบื้องต้นจะลงทุนเพิ่มเติม 2 เฟสแรกก่อนภายในปีนี้ แต่คงต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน( Feed in Tariff )ที่จะมาแทนระบบ ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า(Adder) ก่อนจะตัดสินใจลงทุนหรือไม่ อย่างไร

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นบริษัทได้มีการเตรียมพร้อมการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เฟส 2-3 ทั้งการจัดหาพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า เทคโนโลยีการผลิต และผู้ร่วมทุน โดยล็อกซเล่ย์ต้องการถือหุ้นเกิน 50% ทันทีเมื่อมีความชัดเจนเกี่ยวกับอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed in Tariff แล้วพบว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมต่อการลงทุนก็จะยื่นขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทันที

โดยยอมรับว่าขณะนี้บริษัทฯไม่มีใบอนุญาตฯดังกล่าว และไม่มีนโยบายที่จะซื้อใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ขณะนี้มีการเร่ขายกันอยู่

“บริษัทประเมินว่า หากอัตรารับซื้อไฟฟ้า Feed in Tariff ที่จะออกมาอยู่ที่ 6-7 บาท/หน่วยก็พอรับได้ แต่หากต่ำกว่านั้นคงลำบาก เนื่องจากปัจจุบันแม้ว่าต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์จะต่ำลง แต่ก็มีต้นทุนทางค่าอุปกรณ์สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยสูงอยู่ที่ 6-7% ค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมไปถึงค่าประกันภัยที่สูงขึ้นมากหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในไทย ดังนั้น หากผลตอบแทนการลงทุน(IRR)ต่ำกว่า 10% ก็คงไม่ลงทุนแล้ว” นายพิบูล กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมและการผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย โดยขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมและเข้าไปวัดกระแสลมในเขตพื้นที่ต่างๆ อาทิ ชัยภูมิ และนครราชสีมา หากโครงสร้างการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนออกมา ก็พร้อมจะลงทุนโดยจะดึงพาร์ทเนอร์ที่เป็นผู้ผลิตกังหันลมเข้าร่วมทุนด้วย ขนาดโรงไฟฟ้าพลังลมขั้นต่ำ 50 เมกะวัตต์ขึ้นไปจึงจะคุ้มการ คาดใช้เงินประมาณ 2-3 พันล้านบาท ส่วนโรงไฟฟ้าจากขยะเปียกนั้น บริษัทฯมองการลงทุนในกรุงเทพฯเนื่องจากมีขยะเปียกจำนวนมาก ล่าสุดได้มีการลงนามสัญญากับเจ้าของตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯและเจ้าของเทคโนโลยีแล้วเพียงแต่รอความชัดเจนการรับซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐฯ โครงการนี้ไฟฟ้าที่ผลิตได้คงไม่มากนัก

นายพิบูล กล่าวถึงการลงทุนในต่างประเทศของกลุ่มล็อกซเล่ย์ ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มล็อกซเล่ย์ได้ส่งทีมงานชุดใหญ่ไปพม่าเพื่อดูลู่ทางการลงทุนในย่างกุ้ง เนปิดอว์ และทวาย ทั้ง เทเลคอม, เทรดดิ้ง, เคมี และ พลังงาน เข้าไปศึกษาการลงทุนในพม่า คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้
บริษัท แอล โซลาร์ 1 จำกัด มีทุนจดทะเบียน 220 ล้านบาท ประกอบด้วยผู้ถือหุ้น คือ บมจ.ล็อกซเล่ย์ 45% กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี เอนเนอร์จีฟันด์ ถือ 24.99% บริษัท ลีโอนิคส์ จำกัด ถือ 16% และ พ.อ. ดร.ประเสริฐ ชูแสง ถือหุ้น 14.01% โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เฟส 1 นี้ใช้เงินลงทุน 800 ล้านบาท อายุโครงการ 20 ปี คืนทุนภายใน 7-8 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น