ASTVผู้จัดการออนไลน์ - อดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ” ยังคงยึดมั่นแสดงบทบาทในฐานะผู้นำประเทศไทยตัวจริงโดยอยู่เบื้องหลังการใช้อำนาจรัฐบาลนอมินีเสาะแสวงหาผลประโยชน์ด้านพลังงานเอื้อกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่มีพวกพ้องร่างทรงชินวัตรมีส่วนได้เสีย
ความเคลื่อนไหวส่งท้ายปี 2554 ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่เดินทางไปเยือนพม่า โดยเข้าพบนายพลตานฉ่วย และประธานาธิบดีเต็งเส่ง เพื่อปูทางให้กับการเยือนพม่าของน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมๆ กับการสวมบทบาทล็อบบี้ยิสต์กิตติมศักดิ์ นำคณะผู้บริหาร เครือปตท. เข้าพบผู้นำสหภาพพม่า เพื่อเจรจาผลประโยชน์ด้านพลังงาน ซึ่งในที่สุด ทำให้ปตท.สผ. สามารถปิดดีลคว้าสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมได้นั้น สร้างความกังขาให้สังคมอีกครั้งว่า การเปิดเกมรุกลงทุนในธุรกิจพลังงานในพม่าของเครือปตท.โดยอาศัยบารมีทักษิณและอำนาจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซ่อนเร้นเคลือบแฝงด้วยผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งและกัน
ความจริงแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทักษิณ ไม่เคยปิดบังอำพรางเป้าหมายในการเข้ามาทำธุรกิจพลังงาน เขาวางแผนชัดเจนก่อนหน้าที่จะมีการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็กแห่งสิงคโปร์ด้วยซ้ำไปว่า กลุ่มชินฯต้องการเบนเข็มเข้าลงทุนในธุรกิจพลังงานเมื่อมาร์จิ้นของธุรกิจโทรคมนาคมที่เขาวิ่งเต้นจนสามารถผูกขาดสัมปทานและสยายปีกยึดกุมตลาดโทรคมนาคมอยู่นั้นลดต่ำลง ซึ่งจะว่าไปแล้ว หาก ทักษิณ เป็นเพียงนักธุรกิจทั่วไปก็ถือเป็นเรื่องปกติวิสัยของนักลงทุน แต่เมื่อ ทักษิณ คือผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ความผิดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจึงตามหลอนจนถึงบัดนี้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสังคมจะประณามหยามเหยียดเช่นใด ทักษิณและพวก ก็ไม่ได้หยุดยั้งในการมุ่งหน้าสู่เป้าหมาย และเมื่อ ทักษิณ ประสบความสำเร็จในการแปรรูป ปตท. เท่ากับเขาสามารถพวกตัวเองและพวกพ้องเปิดประตูเข้าไปนั่งโต๊ะร่วมเสพผลประโยชน์มหาศาลจากธุรกิจพลังงานที่มี ปตท. บริษัทยักษ์ใหญ่ในคราบรัฐวิสาหกิจจอมปลอมซึ่งแสวงหากำไรสูงสุดเป็นสรณะเป็นผู้ผูกขาดเกือบทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
เครือ ปตท. คือองค์กรชั้นดีที่ ทักษิณและพวก จะอาศัยซ่อนเร้นสูบกินโดยไม่มีวันสิ้นสุด ผลประโยชน์ของทักษิณและพวกในเครือ ปตท.นั้นต่างเป็นรู้กันดีทั่วบ้านทั่วเมือง จะยกเว้นอยู่ก็เฉพาะแต่ นพดลปัทมะ ที่ปรึกษาทางกฎหมายของ ทักษิณ ที่คิดว่านายใหญ่โง่เข้าถือหุ้นเอง จึงออกมาโต้ว่าทักษิณและครอบครัวไม่มีหุ้นในปตท.แม้แต่หุ้นเดียว และเมื่อไม่มีชื่อถือหุ้นก็ไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งที่หลักฐานการได้รับจัดสรรหุ้นในช่วงแปรรูป ปตท. ก็มีชื่อพวกพ้องนายใหญ่ชัดเจน ไม่นับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติหัวดำ และสถาบันการเงินร่างทรงที่ยังได้รับการปกปิดชื่อไว้เป็นอย่างดีจนถึงบัดนี้
ด้วยผลประโยชน์มหาศาลในขุมทรัพย์พลังงานที่มองเห็นอยู่ข้างหน้ารายล้อมอยู่รอบประเทศไทย ทั้งกัมพูชาและพม่า ซึ่งกำลังหาทางเอาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ เป็นแรงขับดันให้ ทักษิณ ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยในการวิ่งเต้นเจรจาประสานประโยชน์กับผู้นำรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน บริษัทธุรกิจพลังงานทั้งไทยและต่างชาติ โดยอาศัยอำนาจรัฐบาลนอมินีที่ตัวเองจัดตั้งขึ้นช่วยขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย
การเดินเกมของทักษิณ เปรียบเหมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวหากการเจรจาเป็นผลสำเร็จ ก็อ้างบุญคุณว่าสามารถทำให้ไทยมีความมั่นคงทางด้านพลังงานมีแหล่งก๊าซสำรองไว้ใช้ในประเทศ สร้างความมั่งคั่งให้กับบริษัทพลังงานแห่งชาติ ช่วยพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านให้เจริญรุ่งเรือง แต่ที่สำคัญคือเม็ดเงินที่จะไหลเข้ากระเป๋าทั้งทางตรงและทางอ้อม
โดยเฉพาะดีลหลังสุดที่พม่า ซึ่งถือเป็น “บิ๊กดีล” ที่มีอนาคตดีมากสำหรับเครือปตท. เพราะไม่เพียงแต่แปลงสัมปทานใหม่ที่จะเซ็นสัญญากันในต้นปี 2555 ตามที่ พิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.กระทรวงพลังงาน และ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับแจ้งจาก ปตท.สผ. ที่ชนะประมูล โดยวันที่ 5 - 6 มกราคม 2555 จะมีการลงนามในสัมปทานแปลง M3 ซึ่งเป็นแปลงที่ 2 ต่อเนื่องจากแปลง M9 เท่านั้น ก๊าซที่ค้นพบในแปลง M3 ยังเป็นwet gas สามารถนำมาเข้าสู่โรงแยกก๊าซฯ และใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งปตท.ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าไปสร้างโรงแยกก๊าซฯ และปิโตรเคมีต่อเนื่อง โดยมีการเชิญรัฐมนตรีพลังงานของพม่าเข้ามาดูงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มาบตาพุดในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
เครือปตท.มองว่า พม่าเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญ เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริษัทการเงิน บริษัท ปตท. ระบุว่าตามแผนการลงทุน 5 ปี (2555-2559) ปตท.จะเพิ่มงบลงทุนเป็น 4 แสนล้าน เพื่อรองรับการลงทุนในโครงการใหม่ๆ โดยยังไม่นับรวมโครงการลงทุนในพม่า ซึ่งปตท.สนใจลงทุนโรงแยกก๊าซฯ หลังจาก ปตท.สผ.มีแปลงสำรวจปิโตรเลียมในพม่า 10 แปลง
ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพม่า ได้แก่ โครงการยาดานา เยตากุน ซอติก้าในแปลง M9 และโครงการ M3 M7 M11 ซึ่งในส่วนของ M9 กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อนำก๊าซฯ ขึ้นมาใช้ ส่วนแปลง M3 อยู่ระหว่างการสำรวจปริมาณก๊าซฯ ที่ชัดเจน ส่วนแปลง M11 อยู่ระหว่างจัดหาผู้ร่วมทุนรายใหญ่คาดว่าต้นปีหน้าจะมีความชัดเจน ส่วนแปลงสัมปทาน MD7 และ MD8 ที่อยู่ในทะเลอันดามัน ทาง ปตท.สผ. แสดงเจตจำนงว่าสนใจลงทุนสำรวจในแปลงสัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าวซึ่งรัฐบาลพม่ามีท่าทีให้การสนับสนุนแต่ต้องรอให้มีการเปิดสัมปทานในแหล่งดังกล่าวก่อน
เครือปตท.ยังเล็งการลงทุนด้านพลังงานในโครงการนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย ประเทศพม่า โครงการดังกล่าวบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่า โดยหนึ่งในแผนการลงทุนของโครงการคือ ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ เวลานี้ อิตัลไทย ได้ออกแบบโครงการเสร็จสมบูรณ์แล้วอยู่ระหว่างการหาเม็ดเงินลงทุนและผู้ร่วมทุนโดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณแสนล้านบาท
แน่นอน ความสำเร็จของอิตัลไทย ย่อมทำให้โครงการลงทุนด้านพลังงานของเครือปตท.ซึ่งหมายถึงผลกำไรที่งดงามของผู้อยู่เบื้องหลังและผู้ถือหุ้นตามติดมาด้วย การเดินทางของ ทักษิณ ก่อนการเยือนพม่าของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขาจึงไม่พลาดที่จะลงไปเมืองทวาย จุดที่ตั้งเมกะโปรเจคที่เขาให้ความสนใจตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย ถึงแม้เวลานี้จะยังไม่มีความชัดเจนว่า อิตัลไทยจะสามารถใช้คอนเนคชั่นของล็อบบี้ยิสต์กิติมศักดิ์หาผู้ร่วมลงทุนเพื่อสานฝันโครงการลงทุนให้เป็นผลสำเร็จได้หรือไม่ แต่นี่ถือเป็นหนึ่งจิ๊กซอร์ที่ ทักษิณ กำลังต่อเชื่อมสู่ขุมทรัพย์
ไม่เพียงแต่พม่าเท่านั้น ที่ ทักษิณ เข้ามาเสาะแสวงหาผลประโยชน์ด้านธุรกิจพลังงาน ก่อนหน้านี้ ทักษิณ ได้เข้าไปเกี่ยวพันกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย - กัมพูชา ซึ่งมีทรัพยากรปิโตรเลียมมูลค่ามหาศาลเช่นเดียวกัน เพียงแต่ความเพียรพยายามของเขายังไม่เป็นผล หลังสุดเมื่อเขาส่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นมามีอำนาจ บรรดาข้าราชการระดับสูงด้านพลังงานต่างรีบวิ่งรับใช้ทันที โดย ทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้เตรียมข้อมูลเรื่องการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย - กัมพูชา เสนอต่อรมว.กระทรวงพลังงาน เพื่อพัฒนาแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งการเปลี่ยนรัฐบาลถือเป็นสัญญาณที่ดีในการเจรจากับกัมพูชาซึ่งพร้อมในการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเจรจา
อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประเมินว่า หากเริ่มเจรจากันได้คาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาพื้นที่ 8 ปีจึงจะผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ได้ โดยที่ผ่านมาการเจรจาระหว่างสองชาติใกล้สำเร็จแล้วโดยแบ่งพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตร.กม. ออกเป็น 3 พื้นที่ คือ ใกล้ไทย ส่วนแบ่งตรงกลางและพื้นที่ใกล้กัมพูชา
การเปิดเผยของอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ออกอาการรีบสนองฝ่ายการเมือง สอดรับกับการแฉเอกสารลับทางการทูตของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2550 ที่เผยแพร่โดยเวปไซต์ วิกิลีกส์ ว่า ในการไปเยือนกรุงพนมเปญของสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน และร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงกัมพูชานั้น ผู้แทนของบริษัท โคโนโคฟิลิปส์ ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชา หาทางคลี่คลายข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย โดยระบุว่า บริษัทได้รอสัญญาสัมปทานการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว
ในระหว่างการประชุมครั้งนั้น นายเกา คิม ฮอร์น เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา แจ้งต่อบริษัทว่า รัฐบาลไทยและกัมพูชา เกือบได้ข้อยุติในเรื่องนี้ไม่นานนักก่อนรัฐบาลทักษิณ จะถูกขับพ้นจากการเป็นรัฐบาล เขายังบอกว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันในหลักการแบ่งรายได้ โดยพื้นที่ใกล้ไทยมากที่สุด ไทยได้ 80% กัมพูชา 20% ส่วนพื้นที่ตรงกลางแบ่ง 50%-50% และพื้นที่ใกล้ฝั่งกัมพูชา ไทยได้ 20% กัมพูชา 80% ในเวลานั้น เขาคิดว่า ถ้ามีเวลาในการเจรจาเพิ่มเติมอีก 6 เดือน ก็น่าจะตกลงกันได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจนบัดนี้การเจรจาเรื่องผลประโยชน์ปิโตรเลียมบนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย - กัมพูชา ยังไม่มีความคืบหน้า แต่ทว่าการวิ่งเต้นเจรจาประสานผลประโยชน์เพื่อประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลังของทักษิณและพวก กำลังดำเนินไปอย่างเร่งรีบเพื่อให้เกิดผลสำเร็จก่อนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะปิดฉากลง