xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดลายแทงพื้นที่ 2 ล้านไร่ รับน้ำ 6 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่มี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษา และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบบูรณาการ รวมถึงฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ

โดยล่าสุด กรรมการ กยน. มีความมั่นใจว่าสามารถรับมือน้ำท่วมได้ โดยเตรียมกำหนดพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่ลุ่มเจ้าพระยา เตรียมเสนอ กยน.ในสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดเสร็จก่อน 6 เดือน

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าว(เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา) ว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อนำเสนอรายละเอียดและแผนงานย่อยของแต่ละโครงการที่เป็นกรอบกว้างๆ ไว้เท่านั้น โดยแผนระยะสั้นที่จะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค. นี้ จะสามารถเดินหน้าได้ทันที โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะต้องเร่งดำเนินการภายใน 6 เดือนข้างหน้า ก่อนที่น้ำหลากจะลงมา

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุน เพราะการวางแผนจะไม่ได้ป้องกันแต่ 7 นิคมที่ถูกน้ำท่วมเท่านั้น แต่จะใช้หลักป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจแบบองค์รวม ดังนั้น ทุกแผนต้องสอดคล้องกันทั้งพื้นที่รับน้ำหลาก การปรับปรุงประตูระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เป็นต้น

“เราเตรียมรายละเอียดไว้ทั้งหมดแล้ว เพื่อนำเสนอในคณะอนุกรรมการชุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งจะเห็นรายละเอียดทั้งหมดในเร็วๆ นี้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าแผนของ กยน. จะสามารถแก้ปัญหาระบบน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างยั่งยืนได้ จะมีเจ้าภาพชัดเจนในแต่ละด้าน ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการร่วมกันทั้งหมด อย่าง ทส.ก็ต้องดูเรื่องการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ” นายสุพจน์กล่าว

ส่วนมาตรการหาพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่ จะไล่ลงมาตั้งแต่พื้นที่ จ.นครสววรค์ ลงมาตามลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จะต้องทำควบคู่กับการผันน้ำออกทางฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก อย่างมีระบบ เช่น โดยมีพื้นที่ของทุ่งรับน้ำไว้หมดแล้ว เช่น ทุ่งมหาราช ทุ่งบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น แต่จะต้องมีการเจรจากับเกษตรกรเจ้าของพื้นที่ เรื่องการจ่ายค่าชดเชยตามอัตราส่วนที่เกษตรกรพอใจ ระหว่างที่นำน้ำหลากไปพักไว้ในพื้นที่ เพราะแต่ละจังหวัดและแต่ละโซนอาจมีระยะเวลาไม่เท่ากัน เช่น ระหว่าง เดือนม.ค.-ก.พ. หรือช่วงเดือนส.ค.-ต.ค. เป็นต้น

ถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าแผนระยะสั้นจะทันรับมือกับน้ำท่วมปีนี้ นายสุพจน์กล่าวว่า มั่นใจว่าหากปีนี้น้ำท่วม แต่ต้องควบคุมได้ดี และน้ำจะต้องไม่ท่วมในพื้นที่ที่ไม่ควรถูกท่วม ยกเว้นพื้นที่ลุ่มที่เสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วมอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่า ทุ่งรับน้ำพื้นที่ 20 ทุ่ง รวม 1.15 ล้านไร่ เป็นแหล่งรับน้ำหลากได้มากกว่า 3.6 พันล้านลบ.ม. ประกอบด้วย 1.นครสวรรค์ รวม 7 ทุ่ง ได้แก่ ผันน้ำเข้าจากแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน บึงบอระเพ็ด ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ลุ่มโกรกพระฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่รับน้ำ 559,289 ไร่ รวมความจุน้ำ 2,124 ล้านลบ.ม. 2.ชัยนาท ทุ่งเชียงราก พื้นที่รับน้ำ 138,711 ไร่ รวมความจุน้ำ 416 ล้านลบ.ม. 3.สิงห์บุรี รวม 2 ทุ่ง คือ ทุ่งดอนกระต่าย และทุ่งบางระจัน พื้นที่รับน้ำ 164,374 รวมความจุน้ำ 394 ล้านลบ.ม.

4.ลพบุรี 2 ทุ่ง คือ ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก พื้นที่รับน้ำ 101,971 ไร่ รวมความจุน้ำ 176 ล้านลบ.ม. 5.อ่างทอง 2 ทุ่งคือ ทุ่งลาดกระเทียม/ห้วยจระเข้ และทุ่งวิเศษชัยชาญ พื้นที่รับน้ำ 66,900 ไร่ ความจุน้ำ 107 ล้านลบ.ม. 6.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 6 ทุ่ง ได้แก่ ทุ่งกุฎี-ผักไห่ ทุ่งบางบาล ทุ่งเสนาเหนือ-ใต้ ทุ่งเชียงราก ทุ่งลาดบัวหลวง-ทุ่งไผ่พระ และทุ่งมหาราช พื้นที่รับน้ำ 118,636 ไร่ ความจุ 447 ล้านลบ.ม.

ขณะที่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวในภาพรวม ว่าทางกรมทรัพยากรน้ำ กำลังทำเรื่องเสนอขอทำแก้มลิงเพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำ ตามลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ โดยจะนำร่องลุ่มน้ำภาคกลาง เช่น ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ปิง วัง ยม และ น่าน รวมกว่า 300 จุด เพราะถือว่า เสี่ยงต่อน้ำท่วมในขณะนี้ โดยต้องทำไปพร้อมกับการลอกคูคลองที่เป็นแก้มลิงรับน้ำตามธรรมชาติของหมู่บ้าน ซึ่งจะมีการสำรวจว่าพื้นที่ไหนที่เคยทำไว้แล้ว และได้รับความเสียหายในช่วงน้ำท่วมช่วงปลายปีที่ผ่านมา ถ้าจำเป็นก็ต้องขุดลอกกันใหม่ เนื่องจากสถานการณ์น้ำในปีนี้ มีแนวโน้มว่าจะมีมาก อย่างกรณี ปริมาณฝนที่ตกหนักมากในภาคใต้ ตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ทำให้ต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องสถานการณ์น้ำของปี 2555 กันใหม่ เพราะจากฝนที่ตกหนักระดับ 200-300 มิลลิเมตรต่อวัน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการจัดการน้ำ แม้ว่าภาคใต้จะอยู่ใกล้ทะเลที่มีศักยภาพระบายน้ำก็จริง

ทางด้าน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลอนุมัติแผนบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่เสนอโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นภาพและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนจาก 8 โครงการ ที่นำเสนอ ยกเว้นวงเงินงบที่กลายเป็นตัวเลขที่ถูกตั้งขึ้นก่อนที่แผนงานละเอียดจะออกมาด้วย เพราะถ้าใช้งบรายจ่ายปี 2556 คงไม่เพียงพอที่จะเพิ่มให้ค่าจีดีพีสูงจนกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่าประธานทั้ง 2 คณะที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และ นายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นนักลงทุนด้านการเงิน การธนาคาร ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ จึงไม่มองภาพรวมที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ถูกจุด เพราะดูแล้วตั้งใจจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แบบกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนต่อการแก้ปัญหาน้ำของรัฐบาลมากกว่า ซึ่งจะเห็นได้ว่าพอภาคใต้เกิดปัญหาน้ำท่วม ก็ออกมาพูดเรื่องเงินที่ใช้เพิ่มอีก 5 หมื่นล้าน ทั้งที่ยังไม่เห็นปัญหาอะไร

นายหาญณรงค์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยเสนอแผนบริหารน้ำระบบท่อ วงเงิน 4 แสนล้านบาท แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถลงทุนทำอะไรได้ ดังนั้น จึงเชื่อว่าแผนงานที่จะออกมา ก็คงเป็นการปัดฝุ่นโครงการเก่าที่เคยวางเป้าหมายเอาไว้ แต่ยังทำไม่สำเร็จมากกว่า โดยเฉพาะข้อเสนอในการสร้างอ่างเก็บน้ำในเขตลุ่มน้ำยม การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นโครงการเก่าที่มักจะถูกนำมาปัดฝุ่น พูดถึงทุกครั้งที่เกิดปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้ง

“โจทย์ที่รัฐบาลชงขึ้นเอง และคิดว่าประชาชนเห็นด้วยกับโครงการแก้น้ำท่วมโดยจะกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท คงไม่ถูกต้อง เพราะหลายเรื่องเป็นโครงการเก่าที่ถูกผลักดันมาหลายยุคหลายสมัย เช่น เรื่องอ่างเก็บน้ำ แต่ยังไม่เกิดเพราะประชาชนคัดค้าน รวมทั้งโครงการขุดลอกคูคลองบางแห่งใช้งบ 100 ล้านบาท กับการขุดคลองให้มีความลึกเพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่เมตรนั้น ถือเป็นการใช้งบไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ขณะที่บางเรื่องโดยเฉพาะการจัดหาพื้นที่ทุ่งรับน้ำ 2 ล้านไร่ ผมก็เห็นด้วย ทั้งนี้จะต้องหาตัวเลขค่าชดเชยที่คุ้มค่าเหมาะสมกับเกษตรกร ดังนั้น ก่อนที่แผนระยะสั้น ระยะยาว จะแล้วเสร็จ ถ้ารัฐบาลคิดว่าเป็นโมเดลแก้น้ำท่วมที่ดี ก็ควรจะเปิดเวทีให้พี่น้องรับรู้รายละเอียดของข้อมูล และฟังข้อเท็จจริงจากประชาชนด้วย” นายหาญณรงค์สรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น