xs
xsm
sm
md
lg

"ธีระชัย"เหิมสั่งแก้กม. ดึงเงินคงคลังทำกำไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ถึงคิวเงินคงคลัง "ธีระชัย" สั่งกรมบัญชีกลางศึกษานำเงินคงคลังส่วนเกินออกจากแบงก์ชาติไปลงทุนต่างประเทศทำกำไรมากกว่าเดิม อ้างเป็นการคิดนอกกรอบ กรมบัญชีกลางยอมรับต้องแก้กฎหมายก่อน ขณะที่ "หม่อมอุ๋ย-ธีระชัย" เล่นบทคนดี ประสานเสียงห้ามแบงก์รีดค่าต๋งจากลูกค้า ด้าน ปชป.ฉะขุนค้อนตีความร่าง 4 พ.ร.ก.เงินกู้ หลีกเลี่ยงหรือไม่เข้าใจ รธน.

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมกรมบัญชีกลางว่า ได้สั่งการให้กรมบัญชีกลางศึกษาแนวทางการบริหารเงินคงคลัง เพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้น โดยได้เสนอแนะให้รัฐนำเงินดังกล่าวไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ จากปัจจุบันที่ฝากไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เท่านั้น รวมทั้งดูว่าเป็นแนวทางปฏิบัติตามหลักสากลหรือไม่ พร้อมกันนี้ให้คิดนอกกรอบด้วย เช่น หากหารายได้จากธนาคารพาณิชย์ในประเทศไม่สะดวก จะให้ ธปท.นำไปแลกเปลี่ยนเพื่อลงทุนหารายได้ระยะสั้นยังต่างประเทศ เป็นต้น

“นับเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลชุดก่อนหน้ามีเงินคงคลังไว้ระดับสูง ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมปลายปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลมีความคล่องตัวสูงในการใช้เงิน แต่ขณะเดียวกันก็มองว่า การที่มีเงินคงคลังอยู่ในมือมากจนเกินไปนั้น กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกัน จึงให้กรมบัญชีกลางไปดูแนวทางการสร้างรายได้ระยะสั้นจากเงินคงคลังดังกล่าว รวมทั้งดูแนวทางปฏิบัติของประเทศอื่นๆ มาประกอบด้วย ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีเงินคงคลัง 250,000 ล้านบาท ถือว่ามั่นคงมาก”

ขณะเดียวกัน ให้กรมบัญชีกลางไปตรวจดูกระบวนการใช้เงินขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งหมดและส่งเรื่องกลับมายังกระทรวงการคลัง เพราะมีข้อกังวลว่า การกำกับดูแล ระบบจัดซื้อจัดจ้าง ระบบทำบัญชี ระบบตรวจสอบภายในและภายนอกต่าง ๆ ของอปท.นั้นมี
ประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ขบวนการทำงานรัดกุมดีแล้วหรือยัง เนื่องจากอนาคต 10-20 ปีข้างหน้า เงินจากส่วนกลางจะลงไประดับท้องถิ่นมาก ดังนั้นจึงต้องให้แน่ใจว่ามีระบบการดูแลบัญชีอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ

“เท่าที่ฟังมาระบบบัญชีของอปท.ต่างๆ นั้นยังไม่ดีพอ จึงต้องการให้กรมบัญชีกลาง ใช้คลังจังหวัดให้มีบทบาทกว้างมากขึ้นกว่าปัจจุบันที่เป็นเสมือแคชเชียร์รับจ่ายเงินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องเข้าไปดูการกำกับดูแลการใช้เงินของรัฐบาลด้วยว่า อปท.เหล่านั้นใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ หากจำเป็นต้องว่าจ้างเอกชนช่วยศึกษาก็ให้รีบทำ”

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐมีเงินคงคลัง 250,000 ล้านบาท ถือว่าเพียงพอต่อการใช้จ่ายงบประมาณแต่ละเดือน ที่จะมีรายได้เข้ามาสมทบอีกเดือนละ 100,000 ล้านบาท ช่วงสิ้นปีงบประมาณ 54 ที่ผ่านมามีสูงถึง 590,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากต้องการนำเงินคงคลังเพื่อหาประโยชน์เพิ่มขึ้น ต้องแก้กฎหมายการเงินการคลังก่อน เพราะปัจจุบันยังไม่สามารถนำเงินคงคลังไปหาประโยชน์ใดๆ ได้

***"หม่อมอุ๋ย-ธีระชัย" ป้องลูกค้าแบงก์
 

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา เรื่อง “วิเคราะห์ร่างพระราชกำหนดการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ” จัดโดยศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโครงการราชดำเนินเสวนา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า เห็นด้วยกับร่างพระราชกำหนดเพื่อมาบริหารจัดการหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่มีการตัดมาตรา 7 (3) ซึ่งมีข้อบกพร่องออกไป ทำให้ไม่ต้องโอนหนี้ให้ ธปท.รับผิดชอบทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ยังเปิดช่องให้ ธปท.เก็บเงินเพิ่มค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงินได้อีก จากปัจจุบันร้อยละ 0.4 เป็นร้อยละ 1 ส่วนการที่สถาบันการเงินจะผลักภาระให้กับประชาชนนั้น ต้องออกกฎเกณฑ์ควบคุมให้ชัดเจน ว่าจะเพิ่มในอัตราเท่าไร แต่ก็เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มถึงร้อยละ 0.6 ส่วนระยะเวลาที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 25 ปี ในการบริหารหนี้ก้อนนี้หมด ก็มีความเป็นไปได้ หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 3

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง กล่าวว่า ธปท.จะต้องหารือร่วมกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อกำหนดอัตราการนำส่งเงินจากฐานเงินฝาก และแนวทางในการกำกับดูแลไม่ให้สถาบันการเงินผลักภาระการนำส่งเงินดังกล่าวไปยังลูกค้าเงินฝากมากจนเกินไป โดยพิจารณาจากวงเงินที่ต้องการใช้ในการชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ และระยะเวลาในการชำระหนี้ควบคู่กันไป

"ส่วนผลกระทบต่อสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เนื่องจากธนาคารต้องหันไปส่งเงินเข้าไปช่วยชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ แทนนั้น คงไม่กระทบต่อฐานะของสถาบันประกันเงินฝาก เนื่องจากปัจจุบันมีเงินทุนสำรองไว้จากการนำส่งช่วงที่ผ่านมา กว่า 80,000 ล้านบาท"

ช่วงค่ำวานนี้ (12 ม.ค.) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ได้หารือกับสมาคมธนาคารไทย กรณีการขยายการเก็บเงินนำส่งเพิ่มจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่เรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์มากกว่าร้อยละ 0.4 ของเงินฝาก ก่อนหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ จะมีการขอให้สถาบันการเงินอย่าผลักภาระให้กับประชาชน เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการลดภาษีนิติบุคคล จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 ภายในปีนี้อยู่แล้ว

"ช่วงแรกหนักใจที่มีความพยายามจะโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มาให้ ธปท.ดูแล แต่เมื่อร่าง พ.ร.ก.ระบุชัดว่า กองทุนฟื้นฟูฯ จะเป็นผู้รับภาระดังกล่าว ก็ชัดเจนขึ้น ส่วน ธปท.จะเป็นผู้บริหารจัดการให้กองทุนฟื้นฟูฯ หารายได้มาชำระหนี้เท่านั้น"

**ปชป.ฉะขุนค้อนบิดเบือน รธน.
 

วันเดียวกันที่รัฐสภา นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะทำงาน ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน จะส่งหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพระราชกำหนดเงินกู้ 4 ฉบับ ตามมติคณะรัฐมนตรี ว่า ตามรัฐธรรมนูญ ส.ส.สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้นอกสมัยประชุม สภาฯ ตามมาตรา 184 หากอยู่ในสมัยประชุมว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 2 ที่ระบุให้การตราพระราชกำหนด ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 185 ยังระบุไว้ว่า ส.ส.และ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีสิทธิ์เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาฯว่า พระราชกำหนดนั้นไม่เป็นไปตามมาตรา 184 วรรค 1 และ 2 และให้ประธานสภาฯสางความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับความเห็นเพื่อวินิจฉัย

"การออกมาให้สัมภาษณ์ของนายสมศักดิ์ เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับรัฐธรรมนูญ ไม่เข้าใจว่า นายสมศักดิ์จงใจ หรืออ่านกฎหมายไม่เข้าใจ อาจจะต้องไปถามตัวนายสมศักดิ์เอง ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้นายสมศักดิ์อาจจะถูกกล่าวหาว่าปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ได้"
ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น เนื่องจาประธานสภาฯจะต้องรับเรื่อง และปล่อยให้เป็นอำนาจการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น