xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฯ ส่งผล แบงก์ลด ดบ.ฝาก-ขึ้น ดบ.กู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
นักวิชาการวิพากษ์ พ.ร.ก.แก้ไขหนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท โอนภาระดอกเบี้ยออกจาก ก.คลังไปที่กองทุนคุ้มครองเงินฝาก หวั่นแบงก์ผลักภาระให้ลูกค้า เพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้-ลดดอกเบี้ยเงินฝาก “สมชาย” ชี้แบงก์อาจลดระดมเงินฝาก ด้าน อ.นิด้า กังวลรัฐบาลเปิดช่องก่อหนี้สาธารณะต่อเนื่อง กระทบฐานะประเทศ

จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ 10 ม.ค. มีมติเห็นชอบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่าง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.... เพื่อให้ธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) รับผิดชอบการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของกองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท 2. ร่าง พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อการบูรณะและฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย พ.ศ.... จำนวน 3.5 แสนล้านบาท 3. ร่าง พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนประกันภัย จำนวน 5 หมื่นล้านบาท และ 4. ร่าง พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ ธปท.สามารถปล่อยสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนให้แก่สถาบันการเงิน จำนวน 3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว

รศ.คิม ไชยแสนสุข อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวในรายการ “คมชัดลึก” ทางเนชั่นแชนแนล ระบุว่า เรื่องหนี้ของกองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาท ถ้า จะดูว่าใครควรจะเป็นผู้ใช้หนี้ ก็ต้องดูว่าใครก่อหนี้ขึ้นมา ก่อนวิกฤติการณ์ทางการเงินปี 2540 ผู้ที่ต้องร่วมรับผิดชอบ คือ บริษัทเงินทุนต่างๆ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแล มีอดีตผู้บริหาร ธปท.คนหนึ่ง คือ นายเริงชัย มะระกานนท์ ถูกตัดสินว่ามีความผิด นอกจากนี้ กระทรวงการคลังก็จะปฏิเสธ ความรับผิดชอบไม่ได้ ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องรับผิดชอบร่วมกัน

วิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 เป็นการเอาเงินไปอุดให้ระบบสถาบันการเงินอยู่ต่อไปได้ ให้ผู้ฝากเงินสามารถถอนเงินจากบริษัทเงินทุน หรือไฟแนนซ์ได้ เพราะถ้าไฟแนนซ์ล้ม คนฝากเงินก็เดือดร้อน ก็ต้องเข้าไปดูแล รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังก็ต้องเข้าไปดูแล ซึ่งกองทุนฟื้นฟูเกิดขึ้นมาตั้งแต่วิกฤตราชาเงินทุน เมื่อปี 2522 แล้วต่อมาก็มวิกฤตการเงินในปี 2527-2528 ก็มีวิกฤตสถาบันการเงินอีก โดยหลักการของกองทุนฟื้นฟูฯ ยังไม่เปลี่ยนแปลง คืออุ้มทั้งหมด อุ้มทั้งสถาบันการเงิน ดูแลผู้ฝากเงินไม่ให้เดือดร้อน ดังนั้น ทั้งสถาบันการเงิน ธปท. และกระทรวงการคลัง ก็ต้องมาร่วมใช้หนี้ด้วย

ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ รองคณบดีคณะพัฒนาธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านบาท สุดท้ายไม่พ้น เงินภาษีประชาชน ประชาชนก็ต้องจ่ายยู่ดี ที่รัฐบาลทำเรื่องนี้เพราะว่าฝ่ายบริหารต้องการจะก่อหนี้ใหม่ เพื่อมาฟื้นฟูประเทศ แต่ติดเงื่อนไขสัดส่วนภาระหนี้ในงบประมาณ จึงต้องหาวิธีการ ที่จะทำให้ไม่เสียวินัยทางการคลัง จึงต้องโอนหนี้ให้ ธปท.เพื่อจะก่อหนี้ใหม่ได้ เป็นการตกแต่งบัญชีประเทศให้มันดูสวยงาม ดูว่าหนี้ลดลง แต่หนี้ก็คือหนี้ ต้องมีคนจ่ายอยู่ดี

นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า วิกฤตเมื่อปี 2540 เกิดขึ้นเพราะตอนนั้นเราไม่เข้าใจเรื่องวิศวกรรมทางการเงิน คือ การจับแพะชนแกะ อย่างกรณีซับไพรม์มีการออกตราสารหนี้อ้างอิงกันหลายๆ ทอดทำให้หนี้เริ่มต้นจำนวนไม่มาก แต่รวมๆแล้วเพิ่มปริมาณขึ้นหลายเท่า ประการที่ 2 คือ เรื่องการบริโภคนิยมมากเกินไป สุดท้ายก็เกิดปัญหา ทำให้มีการปิด 56 บริษัทเงินทุน เรื่องนี้ต้องร่วมกันรับผิดชอบ หนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ของประเทศชาติ การโยกหนี้ไม่ทำให้หนี้หายไป เหมือนหนี้ของสามีภรรยา เป็นหนี้ของครอบครัว การโยกหนี้จากสามีไปให้ภรรยาไม่ทำให้หนี้ของครอบครัว หายไป

หนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ กฎหมายกำหนดว่าเป็นหนี้ขอรัฐบาล กองทุนฟื้นฟูฯระดมทุน โดยรัฐบาลออกพันธบัตรเพื่อเอาเงินให้กองทุนฟื้นฟูฯไปใช้ กระทวงการคลังจ่ายดอกเบี้ยให้ ส่วนเงินต้นที่จะจ่ายคืนให้เอาจากกำไรของ ธปท. แต่ ธปท.ไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไร เพราะ ธปท.มีพันธกิจ ทำให้ไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นได้ กระทรวงการคลังก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยจากเงินงบประมาณทุกปีๆ ปีละ 5-6 หมื่นล้านบาท การออก พ.ร.ก.ครั้งนี้ออกมาเพื่อลดภาระดอกเบี้ยของรัฐบาล โดยโอนภาระมาให้สถาบันประกันเงินฝาก เอาเงินแบ่งไปใช้จ่ายดอกเบี้ย

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า สาระสำคัญของพรก.ที่กำหนดไว้ ไม่ใช่การโอนหนี้ไปให้ ธปท. แต่ให้ใช้กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นพาหนะ และ ธปท.เป็นผู้ขับเคลื่อน การบริหารจัดการหนี้นี้ ให้ ธปท.มีแหล่งเงินช่วยจัดการจาก 3 แหล่ง คือ จากกำไรของ ธปท. จากบัญชีผลประโยชน์ทุนสำรองเงินตรา และเพิ่มเติมอีก คือ ให้ ธปท.เรียกเงินนำส่งจากสถาบันการเงินได้อีกเพื่อแก้ปัญหาหนี้ เงินจ่ายดอกเบี้ยก็ให้เก็บจากระบบสถาบันการเงิน

“ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย แล้วรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้แทนตลอดก็เป็นการรีดจากเงินภาษีของประชาชนทุกคน เป็นธรรมหรือไม่ การแก้ปัญหาสถาบันการเงิน แต่เอาเงิน จากชาวบ้านทุกคน การแก้ไขคราวนี้แทนที่จะเอาจากภาษี ก็เปลี่ยนมาให้ภาระอยู่กับคนที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการดูแลระบบสถาบันการเงินในอดีต ส่วนที่กังวลว่าสถาบันการเงินจะโยนภาระให้ลูกค้า ยังมีวิธีการที่จะไม่ให้สถาบันการเงินโยนภาระไปให้ลูกค้า คือ ทำให้สถาบันการเงินเอากำไรน้อยลง รัฐบาลจะลดภาษีให้ สถาบันการเงินจาก 30% เหลือ 23% และปีต่อไปก็จะลดเหลือ 20% และในอนาคต ฐานเงินฝากของธนาคารมีแต่จะโตขึ้น จำนวนเงินฝากที่ไหลเข้ามามีแต่จะโตขึ้น ภาระที่สถาบันการเงินจะผลักให้ลูกค้าอาจจะไม่มากอย่างที่คิด ถ้าผลักภาระมากลูกค้าก็จะไปหาสถาบันการเงินอื่น” นายธีระชัยกล่าว

รศ.คิมกล่าวว่า การเอาเงินจากสถาบันการเงิน โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และให้ ธปท.บริหารหนี้ ในหลักการไม่น่าขัดข้อง แต่กระทบแน่ระดับหนึ่ง กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน เพราะอนาคตไม่ได้คุ้มครองเงินฝากเต็ม 100% ถ้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากต้องเอาเงินมาใช้หนี้ ทำให้เงินกองทุนของสถาบันฯ ร่อยหรอไป และอีกด้านหนึ่งจะกระทบต่อผู้ถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ที่ต้องรับภาระเพิ่มขึ้น ทำให้แบงก์กำไรลดลง ราคาหุ้นแบงก์อาจลดลงบ้าง จะบรรเทาผลกระทบนี้อย่างไร

นายธีระชัยกล่าวว่า ตอนนี้สถาบันคุ้มรองเนิฝาก สะสมเงินได้เกือบ 8 หมื่นล้านบาทแล้ว และกระบวนการแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินในอนาคต ไม่จำเป็นต้องปิดแบงก์คืนเงินฝากอย่างเดียว อาจแก้ปัญหาโดยการควบรวมกิจการ ซึ่งจะใช้เงินไม่มาก ส่วนเรื่องการปรับอัตราการส่งเงิน กระทบต่อกำไรของแบงก์ เราก็ต้องกระตุ้นให้มีการแข่งขัน ขยายธุรกิจ ดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ มีวิธีบริหารจัดการ ให้ไม่กระทบกระเทือนผู้ฝาก ผู้กู้ และผู้ถือหุ้น

ดร.ศาสตรากล่าวว่า การให้กองทุนฟื้นฟูฯรับผิดชอบ 1.14 ล้านล้านบาท โดยมี ธปท.บริหารจัดการ จะยังถือเป็นหนี้สาธารณะหรือเปล่า และถ้าธปท.ใช้หนี้ก้อนนี้ไม่ได้ สุดท้ายจะกลับมาเป็นภาระหนี้รัฐบาลอยู่ดี

นายธีระชัยกล่าวว่า การใช้กองทุนฟื้นฟูฯเป็นพาหนะ ซึ่งหนี้อยู่ในรูปแบบพันธบัตรรัฐบาล ต่อไปนี้เมื่อพันธบัตรรัฐบาลครบกำหนด การบริหารจัดการต้องทำให้ ประชาชนมั่นใจ เมื่อเงินไหลเข้าเพียงพอ สามารถจ่ายดอกเบี้ย จ่ายเงินต้นได้ พอพันธบัตรครบอายุ อาจจะไม่ต้องออกพันธบัตรใหม่ก็ได้ กระทรวงการคลังก็ไม่ต้อง ค้ำประกันให้อีก นอกจากนี้ ฐานเงินฝากที่จะโตขึ้นตลอด ถ้าเก็บเงินจากฐานเงินฝากเก็บ 1% ก็ได้ 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกินจากภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ที่ผ่านมาการ ปล่อยหนี้นี้ผ่านมา 14 ปี ถ้าไม่ทำตามแนวทางนี้ โอกาสในการชำระหนี้เบ็ดเสร็จจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ไม่มีคำตอบ

นายสมชายกล่าวว่า สถาบันประกันเงินฝาก ถ้ารับไม่ไหว สุดท้ายกระทรวงการคลังก็ต้องเข้าไปค้ำประกันอยู่แล้ว ที่เสียดายคือการออกเป็น พ.ร.ก.แทนที่จะออกเป็น พ.ร.บ. ตนเห็นด้วยว่าจำเป็นต้องแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งเป็นโอกาสที่รัฐบาลได้แสดงฝีมือ แต่ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างสง่างามอย่างไร เรื่องการชำระดอกเบี้ยชัดเจน แต่เรื่องเงินต้น 1.14 ล้านล้านบาท พ.ร.ก.ฉบับนี้ระบุว่าให้เอา 90% ของกำไรไปจ่าย แต่ไปเติมว่า ให้จ่ายเมื่อล้างขาดทุนสะสมหมดแล้ว ยังไม่ชัดเจนว่า 1.14 ล้านล้านบาทจะจ่ายเมื่อไหร่

นายธีระชัยกล่าวว่า จากแนวโน้มดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้ภาระดอกเบี้ยจะลดลงเหลือประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ถ้าสถาบันฯเก็บเงินจากธนาคารได้เกินดอกเบี้ย ส่วนที่เหลือก็สามารถจ่ายคืนเงินต้นได้ ส่วนเวลาในการจ่ายหนี้จะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้น การออก พ.ร.ก. เพื่อให้ความยืดหยุ่นกับ ธปท. เพิ่มเครื่องมือให้ ธปท.ลดต้นเงินและดอกเบี้ยได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

รศ.คิมกล่าวว่า เดิมดอกเบี้ย 5-6 หมื่นล้านบาท กระทรวงการคลังจ่ายมาหลายปีรวมแล้ว 6.7 แสนล้านบาทไปแล้ว ถ้าปล่อยต่อไปคงไม่ไหว ต่อไปข้างหน้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากเป็นคนจ่ายดอกเบี้ย โดยไปเอาเงินจากธนาคารพาณิชย์มาจ่าย เดิมเคยเก็บจากธนาคาร 0.4% ของเงินฝาก ถ้าเก็บเต็ม 1% ตามที่กฎหมายอนุญาต ก็จะได้เงิน 7 หมื่นล้านบาท แต่ต่อไปถ้าเก็บเงินมากขึ้น แบงก์อาจจะขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ หรือลดดอกเบี้ยเงินฝากก็ได้ หรือถ้าการแข่งขันสูงแบงก์ก็จะรับภาระบางส่วนไว้ บางส่วนก็ผลักให้ลูกค้า แต่ถ้าแบงก์ฮั้วกันสูง ประชาชนก็จะไม่มีอำนาจต่อรอง

ดร.ศาสตรากล่าวว่า ยังมีความกังวลอยู่ว่าในอนาคตอาจจะเป็นแนวทางให้รัฐบาลสร้างหนี้สาธารณะเพิ่ม แนวโน้มจะสร้างหนี้สาธารณะมากขึ้น แต่ไม่มีแนวทางว่าจะชำระหนี้เมื่อไหร่ วินัยการเงินการคลังของประเทศอาจจะมีปัญหา

นายสมชายกล่าวว่า การที่โอนภาระการจ่ายดอกเบี้ย จากเดิมที่กระทรวงการคลังจ่าย ก็เปลี่ยนมาเป็นให้เก็บจากธนาคารพาณิชย์ สิ่งที่ตนเป็นห่วง คือ การผ่องถ่าย ภาระมาที่ประชาชน ความเสี่ยง คือ แบงก์จะลดดอกเบี้ยฝาก ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ อีกประการหนึ่งเศรษฐกิจยังไม่นิ่งทั้งโลก แบงก์อาจไม่รับเงินฝากเพิ่ม เพราะรับเงินฝาก เพิ่มก็ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่ม ต้องเร่งปล่อยเงินกู้เพิ่ม ซึ่งเป็นการรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ต้องเพิ่มทุน สิ่งที่จะเกิดขึ้นแบงก์อาจจะชะลอเงินฝาก ชะลอปล่อยสินเชื่อ สุดท้ายกลับมาที่จุดเดิม คือ อยากให้เรื่องนี้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยการควรออกเป็น พ.ร.บ. ให้มีการดีเบตกัน สิ่งนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่ไม่ควรโยงทุกอย่างไปอิงกับน้ำท่วม

ดร.ศาสตรากล่าวว่า ความเสี่ยงคือ เป็นห่วงที่รัฐบาลรีบร้อนก่อหนี้มากเกินไป อาจทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาที่เราต้องการอย่างที่ควรเป็น ควรจะมีการศึกษาก่อนว่ามีทางออกอย่างไรบ้าง มีทางเลือกอื่นๆ ใดบ้าง

รศ.คิมกล่าวว่า ความเสี่ยงต่อรัฐบาลเอง ถ้าค่อยๆ ทำ ให้ได้วิพากษ์วิจารณ์กัน สุดท้ายเรื่องนี้ก็จะได้รับความเห็นชอบ ส่วนทางเลือกในเรื่องนี้ ประการแรก คือ รัฐบาลปล่อยไป ทำไม่รู้ไม่เห็น จ่ายดอกเบี้ยไป ก็จะไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ปล่อยให้เป็นภาระของประเทศต่อไป ทางเลือกที่ 2 คือ เอาหนี้เข้ามาในรัฐบาลเลย รับผิดชอบชัดเจน ตั้งงบประมาณผูกพัน ใช้หนี้ทุกปี แต่รัฐบาลไม่กล้าทำเพราะเศรษฐกิจไม่ดี งบประมาณไม่เกินดุล ทางเลือกที่ 3 คือ ผลักภาระไปให้ ธปท. ทางเลือกที่ 4 ผลักภาระให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมารับผิดชอบ ผู้ที่เคยได้ประโยชน์ควรร่วมรับผิดชอบ

ความเสี่ยงด้านลบ คือถ้าทำไปแล้ว ถ้าไม่มีมาตรการเสริม ก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่น ต้องสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น ส่วนความเสี่ยงด้านบวก การแก้ไขหนี้ระบบสถาบันการเงินที่เรื้อรังมา ถ้าแก้ได้จบได้ ต่างชาติที่ติดตามดูอยู่จะชื่นชมรัฐบาลไทย ความเชื่อถืออาจจะมากขึ้นได้

นายสมชายกล่าวว่า ควรจะเอาเรื่องนี้มาคุยกันให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจ ถ้ามีใครส่งศาลรัฐธรรมนูญว่าเรื่องนี้ไม่เป็นเร่งด่วน เรื่องนี้อาจจะไม่สำเร็จ ควรทำอะไรให้รอบคอบเป็นขั้นเป็นตอน
สมชาย สกุลสุรรัตน์
รศ.คิม ไชยแสนสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น