xs
xsm
sm
md
lg

มิติแห่งธรรม ที่ชมพูทวีป (1)

เผยแพร่:   โดย: วิทยา วชิระอังกูร

ในช่วงชีวิตที่รับราชการ ผมเคยคิดและปรารถนาอยากจะไปประเทศอินเดียอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่เคยสมปรารถนา เพราะการทัศนศึกษาดูงานต่างประเทศตามระบบราชการ เขาจะเน้นให้ไปดูงานในแถบทวีปยุโรป อเมริกาเสียเป็นส่วนใหญ่ การดูงานแถบเอเชียก็เน้นกันไปที่ประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น แต่ไม่เคยมีประเทศอินเดียในสารบบเลย

เคยเกือบจะสมหวังครั้งหนึ่ง เมื่อรับราชการที่จังหวัดสระบุรี ประมาณปี 2538-39 ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชื่อ นายประยูร พรหมพันธุ์ (ไม่แน่ใจว่าเป็นญาติกับจตุพร พรหมพันธุ์ หรือเปล่า เพราะยุคนั้น แกนนำเสื้อแดงคนนี้คงยังเก็บผักบุ้งกินอยู่แถวรามคำแหง หัวหมาก) ท่านปรารภอยากไปประเทศอินเดีย แล้วประจวบเหมาะกับที่สระบุรีมีโรงงานอุตสาหกรรมของชาวอินเดียตั้งอยู่ที่อำเภอแก่งคอย ก็เลยมีการประสานงานในรูปแบบให้อินเดียเชิญคณะผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดบางส่วนไปดูงานที่ประเทศอินเดีย โดยผมเป็นหนึ่งในรายชื่อที่จะได้ร่วมคณะไปด้วย แต่แล้วก็เหมือนบาปเคราะห์หรือวาสนาที่ยังไปไม่ถึงอินเดีย ปีนั้นรัฐบาลประกาศคำสั่งพิเศษ ห้ามข้าราชการทุกกระทรวงทบวงกรมเดินทางไปต่างประเทศ โครงการก็เลยเป็นอันระงับดับสิ้นไป

มาสมหวังได้ไปอินเดียครั้งนี้ ก็เมื่อวัยล่วงหลังเกษียณอายุราชการมาแล้ว 5 ปี แต่ก็ถือว่ายังไม่สายจนเกินไป เพราะผู้ร่วมคณะเดินทางในครั้งนี้ มีรุ่นพี่สุภาพสตรีอายุ 84 และรุ่นพี่สุภาพบุรุษอายุถึง 86 ปี ร่วมคณะไปด้วย ทำให้มีกำลังใจว่ายังไม่ร่วงโรยนัก

คณะของเราได้เดินทางไปสักการบูชาสังเวชนียสถานครบทั้ง 4 แห่ง คือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา โอวาทปาติโมกข์ และสถานที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ซึ่งจะขอบันทึกรายละเอียดแต่ละแห่งไว้พอสังเขปดังนี้

สถานที่ประสูติ ที่สวนลุมพินีวัน ปัจจุบันอยู่ในอำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล เป็นพุทธสังเวชนียสถานแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศอินเดีย ในสมัยพุทธกาล ลุมพินีวัน ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ในแคว้นสักกะ บนฝั่งแม่น้ำโรหิณี  หลังพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราช ได้โปรดให้สร้างเสาหินขนาดใหญ่มาปักไว้ตรงบริเวณที่ประสูติ เรียกว่าเสาอโศก มีจารึกเป็นข้อความเป็นอักษรพราหมีว่า “พระพุทธเจ้าประสูติที่นี่”

ปัจจุบันลุมพินีวันมีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ ทางการเรียกสถานที่นี้ว่า “รุมมินเด” มีสภาพเป็นชนบท มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มาก มีสิ่งปลูกสร้างเป็นพุทธสถานเพียงเล็กน้อย แต่มีวัดทิเบตและวัดพุทธอยู่ในบริเวณนี้หลายวัด รวมทั้งวัดไทยลุมพินี ต่อมาลุมพินีวันได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2540

สำหรับสถานที่ตรัสรู้อยู่ที่พุทธคยา ตำบลคยา รัฐพิหาร ทรงตรัสรู้ที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำลีลาพัฒน์ หรือแม่น้ำ ฟัลดูร์ ปัจจุบัน มีชาวพุทธและผู้แสวงธรรมมากมายเดินทางไปสักการะบูชาต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นอนุสรณ์อันทรงคุณค่าแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และเป็นต้นศรีมหาโพธิ์ที่มีประวัติการเจริญเติบโตทดแทนกันมาอย่างน่าทึ่งตั้งแต่ต้นที่ 1 จนถึงต้นที่ 4 ในปัจจุบันนับเป็นเวลายาวนานกว่าสองพันปี

การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือตรัสรู้ ญาณ 3 ได้แก่

1. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในอดีตได้ คือระลึกชาติได้

2. จุตูปปาตญาณ ความรู้ในจุติและอุบัติเกิดของสัตว์ทั้งหลาย เรียก ทิพจักขุญาณ หรือ ทิพยจักษุญาณ บ้าง

3. อาสวักขยญาณ ความรู้ในการกำจัดอาสวกิเสส

หรือ ตรัสรู้ 
อีกนัยหนึ่งคือรู้แจ้งอริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นเอง

สังเวชนียสถานแห่งที่ 3 คือสถานที่แสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้า อยู่ทางตอนเหนือของเมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ อินเดียในปัจจุบัน (ในสมัยพุทธกาล คือแคว้นมคธ ชมพูทวีป) สถานที่นี้ปัจจุบันคือ สารนาถ (ในสมัยพุทธกาลเรียก “อิสิปตนมฤคทายวัน” แปลว่า ป่าอันยกให้แก่หมู่กวางและที่ชุมนุมฤาษี) ภายในบริเวณสารนาถ มี ธรรมเมกขสถูป เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ประกาศสัจธรรมครั้งแรกที่นี่

พระถังซัมจั๋ง เคยจาริกมาที่นี่ในราวปี พ.ศ. 1300 ได้บันทึกว่า มีพระสงฆ์จำพรรษา 1,500 รูป มีพระสถูปสูง 100 เมตร มีเสาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชรูปหัวสิงห์และสิ่งมหัศจรรย์มากมาย ซึ่งกาลต่อมาได้ถูกทิ้งร้าง เมื่อกษัตริย์โมกุลเข้าครอบครองอินเดีย จนถึงยุคสมัยที่ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกาได้มาบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง และได้รับการทำนุบำรุงจากรัฐบาลอินเดียเรื่อยมา ทำให้สารนาถ เป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาในกาลปัจจุบัน

สังเวชนียสถานสุดท้าย คือ สถานที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ตั้งอยู่ที่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร หรือ กาสยา ในเขตจังหวัดเทวริยา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สถานที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถากุนวะระกาโกฏ (Matha-Kunwar-Ka-Kot) แปลว่าตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ ปรากฏตามคัมภีร์ว่า เมืองนี้เคยเป็นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ผุสสะ เป็นสถานที่บำเพ็ญพระบารมีของพระโพธิสัตว์หลายครั้ง และเคยเป็นราชธานีนามว่า กุสาวดี ของพระมหาสุทัสสนจักรพรรดิ 

ปัจจุบันกุสินาราเป็นที่ตั้งอนุสรณ์สถานที่สำคัญ คือ พระสถูปใหญ่ที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุคู่กับพระวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพาน และมีซากโบราณสถานโดยรอบมากมาย เป็นที่ตั้งของ สาลวโนทยาน หรือป่าไม้สาละที่พระพุทธเจ้าเลือกเป็นที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน และเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

เนื่องจากเนื้อที่บทความไม่เพียงพอจะเขียนเล่าความรู้สึกประทับใจส่วนตัว ซึ่งมีอยู่มากมายในการไปอินเดียครั้งนี้ จึงขอยกยอดเป็นตอนที่ 2 ต่อไป โดยขอจบด้วย พระดำรัสสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของพระพุทธองค์ ที่ทรงเตือนมวลมนุษยโลกไว้ว่า

 “บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ในภาวะวิกฤตที่ดำรงอยู่นี้ ขอชาวไทยทุกคนพึงสดับให้ขึ้นใจด้วยเทอญ
กำลังโหลดความคิดเห็น