xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากคันไซ ตอนที่ 23

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง1

โดย...ชวินทร์ ลีนะบรรจง1

       ความเป็นสากล ชาตินิยมหรือ local bias และสวัสดิการ
               เป็นเรื่องใหญ่ที่ขัดแย้งและถูกละเลย

ซูโม่อาจเรียกได้ว่าเป็นกีฬาประจำชาติที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของคนญี่ปุ่นได้ไม่มากก็น้อย กีฬาชนิดนี้มีกติกาง่ายๆ ก็คือผู้ชนะคือผู้ที่สามารถเอาคู่ต่อสู้ออกไปจากเวทีหรือทำให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายคู่ต่อสู้ที่ไม่ใช่เท้าสัมผัสพื้นเวที ไม่มีกำหนดเวลา ไม่มีการกำหนดน้ำหนัก ดังนั้นความใหญ่หรือเล็กของร่างกายจึงไม่เป็นเงื่อนไข เช่นเดียวการแพ้ชนะส่วนใหญ่มักจะเสร็จสิ้นภายในเวลาไม่นานนัก

ด้วยความเก่าแก่ของกีฬาชนิดนี้ทำให้ซูโม่กลายเป็นกีฬาที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมของญี่ปุ่นด้วยแบบแผนประเพณีปฏิบัติที่ถูกกำหนดและสืบทอดมา ซูโม่แบ่งเป็น 6 ระดับโดยที่ระดับสูงสุดของซูโม่หรือมะคุโนอุจิ (幕内) เป็นที่รวมของซูโม่อาชีพที่มีผู้เล่นที่ได้ตำแหน่งโยโกซึนะหรือ grand champion และตำแหน่งที่รองๆ ลงไป เช่น โอเซกิ หรือ champion ที่รวมกันประมาณ 50 คน การแข่งขันในปัจจุบันถูกกำหนดเอาไว้ให้มีปีละ 6 ครั้งในจังหวัดใหญ่ๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่นโดยเริ่มต้นที่โตเกียวเรียกว่า ฮัทซึบะโชว์ ในราวเดือนม.ค.และสิ้นสุดที่ฟุกุโอกะเรียกว่าฟูยุบะโชว์ในประมาณปลายเดือนพ.ย. โดยการแข่งขันแต่ละครั้งจะแบ่งซูโม่ออกเป็น 2 สายระหว่างสายตะวันออกและตะวันตกโดยซูโม่ 1 คนจะต้องแข่ง 15 ครั้งใน 15 วันๆ ละ 1 ครั้งตามตารางการแข่งขันที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ผู้ที่มีสถิติชนะมากที่สุดใน 15 ครั้งจะเป็นผู้ชนะเลิศได้รับถ้วยรางวัลของจักรพรรดิ

สถิติแพ้ชนะเป็นสิ่งสำคัญ การเลื่อน/ลดระดับชั้นหรือตำแหน่งจะถูกพิจารณาจากผลแพ้ชนะดังกล่าว แนวทางพิจารณาง่ายๆ ก็คือ หากมีสถิติชนะมากกว่าแพ้คือชนะ 8 ครั้งขึ้นไประดับชั้น/ตำแหน่งจะไม่เปลี่ยนแปลง หรือหากสามารถชนะได้อย่างน้อย 33 ครั้งใน 3 การแข่งขันติดต่อกันก็สามารถนำมาเป็นผลงานพิจารณาเลื่อนตำแหน่งเป็นโอเซกิ ในขณะที่ตำแหน่งโยโกซึนะจะต้องเป็นซูโม่ที่มีตำแหน่งโอเซกิที่ชนะเลิศการแข่งขันอย่างน้อย 1 ครั้งขึ้นไปประกอบกับสถิติผลแพ้ชนะที่ดีเด่นที่มีมาก่อนหน้า

สมาคมซูโม่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าของการแข่งขัน มีอำนาจพิจารณาตำแหน่ง และรับผิดชอบเงินเดือนเงินรางวัลของซูโม่แต่ละคน รวมถึงการอนุญาตให้เปิดสำนัก(ค่าย)ฝึกสอนซูโม่ หรือเบยะ เพื่อส่งคนเข้าแข่งขันในลักษณะของ franchisee รายได้หลักของสมาคมมาจากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมซูโม่ 6 นัดๆ ละ 15 วันที่ในอดีตเป็นสิ่งที่หายากและต้องจองนานโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั๋วที่นั่งดีๆ ที่สามารถชมได้ใกล้ๆ เวที

ซูโม่ที่อยู่ในระดับชั้นสูงสุด นอกจากผลแพ้ชนะแล้วยังจะต้องสามารถเกล้าผมในรูปแบบที่กำหนดคือไว้ผมยาวจนสามารถรวบเป็นหางเปียแล้วพาดกลับมาข้างหน้าบนศีรษะได้ มีพิธีกรรมก่อนขึ้นเวทีคล้ายการ “ไหว้ครู” ที่เรียกว่า โดเฮียวอิริ ซูโม่ในขณะแข่งขันจะแต่งกายโดยมีแต่ผ้าคาดหรือโอบิเท่านั้นในการแข่งขัน มีพิธีการรินน้ำให้ระหว่างซูโม่ที่แข่งเสร็จ (ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ) ให้กับผู้ที่กำลังจะแข่งคนต่อไป มีการสาดเกลือไล่สิ่งชั่วร้ายและมีสายตุ้งติ้งอยู่ด้านหน้าโอบิเป็นเครื่องรางป้องกันคุณไสย การตัดสินกระทำโดยกรรมการ 6 คนนั่งข้างเวที 5 คนเพื่อยืนยันคำตัดสินของอีก 1 คนบนเวทีที่จะแต่งกายตามประเพณีอย่างสวยงาม

กีฬาซูโม่ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงจากการ “ล้มมวย” แม้ตำแหน่งสูงๆ เช่น โยโกซึนะและโอเซกิจะไม่มีการถูกลดชั้นหรือถอดถอน แต่การมีสถิติแพ้มากกว่าชนะติดต่อกันหมายถึง เรื่อง “น่าละอาย” ซึ่งหากเป็นในสมัยก่อนก็ต้องมีการเซปปุคุหรือการคว้านท้องโดยมีผู้ช่วยคอยฟันคอเพื่อมิให้ต้องเจ็บปวดมากเพื่อล้างอาย แต่ในระดับที่รองลงไปนั้นหมายความว่าอาจจะต้องถูกลดระดับชั้น/ตำแหน่งและส่งผลถึงเงินเดือน การแลก “ชนะ” ระหว่างซูโม่เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลดชั้นให้มีสถิติชนะมากกว่าแพ้จึงเกิดขึ้นและถูกจับได้เป็นเรื่องขึ้นมาจากการ SMS ของซูโม่รายหนึ่งที่มีส่วนเข้าไปพัวพันเกี่ยวกับการพนันผลเบสบอลของพวกยากูซ่า ทำให้สมาคมซูโม่ต้องออกมารับผิดชอบต่อสังคมโดยการพักการแข่งขันในปีนี้ไปช่วงหนึ่ง

เสน่ห์ของซูโม่น่าจะอยู่ที่เรื่องราวและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่สื่อสารผ่านการแข่งขันเป็นสำคัญ ในขณะที่ความสามารถในการใช้ศิลปะการต่อสู้เพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ที่ในบางครั้งอาจมีน้ำหนักมากกว่าตนเองถึง 3 เท่าออกจากเวทีไปได้นั้นก็เป็นเสน่ห์ในลีลาของแต่ละซูโม่ บางคนอาจจะใช้วิธีคลุกวงในแล้วจับผ้าคาดเพื่อยกหรือเหวี่ยงคู่ต่อสู้ หรือบางคนอาจใช้วิธีรอให้คู่ต่อสู้โถมเข้ามาแล้วยืมใช้พลังการโถมเพื่อผลักออกจากหรือกดให้ล้มลงบนเวที การเข้าจรดก่อนการปะทะเข้าหากันก็เป็นอีกวิธีในการเอาชนะคู่ต่อสู้เพราะหากทำให้คู่ต่อสู้ออกตัวก่อนในขณะที่อีกฝ่ายไม่พร้อมก็เป็นการทำลายสมาธิและล่วงรู้แผนการปล้ำ หรือแม้แต่การเพ่งมองคู่ต่อสู้ตั้งแต่เข้าเวทีเพื่อทำลายขวัญ ก็ล้วนเป็นศิลปะในการต่อสู้ที่แต่ละคนจะเลือกใช้

ซูโม่ไม่เหมือนยูโดหรือคาราเต้ที่ไม่เปิดกว้างให้คนอื่นที่ไม่ใช่ญี่ปุ่นสามารถเข้ามาร่วมการแข่งขันได้ ด้วยการเป็นกีฬาที่อาจใช้สรีระเป็นความได้เปรียบ แต่เมื่อเลิกเล่นน้ำหนักตัวที่มากก็เป็นผลร้ายต่อผู้เล่นทำให้มีจำนวนคนรุ่นใหม่เข้ามาในวงการน้อยลง ทำให้ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาคนต่างชาติสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้นในตำแหน่งสำคัญ เช่น โยโกซึนะ หรือ โอเซกิ ล้วนตกอยู่กับคนต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่นในปัจจุบันที่เพิ่งมีโอเซกิที่เกิดในญี่ปุ่นเพียงคนเดียว ขณะที่ตำแหน่งโยโกซึนะนั้นถูกต่างชาติครองโดยไม่มีคนญี่ปุ่นสามารถเป็นไปได้มาหลายปีจนถึงปัจจุบัน ทำให้สมาคมซูโม่ญี่ปุ่นออกกฎเรื่องคุณสมบัติซูโม่อาชีพว่าจะต้องเป็นญี่ปุ่นที่เกิดในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น เป็นญี่ปุ่นโดยสัญชาติก็ไม่ได้ โดยมุ่งหวังที่จะให้ต่างชาติครอบครองตำแหน่งสูงในวงการซูโม่หมดไปเพื่อที่คนญี่ปุ่นก็จะสามารถเข้ามาทดแทนได้ในอนาคต

เมื่อกฎของแหล่งกำเนิดเข้มงวดในลักษณะเน้นความเป็นชาตินิยมหรือ local bias มากขนาดนี้ ความเป็นสากลของซูโม่ก็ไม่เกิด อนาคตของซูโม่ก็น่าจะอยู่ในความถดถอยเพราะผู้ที่มีความสามารถถูกกีดกันและผูกขาดด้วยกฎของแหล่งกำเนิด ด้วยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ก็ทำนายได้อย่างแน่นอนว่าสวัสดิการและประสิทธิภาพในกีฬานี้ก็จะลดลงจากการผูกขาด

เช่นเดียวกับประเทศ แนวโน้มการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างประเทศหรือที่รู้จักในชื่อของ FTA นั้น แม้โดยหลักการจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสวัสดิการต่อสังคมที่ดีขึ้นจากการค้าระหว่างประเทศที่มีมากขึ้นก็ตาม แต่การบิดเบือนหลักการดังกล่าวก็เกิดขึ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ การลดภาษีที่เป็นอุปสรรคทางการค้าชนิดหนึ่งนั้นมิได้หมายความว่าจะเกิดการค้าเสรีตามมา หากแต่ยังมีอุปสรรคอื่นๆ ที่มิใช่ภาษีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดก็ดี หรือ มาตรการทางสุขอนามัยที่มีไว้เพื่อปกป้องผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ได้สุขลักษณะก็ดี ที่ต่างถูกนำมาใช้เพื่อกีดกันการค้าภายใต้ข้ออ้างการลดภาษีเพื่อมุ่งหวังให้มีการบริโภคหรือใช้แต่สินค้าที่ผลิตภายในประเทศแทน

การเจรจาเปิดการค้าเสรีจึงกลายเป็นการตกลงเพื่อที่จะหาหนทางหรือช่องว่างในการกีดกันสินค้าของคู่เจรจาให้ได้มากที่สุดมากกว่าที่จะเจรจาเพื่อเปิดกว้างเพื่อให้สินค้าที่ “ดี” กว่าในเชิงคุณภาพและราคาไหลหลั่งมาสู่ผู้บริโภคหรือประชาชนในประเทศของตนเองผ่านการค้าที่จะเกิดขึ้นซึ่งจะทำให้สวัสดิการของประชาชนในฐานะผู้บริโภคดีขึ้น

ดูตัวอย่างของการเจรจาการค้าแบบพหุภาคีหรือหลายๆ ประเทศขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่โดฮาเมื่อหลายปีก่อนก็ได้ว่าจนบัดนี้แล้วยังไม่สามารถตกลงมีข้อสรุปกันได้เลย ในขณะที่ข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีหรือ FTA ที่ตกลงกันได้เป็นส่วนใหญ่นั้นจะมีใครย้อนกลับมาประเมินผลดูบ้างหรือไม่ว่าการกีดกันลดลงไปมากน้อยเพียงใดสมดังวัตถุประสงค์ของคู่เจรจาหรือไม่ เพราะมูลค่าการค้าที่เพิ่มขึ้นไม่ได้บอกว่าการผูกขาดหายไป

เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อาศัยการเปิดกว้าง (openness) อาศัยความต้องการจากต่างประเทศผนวกกับประสิทธิภาพที่เกิดจากความเป็นสากลในการผลิตสินค้าหลายๆ ชนิดเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการพัฒนาประเทศตลอดมา แต่ก็ยังคงความเป็นชาตินิยม local bias เอาไว้ได้ในหลายส่วน เช่น ในภาคเกษตร ในอนาคตจะสามารถทำเช่นนี้ต่อไปได้อีกหรือไม่เพราะเป็นเงื่อนไขที่ขัดแย้งไม่สามารถไปด้วยกันได้
พิธีขึ้นเวทีหรือโดเฮียวอิริสำหรับซูโม่ทั่วไปรูปซ้าย และสำหรับโยโกซึนะรูปขวา
การจรดก่อนปล้ำและลีลาการสาดเกลือ (ภาพทั้งหมดจาก google)
*******************

1 The Japan Foundation Fellow บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน Japan Foundation ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น