xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รัฐบาล “ลูบปาก” รับศักราชใหม่ “สภาตรายาง” ปิดจ็อบเซ็นเช็ค งบประมาณ 2.38 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ
พรพัฒน์ ชุน

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-หลังจากที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการ “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555” ในวาระที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 10 พ.ย.54 และเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) 63 คน จากทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ “ชำแหละ” ก่อนสรุป และนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ในวาระ 2-3 วันที่ 4-5 ม.ค.55

ถือเป็น “ศึกใหญ่” ต้อนรับศักราชใหม่ปี 2555 ที่คอยท่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีอยู่

แต่ด้วยเหตุที่ประเทศชาติต้องประสบมหาอุทกภัยตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศการทำงานของ กมธ.งบประมาณ ที่เคยดุเดือดเร้าใจน่าติดตามในอดีต กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรใน พ.ศ.นี้ เราจึงไม่เห็นการ “ปรับ-หั่น-ลด-ทอน” งบประมาณก้อนโตเท่าที่ควร

เพราะจากข้อมูลล่าสุด งบประมาณตัวเลข 2.38 ล้านล้านบาท มีการปรับลดลงได้เพียง 2.9 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

ที่สำคัญด้วยเงื่อนไขด้านเวลาที่ กมธ.มีความจำเป็นต้องทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดในวันที่ 25 ธ.ค. ก่อนส่งรายงานให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 26 ธ.ค. เพื่อบรรจุระเบียบวาระเพื่อให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับรองร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในวาระ 2 และ 3 ระหว่างวันที่ 4-5 ม.ค.55 ก็ยิ่งทำให้ความละเอียดรอบคอบในการทำงานลดต่ำลงไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ กมธ.เอง ก็ยอมรับว่า ทำงานล่าช้ากว่าแผนที่ได้วางไว้

เพราะได้ตั้งหลักชัยไว้แล้วว่า ในขั้นตอนของวุฒิสภา ต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 23 ม.ค.55

ทั้งนี้ เหตุที่ ส.ส.-ส.ว.ต้องเร่งรีบในการพิจารณางบประมาณจนอาจขาดความละเอียดละออนั้นก็เป็นเพราะโดยปกติ การประกาศบังคับใช้ของ พ.ร.บ.งบประมาณนั้น มักเกิดขึ้นทันการเริ่มปีงบประมาณใหม่ ในเดือน ต.ค.ของทุกปี

แต่ในปี 54 ได้มีการยุบสภาฯ ในช่วงเดือน พ.ค. และมีการเลือกตั้งทั่วไปและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. จึงส่งผลให้กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายนี้จำเป็นต้องเลื่อนกำหนดเวลาออกไป จนทำให้การบังคับใช้เกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงปลายเดือน ม.ค.55 หรืออย่างช้า ต้นเดือน ก.พ.55

ดังนั้นหลังจากที่รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ก็จำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ.งบประมาณฉบับเก่าของปี 54 ไปพลางก่อน ซึ่งมีข้อจำกัดในการเบิกจ่ายงบประมาณได้เพียงในส่วนค่าใช้จ่ายประจำ และงบประมาณผูกพันเท่านั้น ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณด้านการลงทุน ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเดินหน้าโครงการประชานิยมต่างๆ ก็ต้องชะงักลง ไม่สามารถทำได้ทันที อย่างที่ประกาศไว้ในการหาเสียงเลือกตั้ง

หมายมั่นปั้นมือว่าจะเร่งเดินหน้าทำคลอดงบประมาณปี 55 ออกมาเพื่อกอบกู้คะแนนนิยมของรัฐบาลที่ลดฮวบลงอย่างรวดเร็ว หลังรับตำแหน่งได้ไม่นาน จากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาอุทกภัย และความพยายามเดินหน้าทำงานเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บุคคลเพียงคนเดียว และพวกพ้องเท่านั้น และก็เป็น “ข้ออ้าง” ที่ กมธ.ซีกเพื่อไทย ออกมาระบุว่า เหตุที่ต้องเร่งการทำงบประมาณให้แล้วเสร็จตามกำหนด ก็เพื่อให้รัฐบาลสามารถมีเงินในการดำเนินมาตรการเยียวยาฟื้นฟูภายหลังน้ำลด

ยอมรับกันตรงๆว่ารัฐบาล “ร้อนเงิน”

ทั้งที่งบประมาณปี 55 ได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตถือความสุ่มเสี่ยงในการตั้งงบประมาณที่สูงเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งยังเป็นงบประมาณขาดดุลถึงกว่า 4 แสนล้านบาท ไม่เท่านั้นยังมีการตั้ง “รายรับ-รายจ่าย” ที่เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2554 อีกด้วย
ในส่วนของ “รายจ่าย” นั้น ที่เพิ่มขึ้นก็คงเป็นการลงทุนในส่วนของโครงการประชานิยมต่างๆ โดยเฉพาะงบกลาง ได้กำหนดให้เพิ่มขึ้นในอัตราสูงจากปีงบประมาณ 2554 ซึ่งในงบกลางจำนวนประมาณ 4.2 แสนล้านบาทนั้น จะครอบคลุมรายการค่าใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ จำนวน 1.2 แสนล้านบาท รวมไปถึงรายการค่าใช้จ่ายในการปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวให้กับข้าราชการ ประมาณ 1.28 หมื่นล้านบาท

สำหรับ “รายได้” หรือรายรับของประเทศที่วางไว้ที่ 1.98 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 12 เปอร์เซ็นต์ จากกรอบปีงบประมาณก่อน และเพิ่มขึ้นประมาณอีก 4 เปอร์เซ็นต์กว่าจากรายได้ที่จัดเก็บได้จริง ในปีงบประมาณ 2554 เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะจากสภาพความเป็นจริงที่อาจจัดเก็บได้น้อยกว่าคาด เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง

ที่สำคัญจากเหตุการณ์ “มหาอุทกภัย” ทำให้ศักยภาพของประเทศในด้านเศรษฐกิจก็ยิ่งลดต่ำลงไปอีก อย่างที่ยังไม่สามารถประเมินค่าได้ แน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 54 ซึ่งเป็นช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 55

เนื่องจากผู้ประกอบการต้องหยุด หรือชะลอการผลิต ขณะที่แรงงานบางส่วนก็อาจขาดรายได้ ทั้งยังมีผลกระทบในทางอ้อม อย่างเรื่องความเชื่อมั่นจากนานาชาติที่ถดถอยลง จนไม่เห็นทางที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลทยอยกลับสู่ภาวะที่เป็นปกติได้เลย

ดังนั้นการขาดดุลงบประมาณจริงในปีงบประมาณ 2555 อาจสูงกว่ากรอบ 4 แสนล้านบาทที่วางไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และคงจะเป็น “ข้ออ้าง” ที่รัฐบาลจะนำมาใช้ในการหางบประมาณจากแหล่งเงินทุนอื่น ผ่านแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันภัยพิบัติมูลค่าหลายแสนล้านบาท

พูดง่ายๆ คือ ตั้งธงที่จะกู้เงินจากต่างประเทศไว้แล้วนั่นเอง

ไม่เท่านั้น นอกจากกรอบงบประมาณที่ไม่สมเหตุสมผลแล้วนั้น รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี ยังเตรียมที่จะขอเพิ่มวงเงินใน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2555 ในวาระที่ 2-3 อีกกว่า 7.8 หมื่นล้านบาท โดยอ้างยุทธศาสตร์ที่สวยหรู 7 ด้าน แต่ละด้านมีค่าใช้จ่าย 1-2 หมื่นล้านบาท

อาทิ การสร้างรากฐานการพัฒนาที่สมดุลสู่สังคม การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน และ การศึกษา คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต และความเท่าเทียมกันในสังคม รวมไปถึงการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นต้น

เรียกได้ว่ารัฐบาลไม่ยอมขาดทุน เมื่อเห็นว่าจะถูกหั่นงบ ก็ตั้งท่าขอเพิ่งวงเงิน เหมือนเป็นการ “เกทับ” กันในวงพนัน

ท้ายที่สุดงบประมาณก้อนโต 2.38 ล้านล้านบาท ก็กลายเป็นอาหารอันโอชะของฝ่ายบริหาร โดยที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถทัดทานใดๆได้เลย แม้ว่าวุฒิสภา ที่ได้ตั้ง กมธ. 27 คนไว้คอยชำแหละงบประมาณปี 55 นี้แล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดอำนาจของสภาสูง ที่ทำได้เพียงการตั้งข้อสังเกต ไม่สามารถปรับลดงบประมาณได้ แต่ประการใด

ทำให้สุดท้ายก็ไม่ต่างกับ “สภาตรายาง” ที่ตีตราให้ความเห็นชอบตามที่ได้รับเรื่องมา แล้วก็ได้แต่ปล่อยผ่านไป เฉกเช่นเดียวกับสภาล่าง ที่พรรคเพื่อไทย กุมเสียงข้างมากอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็คงไม่มีปัญหาใดมาขัดคอได้ในท้ายที่สุด

ก็เท่ากับว่า ท่านผู้ทรงเกียรติเสร็จสิ้นภารกิจปิดจ็อบ เซ็นเช็ค 2.38 ล้านล้านบาท ให้รัฐบาลได้ถลุงภาษีของประชาชนกันอย่างหนำใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น