xs
xsm
sm
md
lg

เชียงใหม่ปกป้องสถาบันฯท้วงมะกันจุ้นม.112แดงบุกกรุงช่วย"ไอ้กี้ร์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-เครือข่ายคนเชียงใหม่ปกป้องสถาบันฯ ยื่นหนังสือผ่านสถานกงสุลสหรัฐฯที่เชียงใหม่ ประท้วงเอกอัครราชทูต หลังแทรกแซงกิจการภายใน ด้านคนเสื้อแดงรวมตัวต้าน เปิดเพลงแทรกระหว่างร้องเพลงสดุดีมหาราชา และเพลงสรรเสริญพระบารมี หวิดวางมวย ไพร่แดงประกาศระดมสมาชิกบุกกรุง กดดันศาลปล่อยตัว"ไอ้กี้ร์" นัดออกเดินทาง 22 ธ.ค.นี้ "ธิดา" จี้เร่งย้ายแก๊งแดงมาอยู่คุกVIP "มาร์ค" ลั่นถ้าจะปรองดองต้องถอดเสื้อแดง ค้านย้าย"แก๊งแดง"มาอยู่คุกวีไอพี รัฐบาลเดินหน้าแก้รธน.50 เริ่มที่มาตรา 291 เพื่อตั้งส.ส.ร.มายกร่างใหม่ ลั่นเดินหน้าเดือนม.ค.นี้ ไม่สนกลุ่มค้าน "มาร์ค" ห่วงกระบวนการตั้งส.ส.ร. หวั่นรับใบสั่ง"แม้ว" ด้าน"ไอ้เต้น" ไม่สนประชามติ "ผู้ตรวจการฯ" ชี้ "เพื่อไทย" มีอำนาจในการแก้รธน. แต่แก้ไปก็เท่านั้น หากนักการเมืองไม่พัฒนาตัวเอง

วานนี้ (21 ธ.ค.) เครือข่ายคนเชียงใหม่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จำนวนประมาณ 100 คน ได้เดินทางมาชุมนุมที่หน้าสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือต่อนางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ผ่านทางสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาจังหวัดเชียงใหม่ ขอให้ยุติการแทรกแซงในกรณีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551 โดยมีนายทอดด์ เบทท์-โพซอน รักษาการกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้รับมอบหนังสือดังกล่าว

การชุมนุมดังกล่าวถูกต่อต้านจากกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 นำโดยนางกัญญาภัค มณีจักร หรือ ดีเจอ้อม พร้อมด้วยกลุ่มคนเสื้อแดงราว 100 คนที่ทยอยเดินทางมาสมทบ หลังทราบข่าวว่ามีการชุมนุมของเครือข่ายคนเชียงใหม่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งรวมกลุ่มอยู่ที่บริเวณเจดีย์ขาว ใกล้กับสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาจังหวัดเชียงใหม่ได้กล่าวโจมตีเครือข่ายคนเชียงใหม่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่าพยายามเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการดึงเอาสถาบันสูงสุดเข้ามาเกี่ยวข้อง

พร้อมทั้งเรียกร้องให้เครือข่ายคนเชียงใหม่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เก็บพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่เครือข่ายฯนำมาแสดงในการชุมนุม ทำให้บรรยากาศในบริเวณหน้าสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาจังหวัดเชียงใหม่ค่อนข้างตึงเครียด

เครือข่ายคนเชียงใหม่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อ่านแถลงการณ์ ระบุว่าการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน และลบหลู่กระบวนการยุติธรรมของไทย พร้อมทั้งเรียกร้องให้เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกากล่าวขอโทษ และยุติการแรกแซงในลักษณะดังกล่าว ก่อนจะยื่นหนังสือผ่านนายทอดด์ เบทท์-โพซอน รักษาการกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาจังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางการปราศรัยและตะโกนโห่ร้องต่อต้านจากกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกั้นไม่ให้เคลื่อนเข้าใกล้อีกฝ่าย พร้อมกันนี้ ยังมีการเปิดเพลงจากรถขยายเสียงของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 แทรกโดยตลอด ในระหว่างที่เครือข่ายคนเชียงใหม่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ร่วมกันร้องเพลงสดุดีมหาราชา และเพลงสรรเสริญพระบารมี ก่อนที่จะแยกย้ายกันเดินทางกลับ

ระหว่างที่เครือข่ายคนเชียงใหม่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังทยอยเดินทางกลับ คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งได้ฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมทั้งตะโกนด่าทอ และพยายามเข้าประชิดตัวผู้มาร่วมชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายฯ แต่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ เกิดขึ้น เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและคนเสื้อแดงอีกส่วนหนึ่งเข้ามาห้ามปราม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดถนนบริเวณหน้าสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาจังหวัดเชียงใหม่ และปล่อยให้กลุ่มเครือข่ายเดินทางกลับก่อน หลังจากนั้นจึงปล่อยให้กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 เดินทางกลับในภายหลัง

นางกัญญาภัค หรือดีเจอ้อม ได้กล่าวปราศรัยผ่านรถขยายเสียงหลังจากที่กลุ่มเครือข่ายเดินทางกลับแล้วว่า คนเสื้อแดงที่พยายามเข้าไปประชิดตัวกลุ่มเครือข่ายไม่ใช่คนจากกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 แต่เป็นคนที่สวมเสื้อแดงปะปนเข้ามาเพื่อพยายามสร้างสถานการณ์

**เสื้อแดงขู่บุกกรุง ช่วย “ไอ้กี้ร์”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่บ้านเลขที่ 619 ชุมชนบ้านบ่อน้ำ ต.หนองสำโรง อ.เมือง จ.อุดรธานี ร.ต.อ.กมลศิลป์ สิงหะสุริยะ ประธานสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดง เพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย นายอานนท์ แสนน่าน ผู้ริเริ่มโครงการหมู่บ้านเสื้อแดง และคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง ได้เปิดการแถลงข่าวการเดินทางไปให้กำลังใจ และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง และแกนนำและกลุ่มแนวร่วมคนเสื้อแดง

นายอานนท์ กล่าวว่า จากการที่ตนพร้อมคณะทำงานหมู่บ้านเสื้อแดงได้เดินทางไปทำการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงในภาคอีสานและภาคเหนือ ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีหมู่บ้านเสื้อแดงแล้ว 8,702 หมู่บ้าน ซึ่งทุกหมู่บ้านทุกคนเรียกร้องให้ปล่อยแกนนำ ปล่อยแนวร่วมคนเสื้อแดง เรียกร้องให้มีประชาธิปไตยไม่เป็นสองมาตรฐาน ต่อต้านรัฐประหาร และนำทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทย

ที่ผ่านมานายอริสมันต์ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทางสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงประชาธิปไตยจึงออกมาเรียกร้องทวงคืนอิสรภาพและปล่อยตัวนายอริสมันต์ ตอนที่นายอริสมันต์และแกนนำคนอื่นได้หลบหนีไปนั้น เพราะถูกหมายหัวจากทหารและอำมาตย์ จึงจำเป็นต้องเดินทางหลบหนีไป

โดยการหนีไม่ได้เป็นการหนีคดีอาญา และเมื่อบ้านเมืองสงบสุข แกนนำแต่ละคนก็เดินทางกลับมาต่อสู้ตามระบบกระบวนการยุติธรรม แต่วันนี้แกนนำต่างๆ ยังถูกคุมขัง และในฐานะสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงประชาธิปไตยที่มีทั้งหมด 8,702 หมู่บ้าน โดยเฉพาะหมู่บ้านเสื้อแดงอีสาน ล้านนา ได้มีการลงมติว่าเราจะเดินทางไปเรียกร้อง และทวงคืนอิสรภาพให้กับนายอริสมันต์ที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ โดยต้องให้มีการประกันตัว

นายอานนท์ กล่าวว่า คนหมู่บ้านเสื้อแดงที่มีในแต่ละจังหวัดจะเดินทางไปที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ โดยในแต่ละจังหวัดคนเสื้อแดงจะเดินทางไปจังหวัดละประมาณ 400-500 คน เฉลี่ยแล้วภาคอีสานก็จะได้คนประมาณ 5,000 คน ส่วนภาคเหนืออีก 5,000 คน โดยเดินทางในคืนวันที่ 21 ธ.ค. และในเช้าวันที่ 22 ธ.ค.จะเดินทางเข้าเยี่ยมและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายอริสมันต์

** "ปู" ไม่ตอบเรื่องแก้ม.112

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่สมาชิกพรรคยังมีความเห็นที่แตกต่างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ มาตรา 219 ที่ให้มีการตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ต้องขอศึกษารายละเอียดก่อน ว่าจะแก้ไขสิ่งใดบ้าง เมื่อถามว่า คิดว่าบรรยากาศช่วงนี้ เหมาะกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกันเลย

เมื่อถามถึงจุดยืนของนายกฯ ต่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสถาบันเบื้องสูง นายกฯไม่ตอบคำถาม
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องการแก้ไข มาตรา 112 ว่าเรื่องเกี่ยวกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เรื่องของการจงรักภักดี เป็นเรื่องดวงใจของประชาชน เราจะไปแตะต้องสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างไร

** "ธิดา" จี้ย้ายแก๊งแดงอยู่คุกVIP

นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธานกลุ่มนปช. กล่าวถึงกรณีกรมราชทัณฑ์เลื่อนกำหนดการเปิดเรือนจำหลักสี่ ออกไปว่า ตนได้เข้าพบรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อสอบถามถึงเรื่องนี้ พบว่าการปรับปรุงเรือนจำยังไม่แล้วเสร็จ ในเรื่องเกี่ยวกับระบบน้ำประปา จึงทำให้ต้องเลื่อนการเปิด และย้ายตัวผู้ต้องหา

นางธิดา กล่าวว่า จากการสำรวจรายชื่อผู้ถูกคุมขังที่เป็นนักโทษทางการเมือง มี 72 คนที่ถูกคุมขังอยู่ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด อาทิ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง นายสุรชัย แซ่ด่าน จากการสอบถาม ทุกคนมีความประสงค์จะย้ายไปอยู่ที่เรือนจำหลักสี่ ดังนั้นรัฐบาลควรดำเนินการในเรื่องนี้โดยเร็ว เนื่องจากผู้ต้องหาทุกคน ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายหรืออาชญากร หากเป็นไปได้ก็ต้องการให้ย้ายก่อนปีใหม่ พร้อมกันนี้ นางธิดา ยังสอบถามเกี่ยวหลักเกณฑ์การพิจารณาย้ายผู้ต้องหา ได้รับการยืนยันว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาว่าทั้ง 72 คน นั้น ใครสมควรจะได้ย้าย

นางธิดายังได้เรียกร้อง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย ในฐานะคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะคอป. เร่งเยียวยาสำหรับผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่ทหารสลายการชุมนุม ซึ่งนปช. ได้เสนอไปให้เยียวยาเป็นจำนวน 10 ล้านบาท ให้กับผู้เสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐ หากรัฐบาลเห็นว่าจำนวนเงินสูงไป ก็ต้องชี้แจงให้เข้าใจด้วย

** จะปรองดองต้องถอดเสื้อแดง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคนเสื้อแดง จะชุมนุมกดดันให้ปล่อยตัวนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างของการนำมวลชนมาอยู่เหนือกฏหมาย ถ้ารัฐบาลเปิดทางอย่างนี้ ก็จะมีมวลชนทุกกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว ในที่สุดจะปรองดองกันยากขึ้น

ดังนั้น ที่นายวัฒนา เมืองสุข กรรมาธิการปรองดองจากพรรคเพื่อไทย เสนอว่าจะใช้แนวทาง 66/23 มาแก้ปัญหา ก็ต้องสลายคนเสื้อแดง และหมู่บ้านเสื้อแดงก่อน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความปรองดองมากกว่า จึงต้องถามนายวัฒนาว่า เมื่อมีการศึกษาแนวทาง 66/23 มาเทียบเคียง ก็ต้องสลายเสื้อแดงให้ได้

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย ระบุว่า คดีก่อการร้าย รวมอยู่ในคดีการเมืองนั้น ต้องย้อนกลับไปดูการนิรโทษกรรมในอดีต หลายกรณี มีการระบุว่า การกระทำความผิดอาญา ไม่เข้าข่าย และนักโทษการเมือง หมายถึง ผู้ที่ถูกคุมขังตามคำสั่งของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่เรื่องกระบวนการของศาล

ดังนั้น ที่แกนนำเสื้อแดง หยิบยกกรณี นายอุทัย พิมพ์ใจชน ได้รับการนิรโทษกรรม ก็ไม่สามารถนำมาเทียบเคียงได้ เนื่องจากขณะนั้น นายอุทัย ถูกคุมขังโดยคำสั่งของฝ่ายบริหาร

**ค้านย้าย"แก๊งแดง"อยู่คุกVIP

นอกจากนี้ ทางพรรคกำลังจับตาเรื่องที่จะมีการแยกการคุมขัง ว่ามีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ หากเกณฑ์ในการแยกคุมขัง เป็นเรื่องของคนเสื้อแดง ก็จะเป็นการเลือกปฏิบัติแน่นอน ไม่เช่นนั้นต่อไปนี้ใครคิดทำผิดกฏหมาย ก็ใส่เสื้อแดง แล้วก็กลายเป็นคดีการเมือง ซึ่งไม่ถูกต้อง

"ถ้าเดินหน้าเลือกปฏิบัติอย่างนี้ ปล่อยให้เรื่องของการทำผิดทางอาญา หรือ การใช้สิทธิทางการเมืองที่เกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญกลายเป็นเรื่องที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ วันข้างหน้ากติกาของบ้านเมืองก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่กติกาสูงสุดที่พูดถึงการเคลื่อนไหวทางการเมือง จำกัดไว้ชัดเจนว่า ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และรวมไปถึงกรณีที่มีการกระทบถึงสิทธิผู้อื่นด้วย หากปล่อยไป บ้านเมืองจะวุ่นวายไม่จบ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

***รัฐบาลเดินหน้าแก้รธน.50

วานนี้ ( 21 ธ.ค. ) ที่รัฐสภา ได้มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญนิติบัญญัติ เป็นวันแรก โดยก่อนการประชุมได้มีการประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล โดยมีนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล เป็นประธานการประชุม โดยประธานได้แจ้งในที่ประชุม ถึงมติของพรรคเพื่อไทย ที่จะชะลอการเสนอญัตติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกไปก่อน จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม

ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการที่ ส.ส.รัฐบาลท่านใด ต้องการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอให้เป็นการดำเนินการ หรือการแสดงความคิดเห็นเป็นการส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมวิปรัฐบาล นายอุดมเดช กลับออกมาแถลงข่าวว่าที่ประชุมเห็นด้วย ที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เนื่องจากส.ส.ส่วนใหญ่ ได้ลงพื้นที่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯที่ผ่านมา ได้มีชาวบ้านทวงถามถึงนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

ดังนั้น ที่ประชุมวิปรัฐบาลจึงเห็นว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างเนื้อหาที่จะมีการแก้ไขทั้งหมด โดยจะให้รัฐบาล และส.ส.เป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาคู่กัน สำหรับช่วงเวลาในการยื่นร่างแก้ไข ควรจะเป็นภายในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มในเดือน ม.ค.เป็นต้นไป ส่วนจะยกร่างแก้ไขเสร็จเมื่อไร ขึ้นอยู่กับ ส.ส.ร.เป็นผู้กำหนด เพราะต้องให้อิสระกับ ส.ส.ร.ในการยกร่างแก้ไข รัฐบาลจึงไม่สามารถไปกำหนดกรอบเวลาได้

ส่วนกรณีที่มีหลายกลุ่มเตรียมออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะมีการแก้ไขมาตราใด และมีรูปแบบอย่างไร เราเป็นเพียงแค่เปิดทางให้มีการแก้ไข ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื้อหาจะต้องดีขึ้นไม่ใช่เลวลง กลุ่มขาประจำที่ออกมาประท้วง ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่รู้ว่าได้ประโยชน์อะไรกับรัฐธรรมนูญปี 50 หรือไม่ จึงออกมาปกป้องกันนัก

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับระยะเวลาในการประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ คือ ระหว่างวันที่ 21 ธ.ค.54 - 18 เม.ย.55 โดยมีกฎหมายที่รอการรับรองจากสภา 24 ฉบับ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ที่ต้องได้รับการรับรองจากรัฐบาาล 39 ฉบับ

**ห่วงส.ส.ร.รับใบสั่ง"แม้ว"

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้นปีหน้าว่า ต้องดูข้อเสนอ ซึ่งคงจะมีการตั้งสภาร่างขึ้นมา โดยพรรคจะจับตาดูในเรื่องเกณฑ์การตั้งสภาร่าง จะเป็นการเอื้อให้พรรคพวกเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เหมาะสมเพียงใด กระบวนการ และจุดมุ่งหมายสุดท้ายคืออะไร เพราะหากเป็นเรื่องของการปรับปรุงระบบการเมือง ทางพรรคไม่ขัดข้อง และมีข้อเสนอในการแก้ไขเพิ่มเติมจากหลายส่วน แต่ถ้ายังวนเวียนอยู่กับเรื่อง มาตรา 309 หรือ นิรโทษกรรม ก็จะเป็นตัวสร้างปัญหา

ส่วนการพิจารณาของ กมธ.ปรองดอง เท่าที่ฟังรายงานจากกรรมาธิการของพรรค ยังไม่มีข้อสรุป แต่อยูในช่วงการรับฟังความคิดเห็นกลุ่มต่างๆ ซึ่งยังเห็นไม่ตรงกัน และข้อมูลที่สู่สาธารณะ ก็ไม่ครบถ้วน

** "เต้น"ลั่นไม่ต้องประชามติ

พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ส.ส.พรรค กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทย มีความคิดเห็นแตกต่างกันในแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไข มาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้งส.ส.ร.ว่า ไม่เป็นความจริง ตนกับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ก็พูดในที่ประชุมไปในทิศทางเดียวกัน เห็นว่าน่าจะมีการทำประชาพิจารณ์ และทำประชามติ

ขณะเดียวกัน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีความเห็นที่แตกต่างออกมาว่าไม่จำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของพรรคในการหาเสียงอยู่แล้ว ซึ่งต้องมีการหารือกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม การทำประชามตินั้น แม้ว่าจะไม่ได้เป็นมติพรรค แต่เสียงส่วนใหญ่ในพรรคเห็นด้วย
ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรเปิดโอกาสการทำงานให้แก่ กมธ.ปรองดอง เสียก่อน เพื่อให้เป็นบทสรุปที่ออกมามาจากคนกลาง ไม่ได้มาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะในกลไกของ กมธ.ปรองดองได้มีสถาบันพระปกเกล้า และคอป. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นกลางและมีความอิสระเข้ามาร่วมทำงานด้วย

**"เจ๊สด"แนะทำประชามติก่อน

นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง และการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า หากจะแก้จริงก็จะควรตั้งส.ส.ร.3 ขึ้นมา เพื่อเป็นการลดกระแสต้าน และก่อนที่จะแก้ไข ต้องทำประชามติก่อน ว่ามีประเด็น หรือมาตราใดที่ควรแก้ เพื่อเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งต้องดำเนินการก่อนที่จะมีการตั้ง ส.ส.ร.ด้วย

"ประเด็นมาตรา 237 เรื่องของการยุบพรรค นั้นสมควรหรือแก้หรือไม่ ไม่ใช่แก้ไปแล้วค่อยมาทำประชามติตามหลัง เหมือนอย่างที่รัฐธรรมนูญปี 50 ที่แก้แล้วไปทำประชามติ เรื่องมันไม่จบ การกล่าวอ้างว่า ได้รับการเลือกตั้งมาด้วยเสียงประชาชนจำนวน 15 ล้านเสียงนั้น ไม่ควรเอามาอ้าง เพราะนั่นคือการเลือกตั้ง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคะแนนเสียงที่ได้มา เป็นการเลือกตั้งบุคคล ถือว่าเป็นคนละเรื่อง การทำประชามติว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้ไขมาตราใด จะทำให้ไม่มีปัญหาตามมาทีหลังเหมือนอย่างทุกวันนี้" นางสดศรี กล่าว

นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะอดีต ส.ส.ร. กล่าวว่า การที่นักการเมืองจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิที่ทำได้ และกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคเพื่อไทย ตนมองว่า เป็นการใช้ความรู้สึกมาตัดสินในการแก้ไข โดยขาดฐานข้อมูล และการวิจัย ซึ่งในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาได้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีเสียงข้างมาในสภาก็ตาม

"การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คิดถึงแต่ผลแพ้ชนะทางการเมือง โอกาสการเข้าถึงผลประโยชน์ทางการเมืองของบุคคล ซึ่งผมกังกลว่าเรื่องนี้อาจจะนำไปสู่ความล้มเหลวในระบอบประชาธิปไตยได้" อดีต ส.ส.ร. กล่าว

นายศรีราชา กล่าวอีกว่า รัฐธรรรมนูญปี 50 ที่มีหลายฝ่ายมองว่า ได้กำหนดรายละเอียดที่มากเกินไป จนทำให้เกิดความอึดอัด การบังคับใช้ไม่คล่องตัว ตนมองว่าเหตุที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดรายละเอียดนั้น เพราะประเทศไทย มีนักการเมือง และมีคนที่มีลักษณะเป็นศรีธนญชัยอยู่มาก หากคนที่จะแก้ไขโดยนำรายละเอียดออกไปนั้น ตนมองว่า ต้องขึ้นอยู่กับพื้นฐาน และวัฒนธรรมของคนในสังคมด้วย เพราะหากจะแก้ไขในรายละเอียดแล้ว คงไม่สามารถห้ามนักการเมืองโดดถีบกันในสภาฯได้

“เหลิม” ไม่แตะ ม.112

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงจุดยืนเกี่ยวกับกฏหมายอาญามาตรา 112 ว่า มันเป็นจุดยืนของตนร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มที่ ไม่เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข บ้านเมืองเติบโตมาได้เพราะมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น เราเคยยากจนเมื่อดีขึ้นมา เป็นประเทศด้อยพัฒนา และมาสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนมีความรู้มากขึ้น เป็นพระกรุณาที่ล้นพ้นจริงๆ อีกทั้งชนชาติอื่นที่มาพักอาศัยในประเทศไทยก็ได้รับพระเมตตาด้วย ดังนั้นไม่เห็นด้วยที่จะให้แก้ไข อีกทั้งทางพรรคก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ คนที่ออกมาเคลื่อนไหวถือว่าทำเรื่องไม่เป็นเรื่อง พวกว่างงาน ตนขอคัดค้านสุดลิ่มทิ่มประตูในเรื่องนี้ เพราะไม่มีเหตุผลจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายทำไม ประเทศเราเติบโตมาได้ต้องภูมิใจว่าเพราะสถาบัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเคลื่อนไหวที่ออกมาจากกลุ่มคนเสื้อแดง จะทำให้เกิดแรงเสียดทานระหว่างพรรคกับคนเสื้อแดงหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนไม่พูดว่าใครไปเคลื่อนไหวอย่างไร แต่ตนไม่เห็นด้วย

เมื่อถามว่า ในข้อเสนอของคอป.ต้องการให้แก้ ม.112 เพื่อให้การบัญญัติโทษมีมาตรฐานมากขึ้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ถ้าพูดไปก็ขัดใจกัน เพราะคณะกรรมการต่างๆที่ตั้งขึ้นมานั้นสุดท้ายมันเป็นเรื่องยากเพราะเป็นเพียงคณะกรรมการ เพราะต้องทำเป็นกฏหมาย อย่างกรณีคณะกรรมธิการปรองดองฯที่เรียกคู่ขัดแย้งมาคุยกัน ถามว่าแล้วจะคุยเรื่องอะไรกัน เพราะเป็นคู่ขัดแย้งกันอยู่แล้ว พูดไปก็ขัดใจกัน เอาเรื่องของตนดีกว่าที่ชัดเจนแตะต้องได้ จับต้องได้เป็นรูปธรรม.
กำลังโหลดความคิดเห็น