xs
xsm
sm
md
lg

ไม่จริงใจแก้ปัญหา : เหตุให้คอร์รัปชันเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ได้เขียนเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในวงราชการไปแล้ว แต่ยังไม่ได้บอกถึงแนวทางแก้ไข ดังนั้นวันนี้จะเขียนเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขเท่าที่คาดว่า ถ้ามีการดำเนินการแล้ว น่าจะทำให้คอร์รัปชันลดลงถึงแม้จะไม่ถึงกับหมดไป แต่ก็จะช่วยงบประมาณรายจ่ายของประเทศไทยแต่ละปีขาดดุลน้อยลง หรือแม้จะไม่ลดลง แต่ก็มีส่วนเหลือไปใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาด้านที่จำเป็น เช่น การศึกษา เป็นต้น ให้มากขึ้น

ในการแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านใด จะต้องแก้ที่เหตุหรือต้นตอของปัญหานั้นๆ และแนวทางที่คนไทยในฐานะที่เป็นพุทธมามกะเป็นส่วนใหญ่ ควรจะยึดถือก็คือ อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ อันเปรียบได้กับตัวปัญหา สมุทัย อันเปรียบได้กับเหตุให้เกิดปัญหา นิโรธ อันเปรียบได้กับผลที่ได้จากการแก้ปัญหา และสุดท้ายมรรค อันเปรียบได้กับวิธีการแก้ปัญหา

โดยอาศัยแนวทางการแก้ปัญหาตามนัยแห่งอริยสัจ 4 การแก้ปัญหาคอร์รัปชันก็พอจะกำหนดเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

1. การค้นหาเหตุแห่งปัญหา

ถ้ามองจากสภาพปัญหาคอร์รัปชันในวงราชการไทย ก็พออนุมานได้ว่าน่าจะเกิดจากเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.1 การศึกษาที่เน้นให้คนมีความรู้ ความสามารถในด้านการแสวงหาทางวัตถุ แต่ปล่อยปละละเลยการปลูกฝังคุณธรรม ซึ่งคนในยุคก่อนมักเตือนและพร่ำสอนทั้งในโรงเรียนและครอบครัว แต่การฝึกในปัจจุบันแม้กระทั่งหน้าที่พลเมือง สมบัติผู้ดีและศีลธรรมจรรยา เด็กรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จักทั้งพ่อแม่รุ่นใหม่ก็ไม่มีเวลาในการอบรมลูก ปล่อยให้เติบโตภายใต้การดูแลของพี่เลี้ยงและโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ ดังนี้เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จึงมีแต่ความสามารถแต่ขาดคุณธรรม

1.2 การบริหารบุคคลในภาครัฐ จะใช้ระบบอุปถัมภ์มากกว่าระบบคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการโยกย้าย แต่งตั้งในตำแหน่งที่เอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์ จะมีทั้งการเล่นพรรคเล่นพวก ระบบต่างตอบแทนและซื้อตำแหน่ง จึงกลายเป็นหนี้บุญคุณและเกิดการถอนทุนเกิดขึ้น จะเห็นได้ชัดเจนในวงการตำรวจ และศุลกากรอันเป็นสาเหตุหนึ่งของการคอร์รัปชันเพื่อทดแทนบุญคุณ และถอนทุนจากการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง

2. สภาพปัญหา และการแก้ไขป้องกันที่เป็นอยู่

ในปัจจุบันเปรียบเทียบกับแนวทางอริยสัจ 4 การคอร์รัปชันในวงราชการไทย ดังได้บอกไปแล้วในวันอังคารที่แล้ว แต่เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มองเห็นประเด็นแห่งปัญหาชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอสรุปให้เห็นอีกครั้งดังต่อไปนี้

2.1 เกิดจากงานจัดซื้อจัดจ้างในส่วนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ และใช้งบลงทุนในภาครัฐ และใช้เงินกู้ในรัฐวิสาหกิจจะเกิดการคอร์รัปชันในหลายๆ รูปแบบมีตั้งแต่การล็อกสเปกเพื่อให้ผู้ขายหรือผู้รับเหมารายใดรายหนึ่งได้งานไปจนถึงการฮั้วประมูลในกรณีที่เกิดประมูลทั่วไป และงานจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ จะจัดทำในรูปแบบของกรรมการซึ่งแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจสูงสุดของส่วนราชการนั้นๆ จึงง่ายต่อการแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ ถ้าผู้แต่งตั้งร่วมมือกับพ่อค้า และข้าราชการได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ

นอกจากงบลงทุนที่ดำเนินการในรูปของโครงการแล้ว งบทำการก็ดี การคอร์รัปชันเกิดขึ้นในหลายรูปแบบมีตั้งแต่ทำล่วงเวลาเกินความจำเป็น และไม่เป็นไปตามการบริหารต้นทุน ในส่วนของค่าใช้จ่าย ในส่วนของเงินเดือนและค่าจ้าง เช่น ไม่ทำงานในเวลาปกติ แต่ไปทำล่วงเวลาและแทนที่จะจ้างคนเพิ่มในรูปของการจ้าง part time ในช่วงที่มีงานเพิ่มแต่ไม่ต่อเนื่องยาวนานกลับทำงานล่วงเวลาทำให้งานไม่ได้เนื้องานเนื่องจากคนล้าจากงานในเวลามาแล้ว และแถมเปิดช่องให้คนไม่ทำงานในเวลาเก็บไว้ทำล่วงเวลา เป็นต้น นี่เป็นการคอร์รัปชันรูปแบบหนึ่ง

ส่วนการแก้ไขและป้องกันเท่าที่ทำอยู่ในส่วนราชการขณะนี้ แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ

ทำการตรวจสอบภายในเพื่อแก้ไขและป้องกันงานส่วนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนงานตรวจสอบภายในซึ่งมีอยู่ทั้งในระดับกรม และระดับกระทรวง

แต่งานตรวจสอบเท่าที่เป็นอยู่ทำได้ แต่ทำการตรวจสอบจากเอกสารปฏิบัติการในปีที่ผ่านมา และตรวจกันปีละครั้งเดียว ทั้งการตรวจสอบก็จำกัดอยู่ในเรื่องรายจ่ายจากงบทำการ เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าเดินทาง ค่าที่พัก เป็นต้น และในบางหน่วยงานที่มีการจัดเก็บรายได้จากค่าเช่า ค่าธรรมเนียม เป็นต้น ก็มีการตรวจในส่วนนี้ด้วย

แต่เมื่อตรวจพบว่ามีการกระทำผิดระเบียบกฎหมาย หรือวิธีปฏิบัติก็มีการทักท้วงรวมไปถึงการเรียกเงินคืนในรายที่พบว่าจ่ายเงินเกิน แต่จะมีการลงโทษถึงขั้นตั้งกรรมการสอบสวน และหากพบว่ามีความผิดก็จะมีการลงโทษหักเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน ส่วนจะถึงขับไล่ออกมีอยู่น้อยมาก จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้คนทำผิดเข็ดหลาบ และไม่กล้ากระทำผิดอีก

สำหรับงานโครงการที่มีการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินมากๆ จากงบลงทุนไม่ค่อยปรากฏว่าหน่วยงานตรวจสอบภายในของส่วนราชการใดตรวจพบความผิด และมีการดำเนินการถึงขั้นลงโทษ จะมีก็เพียงรายที่ตกเป็นข่าวทางสื่อ หรือมีคนไปยื่นฟ้อง ป.ป.ช.และมีการสอบสวน แต่สอบสวนแล้วส่วนใหญ่จะได้คนผิดระดับล่างๆ หรือข้าราชการผู้น้อย ส่วนตำแหน่งใหญ่ๆ ที่รับนโยบายโดยตรงมาจากฝ่ายการเมืองมักจะรอดไปได้ จึงไม่มีน้ำหนักพอจะป้องกันคอร์รัปชันได้

3. แนวทางแก้ไขและป้องกัน โดยอาศัยหลักอริยสัจ 4 ก็ควรจะเริ่มต้นด้วยการจัดการศึกษาควบคู่ไปกับการฝึกอบรมเพื่อปลูกฝังคุณธรรมให้แก่เด็กเพื่อให้โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีคุณธรรม

อีกทั้งในส่วนงานบริหารงานบุคคลในภาครัฐ จะต้องเลิกใช้ระบบอุปถัมภ์ ระบบต่างตอบแทน และที่สำคัญคือระบบซื้อขายตำแหน่งจะต้องไม่ให้มีอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันมิให้คนเลวมามีอำนาจในการปกครอง แต่จะต้องใช้ระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อให้โอกาสคนดีมีอำนาจในการปกครอง

ถ้าทำ 3 ประการที่ว่านี้ได้ เชื่อว่าไม่นานต่อจากนี้ ประเทศไทยจะคอร์รัปชันลดลงถึงแม้จะไม่หมดไปก็เชื่อว่าอยู่ในระดับที่นักลงทุนต่างชาติจากประเทศที่เจริญแล้วยอมรับได้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น