xs
xsm
sm
md
lg

"กี้ร์"อ้างถูกไล่ล่าศาลนัดฟังคำสั่ง19ธ.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"อริสมันต์"ให้การศาลไม่ได้หลบหนี แต่ถูกไล่ล่าจับตัวขึ้น ฮ. ยันรักสงบ ไม่นิยมความรุนแรง ส่วนที่พูดปลุกระดมราชประสงค์ เพราะต้องการปรามเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้ปฏิวัติ ศาลนัดฟังคำสั่ง 19 ธ.ค. บ่าย 2 โมง "เทือก"มั่นใจสลายเสื้อแดงมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯคุ้มครอง

วานนี้(14 ธ.ค.)เวลา 10.00 น.ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อายุ 47 ปี แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำเลยในคดีร่วมกันก่อการร้าย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัวต่อศาลอาญา ครั้งที่ 2 รวม 3 คดี คือคดีก่อการร้าย ที่ น.ส.ศันสนีย์ นวลสนิท เป็นนายประกันวางเงินสด จำนวน 4 ล้านบาท คดีหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หมายเลขคดีดำที่ อ.4177/2552 และคดีหมิ่นประมาท พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. หมายเลขคดีดำที่ 1463/2553 ซึ่งนางระพิพรรณ พงษ์เรืองรอง อายุ 38 ปี ภรรยานายอริสมันต์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้ใช้ตำแหน่ง ส.ส. ตีราคา 1,350,600 บาท ขอประกันตัว เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา และศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริง

**ยืนยันไม่ได้หนี แต่ถูกไล่ล่า**

นายอริสมันต์ ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เบิกความสรุปว่า ที่ผ่านมาไม่คิดจะหลบหนีศาล แต่ตนหนีความตาย เนื่องจากตลอดเวลาได้พยายามติดต่อขอมอบตัว แต่ได้รับแจ้งว่าจะไม่ปลอดภัย โดยมีเหตุการณ์ที่ทำให้เชื่อว่าชีวิตตนตกอยู่ในอันตราย ประกอบด้วย
1. เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2552 มีตำรวจ แต่งกายนอกเครื่องแบบบุกเข้ามาที่บ้านจับตัวตนและพาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ และมีการพยายามให้ตนเซ็นรับทราบข้อกล่าวหา แต่ไม่ให้ตนพบญาติและทนายความ
2.มีความพยายามจะอุ้มตัวตน โดยมีเจ้าหน้าที่ข่าวกรองชี้เป้า
3.ขณะอยู่ที่จังหวัดเชียงรายมีตำรวจบุกเข้ามาประชิดตัวโดยมีอาวุธครบมือ
4.มีการบุกจับตัวที่โรงแรมเอสซีปาร์ค
5.มีข่าวแจ้งว่าให้ตนระวังตัว เนื่องจากเป็น 1 ใน 3 เป้าสังหาร ซึ่งมีนายจตุพร พรหมพันธุ์ และพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธแดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ซึ่งถูกลอบสังหารรวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ หลังการสลายการชุมนุม ยังมีแกนนำแนวร่วม นปช. จังหวัดต่างๆ ถูกฆ่าตาย เช่น อ้วน บัวใหญ่ แดง คชสาร รวมถึงนายอดิศร เพียงเกษ นายพายัพ ปั้นเกตุ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ นายอารี ไกรนรา นายชินวัตร หาบุญพาด ก็ถูกไล่ล่าต้องหลบหนี กระทั่งบ้านเมืองมีความสงบจึงกลับมามอบตัวและได้ประกัน

**อ้างรักสงบไม่นิยมความรุนแรง**

นายอริสมันต์ เบิกความว่า หลังมีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ตนจะขอเข้ามอบตัวและสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่มีผู้ใหญ่หลายคนบอกให้ชะลอการมอบตัว เพราะไม่ได้รับการยืนยันว่าจะปลอดภัย และตนเกรงว่าจะเป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย จึงเสียสละไม่กลับมา จะรอจนการเลือกตั้งจบลงด้วยดี และได้รัฐบาลเป็นที่เรียบร้อย แต่ปรากฎว่าช่วงประสานงานกลับมามอบตัวเกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ จึงรอให้สถานการณ์น้ำแห้งลง และทราบข่าวว่ามี ส.ส.หลายพรรคร่วมเป็นกรรมาธิการปรองดองแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศชาติเกิดความสามัคคี ตนเห็นเป็นโอกาสอันดี และอยากเห็นบ้านเมืองเกิดความปรองดอง จึงเข้ามอบตัว

“ตลอดเวลาผมเป็นผู้ถูกกระทำ ยืนยันว่าตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผมเป็นคนรักสงบ มีความยุติธรรม ไม่นิยมความรุนแรง เป็นคนเรียบร้อย เที่ยงตรง จะต่อสู้ในกรอบของกฎหมาย พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ต่อสู้คดีต่อศาลอย่างไม่ผิดเงื่อนไขในทุกคดี”

ต่อมาอัยการโจทก์ ได้ซักค้านโดยอ่านคำพูดของนายอริสมันต์ เมื่อครั้งชุมนุมที่แยกราชประสงค์ และเรียกร้องให้กลุ่มเสื้อแดงเผากรุงเทพฯ ซึ่งนายอริสมันต์ ได้เบิกความตอบคำถามซักค้านว่า ที่พูดไปอย่างนั้น เพราะต้องการปรามเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้ปฏิวัติและทำร้ายประชาชนด้วยอาวุธสงคราม ซึ่งการชุมนุมทุกครั้งก็มีตรวจค้นผู้เข้าร่วมชุมนุมตลอด ไม่พบว่ามีใครพกมีดหรือขวดแก้วเข้ามาในที่ชุมนุม

**เผยถูกจับขึ้น ฮ.**

จากนั้นศาลเริ่มตั้งคำถามไต่สวนเอง โดยศาลถามว่าที่จำหลบหนีอ้างไม่ได้รับความปลอดภัยในเหตุการณ์วันที่ 12 เมษายน 2553 เป็นอย่างไร นายอริสมันต์ ตอบว่า มีกลุ่มชายฉกรรจ์มาจับขึ้นเฮลิคอปเตอร์ และพยายามบังคับให้เซ็นต์เอกสารบอกว่าจะให้ประกันตัวที่ศาลอาญา กรุงเทพ แต่เฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวกลับไปจอดที่กองบินตำรวจ มีเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธสงครามพาไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์อีกลำ ตนถามว่าจะพาไปไหนแต่ไม่ได้รับคำตอบ ขณะนั้นตนเกิดความสับสนเชื่อว่าชีวิตกำลังตกอยู่ในอันตราย เพราะจากอดีตหากมีการจับแกนนำต่อต้านรัฐบาลจะต้องถูกฆ่าตาย ลูกเมียก็ไม่ทราบว่าถูกคุมตัว ขอพบทนายก็ไม่ได้ จึงต้องต่อสู้กับคนบนเฮลิคอปเตอร์จนมีการยอมให้ลงมาพบกับนายจตุพร นำเรื่องไปแจ้งนักข่าวที่เวทีปราศรัยหน้าทำเนียบรัฐบาล ส่วนตนถูกคุมตัวไปที่ค่ายนเรศวร และได้รับการปล่อยตัวที่ศาลจังหวัดพัทยาคดีบุกรุกโรงแรมรอยัล คลิฟฟ์ บีช รีสอร์ท

ศาลถามต่อว่าที่จำเลยระบุว่าเป้าหมาย คือ จำเลย พล.ต.ขัตติยะ และนายจตุพร นั้นได้ข้อมูลมาจากที่ใด นายอริสมันต์ เบิกความว่ามาจากนักข่าว ข้าราชการทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาแจ้งข้อมูลหลังเวที โดยตนได้ร่วมชุมนุมที่แยกราชประสงค์จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นวันที่มีการสลายชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงร่วมกับนายณัฐวุฒิ และนายจตุพร โดยก่อนการชุมนุมทางแกนนำได้มีการเจรจากับรัฐบาลโดยมีวุฒิสภาเป็นคนกลางในวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 มีเงื่อนไขที่ตนรับไม่ได้คือให้แกนนำทั้งหมดมอบตัวและจะอนุญาตให้ประกันตัว ยกเว้นตนเพียงคนเดียว จึงเชื่อว่าชีวิตตนคงไม่ปลอดภัย หลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายชุมนุมวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ตนจึงต้องหลบหนี ส่วนแกนนำคนอื่นสามารถเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ได้

**ปฏิเสธล้มประชุมอาเซียน**

ศาลถามต่อไปว่าที่จำเลยตกเป็นเป้าหมายมาจากสาเหตุใด นายอริสมันต์ เบิกความว่า มาจากการที่ตนนำประชาชนไปยื่นหนังสือถึงผู้นำประเทศอาเซียน ที่มีการจัดการประชุมที่โรงแรมรอยัล คลิฟฟ์ บีช รีสอร์ท พัทยา ในวันที่ 10 เมษายน 2552 แต่ขณะเดินทางกลับพบกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 2,000 คน ซึ่งเป็นคนของเจ้าหน้าที่รัฐ สวมเสื้อสีน้ำเงินด้านหน้าเขียนข้อความปกป้องสถาบัน ด้านหลังมีข้อความ สงบสามัคคี มาขวางทางและลอบทำร้ายทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บต้องไปแจ้งความที่ สภ.พัทยา จากนั้นอีกวันได้นำผู้ชุมนุมไปขอความเป็นธรรมให้รัฐบาลชี้แจง แต่ระหว่างทางก็ถูกชายฉกรรจ์กลุ่มดังกล่าว ใช้อาวุธปืนยิง ระเบิดขว้าง มีดแป๊บเหล็กรุมทำร้าย มีผู้ถูกยิง 3 คน มีนายทหารพาไปหลบที่หน้าโรงแรมรอยัล คลิฟฟ์ฯ แต่ก็ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ตามมาทำร้าย จึงต้องพาประชาชนไปหลบในโรงแรมแต่ไม่ใช่ส่วนที่มีการจัดประชุมผู้นำอาเซียน โดยการเหตุที่ต้องมีการเลื่อนประชุมผู้นำอาเซียนเนื่องมากจากการที่รัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามคนเสื้อแดงได้ว่า มาเป็นรัฐบาลด้วยความชอบธรรมหรือไม่ ทำให้ผู้นำอาเซียนต่างตัดสินใจเลื่อนการประชุมเอง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีการเข้าใจว่าตนเป็นคนนิยมความรุนแรง นำประชาชนล้มการประชุมผู้นำอาเซียน

ส่วนการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุมที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค นั้น ตนไม่ได้ต่อสู้ขัดขวางหรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่เป็นการหนีเอาชีวิตรอดด้วยการใช้สายไฟโรยตัวหนีจากห้องพัก จากนั้นขอร้องให้นายตำรวจยศ พันตำรวจเอก พากลับไปส่งที่เวทีชุมนุมแยกราชประสงค์ เพื่อความปลอดภัย ไม่ได้จับตำรวจเป็นตัวประกันแต่อย่างใด

**วอนศาลปล่อยตัว**

ศาลถามต่อว่า ถ้ารัฐบาลนี้ยังอยู่เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา แต่หากภายภาคหน้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จำเลยจะให้คำมั่นอย่างไรที่จะให้ศาลเชื่อว่าถ้าให้ประกันตัวแล้วจะไม่หลบหนีหรือก่อเหตุภยันตราย ปลุกปั่นยั่วยุประชาชนให้เกิดการกระด้างกระเดื่อง นายอริสมันต์ เบิกความว่า ตนมั่นใจกระบวนการยุติธรรมและความบริสุทธิ์ของตน ยืนยันจะไม่หลบหนี จะขอต่อสู้คดีและจะไม่ทำผิดซ้ำอีก ส่วนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงจากนี้จะเลี่ยงการชุมนุมที่หมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมาย เพราะเราเรียกร้องประชาธิปไตยต้องกระทำภายใต้รัฐธรรมนูญ การกระทำของตนที่ผ่านมาเนื่องจากตกเข้าไปอยู่ในเกมที่สลับซับซ้อน จนทำให้ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ จึงมีคำพูดปลุกปั่นประชาชน แต่หากได้รับความเมตตาจากศาลให้ประกันตัว จะขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความปรองดอง และพร้อมทำตามเงื่อนไขของศาลทุกประการ

**นัดฟังคำสั่ง 19 ธ.ค.54**

ศาลถามว่ามีข้อเสนอพิเศษ ที่จะให้ศาลมั่นใจอย่างไร หากศาลให้ประกันตัว นายอริสมันต์ ตอบว่า จะขอยุติการชุมนุมทางการเมือง และจะให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวสิทธิและหน้าที่ของประชาชน เพื่อเข้าสู่ความปรองดองสมานฉันท์ หากผิดสัญญาเงื่อนไขให้ศาลลงโทษได้ทันที และพร้อมรายงานตัวตามวันเวลาที่ศาลกำหนดโดยไม่มีข้อขัดข้อง

ภายหลังศาลไต่สวนนายอริสมันต์ และพยานปากอื่นเสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายอริสมันต์ หรือไม่ในวันที่ 19 ธันวาคม นี้ เวลา 14.00 น.

ภายหลังนางระพิพรรณ ภรรยานายอริสมันต์ กล่าวว่า หวังว่าจะได้รับความเมตตาจากศาลที่จะให้ประกันตัวสามี หากได้รับการปล่อยตัวก็จะกลับไปพักที่บ้าน ไม่ได้จัดสถานที่อื่นเพื่อความปลอดภัย ส่วนความปลอดภัยก็ไม่ได้มีการประสานผู้ใหญ่ในรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลในเรื่องนี้ สำหรับที่มีการกล่าวถึงเจ้าหน้าที่เคยติดตามและคุกคามช่วงชุมนุม ก็ยังไม่ได้คิดจะดำเนินการใด ๆ ทางกฎหมาย

**"เทือก"เคลียร์คดีเสื้อแดง***

วันเดียวกันเวลา 14.15 น.ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้เดินทางมาเพื่อให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนที่ได้มีการนัดหมายเป็นครั้งที่ 2 เกี่ยวกับเหตุการณ์ของวันที่ 13 พ.ค.และเหตุการณ์วันที่ 14, 16 และ 19 พ.ค.ปี 2553

นายสุเทพ ได้นำเอกสารหลักฐานภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหว รวมถึงเอกสารคำสั่งการ มามอบให้พนักงานสอบสวนประกอบการให้ปากคำเพิ่มเติม ตามที่พนักงานสอบสวนเคยขอไว้เมื่อครั้งที่แล้ว และยืนยันพร้อมชี้แจงและตอบทุกคำถามที่พนักงานสอบสวนถาม

ก่อนหน้านั้น นายสุเทพ ให้สัมภาษณ์ที่พรรคประชาธิปัตย์ก่อนเดินทางไปให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า มีพนักงานสอบสวน 2 ชุด เชิญตนให้ไปให้ปากคำ กรณีการสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อ 13 พ.ค. 53 ที่มีผู้เสียชีวิต และอีก 3 เหตุการณ์ วันที่ 14 วันที่ 16 และวันที่ 19 พ.ค. พ.ศ. 53 โดยตนได้เรียบเรียงเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเล่ม ทั้งภาพ และ ข้อเท็จจริง นำไปมอบให้กับพนักงานสอบสวน เพื่อให้เห็นภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ และจะอธิบายถึงเหตุการณ์แต่ละวัน จนกระทั่งเหตุการณ์กลับสู่ปกติได้ เพื่อให้เห็นว่าเราได้สั่งการอย่างไร และปฏิบัติการอย่างไร

** "เทือก"ยันพรก.ฉุกเฉินคุ้มครอง

ทั้งนี้ การให้ปากคำครั้งนี้ เป็นคนละคดีกับเหตุการณ์ วันที่ 10 เม.ย. 53 ซึ่งพนักงานสอบสวนแจ้งมาที่ตนว่า มีพยานบางปากไปให้การว่า กรณีที่มีผู้เสียชีวิต เพราะเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของตน ซึ่งการสั่งการของตน ในฐานะผอ.ศอฉ. ทุกครั้งเป็นการสั่งการลายลักษณ์อักษร เพราะผู้ปฏิบัติมีจำนวนนับหมื่น จะสั่งปากเปล่าไม่ได้ โดยก่อนที่จะสั่งการ ก็มีการประชุมหารือ ไตร่ตรองให้รอบคอบ ว่าจะปฏิบัติอย่างไร จึงเป็นคำสั่งที่ตนสั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ให้อำนาจเอาไว้ว่าในสถานการณ์เช่นนี้จะสามารถทำอะไรได้บ้าง และตนก็ปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งกฎหมายก็จะคุ้มครองการกระทำของตน ทั้งเจ้าหน้าที่ และรัฐบาล ตราบใดที่เราไม่มีการละเมิดต่อกฎหมาย ก็ไม่เป็นไร

"ยอมรับว่ามีความกังวลบ้าง เพราะอีกข้างพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงประวัติศาสตร์อยู่เรื่อย และหลายคนที่เข้ามามีอำนาจ ก็เป็นผู้ที่มีส่วนในการก่อเหตุ เขาก็ต้องทำตามอำนาจ ตามฤทธิ์แดงที่มี แต่เราอย่าหวั่นไหวเพราะเราอยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ดีประเทศหนึ่ง เราต้องยึดหลักของกฎหมาย และเชื่อในระบบที่มีอยู่ กระบวนการยุติธรรมของเรา ต้องเชื่อถือ ดังนั้นไม่ต้องกังวลใจ" นายสุเทพ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามั่นใจในคลิปที่จะนำไปชี้แจงหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ภาพและคลิป ที่ตนนำไปแสดงเป็นภาพและสื่อมวลชนทั้งชาวไทย และต่างชาติบันทึกเอาไว้ เป็นภาพที่คนไทยได้เห็นมาก่อนแล้ว ตนจึงมั่นใจว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นพยานได้ดี แต่ตนก็เตรียมใจไว้อยู่ก่อนแล้ว

**ศาลลงโทษมือยิงอาร์พีจี**

เมื่อถามว่า กรณีที่ศาลสั่งจำคุกมือยิงอาร์พีจี ใส่กระทรวงกลาโหมนั้น จะเป็นส่วนหนึ่งในการสอบสวนหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า จำได้หรือไม่ ในช่วงนั้นมีเหตุการณ์จะมีคนยิงจรวดอาร์พีจี กระทรวงกลาโหม ซึ่งตนถูกกล่าวหาว่าสร้างเรื่อง จนในที่สุดก็ถูกจับกุมตัวได้ และเขาก็ได้สารภาพว่า ไม่ได้มีคำสั่งให้ยิงกระทรวงกลาโหม แต่ให้ยิงวัดพระแก้ว เพื่อทำลายสัญลักษณ์ความเป็นศูนย์รวมของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่บ้า เพราะถือเป็นการก่อการร้าย ที่สุดศาลก็พิพากษาลงโทษ เพียงแต่เราไม่สามารถหาหลักฐานมาเชื่อมโยงกับผู้ว่าจ้าง และกระบวนการต่างๆได้ แต่ยังมีอีกหลายคดี ที่ดำเนินการแล้วน่าจะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ซึ่งแม้จะมีการเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มเสื้อแดง แต่ในชั้นพนักงานสอบสวน กลับไม่ได้เชื่อมโยงไปลึกขนาดนั้น โดยอ้างว่าพยาน หลักฐานสาวไปไม่ถึง

**“เฉลิม”สวน “มาร์ค-เทือก”**

ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผอ.ศอฉ.ออกมาระบุให้ตนเองหยุดชี้นำคดี 91 ศพ ว่า พรรคประชาธิปัตย์กำลังสับสนเรื่อง 91 ศพ โดยเฉพาะคดี 16 ศพที่ทราบมาว่าตายโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ตนไม่ได้ชี้นำ แต่ชี้แจงให้เกิดความกระจ่างชัดว่ารัฐบาลชุดนี้เอาจริงเอาจัง ใครเป็นฆาตรกรก็ต้องรับผิดชอบด้วยการติดคุก ซึ่งการสอบสวนมีอัยการร่วมด้วย และตนจะไปชี้นำได้อย่างไร โปรดเข้าใจเสียด้วย ว่าพวกคุณกำลังเข้าใจผิด ตนไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองจะต้องไปกิ่งเกรงพรรคประชาธิปัตย์ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน เรื่องนี้ทั่วโลกเขาสนใจ แต่รัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำอะไร พวกตนมาอยู่เพียง 3 เดือนเศษก็พิสูจน์ได้ว่านายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพญี่ปุ่นตายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเมื่อวันที่ 13ธ.ค.เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งสำนวนให้อัยการ หากอัยการยื่นศาลเร็ว จะรู้เลยว่าข้อเท็จจริงของคดีเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ ร.ต.อ.เฉลิม จะหยุดให้สัมภาษณ์เรื่องคดี 91 ศพ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนจะไปหยุดทำไม เป็นหน้าที่ตนที่ต้องเร่งรัด ตนไม่ได้ชี้นำ แต่ชี้แจง หากอะไรที่ไม่ถูกต้องพรรคประชาธิปัตย์ก็ฟ้องมา ตนไม่หยุด สมัยคุณเป็นรัฐบาลทำไมไปเก็บไว้นมนาน ซึ่งตนไม่มีหยุด มวยถูกคู่ และหากไม่พอใจ เวลาเปิดประชุมสภาให้ยื่นกระทู้สดถามมา เดี๋ยวจะฉลองสภาให้มันแน่น อย่างไรก็ตาม ตนไม่มีพลาด และไม่เคยทุจริต จึงไม่กลัวพรรคประชาธิปัตย์ ตนไม่ใช่นักการเมืองที่ตกใจ แต่มั่นคงแน่นอน

**ศาลชี้รัฐตั้งข้อหาเอาผิดเสื้อแดงไม่ขัดรธน.**

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษก ศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานฯว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาคำร้องกรณีศาลจังหวัดพัทยาส่งคำโต้แย้งของ พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ อดีตส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นจำเลย ร่วมกับนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการและพวกรวม 4 คน ในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องกล่าวหาว่า กระทำการชุมนุมขัดขวางการประชุมอาเซียนซัมมิท ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพและจัดประชุมที่พัทยา เมื่อวันที่ 10-12 เม.ย.52 และกรณี น.ส.จิดาภา ธนหัตถชัย น.ส.สำรวย แสงประภา และน.ส.เสาวลักษณ์ สานุวิทย์ จำเลยที่ 1-3 ที่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดง ในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกล่าวหาว่า กระทำการปิดกั้นถนนเลียบหาดตัดกับเส้นทางหลักของเมืองพัทยา ซึ่งเป็นสี่แยกไฟแดง และมีการทุบรถของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่เดินทางไปประชุมครม.สัญจรในวันที่ 7 เม.ย.2552 โดยจำเลยใน 2 คดีดังกล่าวได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรไทย ฐานปลุกปั่นยุยงประชาชน มาตรา 215 ความผิดฐานก่อการจราจล และมาตรา 216ความผิดฐานมั่วสุม ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 26 ,27,28,29 ,39 ,45 และ63 หรือไม่

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ,215และ216 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐ มาตรา 29 ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาในคดีอาญา มาตรา 45 ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา 63 ที่เกี่ยวข้องสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
กำลังโหลดความคิดเห็น