xs
xsm
sm
md
lg

“กี้ร์” ไม่สำนึก! แต่งนิยายเล่าศาลนาทีชีวิตถูกไล่ล่า-นัดฟังปล่อยตัว 19 ธ.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ผู้ต้องหาก่อการร้าย
“ไอ้กี้ร์” เบิกความต่อศาล จำเป็นต้องหนีความตาย พยายามติดต่อมอบตัว แต่ผู้ใหญ่ให้ชะลอ เพราะไม่ปลอดภัย ประกอบกับน้ำท่วมใหญ่จึงรอน้ำแห้งก่อน อ้างเคยถูกตำรวจนอกเครื่องแบบอุ้มพาขึ้น ฮ.บังคับให้เซ็นรับทราบข้อกล่าวหา ยันรักสงบ มีความยุติธรรม ไม่นิยมความรุนแรง เป็นคนเรียบร้อย เที่ยงตรง พร้อมโต้พูดปลุกระดมที่ราชประสงค์ เพราะต้องการปรามเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ปฏิวัติ และทำร้ายประชาชนด้วยอาวุธสงคราม ศาลนัดฟังคำสั่ง 19 ธ.ค.บ่าย 2 โมง


วันนี้ (14 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อายุ 47 ปี แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำเลยในคดีร่วมกันก่อการร้าย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัวต่อศาลอาญา ครั้งที่ 2 รวม 3 คดี คือ คดีก่อการร้าย ที่ น.ส.ศันสนีย์ นวลสนิท เป็นนายประกันวางเงินสด จำนวน 4 ล้านบาท คดีหมิ่นประมาท นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หมายเลขคดีดำที่ อ.4177/2552 และคดีหมิ่นประมาท พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น.หมายเลขคดีดำที่ 1463/2553 ซึ่ง นางระพิพรรณ พงษ์เรืองรอง อายุ 38 ปี ภรรยา นายอริสมันต์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้ใช้ตำแหน่ง ส.ส.ตีราคา 1,350,600 บาท ขอประกันตัว เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา และศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริง

โดยในวันนี้ นายอริสมันต์ ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เบิกความสรุปว่า ที่ผ่านมา ไม่คิดจะหลบหนีศาล แต่ตนหนีความตาย เนื่องจากตลอดเวลาได้พยายามติดต่อขอมอบตัว แต่ได้รับแจ้งว่าจะไม่ปลอดภัย โดยมีเหตุการณ์ที่ทำให้เชื่อว่าชีวิตตนตกอยู่ในอันตราย ประกอบด้วย 1.เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2552 มีตำรวจแต่งกายนอกเครื่องแบบบุกเข้ามาที่บ้าน จับตัวตนและพาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ และมีการพยายามให้ตนเซ็นรับทราบข้อกล่าวหา แต่ไม่ให้ตนพบญาติและทนายความ 2.มีความพยายามจะอุ้มตัวตน โดยมีเจ้าหน้าที่ข่าวกรองชี้เป้า 3.ขณะอยู่ที่จังหวัดเชียงราย มีตำรวจบุกเข้ามาประชิดตัว โดยมีอาวุธครบมือ 4.มีการบุกจับตัวที่โรงแรมเอสซีปาร์ค และ 5.มีข่าวแจ้งว่าให้ตนระวังตัว เนื่องจากเป็น 1 ใน 3 เป้าสังหาร ซึ่งมี นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ซึ่งถูกลอบสังหารรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ หลังการสลายการชุมนุม ยังมีแกนนำแนวร่วม นปช.จังหวัดต่างๆ ถูกฆ่าตาย เช่น อ้วน บัวใหญ่ แดง คชสาร รวมถึง นายอดิศร เพียงเกษ นายพายัพ ปั้นเกตุ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ นายอารี ไกรนรา นายชินวัตร หาบุญพาด ก็ถูกไล่ล่าต้องหลบหนี กระทั่งบ้านเมืองมีความสงบ จึงกลับมามอบตัวและได้ประกัน

นายอริสมันต์ เบิกความต่อว่า หลังมีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ตนจะขอเข้ามอบตัวและสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.แต่มีผู้ใหญ่หลายคนบอกให้ชะลอการมอบตัว เพราะไม่ได้รับการยืนยันว่าจะปลอดภัย และตนเกรงว่า จะเป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย จึงเสียสละไม่กลับมา จะรอจนการเลือกตั้งจบลงด้วยดี และได้รัฐบาลเป็นที่เรียบร้อย แต่ปรากฏว่า ช่วงประสานงานกลับมามอบตัว เกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ จึงรอให้สถานการณ์น้ำแห้งลง และทราบข่าวว่า มี ส.ส.หลายพรรคร่วมเป็นกรรมาธิการปรองดองแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศชาติเกิดความสามัคคี ตนเห็นเป็นโอกาสอันดี และอยากเห็นบ้านเมืองเกิดความปรองดอง จึงเข้ามอบตัว

“ตลอดเวลาผมเป็นผู้ถูกกระทำ ยืนยันว่า ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผมเป็นคนรักสงบ มีความยุติธรรม ไม่นิยมความรุนแรง เป็นคนเรียบร้อย เที่ยงตรง จะต่อสู้ในกรอบของกฎหมาย พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ต่อสู้คดีต่อศาลอย่างไม่ผิดเงื่อนไขในทุกคดี”

ต่อมาอัยการโจทก์ ได้ซักค้านโดยอ่านคำพูดของนายอริสมันต์ เมื่อครั้งชุมนุมที่แยกราชประสงค์ และเรียกร้องให้กลุ่มเสื้อแดงเผากรุงเทพฯ ซึ่ง นายอริสมันต์ ได้เบิกความตอบคำถามซักค้านว่า ที่พูดไปอย่างนั้น เพราะต้องการปรามเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้ปฏิวัติ และทำร้ายประชาชนด้วยอาวุธสงคราม ซึ่งการชุมนุมทุกครั้งก็มีตรวจค้นผู้เข้าร่วมชุมนุมตลอด ไม่พบว่ามีใครพกมีดหรือขวดแก้วเข้ามาในที่ชุมนุม

จากนั้นศาลเริ่มตั้งคำถามไต่สวนเอง โดยศาลถามว่าที่จำต้องหลบหนีอ้างไม่ได้รับความปลอดภัยในเหตุการณ์วันที่ 12 เมษายน 2553 เป็นอย่างไร นายอริสมันต์ ตอบว่า มีกลุ่มชายฉกรรจ์มาจับขึ้นเฮลิคอปเตอร์ และพยายามบังคับให้เซ็นเอกสารบอกว่าจะให้ประกันตัวที่ศาลอาญา กรุงเทพฯ แต่เฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวกลับไปจอดที่กองบินตำรวจ มีเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธสงครามพาไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์อีกลำ ตนถามว่า จะพาไปไหน แต่ไม่ได้รับคำตอบ ขณะนั้นตนเกิดความสับสนเชื่อว่าชีวิตกำลังตกอยู่ในอันตราย เพราะจากอดีตหากมีการจับแกนนำต่อต้านรัฐบาลจะต้องถูกฆ่าตาย ลูกเมียก็ไม่ทราบว่าถูกคุมตัว ขอพบทนายก็ไม่ได้ จึงต้องต่อสู้กับคนบนเฮลิคอปเตอร์ จนมีการยอมให้ลงมาพบกับนายจตุพร นำเรื่องไปแจ้งนักข่าวที่เวทีปราศรัยหน้าทำเนียบรัฐบาล ส่วนตนถูกคุมตัวไปที่ค่ายนเรศวร และได้รับการปล่อยตัวที่ศาลจังหวัดพัทยา คดีบุกรุกโรงแรมรอยัล คลิฟฟ์ บีช รีสอร์ท

ศาลถามต่อว่า ที่จำเลยระบุว่าเป้าหมาย คือ จำเลย พล.ต.ขัตติยะ และ นายจตุพร นั้นได้ข้อมูลมาจากที่ใด นายอริสมันต์ เบิกความว่า มาจากนักข่าว ข้าราชการทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาแจ้งข้อมูลหลังเวที โดยตนได้ร่วมชุมนุมที่แยกราชประสงค์จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นวันที่มีการสลายชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง ร่วมกับ นายณัฐวุฒิ และ นายจตุพร โดยก่อนการชุมนุมทางแกนนำได้มีการเจรจากับรัฐบาลโดยมีวุฒิสภาเป็นคนกลางในวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 มีเงื่อนไขที่ตนรับไม่ได้ คือ ให้แกนนำทั้งหมดมอบตัว และจะอนุญาตให้ประกันตัว ยกเว้นตนเพียงคนเดียว จึงเชื่อว่า ชีวิตตนคงไม่ปลอดภัย หลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายชุมนุมวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ตนจึงต้องหลบหนี ส่วนแกนนำคนอื่นสามารถเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ได้

ศาลถามต่อไปว่าที่จำเลยตกเป็นเป้าหมายมาจากสาเหตุใด นายอริสมันต์ เบิกความว่า มาจากการที่ตนนำประชาชนไปยื่นหนังสือถึงผู้นำประเทศอาเซียน ที่มีการจัดการประชุมที่โรงแรมรอยัล คลิฟฟ์ บีช รีสอร์ท พัทยา ในวันที่ 10 เมษายน 2552 แต่ขณะเดินทางกลับพบกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 2,000 คน ซึ่งเป็นคนของเจ้าหน้าที่รัฐ สวมเสื้อสีน้ำเงินด้านหน้าเขียนข้อความปกป้องสถาบัน ด้านหลังมีข้อความ สงบสามัคคี มาขวางทาง และลอบทำร้าย ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ ต้องไปแจ้งความที่ สภ.พัทยา จากนั้นอีกวันได้นำผู้ชุมนุมไปขอความเป็นธรรมให้รัฐบาลชี้แจง แต่ระหว่างทางก็ถูกชายฉกรรจ์กลุ่มดังกล่าว ใช้อาวุธปืนยิง ระเบิดขว้าง มีดแป๊บเหล็กรุมทำร้าย มีผู้ถูกยิง 3 คน มีนายทหารพาไปหลบที่หน้าโรงแรมรอยัล คลิฟฟ์ แต่ก็ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ตามมาทำร้าย จึงต้องพาประชาชนไปหลบในโรงแรม แต่ไม่ใช่ส่วนที่มีการจัดประชุมผู้นำอาเซียน โดยการเหตุที่ต้องมีการเลื่อนประชุมผู้นำอาเซียน เนื่องมาจากการที่รัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามคนเสื้อแดงได้ว่า มาเป็นรัฐบาลด้วยความชอบธรรมหรือไม่ ทำให้ผู้นำอาเซียนต่างตัดสินใจเลื่อนการประชุมเอง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีการเข้าใจว่าตนเป็นคนนิยมความรุนแรง นำประชาชนล้มการประชุมผู้นำอาเซียน

ส่วนการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุมที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค นั้น ตนไม่ได้ต่อสู้ขัดขวาง หรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่เป็นการหนีเอาชีวิตรอดด้วยการใช้สายไฟโรยตัวหนีจากห้องพัก จากนั้นขอร้องให้นายตำรวจยศพันตำรวจเอก พากลับไปส่งที่เวทีชุมนุมแยกราชประสงค์ เพื่อความปลอดภัย ไม่ได้จับตำรวจเป็นตัวประกันแต่อย่างใด

ศาลถามต่อว่า ถ้ารัฐบาลนี้ยังอยู่ เชื่อว่า จะไม่มีปัญหา แต่หากภายภาคหน้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จำเลยจะให้คำมั่นอย่างไรที่จะให้ศาลเชื่อว่าถ้าให้ประกันตัวแล้วจะไม่หลบหนี หรือก่อเหตุภยันตราย ปลุกปั่นยั่วยุประชาชนให้เกิดการกระด้างกระเดื่อง นายอริสมันต์ เบิกความว่า ตนมั่นใจกระบวนการยุติธรรมและความบริสุทธิ์ของตน ยืนยันจะไม่หลบหนี จะขอต่อสู้คดีและจะไม่ทำผิดซ้ำอีก ส่วนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงจากนี้ จะเลี่ยงการชุมนุมที่หมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมาย เพราะเราเรียกร้องประชาธิปไตยต้องกระทำภายใต้รัฐธรรมนูญ การกระทำของตนที่ผ่านมา เนื่องจากตกเข้าไปอยู่ในเกมที่สลับซับซ้อน จนทำให้ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ จึงมีคำพูดปลุกปั่นประชาชน แต่หากได้รับความเมตตาจากศาลให้ประกันตัว จะขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความปรองดอง และพร้อมทำตามเงื่อนไขของศาลทุกประการ

ศาลถามว่ามีข้อเสนอพิเศษ ที่จะให้ศาลมั่นใจอย่างไร หากศาลให้ประกันตัว นายอริสมันต์ ตอบว่า จะขอยุติการชุมนุมทางการเมือง และจะให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวสิทธิและหน้าที่ของประชาชน เพื่อเข้าสู่ความปรองดองสมานฉันท์ หากผิดสัญญาเงื่อนไขให้ศาลลงโทษได้ทันที และพร้อมรายงานตัวตามวันเวลาที่ศาลกำหนดโดยไม่มีข้อขัดข้อง

ภายหลังศาลไต่สวน นายอริสมันต์ และพยานปากอื่นเสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายอริสมันต์ หรือไม่ในวันที่ 19 ธันวาคม นี้ เวลา 14.00 น.

ภายหลัง นางระพิพรรณ ภรรยา นายอริสมันต์ กล่าวว่า หวังว่า จะได้รับความเมตตาจากศาลที่จะให้ประกันตัวสามี หากได้รับการปล่อยตัวก็จะกลับไปพักที่บ้าน ไม่ได้จัดสถานที่อื่นเพื่อความปลอดภัย ส่วนความปลอดภัยก็ไม่ได้มีการประสานผู้ใหญ่ในรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลในเรื่องนี้ สำหรับที่มีการกล่าวถึงเจ้าหน้าที่เคยติดตามและคุกคามช่วงชุมนุม ก็ยังไม่ได้คิดจะดำเนินการใดๆ ทางกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น