xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จำเลยเลว-โจรชุดดำ-91 ศพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ช่วงสายเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายอริสมันต์ หรือ กี้ร์ พงษ์เรืองรอง อายุ 47 ปี แกนนำกลุ่ม นปช. เป็นจำเลยในความผิดฐาน ร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1-2 และกระทำผิด พระราชกำหนด ( พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ต่อมาเวลา 16.30 น. วันเดียวกัน ศาลอาญามีคำสั่งขอปล่อยตัวชั่วคราว นายอริสมันต์ โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้มีข้อหาร้ายแรง และอัตราโทษสูง หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีตลอดมา แม้จำเลยจะเข้ามอบตัวต่อพนักงานก็เป็นเวลานาน และยังเป็นบุคคลที่ศาลอาญาออกหมายจับในคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่น หมายเลขดำ ที่ อ.4177/2552 , อ.1463/2553 ในชั้นนี้จึงยังไม่มีเหตุพอเพียงให้ศาลเชื่อได้ว่าหากอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวแล้วจะไม่หลบหนีอีก ให้ยกคำร้อง

ทำให้อริสมันต์ ต้องนอนคุกเหมือนแกนนำ นปช. คนอื่นๆ ก่อนหน้านี้

แต่หลายคนเชื่อว่า ถึงที่สุดแล้ว อริสมันต์ ก็ต้องได้รับการประกันตัว ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ !!

ทั้งนี้ พนักงานอัยการโจทก์ ฝ่ายคดีพิเศษ เป็นโจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 28 ก.พ.- พ.ค.53 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้ร่วมกับ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายขวัญชัย สาระคำ หรือ ไพรพนา นายยศวริศ หรือ เจ๋ง ดอกจิก ชูกล่อม นายนิสิต สินธุไพร นายการุณ หรือ เก่ง โหสกุล นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท กับพวกรวม 19 คน ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2542/2553 ของศาลนี้ และจำเลยอีก 5 คน ในความผิดฐานเดียวกันของศาลนี้ ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

จำเลยซึ่งเป็นแกนนำ นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ได้ร่วมกันกับพวก ยุยง ปลุกปั่นประชาชนทั่วราชอาณาจักรไทย ให้เข้าร่วมชุมนุมและทำกิจกรรม โดยมีความมุ่งหมายที่จะต่อต้านรัฐบาล และบังคับขู่เข็ญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ให้ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยจำเลยกับพวกจัดให้มีการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงหลายหมื่นคน ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตามแนวถนนราชดำเนินไปจนถึงสี่แยกคอกวัว และแยกราชประสงค์ มีการเดินขบวน และเคลื่อนย้ายประชาชนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย รัฐสภา กรมทหารราบที่ 11 และบ้านพักของนายกรัฐมนตรี

และมีการใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิดแบบ เอ็ม 79 ยิงใส่บ้านพักประชาชน เพื่อสร้างความปั่นป่วน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การคมนาคม และทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนเกรงกลัวอันตรายที่จะก่อให้เกิดขึ้นต่อชีวิตและร่างและทรัพย์สิน ขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนทั่วไป

และจำเลยกับพวกได้ร่วมกันสะสมกำลังพล และอาวุธสงครามร้ายแรง มีการฝึกกำลังคนและฝึกการใช้อาวุธโดยเรียกชื่อกลุ่มกองกำลังว่า กลุ่มนักรบพระเจ้าตาก , กลุ่มนักรบโรนิน หรือ กลุ่มนักรบพระองค์ดำ เพื่อก่อการร้าย และยังใช้เลือดของจำเลยกับกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากไปเทราดที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ที่พรรคประชาธิปัตย์ และหน้าบ้านพัก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี ยิงใส่กระทรวงกลาโหม ใช้เครื่องยิงลูกระเบิดแบบ เอ็ม 79 ยิงใส่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมคณะรัฐมนตรี ยิงใส่กองบัญชาการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รมน.) มีทหารได้รับบาดเจ็บ บุกตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยอ้างว่ามีทหารแอบซ่อนอยู่ ทำให้ แพทย์ พยาบาล ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่รักษาผู้ป่วยได้ รวมทั้งสถานที่อื่น ๆ หลายแห่ง

การกระทำของจำเลยกับพวกในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วงเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลขณะนั้น ทำตามคำเรียกร้อง ไม่เป็นการกระทำโดยใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลแพ่งมีคำสั่งเมื่อ วันที่ 5 เม.ย.53 ว่า การกระทำของจำเลย และผู้ชุมนุมเป็นการกีดขวางเส้นทางคมนาคม ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และหลังจากวันที่ 7 เม.ย.53 ที่นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำเลยกับพวก ยังคงก่อความไม่สงบ นำกลุ่มผู้ชุมนุมบุกรุกเข้าไปที่รัฐสภา และทำร้ายร่างกายทหารที่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งแย่งชิงยึดอาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 1 กระบอก ของราชการไปด้วย

ต่อมาจำเลยกับพวก ยังบุกรุกเข้าไปในสถานีดาวเทียมไทยคม 2 ที่ตำบล - อำเภอ ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณโทรทัศน์ “ พีเพิลแชลแนล ” หรือ PTV ที่เป็นกระบอกเสียงของกลุ่มผู้ชุมนุม

ขณะวันที่ 10 เม.ย.53 จำเลยกับพวก ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย และใช้อาวุธปืนสงคราม ระเบิดขว้าง เครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 ยิงใส่ทหารและประชาชน เป็นเหตุให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เจ้าหน้าที่ทหาร และประชาชนเสียชีวิต บาดเจ็บ จำนวนมาก และยังลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งยังมีการยิงระเบิดใส่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสีลม และสาขาอื่นๆ อีกหลายแห่ง

ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยโจทก์ไม่ขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากจำเลยเข้ามอบตัวกับเจ้าพนักงานเอง

ศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.4958/2554 โดยศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้นายอริสมันต์ จำเลยฟัง แล้วสอบคำให้การ จำเลยให้การปฏิเสธ

นายวาสุเทพ ศรีโสดา ทนายความของนายอริสมันต์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะปรึกษาทีมทนายความ การยื่นคำอุทธรณ์ขอปล่อยตัวชั่วคราวที่จะยื่นในวันที่ 8 ธ.ค. โดยคาดว่าจะพิจารณาเพิ่มหลักทรัพย์ ที่จะใช้ยื่นประกันจากเงินสด 1.2 ล้านบาท เป็น 2 ล้านบาท

ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้น 2 ล้านบาท จะเพียงพอให้อริสมันต์ ได้รับการปล่อยตัวหรือไม่ ยังเป็นปัญหาอริสมันต์ จัดเป็นแกนนำ นปช. คนสุดท้ายที่เข้ามอบตัว

ว่ากันว่า ไอ้กี้ร์ เป็นคนขี้ขลาดมากที่สุดในกลุ่ม แต่จะอวดเก่ง พูดคำโตกับคนอื่นเสมอ

หลายคนจึง ยังสงสัยอยู่ว่า ไอ้กี้ร์ จะเอาเลือดใครมาล้างเท้า ??

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ อริสมันต์ จะถูกปล่อยหรือไม่...ไม่ใช่ปัญหา

ในเมื่อเวลานี้ สถานการณ์ผลักดันให้ “มารแดง” กลายเป็น “อำมาตย์”

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ “การทำสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอ”

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนพิเศษ(ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีกระทำความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ (ล้มเจ้า) ยอมรับว่ามีการ “ปรับปรุงพนักงานสอบสวน” คดีล้มเจ้าที่มีแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 19 คน ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา สืบเนื่องจากการปราศรัยบนเวทีชุมนุมใหญ่ของนปช. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา

“ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการปรับปรุงชุดพนักงานสอบสวนบางคน ตามคำสั่งของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เนื่องจากกลุ่มคนเสื้อแดงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.ต.อ.ประชา เพื่อขอความเป็นธรรมในการคดี” ธาริต เล่นคำอธิบายนักข่าว

ธาริต ยังยอมรับว่า “การดำเนินคดีกับกลุ่มคนเสื้อแดงโดยรัฐบาลปัจจุบันมีความแตกต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ผมจึงได้หารือกับ พล.ต.อ.ประชา เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลบางคนไม่ได้เปลี่ยนทั้งหมด นอกจากนี้ พล.ต.อ.ประชา เห็นว่าคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคนเสื้อแดง มีการแยกทำหลายชุด จึงให้นโยบายมาว่า การแยกส่วนทำหลายชุดอาจทำให้การทำงานไม่เป็นเอกภาพ ดีเอสไอ จึงจำเป็นต้องยุบชุดที่ทำคดีย่อยมารวมเป็นชุดใหญ่"

ธาริต ให้ความมั่นใจว่า คดีกระทำความผิดของคนเสื้อแดงที่อยู่ในความผิดชอบของดีเอสไออยู่แล้ว ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ เช่น คดีผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ และได้ส่งสำนวนไปแล้ว 13 ศพ

ดูเหมือนว่า ธาริต ไม่อายที่จะยอมรับกันตรงๆว่า แนวทางของสำนวนคดีจะเปลี่ยนไป


แต่จะเปลี่ยนแปลงมากถึงขนาดคล้ายคลึงกับ “คดียิงหัวดาบยิ้ม” ของลูกเหลิม หรือไม่ ?
คำตอบมีอยู่ก่อนการตั้งคำถามแล้ว !!

ก่อนหน้านี้ ดีเอสไอ เคยแถลงสรุปผลสอบคดี 89 ศพ ปรากฏว่า นปช.และกลุ่มชายชุดดำ เป็นคนฆ่า "พ.อ.ร่มเกล้า"

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 พ.ย.53  ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ และ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดี ดีเอสไอ แถลงที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ ทหาร ตำรวจ และประชาชน ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่าง เดือน เม.ย.-พ.ค.53 ที่มีจำนวนรวม 89 ศพ ว่า ขณะนี้มีคดีพิเศษที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ชุมนุมอยู่ในความรับผิดชอบรวม 254 คดี ส่งฟ้องศาลไปแล้ว 54 คดี

ธาริต พูดเสียงดังฟังชัดว่า คดีที่มีพยานหลักฐานตามสมควรว่า ผู้เสียชีวิตเกิดจากการกระทำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกัน เช่น กลุ่มชายชุดดำ ประกอบด้วย 8 คดี ได้แก่

1. กรณีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. บริเวณถนนดินสอ จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม, ส.อ.อนุพนธ์ หอมมาลี, ส.ท.อนุพงษ์ เมืองอำพัน, พลทหารสิงหา อ่อนทรง และผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
2. คดีคนร้ายยิงเอ็ม 79 ใส่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส  ศาลาแดง มีผู้เสียชีวิตคือ น.ส.ธัญนันท์ แถบทอง ผู้บาดเจ็บ 37 คน
3. คดีคนร้ายยิงถล่มจุดตรวจเจ้าหน้าที่รัฐหน้าธนาคารกรุงไทย อาคารซิลลิค สีลม ส่งผลให้ ส.ต.ท.กานต์พัฒน์ เลิศจันทร์เพ็ญ เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ

4. คดีคนร้ายยิงถล่มจุดตรวจบริเวณตรงข้ามอาคารอื้อจือเหลียง ถนนพระรามที่ 4 จ.ส.ต.วิทยา พรมสำลี เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ
5. คดีรถยนต์เจ้าหน้าที่ทหารถูกดักซุ่มโจมตีบริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม จ.ส.อ.พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์ เสียชีวิต
6. คดีคนร้ายยิงอาวุธเอ็ม 79 ใส่ด่านตรวจเจ้าหน้าที่บริเวณข้างสวนลุมพินี ด้านแยกสารสิน ถนนราชดำริ ส.อ.อนุสิทธิ์ จันทร์แสนตอ เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ 
7. คดีคนร้ายวางเพลิงศูนย์สรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นายกิตติพงษ์ สมสุข เสียชีวิต
8. คดีคนร้ายวางระเบิดหน้าห้างบิ๊กซี ราชดำริ มีผู้เสียชีวิตคือ นายธวัชชัย ทองมาก และผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

อธิบดี ดีเอสไอ แจกแจงอีกว่า คดีที่ยังไม่เป็นที่ยุติว่า การเสียชีวิตเกิดจากการกระทำของกลุ่ม นปช. กลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ดีเอสไอ จึงต้องส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวนท้องที่ ซึ่งเป็นอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตรวจสอบด้วยการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายเพิ่มเติม ประกอบด้วย 4 คดี คือ

1. คดีผู้เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม 3 ศพ ได้แก่ นายรพ สุขสถิต, นางมงคล เข็มทอง และนายสุวัน ศรีรักษา 
2. คดีพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกอนุสรณ์สถานแห่งชาติ
3. คดีนายมานะ อาจหาญ ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณสวนสัตว์ดุสิต และ
4. กรณีนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ผู้สื่อข่าวสัญชาติญี่ปุ่น ผู้เสียชีวิตบริเวณถนนดินสอ
นี่เป็นข้อมูลเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว แต่เดือนพ.ย.ปีนี้ ข้อมูลกลับเปลี่ยนไปอีกแบบ

สุดท้ายแล้ว มีแนวโน้มว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ และทหาร จะตกเป็นจำเลยแทนที่ “พวกมารแดง” เพราะสำนวนเปลี่ยนไปตามอำนาจทางการเมือง !!!
    


กำลังโหลดความคิดเห็น