xs
xsm
sm
md
lg

“เหลิม”เล่นลิเกปราบเว็บหมิ่น แหกตาไม่กล้าแตะเสื้อแดงแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**เกิดเสียงวิจารณ์ตามมาจากหลายฝ่าย กับการที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี รับบทหัวเรือใหญ่ของรัฐบาลในการควบคุมปราบปรามเว็บไซต์ผิดกฎหมายจาบจ้วงสถาบันฯ
ในชื่อกรรมการที่เรียกยาวเหยียด คือ “ คณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการป้องกันและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมาย หรือไม่เหมาะสม ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร”
กรรมการชุดนี้ได้ประชุมนัดแรกกันไปแล้วเมื่อ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ตามฟอร์ม “เหลิม” ประชุมเสร็จก็ทำคุยโว บอกรัฐบาลนี้เอาจริง จะทั้งควบคุมและปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นสถาบันฯ จนถึงที่สุด โดยเฉพาะพวกเว็บไซต์เถื่อนที่มีเซิร์ฟเวอร์ไปปล่อยของทำกันที่ต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามักควบคุมปิดได้ยาก ต่อไปนี้ต้องกวดขันให้หนักขึ้น
**ประเด็นท้วงติงการตั้งกรรมการชุดนี้ ก็คือ มองว่าเป็นการตั้งมาที่มีภารกิจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีหน้าที่เรื่องนี้อยู่แล้ว ทั้งกระทรวงไอซีที-กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เสียงสะท้อนมองว่า กรรมการชุดนี้ไม่จำเป็นต้องตั้งขึ้นเลย ทำเพียงแค่ขันน็อตให้หน่วยงานหลัก ทั้งไอซีที-ดีเอสไอ-สตช. อย่าทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก เอาจริงเอาจัง ก็น่าจะควบคุมเว็บไซต์หมิ่นสถาบันฯ รวมถึงสารพัดกระบวนการที่ให้ร้ายสถาบันฯ ที่แพร่หลายตามโลกไซเบอร์ได้อยู่แล้ว
**เพียงแต่ที่ผ่านมา ไม่มีการเอาจริงเอาจังกันเท่านั้น แถมแอบให้การสนับสนุนกันอย่างลับลับด้วย
จริงไม่จริงไม่รู้ แต่คนพูดกันไปทั่วว่า หลังรัฐบาลเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศ กลับพบว่าขบวนการชั่วร้ายเหล่านี้ ยิ่งได้ใจ เหิมเกริมกันหนักขึ้นทั้งโพสต์ข้อความ-ปล่อยคลิปตัดต่อ-เปิดเว็บไซต์ ทำนองนี้กันมากขึ้น เสมือนกับเป็นลัทธิ
มันอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นเรื่องที่คนไทยรับไม่ได้ แต่ดูเหมือนกลับไม่มีท่าทีกระตือรือล้นใดๆ ออกมาเลยจากกระทรวงไอซีที-ดีเอสไอ รวมถึงตำรวจ
หากทั้งสามหน่วยงานทำหน้าที่ป้องกันปราบปรามอย่างจริงจัง ก็ไม่จำเป็นอะไรเลยต้องมานั่งตั้งกรรมการชุดเฉลิมปราบเว็บหมิ่นฯ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นคณะกรรมการชุดที่เท่าไหร่แล้วของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสารพัด แต่ไม่เห็นทำงานอะไร เป็นชิ้นเป็นอันกันเลย
โดยหลักการนั้น การที่รัฐบาลจะควบคุม-ปราบปรามขบวนการพวกนี้ เป็นเรื่องที่ดี ต้องสนับสนุน ไม่มีใครคัดค้าน แต่รูปแบบการทำงานเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย มันคนละส่วนกัน
ภารกิจเรื่องนี้ การให้มีคณะกรรมการที่มีโครงสร้างใหญ่เกินไปอย่างกรรมการชุดเฉลิม ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นผลดี กลับยิ่งทำให้งานล่าช้า ขั้นตอนมาก ทำงานไม่คล่องตัว เพราะเล่นบอกจะนัดประชุมกันเดือนละครั้ง โดยให้ตำรวจเป็นศูนย์กลางกรรมการชุดนี้ คิดแบบนี้แล้วมันจะต่างอะไรกับการสั่งให้ตำรวจเข้าไปช่วยกระทรวงไอซีที ควบคุมปราบปราม แค่สั่งการไปเลยให้เป็นกิจจะลักษณะ แล้วมีการติดตามงานอย่างเอาจริงเอาจังก็พอแล้ว ทำให้สายการบังคับบัญชาการสั้น และเร็วกว่า แต่ยิ่งมีคนมาก ความลับก็อาจรั่วไหลเสียอีก การปราบปรามก็จะยากตามไปด้วย
**หรือจะเป็นเพราะยิ่งลักษณ์ กับเฉลิม ต้องการเอาใจขุนทหาร แม่ทัพนายกอง หลังจากที่ เฉลิม ควงคู่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.-พล.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รอง ผบ.ตร. ไปกินข้าวกับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา
โดยในวงกินข้าวดังกล่าว ผู้นำทหารได้แสดงความห่วงใยต่อขบวนการจาบจ้วงสถาบันฯ โดยเฉพาะพวกเคลื่อนไหวในเว็บไซต์ ที่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องผ่านโลกออนไลน์ ขอให้รัฐบาลดูแลด้วย
จนทำให้วันต่อมา ยิ่งลักษณ์ ก็เด้งรับข้อห่วงใยดังกล่าว จรดปากกาเซ็นแต่งตั้งกรรมการชุดเฉลิมปราบเว็บไซต์หมิ่นสถาบันฯ ทันที หลังได้รับรายงานจาก เฉลิม
จากนั้น 9 ธ.ค.54 ยิ่งลักษณ์ ก็ไปตรวจเยี่ยมกระทรวงกลาโหม ซึ่งบรรยากาศการต้อนรับของบรรดาบิ๊กทหาร ต่อยิ่งลักษณ์ เป็นไปอย่างชื่นมื่น
เรียกว่ากำลังอยู่ในช่วงสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลเพื่อไทย กับผู้นำเหล่าทัพ ที่ต้องจับตาดูกันให้ดี จะมีการจับมืออะไรกัน จะปรองดอง หรือยุติศึกอะไรกันหรือไม่ ระหว่างทักษิณ-เพื่อไทย กับผู้นำเหล่าทัพ เพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่าง ชวนให้สงสัยยิ่งนัก
เหมือนกับที่คนสงสัยในตัวเฉลิมว่า จะเอาจริงเอาจังหรือไม่ในการปราบปราม จับกุมขบวนการใต้ดิน จาบจ้วงสถาบันฯ เพราะในเมื่อก็รู้กันดีว่า กลุ่มที่ทำเรื่องนี้ ก็คือพวก “เสื้อแดง”ทั้งในและต่างประเทศ ที่เป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคเพื่อไทย และทักษิณ ชินวัตร
อีกทั้งมีข้อครหามาตลอดว่า มีนักการเมืองบางกลุ่มที่เคยสูญเสียอำนาจไปหลัง 19 ก.ย. 49 อยู่เบื้องหลังขบวนการใต้ดิน ทำเรื่องชั่วช้าเช่นนี้
เห็นได้จากเนื้อหาในเว็บไซต์พวกนี้ ซึ่งประกาศตัวว่าเป็นพวกเว็บเสื้อแดง จะไม่มีการแตะต้อง หรือวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบต่อตัว ทักษิณ ชินวัตร-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร- รัฐบาลเพื่อไทยหรือคนเสื้อแดงเลย
แล้วเฉลิมจะทำอย่างไร จะกล้าปิดหรือสอบสวนขยายผลเอาผิดกับคนกลุ่มนี้จริงหรือ หรือแค่เล่นลิเกไปตามบท แหกตาชาวบ้านว่ารัฐบาลนี้ปกป้องสถาบันฯ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรให้คนเห็นว่าที่พูดไปนั้นทำจริงหรือไม่
ก็ดูอย่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงหลายแห่งทั่วประเทศ เช่น ล่าสุดเมื่อ 10 ธ.ค. 54 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตามข่าวบอกว่า ไม่มีแกนนำนปช. ไปร่วมด้วย
สื่อมวลชนบางแขนงรายงานว่า ในการชุมนุมดังกล่าวคนเสื้อแดงบางกลุ่มที่ไปร่วมงาน เสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 โดยอาศัย คดี SMS อากง และ คดีโจ กอร์ดอน มาสนับสนุนการเรียกร้อง ที่แสดงให้เห็นแล้วว่า ยังมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งก็คือคนเสื้อแดง คิดการอะไรอยู่
**หากเพื่อไทย และรัฐบาล จะปฏิเสธว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ก็ต้องประกาศให้ชัด เพื่อให้คนเสื้อแดงที่หนุนเพื่อไทยได้รู้กันไปข้าง ว่าเพื่อไทยคิดอย่างไร กับการปกป้องสถาบันฯผ่านมาตรา 112
ยิ่งหลังเกิดกรณีคดี โจ กอร์ดอน แล้วมีปฏิกริยาจากฝ่ายต่างๆ เช่น นางคริสตี เคนนี เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย รวมถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่มีข่าวว่า ได้แถลงเรียกร้องที่นครเจนีวา ผ่านโฆษกของข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ คือ เนวี พิลเลย์
ตามข่าวที่ปรากฏในสำนักข่าวรอยเตอร์ อ้างว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวได้เรียกร้องให้ไทยแก้ไขกฎหมาย ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พร้อมกับมีการระบุว่า การที่ไทยมีการลงโทษประชาชน ด้วยข้อกล่าวหาเรื่องสถาบันฯ เป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ และการแสดงออกในประเทศไทย
รอยเตอร์ ยังรายงานด้วยว่า โฆษกยูเอ็นอีกผู้หนึ่งคือ ราวีนา ชัมดาซานี ก็พูดถึงเรื่องนี้ว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ ด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นในไทย กำลังหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นหารือกับเจ้าหน้าที่ของไทย พร้อมกับเรียกร้องให้ทางการไทย แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
จริงอยู่ว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ย่อมมีสิทธิจะแสดงท่าทีดังกล่าว ที่พบว่าเกิดขึ้นหนึ่งวัน หลังศาลอาญาได้ตัดสินจำคุก โจ กอร์ดอน หรือเลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ คนสัญชาติสหรัฐฯ ที่เกิดในไทย เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง ในความผิด กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่เรื่องความเหมาะสม- ควรหรือไม่ควร เป็นอีกกรณีหนึ่ง
ถามว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รู้ตื้นลึกหนาบาง ความเป็นไปของคดีประเภทนี้มากน้อยแค่ไหน เข้าใจหรือไม่ว่า บางคดีก็เป็นคดีที่มีการเมืองอยู่เบื้องหลังมีการวางแผนเป็นขบวนการ เพื่อให้ร้ายต่อสถาบันฯ และคนที่ทำจนถูกดำเนินคดี
หลายคนก็เห็นได้ว่า ทำเพราะได้รับประโยชน์ตอบแทน ไม่ใช่ทำเพราะคิดในเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น หลายคดีที่เกิดขึ้น ผู้กระทำผิดก็เห็นได้ชัดว่า ทำแบบท้าทาย ให้ร้าย เสนอความเท็จ สร้างความเข้าใจผิดกับคนหมู่มากที่ไม่รู้ความจริง แล้วแบบนี้จะไม่มีความผิดได้อย่างไร รวมทั้งหากไม่มีใครไปก้าวล่วงไปทำผิด แล้วอยู่ดีๆ จะมีการดำเนินคดีได้อย่างไร แถมคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็ไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เป็นเรื่องคดีอาญา ซึ่งหลายประเทศก็มีกฎหมายลักษณะเดียวกับไทย
อยากถามสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯว่า เข้าใจความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศที่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักยิ่งหรือไม่ และเหตุใดต้องแทรกแซงชี้นำกระบวนการยุติธรรม และระบบกฎหมายไทยด้วย
**ภารกิจแรกของกรรมการชุด เฉลิม ก่อนที่จะไปปราบเว็บไซต์หมิ่นสถาบันฯ ลองน่าจะแจง หรือตอบโต้ยูเอ็น ในเรื่องนี้ ซักฉากสองฉาก ก็น่าจะดี
กำลังโหลดความคิดเห็น