เกิดเสียงวิจารณ์ตามมาจากหลายฝ่ายกับการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี รับบทหัวเรือใหญ่ของรัฐบาลในการควบคุมปราบปรามเว็บไซท์ผิดกฎหมายจาบจ้วงสถาบัน
ในชื่อกรรมการที่เรียกยาวเหยียด คือ “คณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการป้องกันและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมาย หรือไม่เหมาะสม ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร”
กรรมการชุดนี้ได้ประชุมนัดแรกกันไปแล้วเมื่อ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ตามฟอร์ม “เหลิม” ประชุมเสร็จก็ทำคุยโวบอกรัฐบาลนี้เอาจริงจะทั้งควบคุมและปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นสถาบันจนถึงที่สุด โดยเฉพาะพวกเว็บไซท์เถื่อนที่มีเซริฟเวอร์ไปปล่อยของทำกันที่ต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามักควบคุมปิดได้ยาก ต่อไปนี้ต้องกวดขันให้หนักขึ้น
ประเด็นท้วงติงการตั้งกรรมการชุดนี้ก็คือ มองว่าเป็นการตั้งมาที่มีภารกิจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีหน้าที่เรื่องนี้อยู่แล้ว ทั้งกระทรวงไอซีที-กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เสียงสะท้อนมองว่า กรรมการชุดนี้ไม่จำเป็นต้องตั้งขึ้นเลย ทำเพียงแค่ขันน็อตให้หน่วยงานหลักทั้งไอซีที-ดีเอสไอ-สตช.อย่าทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก เอาจริงเอาจัง ก็น่าจะควบคุมเว็บไซท์หมิ่นสถาบันฯ รวมถึงสารพัดกระบวนการที่ให้ร้ายสถาบันฯที่แพร่หลายตามโลกไซเบอร์ได้อยู่แล้ว
เพียงแต่ที่ผ่านมา ไม่มีการเอาจริงเอาจังกันเท่านั้น แถมแอบให้การสนับสนุนกันอย่างลับลับด้วย
จริงไม่จริงไม่รู้ แต่คนพูดกันไปทั่วว่าหลังรัฐบาลเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศ กลับยิ่งพบว่าขบวนการชั่วร้ายเหล่านี้กลับยิ่งได้ใจ เหิมเกริมกันหนักขึ้นทั้งโพสต์ข้อความ-ปล่อยคลิปตัดต่อ-เปิดเว็บไซต์ทำนองนี้กันมากขึ้นเสมือนกับเป็นลัทธิ
มันอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศและเป็นเรื่องที่คนไทยรับไม่ได้ แต่ดูเหมือนกลับไม่มีท่าทีกระตือรือล้นใดๆออกมาเลยจากกระทรวงไอซีที-ดีเอสไอ รวมถึงตำรวจ
หากทั้ง 3 หน่วยงานทำหน้าที่ป้องกันปราบปรามอย่างจริงจัง ก็ไม่จำเป็นอะไรเลยต้องมานั่งตั้งกรรมการชุดเฉลิมปราบเว็บหมิ่นฯ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นคณะกรรมการชุดที่เท่าไหร่แล้วของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสารพัด แต่ไม่เห็นทำงานอะไรกันเป็นชิ้นเป็นอันกันเลย
โดยหลักการนั้นการที่รัฐบาลจะควบคุม-ปราบปรามขบวนการพวกนี้ เป็นเรื่องที่ดี ต้องสนับสนุน ไม่มีใครคัดค้าน แต่รูปแบบการทำงานเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย มันคนละส่วนกัน
ภารกิจเรื่องนี้ การให้มีคณะกรรมการที่มีโครงสร้างใหญ่เกินไปอย่างกรรมการชุดเฉลิม ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นผลดี กลับยิ่งทำให้งานล่าช้า ขั้นตอนมาก ทำงานไม่คล่องตัว เพราะเล่นบอกจะนัดประชุมกันเดือนละครั้งโดยให้ตำรวจเป็นศูนย์กลางกรรมการชุดนี้ คิดแบบนี้แล้วมันจะต่างอะไรกับการสั่งให้ตำรวจเข้าไปช่วยกระทรวงไอซีทีควบคุมปราบปราม แค่สั่งการไปเลยให้เป็นกิจจะลักษณะแล้วมีการติดตามงานอย่างเอาจริงเอาจังก็พอแล้ว ทำให้สายการบังคับบัญชาการสั้นและเร็วกว่า แต่ยิ่งมีคนมากความลับก็อาจรั่วไหลเสียอีก การปราบปรามก็จะยากตามไปด้วย
หรือจะเป็นเพราะยิ่งลักษณ์กับเฉลิม ต้องการเอาใจขุนทหาร แม่ทัพนายกลอง หลังจากที่เฉลิมควงคู่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.-พล.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รอง ผบ.ตร. ไปกินข้าวกับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา
โดยในวงกินข้าวดังกล่าว ผู้นำทหารได้แสดงความห่วงใยต่อขบวนการจาบจ้วงสถาบัน โดยเฉพาะพวกเคลื่อนไหวในเว็บไซท์ ที่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องผ่านโลกออนไลน์ ขอให้รัฐบาลดูแลด้วย
จนทำให้วันต่อมา ยิ่งลักษณ์ก็เด้งรับข้อห่วงใยดังกล่าวจรดปากกาเซ็นแต่งตั้งกรรมการชุดเฉลิมปราบเว็บไซท์หมิ่นสถาบันทันที หลังได้รับรายงานจากเฉลิม
จากนั้น 9 ธันวาคม 54 ยิ่งลักษณ์ก็ไปตรวจเยี่ยมกระทรวงกลาโหม ซึ่งบรรยากาศการต้อนรับของบรรดาบิ๊กทหารต่อยิ่งลักษณ์เป็นไปอย่างชื่นมื่น
เรียกว่ากำลังอยู่ในช่วงสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยกับผู้นำเหล่าทัพ ที่ต้องจับตาดูกันให้ดี จะมีการจับมืออะไรกัน จะปรองดองหรือยุติศึกอะไรกันหรือไม่ระหว่างทักษิณ-เพื่อไทยกับผู้นำเหล่าทัพ เพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่าง ชวนให้สงสัยยิ่งนัก
เหมือนกับที่คนสงสัยในตัวเฉลิมว่าจะเอาจริงเอาจังหรือไม่ในการปราบปรามจับกุมขบวนการใต้ดินจาบจ้วงสถาบัน เพราะในเมื่อก็รู้กันดีว่า กลุ่มที่ทำเรื่องนี้ ก็คือพวก “เสื้อแดง”ทั้งในและต่างประเทศ ที่เป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคเพื่อไทยและทักษิณ ชินวัตร
อีกทั้งมีข้อครหามาตลอดว่า มีนักการเมืองบางกลุ่มที่เคยสูญเสียอำนาจไปหลัง 19 ก.ย.49 อยู่เบื้องหลังขบวนการใต้ดิน ทำเรื่องชั่วช้าเช่นนี้
เห็นได้จากเนื้อหาในเว็บไซท์พวกนี้ ซึ่งประกาศตัวว่าเป็นพวกเว็บเสื้อแดงจะไม่มีการแตะต้องหรือวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบต่อตัวทักษิณ ชินวัตร-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-รัฐบาลเพื่อไทย หรือคนเสื้อแดงเลย
แล้วเฉลิมจะทำอย่างไรจะกล้าปิดหรือสอบสวนขยายผลเอาผิดกับคนกลุ่มนี้จริงหรือ หรือแค่เล่นลิเกไปตามบทแหกตาชาวบ้านว่ารัฐบาลนี้ปกป้องสถาบัน แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรให้คนเห็นว่าที่พูดไปนั้นทำจริงหรือไม่
ก็ดูอย่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงหลายแห่งทั่วประเทศ เช่นล่าสุดเมื่อ 10 ธ.ค. 54 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตามข่าวบอกว่าไม่มีแกนนำ นปช.ไปร่วมด้วย
สื่อมวลชนบางแขนงรายงานว่าในการชุมนุมดังกล่าวคนเสื้อแดงบางกลุ่มที่ไปร่วมงานเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 โดยอาศัยคดี SMS อากง และคดีโจ กอร์ดอน มาสนับสนุนการเรียกร้อง ที่แสดงให้เห็นแล้วว่า ยังมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งก็คือคนเสื้อแดงคิดการอะไรอยู่
หากเพื่อไทยและรัฐบาลจะปฏิเสธว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ก็ต้องประกาศให้ชัด เพื่อให้คนเสื้อแดงที่หนุนเพื่อไทยได้รู้กันไปข้าง ว่าเพื่อไทยคิดอย่างไรกับการปกป้องสถาบันผ่านมาตรา 112
ยิ่งหลังเกิดกรณีคดีโจ กอร์ดอน แล้วมีปฏิกริยาจากฝ่ายต่างๆ เช่น นางคริสตี เคนนี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทสไทย รวมถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่มีข่าวว่าได้แถลงเรียกร้องที่นครเจนีวาผ่านโฆษกของข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ คือ เนวี พิลเลย์
ตามข่าวที่ปรากฏในสำนักข่าวรอยเตอร์อ้างว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวได้เรียกร้องให้ไทยแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พร้อมกับมีการระบุว่าการที่ไทยมีการลงโทษประชาชนด้วยข้อกล่าวหาเรื่องสถาบันฯเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศและการแสดงออกในประเทศไทย
รอยเตอร์ยังรายงานด้วยว่าโฆษกยูเอ็นอีกผู้หนึ่ง คือ ราวีนา ชัมดาซานี ก็พูดถึงเรื่องนี้ว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นในไทยกำลังหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นหารือกับเจ้าหน้าที่ของไทย พร้อมกับเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
จริงอยู่ว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ย่อมมีสิทธิจะแสดงท่าทีดังกล่าว ที่พบว่าเกิดขึ้นหนึ่งวันหลังศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกโจ กอร์ดอน หรือเลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ คนสัญชาติอเมริกันที่เกิดในไทย เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง ในความผิดกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่เรื่องความเหมาะสม-ควรหรือไม่ควร เป็นอีกกรณีหนึ่ง
ถามว่าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รู้ตื้นลึกหนาบางความเป็นไปของคดีประเภทนี้มากน้อยแค่ไหน เข้าใจหรือไม่ว่าบางคดีก็เป็นคดีที่มีการเมืองอยู่เบื้องหลังมีการวางแผนเป็นขบวนการ เพื่อให้ร้ายต่อสถาบันฯ และคนที่ทำจนถูกดำเนินคดี
หลายคนก็เห็นได้ว่าทำเพราะได้รับประโยชน์ตอบแทน ไม่ใช่ทำเพราะคิดในเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น หลายคดีที่เกิดขึ้นผู้กระทำผิดก็เห็นได้ชัดว่าทำแบบท้าทาย ให้ร้าย เสนอความเท็จ สร้างความเข้าใจผิดกับคนหมู่มากที่ไม่รู้ความจริง แล้วแบบนี้จะไม่มีความผิดได้อย่างไร รวมทั้งหากไม่มีใครไปก้าวล่วงไปทำผิดแล้วอยู่ดีๆ จะมีการดำเนินคดีได้อย่างไร แถมคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชนแต่เป็นเรื่องคดีอาญาซึ่งหลายประเทศก็มีกฎหมายลักษณะเดียวกับไทย
อยากถามสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ว่า เข้าใจความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศที่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งหรือไม่ และเหตุใดต้องแทรกแซงชี้นำกระบวนการยุติธรรมและระบบกฎหมายไทยด้วย
ภารกิจแรกของกรรมการชุดเฉลิม ก่อนที่จะไปปราบเว็บไซท์หมิ่นสถาบันฯ ลองน่าจะแจงหรือตอบโต้ยูเอ็นในเรื่องนี้ ซักฉากสองฉากก็น่าจะดี