xs
xsm
sm
md
lg

ฉลาดแต่ขาดคุณธรรม : เหตุให้คอร์รัปชันเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

หนังสือพิมพ์รายวันฉบับวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2554 หลายฉบับ ได้ลงข่าวการจัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลก ประจำปี 2554 โดยมีคะแนนการไม่คอร์รัปชันเต็ม 10 และผลปรากฏว่าประเทศนิวซีแลนด์ได้ 9.5 คะแนน มากเป็นอันดับหนึ่งในจำนวน 183 ประเทศ

ส่วนประเทศไทยได้ 3.4 คะแนนเป็นอันดับที่ 80 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17 อันดับ และถ้าเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกัน ประเทศสิงคโปร์ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง 9.2 คะแนน และประเทศไทยจัดเป็นอันดับ 10 ในจำนวน 26 ประเทศในกลุ่มอาเซียน

เมื่อดูจากคะแนนที่ได้รับ และอันดับที่ได้แล้ว ถือได้ว่าการคอร์รัปชันในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

อะไรเป็นเหตุให้การคอร์รัปชันในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และมีแนวทางป้องกันอย่างไรได้บ้าง

ก่อนที่จะตอบปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองมองย้อนไปถึงมูลเหตุพื้นฐานแห่งพฤติกรรมที่เรียกว่าทุจริต คอร์รัปชัน จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็จะพบว่าพฤติกรรมเยี่ยงนี้ได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมมนุษย์พร้อมกับการเกิดขึ้นของมนุษย์ เพียงแต่มีรูปแบบแห่งการทุจริตแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ในระยะที่การดำรงชีวิตไม่ซับซ้อน และการแย่งกันอยู่แย่งกันกินยังจำกัดอยู่ในเรื่องที่อยู่อาศัยแหล่งทำกิน รวมไปถึงทรัพย์สินเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพอย่างง่ายๆ

ดังนั้น พฤติกรรมทุจริตในยุคนั้นก็จะมีแต่ลักทรัพย์ จะเห็นได้จากบัญญัติทางศาสนาในทุกศาสนา จะห้ามลักขโมย เช่น ศีลข้ออทินนาทานของพุทธ และข้อห้ามในศาสนาคริสต์ที่ว่า สูเจ้าจงอย่าขโมยอย่างเด็ดขาด (You Shall Not Steal) เป็นต้น

จากข้อห้ามทางศาสนาที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าพฤติกรรมทุจริตในยุคที่มนุษย์ยังมีจำกัดอยู่ในเรื่องที่อยู่อาศัย และแหล่งทำมาหากิน การสะสมทรัพย์อื่นใดนอกจากนี้ยังไม่มี การทุจริตก็จะมีเพียงการลักขโมยของกินของใช้เท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ

มนุษย์ยังไม่มีความต้องการที่หลากหลาย และการแสวงหาสิ่งที่ต้องการก็ไม่ซับซ้อนอย่างในปัจจุบัน เพียงมีข้อห้ามทางศาสนา ประกอบกับมีกฎหมายไว้ป้องกันการทุจริตพื้นๆ ก็ช่วยให้สังคมอยู่อย่างเป็นสุขได้

แต่ครั้นสังคมมนุษย์มีความก้าวหน้าในวัตถุ ความต้องการของมนุษย์มีหลากหลายขึ้น วิธีการแสวงหาสิ่งสนองความต้องการก็ซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับความรู้ ความเข้าใจ และการใส่ใจใฝ่หาคุณธรรม จริยธรรมลดลง จึงทำให้พฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชันเพิ่มขึ้น และมีรูปแบบหลากหลาย ซับซ้อนตามความรู้ ความสามารถของมนุษย์ ดังที่ปรากฏให้เห็นอย่างดาษดื่นในประเทศด้อยพัฒนา หรือแม้กระทั่งในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย รวมทั้งประเทศไทยด้วย

คอร์รัปชันหมายถึงอะไร และทำไมประเทศไทยจึงมีการคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่มีกฎหมายและหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกัน และปราบปรามพฤติกรรมคอร์รัปชันอยู่หลายหน่วยงาน

Oxford Word Power Dictionary ได้ให้ความหมายคำว่า Corruption ไว้ว่า เป็นคำนาม และหมายถึงพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่ไม่ซื่อสัตย์ และผิดศีลธรรม (Dishonest or Immoral Behaviour or Activities) และได้ยกตัวอย่าง มีข้อกล่าวหา Corruption ระหว่างนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายนาย (These Were Accusation of Corruption Among Senior Police Officer)

จากคำอธิบายขยายความ และตัวอย่างข้างต้น ทำให้เข้าใจได้ว่า การจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันขององค์กรเพื่อความโปร่งใสคงจะจำกัดวงการคอร์รัปชันในภาครัฐ และถ้าความเข้าใจนี้ถูกต้อง ก็พูดได้ว่าการคอร์รัปชันในประเทศไทยอยู่ในขั้นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่ป้องกันและแก้ไขให้ทันท่วงทีแล้ว ภาวะล่มจมทางเศรษฐกิจคงจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน

คอร์รัปชันในประเทศไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะป้องกันได้ด้วยวิธีการใดบ้าง

การคอร์รัปชันในวงราชการไทยแบ่งเป็น 3 ลักษณะ หรือ 3 ประเภทตามลักษณะงานดังต่อไปนี้

1. การจัดเก็บรายได้ในรูปแบบภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยมีส่วนราชการในระดับกรมรับผิดชอบ เช่น กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เป็นต้น

การคอร์รัปชันในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้ เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่เอื้ออำนวยให้ผู้ที่จะต้องเสียภาษีมากเสียน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยได้รับสินบนจากผู้เสียภาษี ทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้น้อย และที่คอร์รัปชันมากกว่านี้ก็คือ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบว่ามีการหลบเลี่ยงภาษี และควรจะดำเนินการลงโทษด้วยการปรับเพื่อนำเงินเข้ารัฐ แต่กลับใช้วิธีการขู่เข็ญและรีดไถเพื่อเรียกรับเงินเข้าตัวเอง แลกกับการไม่ดำเนินคดี

2. ในส่วนของการจ่ายโดยเฉพาะรายจ่ายจากงบลงทุนซึ่งมีขั้นตอนการจ่ายในรูปแบบของการจัดซื้อจัดจ้าง การคอร์รัปชันในส่วนนี้เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมมือกับพ่อค้าโกงรัฐในหลายๆ รูปแบบ ที่มองเห็นได้และมีอยู่อย่างดาษดื่นก็คือ ซื้อของหรือจ่ายค่าจ้างแพงกว่าที่ควรจะเป็น หรือจ่ายไม่แพงถ้ามองจากราคา แต่จะเห็นได้ว่าเมื่อนำสินค้าหรืองานที่ว่าจ้างมาเทียบกับคุณภาพของสินค้าหรืองานที่จ้าง จะพบว่าคุณภาพด้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ได้รับประโยชน์จากพ่อค้าเป็นเครื่องตอบแทน

3. งานให้บริการประชาชน เช่น งานดูแลความเรียบร้อยของสังคมโดยผู้รักษากฎหมาย เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น การคอร์รัปชันในส่วนนี้เกิดขึ้นจากการเรียกเก็บผลประโยชน์จากผู้ทำผิดกฎหมาย ยกตัวอย่างง่ายๆ ตำรวจจราจรที่เรียกเก็บเงินจากคนขับขี่ที่ทำผิดกฎหมายโดยไม่ออกใบสั่งปรับเข้ารัฐ และที่คอร์รัปชันแล้วก่อความเสียหายแก่รัฐชัดเจน เช่น การไม่จับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินโดยเรียกเก็บส่วยจากผู้ประกอบการแทน เพราะการทำแบบนี้เท่ากับทำให้ถนนหนทางได้รับความเสียหาย และจะต้องจ่ายเงินซ่อมกันทุกปี แทนที่จะนำเงินส่วนนี้ไปสร้างถนนใหม่

ทั้ง 3 ประการที่ยกมาเป็นเพียงรูปแบบการคอร์รัปชันที่มองเห็นได้ง่าย ถ้าลงให้ลึกกว่านี้ ก็จะพบการคอร์รัปชันที่แยบยล และป้องกันยาก ทั้งเอาผิดทางกฎหมายได้ยากด้วย การคอร์รัปชันที่ว่านี้ก็คือการคอร์รัปชันในเชิงนโยบาย ที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักธุรกิจการเมืองอยู่ในขณะนี้

ดังนั้น ถ้าไม่มีการป้องกันและแก้ไข เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีประเทศไทยภายใต้นโยบายประชานิยม จะไม่มีอะไรเหลือให้ลูกหลาน นอกจากหนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น