ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ชั่วโมงนี้ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักชายหนุ่มในวัย 40 ต้นๆ ที่ชื่อ “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบทบาทล่าสุดในการสวมหมวกเป็นพิธีกรรายการ “ตอบโจทย์” ทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ที่ทำให้ชื่อของเขาโดดเด่นขึ้นมาในเวลาอันรวดเร็ว กระทั่งตามติด “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” แห่งช่อง 3 ชนิดหายใจรดต้นคอเลยทีเดียว
แน่นอน หลายคนยังคงจำกันได้ดีกับการที่ภิญโญบินไปสัมภาษณ์ “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่ของคนเสื้อแดงถึงนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ภายหลังการเลือกตั้งจบลง
ยิ่งเมื่อนิตยสารผู้ชายชื่อดังอย่าง GM ตัดสินใจนำเขาขึ้นปกในฉบับเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมาร่วมกับผู้ชายในวัยเดียวกันอย่างเป็นเอก รัตนเรือง สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ นรอรรถ จันทร์กล่ำ ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ บอย โกสิยพงษ์ ดร.ธีระชัย พรสินศิริรักษ์ แมทธิว กิจโอธาน นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และTyler Brule ภายใต้แนวคิด The Power of 40s ก็ยิ่งทำให้ภิญโญกลายเป็น “หนุ่มเนื้อทอง” อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
อย่างไรก็ตาม วันนี้ถึงเวลาที่ภิญโญจำเป็นที่จะต้องตอบโจทย์แล้วเช่นกันกับข้อเขียนที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในขณะนี้คือ “คำพยากรณ์จากกษัตริย์ถึงกษัตริย์” ที่ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ 1633 ซึ่งมีท่าทีหนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันเป็นบทลงโทษสำหรับอ้ายอีที่กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่มาพร้อมกับเสียงร่ำลือจากฐานบัญชาการใหญ่ของแกรมมี่ถึงการเจรจาครั้งสำคัญระหว่างเขากับ”อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ในการดำเนินการสถานีข่าวทางโทรทัศน์
กล่าวสำหรับ “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” ต้องบอกว่า เส้นทางชีวิตของเขาผ่านทั้งการเป็นนักข่าว นักเขียน นักสัมภาษณ์ เจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks และพิธีกรรายการโทรทัศน์
แต่บทบาทที่ทำให้ชื่อของภิญโญเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างก็คือ การตัดสินใจก่อตั้งนิตยสาร open และสำนักพิมพ์ openbooks ที่ผลิตผลงานโดนใจคนรุ่นใหม่มากมาย จน “ปกรณ์ พงศ์วราภา” บอสใหญ่ค่ายจีเอ็มถึงกับเชื้อเชิญให้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจโดยจีเอ็มมีหุ้นอยู่ใน open ถึง 25% แต่เนื่องจากในเวลาถัดมาจีเอ็มต้องการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ด้วยเหตุผลทางธุรกิจและแนวทางการทำหนังสือที่ไม่ลงตัว ทั้งสองฝ่ายจึงจำเป็นที่จะต้องแยกทางกันเดิน ทว่า สายสัมพันธ์ระหว่างเขากับนายใหญ่แห่งจีเอ็มก็ยังคงแนบแน่น
กระนั้นก็ดี สิ่งที่ทำให้ภิญโญเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคมเห็นจะเป็นบทบาทที่เขาสวมหมวกเป็นผู้ดำเนินรายการ “ตอบโจทย์” ทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ซึ่งผลของการออกสื่อโทรทัศน์ทำให้ชื่อของภิญโญ ไตรสุริยธรรมาท็อปฮิตติดชาร์ตและถีบตัวขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าอย่างรวดเร็ว
เร็วจนกระทั่งไปเข้าตา “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่งค่ายแกรมมี่
และนั่นก็เป็นที่มาของการต่อสายตรงจากอากู๋มาถึงปกรณ์ พงศ์วราภา เพื่อเชื้อเชิญให้มารับประทานอาหารร่วมกัน
อากู๋กำลังทำสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
ภิญโญกำลังเป็นดาวเด่นในแวดวงโทรทัศน์
เมื่อสารเคมีลงตัว การเจรจาธุรกิจบนโต๊ะอาหารจึงบังเกิดขึ้น
อากู๋แสดงเจตจำนงชัดเจนที่จะเชื้อเชิญภิญโญให้มาร่วมงานในสถานีข่าวทางโทรทัศน์ที่เตรียมสร้างขึ้นมาใหม่
และแน่นอนว่า สังคมคงจะต้องจับตากันต่อไปว่า ภิญโญจะตอบรับไมตรีจิตจากอากู๋ในครั้งนี้หรือไม่
ถ้าตอบรับ สังคมก็จะต้องจับตากันต่อไปว่า ภิญโญจะรับใช้อากู๋ในระดับไหน ในรูปแบบใด และด้วยวิธีการใด
เพราะต้องไม่ลืมว่า สายสัมพันธ์ของอากู๋นั้นไม่ธรรมดา ทั้งความแนบแน่นจนแทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ นช.ทักษิณ ชินวัตร และทั้งความแนบแน่นที่อากู๋มีกับสื่อในเครือมติชนที่เวลานี้ผันตัวไปรับใช้ระบอบทักษิณอย่างเปิดเผย
ขณะที่เมื่อย้อนกลับมาตรวจสอบสายสัมพันธ์ส่วนตัวของภิญโญกับเครือมติชนเองก็จะพบว่าอยู่ในระดับที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน เพราะเขามีคอลัมน์ชื่อ “ไทยไทย” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” และว่ากันว่า หนังสือในเครือของภิญโญ มติชนก็เป็นผู้จัดจำหน่ายให้
ทั้งนี้ สำหรับข้อเขียนล่าสุดของเขาในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ 1633 ในหัวข้อเรื่อง “คำพยากรณ์ของกษัตริย์ถึงกษัตริย์” นั้น ได้สะท้อนให้เห็นแนวคิดบางประการของเขาที่มีต่อมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทลงโทษผู้ที่กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชนิดต้องหาคำอธิบายเพิ่มเติม
แน่นอน ข้อเขียนของภิญโญมีบทสรุปชัดเจนว่า “เห็นด้วย” กับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยหยิบยกตัวอย่างกษัตริย์ของประเทศต่างๆ มาโน้มน้าวให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ถึงเวลาแล้วที่สถาบันกษัตริย์จะต้องเปลี่ยนแปลง
“สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีญี่ปุ่นเมื่อเสด็จไปเยี่ยมเยียนราษฎรที่ประสบภัยพิบัติหลังเหตุการณ์สึนามิ ทั้งสองพระองค์น้อมพระวรกายลงไปรับฟังปัญหาของประชาชนของพระองค์อย่างใกล้ชิดจนระดับของพระเศียรต่ำกว่าประชาชนที่นั่งอยู่เสียด้วยซ้ำ การวางตัวอย่างเสงี่ยมภายใต้รัฐธรรมนูญที่จำกัดบทบาทมิให้ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทำให้สถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นกลับมาสง่างามได้อีกครั้งหลังจากนำประเทศพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในสงครามโลกครั้งที่ 2”
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ พระมหากษัตริย์ของไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชจริยาวัตรที่ไม่ได้แตกต่างจากกษัตริย์ญี่ปุ่นแต่ประการใด
หลายคนคงจดจำกันได้กับภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงน้อมพระวรกายจนพระเศียรแทบจะติดกับหญิงชราที่ทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้
นอกจากนี้ ภิญโญยังได้ยกตัวอย่างเรื่องสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษเอาไว้อย่างน่าสนใจอีกด้วยว่า
“สถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้น สื่อมวลชนกระทั่งประชาชนธรรมดาสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกเรื่อง ถ้าเป็นไปโดยสุจริต กระนั้นก็มิได้ทำให้สถาบันเสื่อมถอยลงแต่ประการใด”
แน่นอน สิ่งที่คงต้องย้อนถามกลับไปก็คือ ภิญโญต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยหรือไม่
เพราะภิญโญต้องไม่ลืมว่า เหล่ากออันชั่วร้ายของขบวนการล้มเจ้าในประเทศไทยนั้นมิได้ต้องการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ด้วยความบริสุทธิ์ใจในทางสร้างสรรค์ หากแต่อิงแอบแนบแน่นอยู่กับเกมการเมืองเพื่อหวังผลในการทำลายล้างและทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ พร้อมกับสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ขึ้นมาเสียใหม่
ภิญโญจะทำอย่างไรกับขบวนการล้มเจ้าอันแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกับการเมืองที่นำสถาบันกษัตริย์มาใช้ในการปลุกระดมล้างสมองประชาชนคนไทยซึ่งกำเริบเสิบสานอยู่ในขณะนี้
กรณี “อากง” ที่ขบวนการล้มเจ้าปลุกระดมกันขึ้นมาในขณะนี้คือตัวอย่างชัดเจน เพราะในที่สุดคนจำนวนไม่น้อยก็จะเห็นใจอากงว่ากะอีแค่ส่ง SMS ทำไมถึงต้องถูกพิพากษาจำคุกถึง 20 ปี ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้ว อากงผู้นี้คือแดงฮาร์ดคอร์ตัวพ่อแห่งเมืองปากน้ำที่ถูกล้างสมองจากขบวนการล้มเจ้ากระทั่งส่ง SMS หมิ่นพระบรมเดชานุภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่าในต่างกรรมต่างวาระ
สถาบันพระมหากษัตริย์ไปทำอะไรให้อากงเจ็บช้ำน้ำใจ ถึงกับทำให้อากงซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่บรรพบุรุษอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารถึงได้จงเกลียดจงชังเช่นนี้
หรือภิญโญเห็นด้วยกับความเห็นของ “หญิงร่านแห่งล้านนา” ที่มั่วนิ่มอิงกระแสอากงแก้ผ้าโชว์นมเหี่ยวๆ สนับสนุนการแก้มาตรา 112
ประชาชนผู้จงรักภักดีจะเชื่อได้อย่างไรว่า เมื่อแก้มาตรา 112 ให้มีโทษที่ลดลงแล้ว ขบวนการล้มเจ้าจะค่อยๆ เลือนหายไป เพราะขนาดมีบทลงโทษที่หนักขนาดนี้ พวกเขายังมิยำเกรงเลยแม้แต่น้อย
แน่นอน ไม่มีใครเชื่อว่าภิญโญเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการล้มเจ้า
แต่ภิญโญก็ต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้สังคมไทยได้กระจ่างแจ้งเช่นกัน เพราะถ้าจะว่าไปแล้วสายสัมพันธ์ระหว่างภิญโญกับกลุ่มนักเขียนที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 ก็อยู่ในขั้นไม่ธรรมดาเช่นกัน และหลายคนก็เคยมีผลงานรวมเล่มในนามสำนักพิมพ์ openbooks มาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายสัมพันธ์ระหว่างเขากับ “ปราบดา หยุ่น” แกนนำคนสำคัญของกลุ่มนักเขียนดังกล่าว ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งในคณะบรรณาธิการของภิญโญเช่นกัน
ยิ่งเมื่ออ่านย่อหน้าขึ้นต้นของบทความ “คำพยากรณ์ของกษัตริย์ถึงกษัตริย์” ที่เขียนเอาไว้ว่า “ หนึ่งในประโยคที่ชอบอ้างถึงกันบ่อยๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก็คือ คำพยากรณ์ของกษัตริย์ฟารุกแห่งอียิปต์ที่ว่า เมื่อสิ้นศตวรรษที่ 20 จะเหลือกษัตริย์หรือคิงโพดำ คิงข้าวหลามตัด คิงดอกจิกและคิงแห่งอังกฤษ” ก็ยิ่งทำให้ภิญโญต้องตอบโจทย์เหล่านี้มากขึ้น