จาก “ลิลิตตะเลงพ่าย” และภาพราชวงศ์ทั่วโลกพร้อมเสด็จมาเฉลิมฉลองวโรกาสครองราชย์ครบ 60 ปีของพระเจ้าอยู่หัว
คนไทยจะเคยคิดบ้างหรือไม่ว่า เหตุการณ์ยิ่งใหญ่อย่างนี้ไม่เคยมีและจะไม่ปรากฏอีกเลยเป็นครั้งที่ 2 ในโลก
“เก่งมาจากไหนจึงไม่เอากษัตริย์” ของผม ครั้งที่ 2 ออกมาแล้วเดือนนี้ ผมเองไม่ขอรับส่วนแบ่งในการขายและลิขสิทธิ์เช่นเดียวกับการพิมพ์ครั้งที่ 1 แต่ใคร่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้อ่าน หลายคนจะได้เลิกทำตนเป็นวานรได้แก้ว-ไก่ได้พลอยเสียที
ข้อความบางตอนของคำนำครั้งที่ 2 มีดังนี้
“1. ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ขณะนี้ท่านผู้อ่านจะทราบหรือไม่ว่าพวกมนุษย์ที่สำคัญว่าตนเก่งและไม่เอากษัตริย์นั้นมีมากขึ้นทุกที และมีพละกำลังกล้าแข็งขึ้นทุกที บางแห่งจัดตั้งเป็นหมู่บ้านเสื้อแดง ผิดกฎหมายความมั่นคงชัดๆ แต่บ้านเมืองก็ไม่เห็นมีใครทำอะไร ตำรวจก็เฉย ฝ่ายปกครองก็เฉย กองทัพก็เฉย ไม่กี่วันมานี้ทนายความสวะจากอเมริกาที่เป็นลูกจ้างทักษิณก็ไปเยี่ยมเยียนและเยินยอกันอย่างเปิดเผยเอิกเกริก
2. ณ เวลาที่เขียนนี้ น้องสาวของผู้เขียนโทรศัพท์มาจากอเมริกาบอกว่าเป็นห่วงหลานชายชื่ออนุดิษฐ์ เกรงว่าจะถูกถล่มจนเสียผู้คน เพราะเป็นรัฐมนตรีไอซีทีเสียเปล่า เว็บโจมตีในหลวงเพิ่มมากขึ้นทุกทีทั้งจากแหล่งในและนอกไม่เห็นทำอะไรได้ ทียิ่งลักษณ์โดนบ้าง ทำไมถึงเก่งจัง 2 วันก็จับได้แล้ว ผู้เขียนเองทั้งไม่ตอบ ทั้งไม่สนใจจะถาม แต่เป็นห่วงหลานชายว่าคบคนพาล ย่อมถูกพาลพาไปหาผิดเป็นธรรมดา
3. ผู้เขียนเขียนบทความ “เว็บไซต์ไฟลามทุ่ง” ลง นสพ.ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2548 ตอนนั้นทักษิณยังเป็นนายกรัฐมนตรี เว็บไซต์โจมตีสถาบันกษัตริย์มีไม่ถึงแสน สมัย คมช.ยึดอำนาจรัฐบาลสุรยุทธ์เพิ่มขึ้นเป็นล้าน สมัยสมัคร สมชายเป็นหลายล้าน สมัยอภิสิทธิ์จนถึงปูเป็นหมื่นๆ ล้าน ทั้งโกหกหยาบช้าสารเลวโคตรไพร่ ผู้เขียนอยากจะรู้เหมือนกันว่า ถ้ารัฐบาลทำอะไรไม่ได้หรือไม่อยากทำ ใครหรือหน่วยราชการใดบ้างที่เป็นองครักษ์หรือมีหน้าที่ปกป้องสถาบัน หรือทหารของจอมทัพ ได้ทำอะไรลงไปบ้างตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่ตนมีอยู่หรือยัง
4. ผู้เขียนมิใช่คนคลั่งสถาบัน แต่ก็มีความรู้และประสบการณ์ชีวิตที่ได้เรียนและอยู่ในสหรัฐอเมริกากับอังกฤษมานับเป็นสิบๆ ปีด้วยกัน และได้เคยไปศึกษาและพำนักพักพิงในประเทศประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์ จนมีข้อมูลแน่แก่ใจว่า ประชาธิปไตยแบบที่มีกษัตริย์นั้นดีกว่าและเหนือกว่าประชาธิปไตยที่มีคนธรรมดาเป็นประมุข ดีกว่าอย่างไร ดีกว่าในแง่ที่คุณภาพของชีวิตประชาชนสูงกว่า มีเสรีภาพสาธารณประโยชน์และความเป็นธรรมในสังคมมากกว่า ใครจะเถียงว่าเป็นอย่างอื่นก็ขอให้ยกทฤษฎีและข้อเท็จจริงที่ตรงกันข้ามออกมาแสดงได้เลย อย่ามัวแต่เอาวาทกรรมและถ้อยคำที่หรูหรากำกวมมาหลอกคนที่รู้น้อยเห็นน้อยกว่าตนอย่างที่กำลังเป็นอยู่ คนที่ถือสองสัญชาติจะด้วยการเกิด พ่อหรือแม่เป็นคนอังกฤษก็ดี ขอให้ไปเคลื่อนไหวให้อังกฤษเปลี่ยนไปปกครองแบบอเมริกันเสียก่อนจึงค่อยมาสอนไทย”
ผมคงเคยเล่าแล้วว่า ความจรรโลงใจที่ทำให้ผมเขียน “เก่งมาจากไหนจึงไม่เอากษัตริย์” เกิดจากโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระหว่าง 1997 ถึง 2007
ผมติดตามการเมืองอังกฤษมานานและรู้ดีว่าพรรคแรงงานของแบลร์มีสมาชิกชั้นนำเป็นโหลๆ ที่นิยมระบบสาธารณรัฐเหนือระบบกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Jack Straw รัฐมนตรีมหาดไทยและต่อมาต่างประเทศ
ก่อนที่แบลร์จะนำพรรคออกจากฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งถล่มด้วยเสียงข้างมากอันเหลือเฟือ (ก่อนทักษิณ) หลายคนเกรงว่าสถาบันกษัตริย์คงจะถูกบี้แน่ๆ เพราะพรรคแรงงานได้ชื่อว่ามิใช่กษัตริย์นิยม แบลร์เองเมื่อขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคก็ประกาศว่าจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างเต็มที่ (http://www.independent.co.uk/news/blair-backs-plan-to-reform-monarchy-1386958.html?CMP=ILC-refresh) แต่เมื่อพอได้เป็นรัฐบาลโครงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลับอ่อนลงๆ
พอใกล้การเลือกตั้งสมัย 2 ก็ยิ่งปรากฏชัดว่าแบลร์ไม่ยอม(ให้)แตะต้องสถาบันกษัตริย์ ตามรายงานของ BBC
“แบลร์งดเว้นการเปลี่ยนแปลงสถาบัน : ถ้ามีอะไรสักอย่างที่โทนี่ แบลร์ไม่ต้องการก่อนการเลือกตั้งสมัยหน้า นั่นก็คือ การกระพือสาธารณรัฐนิยมในหมู่ ส.ส.ของพรรคแรงงาน
ทั้งๆ ที่เสียหายหลายอย่าง สถาบันกษัตริย์ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ การโจมตีสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะซ่อนเร้นหรือพูดดีอย่างไร ล้วนแล้วแต่จะถูกตีกลับได้ผลตรงกันข้ามทั้งสิ้น
อนึ่ง นายกรัฐมนตรีได้ชื่อว่าเป็นผู้นิยมกษัตริย์อย่างมั่นคง และได้ขัดขวางความพยายามทุกอย่างที่จะตรวจสอบสถาบัน
Blair has dismissed changes to monarchy
If there is one thing Tony Blair does not need before the general election it is an eruption of republicanism on his backbenches.
Despite its recent troubles, the monarchy is still held in high regard by the majority of voters and any attacks on it, no matter how well-disguised, are bound to backfire.
The prime minister is also a committed monarchist and has resisted all calls for a review of the institution.” (http://news.bbc.co.uk/2/hi/uk_news/politics/1268692.stm)
เมื่อแบลร์เป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ เขาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งภริยาได้แสดงความเย็นชาต่อพระราชินีนาถอลิซาเบธ ถึงกลับบ่นว่าการที่ต้องไปเฝ้าฯ ถวายรายงานทุกสัปดาห์ทำให้เสียเวลา แต่ที่สุดแบลร์ก็กลับลำหันมาสรรเสริญคุณูปการของการเข้าเฝ้าฯ รับคำแนะนำจากกษัตรีย์ผู้ครองราชย์ยาวนาน พรั่งพร้อมพระปรีชาสามารถ เข้าพระทัยปัญหาบ้านเมืองและเข้าถึงจิตใจ (ชีพจร) ของประชาชน แบลร์จึงสรุปอย่างหนักแน่นว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นระบบที่ดีที่สุด (http://www.guardian.co.uk/politics/2002/may/23/constitution.uk)
ประชาชนอังกฤษประมาณ 26% นิยมระบบสาธารณรัฐ แต่ส่วนใหญ่เห็นว่าระบบกษัตริย์หมดเปลืองน้อยกว่า ปลอดภัยกว่า มีเสน่ห์กว่า และมีประโยชน์สารพัดเหนือระบบสาธารณรัฐที่มีบุคคลธรรมดาแข่งกันขึ้นมาเป็นประมุข และรวบอำนาจบริหารไว้ด้วย สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือและปราการสุดท้ายที่จะแก้ไขวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ และแม้วิกฤตสงครามได้เมื่อสถาบันอื่นๆ ล้มเหลวหมด
แต่จุดอ่อนของระบบกษัตริย์ทั้งที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมือง หรือพฤติกรรมส่วนพระองค์ของกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ก็ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย ด้วยความสุภาพและรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชู้สาวและการดำรงพระองค์ไม่ชอบด้วยศีลธรรมและกระทำการเป็นภาระ ไม่สะดวกและเป็นที่ติฉินนินทาของสาธารณชน
สถาบันกษัตริย์เองก็ปรับตัวด้วยการฟังเสียงประชาชน โดยเฉพาะสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธ สมัครพระทัยเสียภาษี ทรงพระราชดำเนินด้วยรถไฟสาธารณะ และทรงตำหนิพระโอรส พระธิดา และพระเจ้าหลานเธออย่างเปิดเผย เป็นต้น โดยส่วนรวมแล้ว คนอังกฤษเข้าใจว่าข้อบกพร่องส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่ป้องกันและแก้ไขได้ แต่สถาบันเป็นหลักประกันสูงสุดของความมั่นคงความอยู่รอด และศักดิ์ศรีของความเป็นชาติ รัฐบาลและหน่วยงานประจำฝ่ายความมั่นคงจึงมีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องพิทักษ์เกียรติศักดิ์และสวัสดิภาพของสถาบันอย่างถึงที่สุด
ในวโรกาสอันเป็นมหามงคลครบ 7 รอบนักษัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งนี้ ผมใคร่ถือโอกาสพูดกับพี่น้องชาวไทยว่า น่าเสียดายที่เมืองไทยถูกนักการเมืองและเผด็จการปล้นและขโมยความเป็นประชาธิปไตยไปจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่เรามีพระมหากษัตริย์จอมปราชญ์และประชาธิปไตย เรากลับไม่มีโอกาสสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่แท้จริงสักที
ครั้งนี้และปีนี้จะเป็นโอกาสสุดท้าย
สถาบันกษัตริย์ไทยนั้นไม่เหมือนใครในโลกนี้ ตรงที่สถาบันได้รอบรู้และสัมผัสความดีของสถาบันกษัตริย์มาจากตะวันตกมาเกือบสองร้อยปี และจากตะวันออกรวมทั้งจีนและอินเดียมาหลายร้อยปี และจากพระพุทธศาสนาอีกหลายกัปป์หลายกัลป์ สถาบันกษัตริย์ไทยจึงเป็นจุดรวมความดีของสถาบันกษัตริย์ทุกระบบ
สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธ เมื่อทรงเป็นราชอาคันตุกะ ถึงกับทรงออกอุทานว่า
“ตั้งแต่เกิดมา ก็เพิ่งเคยเห็นพระเจ้าแผ่นดินจริงๆ คราวนี้”
เถลิงพระเกียรติฟุ้งฟ้า ลือตรลบแหล่งหล้า โลกล้วนสดุดี
ทรงพระเจริญ