xs
xsm
sm
md
lg

การขอพระราชทานอภัยโทษและการออกกฎหมายนิรโทษกรรมกับความเสี่ยงในการยุบพรรคการเมือง

เผยแพร่:   โดย: “นิติปรัชญา”

การขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีการถวายฎีกาของคนเสื้อแดง 3.6 ล้านคน ซึ่งได้ยื่นถวายฎีกามาเป็นเวลาเกือบสองปีแล้วนั้น ได้ถูกยกขึ้นมาโดยรัฐบาลนายกหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีไปดำเนินการ และร.ต.อ.เฉลิมได้ออกมาให้สัมภาษณ์และแจกเอกสารแก่นักข่าว ถึงความคิดเห็นและการดำเนินการในทำนองว่า จะนำฎีกาทูลเกล้าของคนเสื้อแดงขอพระราชทานอภัยโทษให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ โดยแสดงความคิดเห็นในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 191 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 259 – 269 ในทำนองว่าไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามให้ผู้หลบหนีจะต้องมามอบตัวและรับโทษจำคุกเสียก่อนจึงจะอภัยโทษได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ผู้หลบหนีตามคำพิพากษาจะยื่นถวายฎีกาแล้ว ฎีกาของคนเสื้อแดงก็สามารถส่งเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษได้นั้น

หลักความคิดว่าไม่มีกฎหมายห้ามแล้วทำได้นั้น เป็นความคิดในเชิงเอาประโยชน์โดยอิงกับกฎหมายเท่านั้น หลักความคิดดังกล่าวเป็นการ “ตะแบง” การใช้กฎหมายโดยไม่ได้ใช้หลักกฎหมายมาเป็นหลักของความคิด การตะแบงการใช้กฎหมายเป็นจุดเสี่ยงของการกระทำผิดกฎหมายอย่างที่ไม่อาจคาดคิดได้ หากจะตะแบงเพื่อเอาประโยชน์ของกฎหมายแล้ว จะต้องตั้งคำถามก่อนว่า เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามก็ทำได้นั้น แล้วกฎหมายอนุญาตให้ทำได้หรือไม่ เมื่อตั้งคำถามแล้วก็จะเกิดข้อยุติตามหลักปรัชญาทางกฎหมายถึงรากฐานของการใช้สิทธิและการมีสิทธิ ซึ่งก็จะรู้ได้ว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้นทำได้หรือไม่ และถ้าทำไปแล้วจะเสี่ยงกับการทำผิดกฎหมายหรือไม่ เสี่ยงกับการถูกถอดถอน และการยุบพรรคการเมืองหรือไม่

การพระราชทานอภัยโทษนั้นเป็นที่รู้กัน ว่าเป็นการสืบทอดตามราชประเพณี และรับรู้กันโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าเป็น พระราชอำนาจโดยเฉพาะของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามราชประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านาน พระราชอำนาจอภัยโทษดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็น “หน้าที่ตามกฎหมายหรือหน้าที่ตามราชประเพณี” ที่พระมหากษัตริย์จะมีหน้าที่ต้องกระทำการดังกล่าว พระราชอำนาจดังกล่าวจะต้องไม่อยู่ภายใต้การบังคับหรือความกดดันใดๆทั้งสิ้น และต้องไม่อยู่ภายใต้การฉ้อฉล บีบคั้น เพื่อให้มีการใช้พระราชอำนาจดังกล่าว เพราะพระมหากษัตริย์ตามการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย ( Constitutional monarchy ) พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย พระมหากษัตริย์จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะกระทำการใดๆโดยผิดกฎหมาย หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายได้

การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจตามพระราชอัธยาศัยตามราชประเพณีและตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่เป็น “หน้าที่ ” ของพระมหากษัตริย์แล้ว การพระราชทานอภัยโทษจึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องและไม่ใช่เป็นสิทธิเรียกร้องของบุคคล ( Subjective Right ) ที่บุคคลใดจะใช้สิทธิเรียกร้องให้พระราชทานอภัยโทษให้ได้ แม้จะมีคนเข้าชื่อ 3.6 ล้านคนก็ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ เพราะแม้แต่ผู้ต้องคำพิพากษาหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้ต้องคำพิพากษาก็ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้พระราชทานอภัยโทษให้ได้ เมื่อการขอพระราชทานอภัยโทษไม่ใช่เป็นสิทธิเรียกร้องแล้ว จึงไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายใดบัญญัติให้ผู้ต้องคำพิพากษา ผู้ต้องโทษ ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้ต้องโทษ บุคคลใด หรือคณะรัฐมนตรีใช้สิทธิเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์พระราชทานอภัยโทษได้เลย การใช้สิทธิเรียกร้องให้พระราชทานอภัยโทษจึงเป็นก้าวล่วงพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 259 – 269 ทวิ เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่เป็นช่องทางทางกฎหมายที่จะนำเรื่องราวของผู้ต้องโทษได้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระมหากษัตริย์ เพื่อขอพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัยโทษให้ได้เท่านั้น
โดยผู้ต้องโทษเอง หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้ต้องโทษเป็นผู้ถวายเรื่องราวการขอพระราชทานอภัยโทษโดยผ่านฝ่ายบริหารคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ หรือในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นสมควรก็สามารถถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษาก็ได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 259 -269 ทวิ ไม่ได้เป็นบทบัญญัติแห่งสิทธิเรียกร้องแต่อย่างใดไม่แต่เป็นบทบัญญัติที่เป็นเพียงวิธีการให้ความทราบถึงพระมหากษัตริย์เท่านั้น โดยกฎหมายได้บัญญัติจำกัดบุคคลให้เป็นผู้ถวายเรื่องราวไว้เป็นการเฉพาะแล้ว

การที่คนเสื้อแดงจำนวน 3.6 ล้านคน เข้าชื่อกันขอพระราชทานอภัยโทษให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง แต่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงและนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ซึ่งบางคนเป็นแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช. เนื่องจากต้องการกดดันรัฐบาลในขณะนั้นให้ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ และต้องการนำผู้นำทางการเมืองของตนกลับประเทศอย่างผู้บริสุทธิ์ เพื่อให้มาเป็นผู้นำดำเนินการทางการเมืองของพรรคการเมือง ซึ่งนักการเมืองพรรคเพื่อไทยจำนวนมากก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมในทางการเมืองกับคนเสื้อแดงตลอดมา ในการเข้าชื่อขอพระราชทานอภัยโทษของคนเสื้อแดงดังกล่าว ซึ่งอาจมีสมาชิกพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมลงชื่อด้วย การเข้าชื่อเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษจึงเป็นเรื่องในทางการเมืองและใช้วิถีทางการเมืองเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ในทางการเมือง โดยมีสมาชิกพรรคการเมืองร่วมในการเข้าชื่อเรียกร้องให้สำนักพระราชวังเสนอเรื่องทูลเกล้าฯให้ ดังนั้นการขอพระราชทานอภัยโทษของคนเสื้อแดงและนักการเมืองของพรรคการเมืองดังกล่าว จึงเป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้อง และเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางการเมืองของผู้มีประโยชน์ร่วมกันในทางการเมือง ฎีกาทูลเกล้าฯที่ใช้สิทธิเรียกร้องในทางการเมือง จึงเป็นการกระทำเพื่อให้พระมหากษัตริย์ตกอยู่ในอำนาจทางการเมืองของพรรคการเมืองที่เข้ามามีอำนาจทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ โดยอาศัยคนเสื้อแดงซึ่งเป็นพวกเดียวกับพรรคการเมืองมาดำเนินการ

การที่พรรคการเมืองเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล จึงเป็นเรื่องของนักการเมืองสวมหมวก 2 ใบ คือเป็นทั้งนักการเมืองที่สังกัดพรรคการเมืองและเป็นทั้งผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในทางราชการ การมีตำแหน่งหน้าที่ในทางราชการของฝ่ายบริหารแล้วดำเนินการรับลูกหรือล้วงลูกนำเอาเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษของคนเสื้อแดงมาดำเนินการเพื่อให้พระมหากษัตริย์พระราชทานอภัยโทษให้นั้น จึงเป็นเรื่องทางการเมืองและเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับหรือมีกฎหมายมาสนับสนุนการใช้สิทธิขอพระราชทานอภัยโทษดังกล่าวได้เลย การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำอันก้าวล่วงพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา191 ทั้งในฐานะมีตำแหน่งฝ่ายบริหารและในตำแหน่งสมาชิกพรรคการเมือง และเมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้แล้ว การที่นักการเมืองซึ่งมีตำแหน่งในทางบริหารราชการแผ่นดิน จะนำเอาฎีกาซึ่งเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางการเมือง ไม่ว่าฎีกานั้นจะเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษหรือฎีการ้องทุกข์ก็ตาม การกระทำดังกล่าวของนักการเมืองผู้นั้นย่อมเป็นการใช้อำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการนำพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ตนสังกัดอยู่ การกระทำของบุคคลดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งนักการเมืองบุคคลดังกล่าวอาจจะถูกถอดถอนจากตำแหน่งในทางราชการของนักการเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ/หรือ นายกรัฐมนตรี ( รัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ,8 , 68 ,270 )

สมาชิกพรรคการเมืองที่เข้ามามีตำแหน่งบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งในทางบริหารและทางนิติบัญญัติ ยังคงมีสถานภาพของการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่อีกสถานะหนึ่ง ในฐานะการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจึงมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องดำเนินกิจการในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งพรรคการเมือง ตามนโยบายและข้อบังคับของพรรคการเมือง เมื่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯได้บัญญัติให้เจตนารมณ์ของการจัดตั้งพรรคการเมือง นโยบายพรรคการเมือง และข้อบังคับพรรคการเมืองจะต้องดำเนินการในทางการเมืองให้เป็นไปตามวิถีทางปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และข้อบังคับพรรคการเมืองต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย ข้อบังคับพรรคการเมือง และมีหน้าที่ควบคุมไม่ให้สมาชิกพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแล้ว ( รัฐธรรมนูญ มาตรา 65 วรรคหนึ่ง วรรคสอง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 9 , 10 , 17 , 18 ) สมาชิกพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองจะกระทำการใดๆที่เป็นการใช้อำนาจบริหารหรืออำนาจทางนิติบัญญัติในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่ฝ่าฝืนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจะดำเนินการใดๆที่ไม่สอดคล้องกับหลักพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้ เพราะการกระทำดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ( รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 )

ดังนั้นสมาชิกพรรคการเมืองที่เข้าไปทำหน้าที่ในทางบริหารโดยเป็นคณะรัฐมนตรี หรือเป็นรัฐบาล และใช้อำนาจในการบริหารงานแผ่นดินนำฎีกาของคนเสื้อแดงซึ่งเป็นพวกเดียวกันกับพรรคการเมืองและเป็นฎีกาในทางการเมืองเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ อันเป็นฎีกาที่ส่อแสดงให้เห็นการไม่ยอมรับอำนาจศาลที่ได้ตัดสินคดีเป็นผลร้ายกับนักการเมืองที่เป็นพวกเดียวกัน จึงเป็นการกระทำของสมาชิกพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ไม่ยอมรับอำนาจศาลซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยทางศาลและเป็นการไม่ยอมรับ อำนาจอธิปไตยทางศาลซึ่งเป็นของปวงชนชาวไทยในส่วนที่ได้ตัดสินคดีเป็นผลร้ายแก่นักการเมืองหรือกับพรรคพวกของนักการเมืองฝ่ายตนนั้น การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายของการใช้สิทธิและเสรีภาพของการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและ /หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองในการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือใช้อำนาจปกครองที่ขัดต่อนโยบายที่ได้แถลงไว้ และขัดต่อรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งพรรคการเมืองซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้เป็นเด็ดขาดว่า เจตนารมณ์ของการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น ต้องดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองตามวิถีทางปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำเนินกิจการต้องสอดคล้องกับหลักพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำที่ไม่ยอมรับอำนาจศาลดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ส่อไปในทางล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งอยู่ในข่ายที่จะถูกยุบพรรคการเมืองได้
( รัฐธรรมนูญมาตรา 65 , 68 , 178 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 9 , 10 ,17 , 18 , 94 )

พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 15 ล้านเสียง และได้เข้ามาบริหารงานแผ่นดินในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัตินั้น พรรคการเมืองดังกล่าวไม่ใช่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ แต่ได้รับมอบหมายจากผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งให้มาทำหน้าที่แทนคนทั้งประเทศ ( ซึ่งรวมถึงเด็ก ผู้เยาว์ และผู้ไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งด้วย ) การได้มอบหมายให้ทำหน้าที่แทนคนทั้งประเทศจากผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งเพียงบางส่วนแม้จะมีจำนวน 15 ล้านคนก็ตาม ก็เป็นการได้รับมอบหมายจากคน 15 ล้านคน ให้มาใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศอยู่นั่นเอง การใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศตามกลไกทางการเมืองโดยการเลือกตั้ง ผู้รับเลือกตั้งจึงไม่ใช่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่จะทำการบริหารประเทศได้ตามอำเภอใจ แต่จะต้องใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศภายในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเท่านั้น [ ในกรอบของรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย สมาชิกพรรคการเมืองไม่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยทั้งในทางบริหารหรือในทางนิติบัญญัติเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อพรรคพวกตนเองได้ ]

การใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศโดยวิถีทางการเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพรรคพวกตนในทางบริหารหรือทางนิติบัญญัติ ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ย่อมเป็นผู้เสียหายในการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญาได้โดยตรง และประชาชนผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิในความเป็นผู้เสียหายทางอ้อมในกรณีมีการกระทำความผิดที่มิใช่เป็นความผิดอาญาได้ด้วยเช่นกัน โดยสามารถใช้สิทธิผ่านประธานกรรมการการเลือกตั้งในฐานะที่ประธานการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง และ/หรือใช้สิทธิผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยกฎหมายได้บัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้เสียหายทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีอาญาและกฎหมายอื่น ดังนั้นนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงเป็นผู้เสียหายแทนเจ้าของอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทุกคนโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งในการกระทำความผิดอาญาและกฎหมายอื่นของสมาชิกพรรคการเมืองที่ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจควบคุม ตรวจสอบ การดำเนินงานของพรรคการเมือง กรรมการพรรคการเมือง ให้ต้องดำเนินการในการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยในทางบริหารและทางนิติบัญญัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ โดยไม่ถือว่าการกระทำของนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นการก้าวก่ายอำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจนิติบัญญัติแต่อย่างใด เพราะนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจในฐานะเป็นผู้ควบคุม ตรวจสอบการดำเนินงานของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะกฎหมายได้บัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้เสียหายไว้แล้ว

เช่นในกรณีขอพระราชทานอภัยโทษนี้ นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจเตือนให้หัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการพรรคการเมือง หรือ กรรมการพรรคการเมืองระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำนั้นในเวลาที่กำหนดเสียก่อนหากไม่ดำเนินการระงับหรือแก้ไข จึงจะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อยุบพรรคการเมืองต่อไปได้ ( พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 5 , 6 , 7 , 9 ,10, 17 ,18, 31 ,94 ,95 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯมาตรา 5 , 21 รัฐธรรมนูญมาตรา 65 , 68 )
กำลังโหลดความคิดเห็น