xs
xsm
sm
md
lg

นิติราษฎร์ไม่ใช่สูตรสำเร็จในการป้องกันรัฐประหาร

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

รัฐประหารตามนิยามศัพท์ของ เอ็ดวาร์ด ลุทท์แวค นักรัฐศาสตร์อเมริกัน คือ “การเปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศอย่างฉับพลัน” แต่ในปัจจุบันคือการยึดอำนาจรัฐโดยกลุ่มที่มีพลังการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และสังคม ส่วนการปฏิวัตินั้น คือ การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอย่างเด็ดขาดสมบูรณ์แบบ

กองทัพประกอบด้วยกำลังทหารที่มีการจัดอย่างเป็นระบบ มักจะเป็นกลไกในการรัฐประหารได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่การรัฐประหารทางระบบการเมืองย่อมกระทำได้ เช่น การออกเสียงขับหัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลให้ออกจากตำแหน่งโดยสมาชิกพรรคในพรรคตัวเอง ตัวอย่างการเมืองอังกฤษที่ระบบพรรคการเมืองมีความเข้มข้นมายาวนานกว่า 1,000 ปี

โดยเฉพาะกรณีท่านผู้หญิงมาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรี ถูกขจัดออกจากผู้นำหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม เมื่อกลุ่มผู้สนับสนุนลาออกจากตำแหน่งสำคัญๆ เพราะมีความคิดเห็นขัดแย้งอย่างชัดเจนและแปรพักตร์ ทำให้มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่ ในเหตุการณ์ครั้งแรกนั้นท่านผู้หญิง มาร์กาเรต ชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคแบบฉิวเฉียด แต่ต้องตัดสินใจลาออกเมื่อแกนนำพรรคเตือนให้ลาออกและเปิดทางให้นายจอห์น เมเยอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทนแต่อำนาจยังอยู่กับพรรคอนุรักษนิยม

การทำรัฐประหารในระบอบการเมืองอังกฤษกระทำได้ยาก เพราะที่สำคัญอังกฤษใช้ระบบกฎหมายสามัญหรือคอมมอนลอว์ รัฐธรรมนูญเป็นแบบไม่ได้เขียนไว้ แต่ยึดถือขนบธรรมเนียมและนิติประเพณีการปกครองที่เปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัยตั้งแต่ครั้ง ค.ศ. 1100 ซึ่งเกิดการต่อต้านกษัตริย์และมีการบัญญัติกฎบัตรแห่งเสรีภาพในสมัยกษัตริย์เฮนรีที่ 1 จนถึงสมัยพระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ ค.ศ. 1215 เมื่อกลุ่มขุนนางและอัศวินเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของปวงชน และให้พระเจ้าจอห์นลงนามในกฎบัตรใหญ่แมคนาคาริตาที่เดิมที่ทรงยินยอมและขุนนางบางกลุ่มให้พลิกคำตรัส

ดังนั้นกว่าคนอังกฤษจะได้เสรีภาพของปวงชนขั้นพื้นฐาน ก็เกิดเป็นสงครามกลางเมืองตั้งแต่ ค.ศ. 1216 จนถึง ค.ศ. 1369 และเกิดสงครามกลางเมืองอีกครั้งใน ค.ศ. 1648 เมื่อโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ กระทำการปฏิวัติโค่นอำนาจพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 รบกันหลายปีจนนายพลจอร์จ มังค์ ราชภักดีกอบกู้ราชบัลลังก์

การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้กับคนอังกฤษ จึงเป็นเรื่องยากมากสำหรับปุถุชนธรรมดา หรือจะเป็นปราชญ์ก็ตามเพราะต้องรื้อฟื้นความเป็นมาของรัฐธรรมนูญแต่ละมาตราตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ใครจะกล้าทำรัฐประหาร คนอังกฤษไม่สนับสนุนอย่างแน่นอน และต้องเกิดกลียุคสหราชอาณาจักรต้องแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ

สำหรับสหรัฐฯ นั้น การรัฐประหารกระทำได้ยาก เพราะแต่ละมลรัฐมีกฎหมายและมีกองทัพป้องกันตนเอง ย่อมไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจด้วยกำลังเพราะจะเกิดเป็นระบบรวมศูนย์ไม่ใช่สหรัฐอเมริกาอีกต่อไป กองกำลังพิทักษ์รัฐต่างออกมาต่อต้านด้วยกำลังเป็นสงครามกลางเมือง ยกเว้นการสังหารประธานาธิบดี ซึ่งเป็นการรัฐประหารอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น การสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้รองประธานาธิบดีขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทนทันที

ในกรณีประธานาธิบดีเคนเนดีนั้น ก็เป็นที่รู้กันว่า การสังหารประธานาธิบดีมีความซับซ้อนมากมายและเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างโรเบิร์ต เคนเนดี รมว.ยุติธรรมขณะนั้นและเป็นพี่ชายประธานาธิบดีเคนเนดี กับรองประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน และเมื่อได้เป็นประธานาธิบดีได้เปลี่ยนนโยบายการบริหารประเทศหลายประการถูกใจกลุ่มอิทธิพลอนุรักษนิยม

ส่วนในประเทศไทยมีกรณีการรัฐประหารด้วยระบบการเมือง เมื่อนายเนวิน ชิดชอบ นำกลุ่มที่ขัดแย้งกับระบอบทักษิณ ออกจากพรรคพลังประชาชน จำนวน 37 คน ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้การบริหารประเทศเปลี่ยนไปจากนโยบายของทักษิณที่กำหนดให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ

แซมมวล พี ฮันติงตัน นักวิชาการรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เขียนหนังสือเรื่อง Clash of Civilization และ The Soldier and State เป็นคนกล่าวถึงทหารอาชีพว่า “เป็นผู้มีความชำนาญพิเศษในการจัดการความรุนแรง” เขากล่าวถึงรัฐประหาร 3 ประเภท คือ

1. การผ่าทางตัน คือ การรัฐประหารรัฐบาลที่บริหารแบบเฉื่อยชา ไม่ก้าวหน้า ทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ในการแข่งขันและเสียเปรียบทางการเมือง การค้า วิทยาการและเทคโนโลยี

2. การรัฐประหารแบบขจัดความชั่วร้ายและคุ้มครองคุณธรรม ขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน การบริหารราชการเหลวแหลก เอาเฉพาะพรรคพวก ใช้อำนาจรัฐเกินเหตุและเอื้อประโยชน์ส่วนตน ใช้อำนาจรังแกประชาชนและข้าราชการ และรัฐบาลมีวาระซ่อนเร้นในการวางรูปแบบและบัญญัติกฎหมายเพื่อการปกครองระยะยาว

3. การรัฐประหารเพื่อต่อต้านรัฐประหาร คือ การใช้กำลังทหารต่อต้านการรัฐประหารโดยตรงหรือการเคลื่อนไหวการต่อต้านอำนาจรัฐของกองทัพและมวลชน เช่น การต่อต้านการรัฐประหารของ KGB โดยบอริส เยลซิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตต่อต้านนายเยนนาดี ยานาเยฟ รักษาการประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต ที่มีกลุ่มทหารคอมมิวนิสต์หัวรุนแรงร่วมกับ KGB กระทำการรัฐประหาร แต่นายบอริส เยลซินมีกลุ่มทหารเสรีนิยมและประชาชนออกมาต่อต้านแต่ไม่นองเลือด

การปฏิวัติที่ถือว่าเป็นต้นแบบ ได้แก่การรัฐประหารของนโปเลียน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1799 ที่ขจัดคณะปฏิวัติผู้บริหารประเทศสูงสุด เพราะความเหลวแหลกในการบริหารประเทศและความโหดเหี้ยมในการตัดสินประหารชีวิตคนบริสุทธิ์ อันเป็นผลจากการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 เป็นต้นมา ฝรั่งเศสมีความอ่อนแอทั้งในประเทศและนอกประเทศ ผลประโยชน์นอกประเทศถูกมหาอำนาจยุโรปคู่แข่งช่วงชิงโดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เกิดยุคหฤโหดโดยกลุ่มจาโกแปงของแมกซิมิเลียน โรเปสปิแอร์ ใน ค.ศ. 1773-1774 ที่สังหารผู้คนประมาณ 40,000 คนทั่วทั้งประเทศ แต่ต่อมาแมกซิมิเลียนถูกตัดสินประหารชีวิตเพราะความโหดร้ายของตัวเอง

นโปเลียนเดินทัพกลับจากการไปปราบและขับไล่กองทัพชาติยุโรปที่เข้าไปยึดผลประโยชน์ฝรั่งเศสในอียิปต์และซีเรีย พบว่าฝรั่งเศสกำลังจะกลับเข้าสู่ยุคมืดอีก เมื่อสมาชิกพรรคจาโกแปงชนะการเลือกตั้ง นโปเลียนจึงตัดสินใจรัฐประหารด้วยสาเหตุหลัก 3 ประการ คือ 1. ความแตกแยกของกลุ่มผู้บริหารประเทศสูงสุดและมีการสังหารศัตรูทางการเมืองอย่างกว้างขวาง 2. ศัตรูภายนอกประเทศจ้องที่จะรุกราน โดยเฉพาะอังกฤษและเยอรมนี 3. กลุ่มผู้รักชาติต้องการความสงบสุขและความยุติธรรม ให้การสนับสนุนนโปเลียนอย่างเปิดเผย

แม้กระทั่งเฮเกิล ปราชญ์ชาวเยอรมันว่าบทบาทของนโปเลียนคือการสร้างอุดมการณ์แบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งคาร์ลมาร์กซ์ว่าการรัฐประหารของนโปเลียนเป็นอุดมการณ์รักชาติ

ในประเทศไทยมีการปฏิวัติรัฐประหารและเป็นกบฏรวม 19 ครั้ง เป็นการปฏิวัติ 1 ครั้ง รัฐประหาร 8 ครั้ง และเป็นกบฏ 10 ครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 - 2549 เหตุการณ์กบฏที่สำคัญ เช่น กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 กบฏวังหลวง พ.ศ. 2492 กบฏแมนฮัตตัน พ.ศ. 2494 กบฏ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 ซึ่งเกิดโศกนาฏกรรมการสังหาร ผบ.พล.ร.1 รอ.โดยพล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิต และกบฏยังเติร์ก พ.ศ. 2524

กลุ่มนิติราษฎร์ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร ควรจะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขการรัฐประหาร หากการเมืองมีทางออกที่ดีไม่ใช่การเมืองมีแต่ทางตันทุกคนเห็นแก่ตัวทุจริตคอร์รัปชันเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทั้งระยะสั้นและระยะยาว เอาแต่พรรคพวกตัวเอง การเมืองต้องมีความชอบธรรม ไม่ทำลายความเชื่อมั่นขั้นพื้นฐานของคนในชาติโดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐประหารย่อมไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะเหตุการณ์ใช้กำลังทหารเปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศ ที่ผ่านมากลายเป็นกบฏมากกว่าความสำเร็จ

การรัฐประหารไม่ใช่ของง่ายและมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในปัจจุบันเป็นรัฐศาสตร์ต้องห้าม สังคมทหารมีการศึกษาในเรื่องประชาธิปไตย ความถูกต้องชอบธรรม ความผาสุกของปวงชน และผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสังคมอย่างกว้างขวาง

ชีวิตประจำวันของผู้นำหน่วยทหารทุกระดับมีความเป็นประชาธิปไตย ครอบครัวมีความเป็นประชาธิปไตย มีความเข้าใจในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะมีนายทหารที่จบการศึกษาทางการเมืองในระดับปริญญาโท และดุษฎีบัณฑิตมาก ครอบครัวมีการศึกษาสูง หลายคนมีภรรยาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นแพทย์ เพราะฉะนั้นในแต่ละครอบครัวของทหารนั้น ความเป็นประชาธิปไตยตกผลึกตั้งแต่ในบ้านแล้ว

ไม่มีใครอยากเป็นกบฏ ไม่มีใครอยากให้ครอบครัวต้องลำบากเพราะหัวหน้าครอบครัวเป็นกบฏ เพราะฉะนั้นกลุ่มนิติราษฎร์ไม่ต้องออกมาป้องกันการรัฐประหาร ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ในบ้านแล้ว นิติราษฎร์ไปดูนักการเมืองและพฤติกรรมทางการเมืองของตัวเองดีกว่า และที่สำคัญประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น สร้างความเดือดร้อนให้ใคร นอกจากพวกอนาธิปไตยที่ต้องการความไร้ระบบ ความแตกแยก ความไร้จุดร่วมของชาติ และความขาดจิตสำนึกในความเข้าใจถึงทศพิธราชธรรม

กลุ่มนิติราษฎร์อย่าได้เป็นเครื่องมือให้ใครคนใดคนหนึ่งดีกว่า อนาธิปไตยไม่เคยเจริญเลยในประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมของมนุษยชาติ ความเมตตา ความถูกต้องชอบธรรม การเคารพในสิทธิของคนอื่นยั่งยืนกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น