xs
xsm
sm
md
lg

สลน.รับ“ปู”อำนาจสูงสุด เซ็นเงินบริจาค-“ประชา”มึนกมธ.รุมซัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“ประชา” ไม่ไหวติง! กมธ.ติดตามงบฯรุมซัก ยันปธ.ศปภ.ไม่เกี่ยวข้อง “โกงถุงยังชีพ” ตัวแทนสำนักนายกฯ รับ เงินบริจาคในประเทศกว่าพันล้าน ผู้ที่มีอำนาจอนุมัติสูงสุด คือ “ยงยุทธ-ยิ่งลักษณ์” โดยไม่จำกัดวงเงิน อ้าง ซื้อแพงชุดละ800บาทเพราะของดีกว่า ส่วนออกแขก!ศึกซักฟอก ฝ่ายรบ.ยันคืนเดียวก็เกินพอ

วานนี้(23พ.ย.)การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายธนิตพล ไชยนันท์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน มีวาระพิจารณาติดตามการบริหารงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 ของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และจังหวัดที่ประสบอุทกภัย โดยได้เชิญ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผอ.ศปภ. ,นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ฐานะประธานอนุกรรมการบริหารจัดการถุงยังชีพและเครื่องอุปโภค บริโภคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย, นายฉัตรป้อง ฉัตรภูมิ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย, น.ส.ปภัสมน อัมราลิขิต ผู้อำนวยการกองคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี มาชี้แจง

น.ส.ปภัสมน ชี้แจงว่า บัญชีเงินบริจาคของสำนักนายกฯเมื่อ ศปภ.เปิดรับบริจาคตั้งแต่เดือนส.ค. 2554 มียอดเงินบริจาค จำนวน 998 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดบริจาคที่ได้จากในประเทศทั้งหมด ซึ่งการใช้จ่ายเงินส่วนดังกล่าวนั้น ต้องเป็นไปตามมติของคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกฯ ซึ่งมี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย และมีตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ อีก 13 คน เป็นกรรมการ

ด้าน นายฉัตรป้อง กล่าวว่า สำหรับการจัดซื้อถุงบริจาค ที่มีการตั้งคำถามว่าราคาของถุงยังชีพไม่เท่ากันว่า โดยปกติแล้วหากจัดซื้อโดยที่เป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน โดยระเบียบของกระทรวงการคลัง จะให้จัดซื้อไม่เกินถุงละ 500 บาท แต่ส่วนถุงยังชีพที่จัดซื้อราคาถุงละ 800 บาทนั้น ได้ใช้ระเบียบของสำนักนายกฯ และตามมติของคณะกรรมการกองทุนฯ ส่วนเหตุที่ต้องจัดซื้อถุงยังชีพราคา 800 บาทเพราะทางคณะกรมการกองทุนฯ เห็นว่าภัยที่เกิดขึ้นนั้นมีความรุนแรง หากจัดซื้อถุงยังชีพราคา 500 บาทอาจจะไม่เพียงพอต่อการยังชีพของประชาชน

“อีกทั้งสิ่งของในถุงยังชีพที่ราคา 800 บาทเป็นสินค้าที่สามารถเปิดทานได้ทันที เป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ทั้งนี้การใช้งบประมาณในส่วนของเงินบริจาคนั้น ผู้ที่มีอำนาจอนุมัติใช้จ่าย คือ นายยงยุทธ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ โดยไม่จำกัดวงเงิน” นายฉัตรป้อง กล่าว

ด้าน พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อถุงยังชีพเพราะเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย โดยมี นายยงยุทธ เป็นประธาน อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่ปรากฎเป็นข่าวตามสื่อมวลชนต่อกรณีทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพ ศปภ.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ที่มีนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้ปรากฎผลว่า ในส่วนของถุงบริจาคนั้นได้มา 2 ส่วน คือ 1.สิ่งของบริจาคที่ผู้มีจิกตอาสาช่วยบรรจุใส่ถุง และ 2.ผ่านการจัดซื้อ

ทั้งนี้นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะรองประธานกมธ. คนที่ 1 สอบถามว่า ขณะนี้พบรายงานว่ามีการอนุมัติงบประมาณจำนวน 80 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อถุงยังชีพ 1 แสนชุด ชุดละ 800 บาท ถึง 2 ครั้ง สรุปแล้ว ในการจัดซื้อถุงยังชีพได้ใช้งบประมาณไป 160 ล้านบาท จึงสงสัยว่าทำไมไม่ใช้ระเบียบของกระทรวงการคลัง จัดซื้อ และทางศปภ. ฐานะที่เป็นผู้รับมอบถุงยังชีพ ได้นำไปแจกให้กับประชาชนในพื้นที่ใดบ้าง

พล.ต.อ.ประชา ชี้แจงว่า ไม่ทราบ เพราะงานส่วนดังกล่าวมีบุคคลที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ เพราะต้องบูรณาการ 12 กระทรวงเข้ามาทำงาน อีกทั้งในงานส่วนของตนมีเยอะมาก ทั้งในเรื่องแก้ไขปัญหาน้ำ, คนอพยพ จึงไม่สามารถรับทราบหรือติดตามได้ทั้งหมด ทั้งนี้ตนไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยส่วนงานการจัดหาถุงยังชีพนั้น ผู้ที่ดูแล คือ นายจำเริญ

“ในส่วนของการตั้งบุคคลเพื่อดูแลของบริจาคนั้น ตนเคยลงนามคำสั่งแต่งตั้ง ให้นักการเมืองเข้ามีส่วนในการบริหารจัดการเรื่องของบริจาค เป็นเพราะความไม่รู้ และไม่ได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย แต่เมื่อได้รับคำปรึกษาจากฝ่ายกฎหมาย ตนจึงได้มีคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งนักการเมืองเข้ามา ตนขอชี้แจงว่าตนไม่มีเจตนา เมื่อพบว่าผิดจึงแก้ไข อย่างไรก็ตามเรื่องจัดซื้อถุงยังชีพไม่ได้อยู่ในส่วนงานที่รับผิดชอบ ทำให้สามารถให้ข้อมูลได้เท่าที่คณะกรรมการตรวจสอบ ส่งมาให้”พล.ต.อ.ประชา กล่าว

ช่วงเช้า พล.ต.อ.ประชา ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมชี้แจงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า ไม่รู้สึกกังวล ยินดีที่จะรับฟังข้อเสนอแนะ ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์อ้างว่ามีข้อมูลเชื่อมโยงที่ระบุชัดเจนว่ามีการกระทำส่อไปในทางทุจริต ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สำคัญอยู่ที่ว่าข้อมูลเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็พร้อมรับผิดชอบ

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กำหนดระยะเวลา 1 วัน 1 คืน ในการอภิปรายนั้น ตนคิดว่าน่าจะเพียงพอแล้ว พราะเท่าที่ผ่านมา การยื่นญัตติอภิปรายรัฐบาลทั้งคณะ หรือรัฐมนตรี 7-8 คน ก็ใช้เวลาเพียง 2-3 วันเท่านั้น ส่วนการกำหนดวันอภิปรายวันเดียวก่อนการปิดสมัยประชุมนั้น เป็นการช่วยเหลือรัฐบาลหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่วว่า การยื่นขออภิปรายของฝ่ายค้านก็ยื่นเรื่องก่อนปิดสมัยประชุมเพียงแค่ 10 วัน ก็เหลือเวลาให้รัฐมนตรีเตรียมตัว 8-9 วัน หากกำหนดวันเร็วกว่านี้ก็อาจเกิดการฉุกละหุกได้

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าขอให้ฝ่ายค้านอย่าอภิปรายพาดพิงมายังนายกรัฐมนตรี หรืออภิปรายนอกเรื่อง เพราะไม่เกี่ยวข้องกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น